Skip to main content
sharethis

เด็กไร้สัญชาติศูนย์การเรียน 'ไร่ส้มวิทยา' เชียงใหม่ จบการศึกษา พร้อมจัดเสวนา "การศึกษาทางเลือกสู่ทางรอด" เผยตัวเลขใหม่เด็กหลุดจากระบบ 1.02 ล้านคน หลายฝ่ายชี้รูปแบบศูนย์การเรียนช่วยรองรับ-มีความยืดหยุ่นมากกว่า 'เตือนใจ' เผยห่วงเด็กเคลื่อนย้าย จี้รัฐไทยรองรับ

 

21 มี.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวชายขอบ รายงานวันนี้ (21 มี.ค.) ที่ศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ได้มีพิธีมอบประกาศนียบัตรให้นักเรียนที่สำเร็จการศึกษาชั้น ป.6 เป็นรุ่นแรกจำนวน 24 คน โดยนักเรียนส่วนใหญ่เป็นบุตรหลานแรงงานข้ามชาติที่อพยพจากประเทศพม่าเข้ามาทำงานอยู่ในสวนส้มใน อ.ฝาง นอกจากนี้ ยังมีเด็กนักเรียนเชื้อสายกะเหรี่ยงจากศูนย์การเรียนศรีสุวรรณสะเนพ่อง อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี มาร่วมงาน

ทั้งนี้ บรรยากาศพิธีจบการศึกษามีผู้ทรงคุณวุฒิและผู้สนใจในแวดวงการศึกษามาร่วมแสดงความยินดีกับเด็กๆ กันอย่างคับคั่ง พร้อมทั้งมอบใบประกาศวุฒิการศึกษา เช่น เตือนใจ ดีเทศน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดเชียงราย ปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ศิริกาย วรปรีชา รองอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็ก กระทรวงยุติธรรม เรืองยศ ปันศิริ ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาเชียงใหม่เขต 3 พัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคด้านการศึกษา (กสศ.) วิทิต เติมผลบุญ เลขาธิการสมาคมศูนย์การเรียนโดยองค์กรชุมชน และเอกชน

ขณะที่พ่อแม่ของเด็กๆ ซึ่งสวนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ ดาราอ้าง ต่างนำดอกไม้และพวงมาลัยมาแสดงความยินดีกับบุตรหลาน โดยปาน และอยู่คำ แสนดี พ่อแม่ของ ด.ญ.มีนา นักเรียนที่จบชั้น ป.6 กล่าวว่ารู้สึกดีใจที่ลูกได้เรียนที่ศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยาจนจบ เพราะตอนแรกที่อพยพเข้ามาทำงานในสวนส้มไม่ได้คิดว่า ลูกสาวจะได้รับการศึกษาใดๆ ที่สำคัญคือครอบครัวต้องหาเช้ากินค่ำ จึงไม่มีเงินพอที่จะส่งลูกเรียน

"ในสวนส้มเต็มไปด้วยยาและสารเคมี เรารู้สึกเป็นห่วงสุขภาพของลูกมาก เพราะเราต้องอาศัยอยู่ในนั้นทั้งวันทั้งคืน แต่เมื่อลูกๆ ได้มาเรียนที่ศูนย์การศึกษาแห่งนี้ทำให้รู้สึกสบายใจ เพราะพวกเขาได้มีพื้นที่วิ่งเล่นที่ไม่เสี่ยงอันตราย และที่นี่ไม่มีการเก็บค่าใช้จ่ายใดๆ ทำให้ไม่ต้องลำบากในการหารายได้เพิ่มขึ้น" แสนคำ กล่าว และระบุว่า ตอนนี้ตนและสามีได้ย้ายมาอยู่ที่โรงงานแห่งหนึ่งใน อ.ไชยปราการ ทำให้มีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น

ปาน และอยู่คำ กล่าวร่วมกันว่า พวกตนเข้ามาทำงานที่สวนส้มใน อ.ฝาง เพราะหมู่บ้านในเขตเมืองปั๋น รัฐฉาน ประเทศพม่า เพราะเกิดการสู้รบและไม่มีงานทำ ดังนั้น จึงต้องหอบลูก 2 คนเข้ามาหางานทำ อย่างไรก็ตาม ทราบว่าขณะนี้กำลังมีประชาชนจากรัฐฉานอีกจำนวนมากอพยพเข้ามาไทยอีก เพราะในพื้นที่มีการสู้รบที่รุนแรงขึ้นตามลำดับ ขณะที่การที่ทางการพม่าบังคับให้คนหนุ่มสาวไปเกณฑ์ทหาร ทำให้มีคนหนีเข้ามาประเทศไทยเพิ่มขึ้น เพราะไม่มีใครอยากเป็นทหารพม่า

หลังจากมอบวุฒิการศึกษาแล้วได้มีการเสวนา "การศึกษาทางเลือกสู่ทางรอด" โดย พัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการ กศส. กล่าวว่า เรามีเด็กอยู่ในระบบการศึกษาไทย 12 ล้านคน แต่ไม่สามารถตรวจสอบเด็กนอกระบบการศึกษาได้ เพราะมีข้อจำกัดเรื่องการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัว แต่นายกฯ เข้ามารับตำแหน่งสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาข้อมูลส่วนนี้โดยข้อมูลทางทะเบียนราษฎร์พบว่า เรามีเด็กอายุ 3-18 ปี เรามีอยู่ 13 ล้านคน มีความต่างกับตัวเลขในระบบการศึกษาอยู่ 1.02 ล้านคน ซึ่งไม่มีตัวเลขอยู่ในระบบการศึกษา

พัฒนะพงษ์ กล่าวว่า ตัวเลข 1.02 คนทำให้ตัวเลขเป็นไปในทางเดียวกัน และหลายหน่วยงานทำงานร่วมกันเพื่อลงไปช่วยเหลือ เราอยากเห็นการจัดการศึกษาที่หลากหลายเหมือนศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา หรือโรงเรียนห้วยซ้อ และดึงภาคส่วนต่างๆ เข้ามาทำงานร่วมกัน โดยตัวเลขนี้เมื่อ 3 ปีก่อนอยู่ที่ 8 หมื่นคน อย่างไรก็ตาม มีเด็กจำนวนหนึ่งที่ไม่อยู่ในระบบการศึกษา

พิเศษ ถาแหลง ผู้อำนวยการ โรงเรียนห้วยซ้อวิทยาคม กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้เด็กเสี่ยงหลุดจากการศึกษา คือสภาพครอบครัวที่ยากจนและความไม่สมบูรณ์ของครอบครัว เด็กบางคนต้องช่วยทำงานช่วยเหลือพ่อแม่ วิธีการที่เราพยายามช่วยขับเคลื่อนให้เขาได้เรียนเมื่อเขามีข้อจำกัดเรื่องทำมาหากิน วิธีแก้ปัญหาคือให้โอกาสด้านการศึกษาโดยหลักยืดหยุ่นในการเรียนรู้และการประเมิน โดยต้องมีความเมตตากรุณากับเขา 

"การจัดการศึกษาควรเพิ่มความหลากหลายและยืดหยุ่นให้ตรงสภาพความเป็นจริงกับเด็ก โรงเรียนในระบบต้องปรับตัวโดยให้โอกาสกับเด็ก โดยส่วนตัวแม้อยู่ในระบบก็ไม่รู้สึกกลัวว่าจะทำผิดหรือทำให้ราชการเสียประโยชน์" พิเศษ กล่าว

สมบูรณ์ ใจปิง ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนชุมชนบ้านห้วยพ่าน อ.เชียงกลาง จ.น่าน กล่าวว่า เด็กที่เรียนจบมาจำนวนมากไม่มีงานทำ ดังนั้น จึงต้องทำอย่างไรในการปรับหลักสูตร ขณะที่เด็กยากจนยิ่งลำบาก การศึกษาในระบบต้องปรับเปลี่ยน และใช้ระบบการศึกษาทางเลือก เพราะเด็กยากจนพ่อแม่ไปทำงานฝากลูกไว้กับปู่ย่าตายาย หรือพ่อแม่หย่าร้างกัน เด็กกลายเป็นปัญหาสังคม ซึ่งการศึกษาทางเลือกเป็นทางออก จึงต้องปรับหลักสูตรการเรียนการสอน

เรืองยศ ปานศิริ ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 3 กล่าวว่า ตอนนี้บรรยากาศของการศึกษาทางเลือกเชื่อว่า เด็กๆ ทุกคนต้องได้เรียน เรามีเด็กนักเรียนในระบบกว่า 4.3 หมื่นคน มีเด็กชาวเขา 9 พันกว่าคนจาก  15 ชาติพันธุ์ เป็นเด็กไทใหญ่มากที่สุด เราในฐานะที่เป็นราชการพยายามให้โอกาสเท่ากัน 

ชมนตร์พัสตร์ ปานวิลัย ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมจัดการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า เราแก้ปัญหาเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาโดยเริ่มจากการลงพื้นที่จุดเล็กๆ และได้แนวคิดว่าต้องไปลงชุมชนซึ่งให้ข้อมูลเราดีมาก เพราะผู้ใหญ่บ้านรู้หมด เมื่อได้ตัวรายบุคคลก็จะได้เหตุผลทำไมเขาถึงไม่เรียน ซึ่งต้องมีกระบวนการนำเขาเข้าสู่รบบการศึกษา ซึ่งต้องมีความยืดหยุ่น ซึ่งเกิดระบบ 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ ขณะเดียวกัน ยังมีการศึกษาในรูปแบบศูนย์การเรียนรองรับ

"ปัจจุบันมีเด็กที่เรียนในระบบโฮมสคูลเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 1 พันครอบครัว มีผู้เรียนกว่า 2 หมื่นคน เรายังมีศูนย์การเรียนโดยชุมชนและศูนย์การเรียนที่ช่วยเก็บเด็กที่หลุดการศึกษา แต่เรื่องการจ่ายค่าหัวให้เด็กกลุ่มนี้เราได้เสนอไปยังสภาการศึกษาแล้ว เราอยากผลักดันเพื่อลดการเหลื่อมล้ำ" ลิลนิ กล่าว

วีระ อยู่รัมย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา กล่าวว่า ตลอดการทำงานมา 6 ปีสิ่งที่ท้าทายมากคือเด็กเคลื่อนย้าย บางเทอมหายไป 40 คน ถ้าบอกต่อเราก็ประสานให้ซึ่งเด็กจะไม่หลุดจากระบบ เพราะหากให้ผู้ปกครองสื่อสารกับโรงเรียนเองเด็กหลุดแน่นอน เพราะอาจเลยกำหนดส่งรายชื่อและมีผลเกี่ยวกับเรื่องงบประมาณ แต่ที่ศูนย์การเรียนแห่งนี้เด็กสามารถเข้ามาได้เลย

"สิ่งที่เราทำของที่นี่มากกว่าเรื่องการศึกษาคือเรื่องคุณภาพชีวิต เรื่องความปลอดภัย เรื่องความมั่นคง เราลงพื้นที่พบว่าเด็กๆไม่อยากให้ปิดเทอมเพราะอยากมาโรงเรียนเขาไม่มีที่วิ่งเล่น จะเก็บส้มก็ถูกด่า วันนี้เราแสดงความยินดีกับเด็ก 24 คนที่เรียนจบซึ่งก็น่ายินดี แต่วันพรุ่งนี้ละ เด็กกลุ่มนี้จะไปไหน เขาจะไปเรียนที่ไหน คุณครูถามเด็กว่าจะไปที่ไหนต่อ เขาบอกไม่ไป อยากอยู่ที่นี่ ดังนั้นการศึกษาต้องออกแบบ" ผอ.ศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา กล่าว

เตือนใจ ดีเทศน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า รู้สึกห่วงใยเด็กเคลื่อนย้าย ซึ่งมีตัวอย่างกรณีเด็กอ่างทองที่ถูกส่งกลับประเทศเพื่อนบ้านเพราะไม่มีพ่อแม่มาอยู่ด้วย ปัจจุบันเด็กกลุ่มนี้ถูกมองเหมือนเป็นเชื้อโรค เพราะไม่มีใครรับ เราไม่ควรมองแต่เด็กไทย เราควรให้โอกาสกับเด็กเหล่านี้ ประเทศไทยควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยหลังจากที่เขาต้องเคลื่อนย้าย แต่เขาไม่ได้ต้องการแค่ที่เรียนแต่ต้องการความปลอดภัยด้วย ขณะที่เด็กในโรงเรียนขนาดเล็ก 40 คนก็กลัวถูกยุบ เป็นแนวคิดที่ไม่ยืดหยุ่นและไม่หลากหลาย

"เราพูดถึงทางเลือกทางรอด แต่ระบบการศึกษาและหลักสูตรแข็งตัวมากเกินไป แตกต่างจากศูนย์การเรียนรู้ เราจะดูแลเด็กที่บ้านแตกสาแหรกขาดมั้ย เรามีช่องว่างทางการศึกษามาก ตรงนี้เป็นความท้าทายของระบบการศึกษาไทย" เตือนใจ กล่าว

นิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือ 'ครูตี๋' ผู้ก่อตั้งโฮงเฮียนแม่น้ำโขง กล่าวว่า การศึกษาของมนุษย์มีหลากหลายรูปแบบ ตนทำโฮงเฮียนแม่น้ำโขง ซึ่งก็เป็นโรงเรียนทางเลือกทางรอดของมนุษย์ โดยเกิดจากการขับเคลื่อนเพื่อปกป้องและดูแลทรัพยากรธรรมชาติของท้องถิ่น แม่น้ำโขงได้รับผลกระทบจากการพัฒนาที่ส่งผลกระทบต่อชีวิต เราจึงต้องติดตามเรื่องเหล่านี้โดยใช้องค์ความรู้เป็นฐานขับเคลื่อนโดยใช้งานวิจัยท้องถิ่นเป็นเครื่องมือ 

"เราพยายามสร้างให้คนท้องถิ่นตระหนักเรื่องของตัวเองทั้งด้านนิเวศและวัฒนธรรมซึ่งเป็นพื้นฐานของมนุษย์ องค์ความรู้เหล่านี้สำคัญมากกับเยาวชน สิ่งที่สำคัญสุดคือถึงเวลาที่คนรุ่นใหม่ต้องตระหนักและเข้าใจธรรมชาติให้มากที่สุด เราจึงเน้นการขับเคลื่อนกับคนรุ่นใหม่ เราบูรณาการกับโรงเรียนในระบบและร่วมกันสร้างหลักสูตร" นิวัฒน์ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net