Skip to main content
sharethis

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) โพสต์ จม.เปิดผนึกถึงกระทรวงแรงงาน มีนโยบายผ่อนผันแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในไทย 3 กลุ่ม ชี้นายจ้างได้ประโยชน์-กันแรงงานหลุดออกจากระบบ หลังชาวพม่าได้รับผลกระทบจากวิกฤตสงครามกลางเมือง และมาตรการบังคับเกณฑ์ทหารพม่า

 

12 เม.ย. 2567 เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ หรือ Migrant Working Group - MWG โพสต์ข้อความบนสื่อโซเชียลมีเดียวันนี้ (12 เม.ย.) เวลา 8.45 น. จดหมายเปิดผนึกถึงกระทรวงแรงงาน สืบเนื่องจากสถานการณ์ชายแดนไทย-เมียนมา ตรงข้ามพื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2567 เป็นต้นมา ได้ทวีความรุนแรงขึ้นตามลำดับ โดยกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาได้เข้าโจมตีฐานที่มั่นของทหารเมียนมาในพื้นที่รอบเมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง และสามารถเข้ายึดฐานที่มั่นของทหารเมียนมาได้อย่างต่อเนื่อง และยังมีมาตรการอื่นๆ ของกองทัพพม่า โดยเฉพาะการบังคับเกณฑ์ทหาร 

MWG ระบุต่อว่า หากไม่มีมาตรการจากรัฐบาลไทยในการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น ย่อมเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจการผลิตของไทยโดยเฉพาะอุตสาหกรรมการส่งออกที่ใช้แรงงานจำนวนมาก รวมถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่มีการจ้างแรงงานประเภทไป-กลับ และหากไม่มีการแก้ไขเบื้องต้นประเทศไทยอาจจะมีแรงงานข้ามชาติที่ต้องอยู่อาศัยและทำงานแบบไม่ถูกต้องตามกฎหมายในประเทศไทยเกือบ 2 แสนคน

เพราะฉะนั้น ทาง MWG จึงมีข้อเสนอถึงรัฐบาล และกระทรวงแรงงาน ให้มีมาตรการผ่อนผันให้แรงงานข้ามชาติชาวพม่า 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1. กระทรวงแรงงานควรเสนอให้คณะรัฐมนตรีมีนโยบายผ่อนผันขยายเวลาการดำเนินการออกไปก่อน โดยกำหนดให้นายจ้างและแรงงานข้ามชาติใช้หลักฐานเอกสารเดิม และแบบบัญชีรายชื่อที่ออกโดยสำนักงานจัดหางาน มายื่นขออนุญาตทำงาน เพื่อสามารถทำงานและอยู่อาศัยในประเทศไทยได้ไม่เกิน 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2567

2. กระทรวงแรงงานควรเสนอให้คณะรัฐมนตรีมีมติผ่อนผันให้แรงงาน MoU ครบ 4 ปี ตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 ให้อยู่และทำงานในประเทศไทยได้เป็นการชั่วคราวไม่เกิน 2 ปี นับจากวันที่การได้รับอนุญาตให้ทำงานเดิมสิ้นสุด โดยใช้เอกสารหนังสือเดินทาง และใบอนุญาตทำงานเดิมมาเป็นหลักฐานในการยื่นขออนุญาตทำงาน

3. กระทรวงแรงงานควรเสนอคณะรัฐมนตรีให้มีการผ่อนผันให้แก่แรงงานข้ามชาติที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า ตามเงื่อนไขของการขออนุญาตทำงานตามมาตรา 64 ของ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2567 ให้สามารถอยู่และทำงานในประเทศไทยได้เป็นการชั่วคราวเป็นระยะเวลา 1 ปี และพิจารณาต่อได้อีกครั้งละ 1 ปี ตามมติของคณะกรรมการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว โดยให้มีการดำเนินการจัดทำทะเบียนประวัติและยื่นขออนุญาตทำงานกับสำนักงานจัดหางานต่อไป

ทาง MWG เชื่อว่า ผู้ประกอบการไทยจะได้ประโยชน์บรรเทาปัญหาเศรษฐกิจ แก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงาน และป้องกันแรงงานข้ามชาติหลุดออกจากระบบ


 

รายละเอียดจดหมายเปิดผนึก

เรื่อง ข้อห่วงใยและข้อเสนอต่อผลกระทบการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติจากพม่าในกรณีสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า

จากสถานการณ์ชายแดนไทย-เมียนมา ตรงข้ามพื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2567 เป็นต้นมา ได้ทวีความรุนแรงขึ้นตามลำดับ โดยกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาที่ประกอบด้วยกองกำลังผสมจากกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) กองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) และกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF) ได้เข้าโจมตีฐานที่มั่นของทหารเมียนมาในพื้นที่รอบเมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง และสามารถเข้ายึดฐานที่มั่นของทหารเมียนมาได้อย่างต่อเนื่อง

จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้มีแนวโน้มว่าอาจจะลุกลามจนทำให้เกิดการปิดด่านชายแดน ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการเดินทางและความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่ชายแดน รวมทั้งผู้ที่ต้องเดินทางในพื้นที่ชายแดน ทั้งนี้ ในปัจจุบันแนวนโยบายการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติของกระทรวงแรงงาน มีกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวอย่างน้อย 3 กลุ่ม ได้แก่

หนึ่ง กลุ่มแรงงาน MoU ที่ครบ 4 ปี และอยู่ระหว่างการดำเนินการกลับเข้ามาทำงานใหม่ตามมติครม. 3 ตุลาคม 2566 ซึ่งต้องเดินทางไปยังพื้นที่ชายแดนแม่สอด-เมียวดี เพื่อจัดดำเนินการตามเงื่อนไขของมติ ครม.ข้างต้น โดยจะมีระยะเวลาผ่อนผันให้อยู่ในประเทศไทยเพื่อรอการดำเนินการชั่วคราวได้ถึง 30 เมษายน 2567 เท่านั้น ซึ่งประเมินว่ามีประมาณ 50,000

สอง กลุ่มแรงงาน MoU ที่ครบ 4 ปี ตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป ซึ่งตามเงื่อนไขจะต้องเดินทางกลับประเทศต้นทางและมีระยะเวลาพัก 30 วัน ก่อนนำเข้ามาทำงานในประเทศไทยอีกครั้ง ซึ่งจะมีจำนวนประมาณ 100,000 คน

สาม กลุ่มจ้างงานตามฤดูกาล หรือไปกลับตามมาตรา 64 ของ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ซึ่งจะใช้บัตรผ่านแดนเดินทางเข้ามาทำงานในพื้นที่ชายแดนประมาณ 20,000 คน

แรงงานข้ามชาติทั้ง 3 กลุ่มนี้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์การสู้รบในพื้นที่ชายแดน รวมทั้งมาตรการอื่นๆ  ของรัฐบาลทหารพม่า เช่น มาตรการบังคับเกณฑ์ทหาร หากไม่มีมาตรการจากรัฐบาลไทยในการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นย่อมเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจการผลิตของไทยโดยเฉพาะอุตสาหกรรมการส่งออกที่ใช้แรงงาน MoU เป็นจำนวนมาก รวมถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่มีการจ้างแรงงานประเภทไป-กลับ รวมทั้งหากไม่มีการแก้ไขเบื้องต้นประเทศไทยอาจจะมีแรงงานข้ามชาติที่ต้องอยู่อาศัยและทำงานแบบไม่ถูกต้องตามกฎหมายในประเทศไทยเกือบ 2 แสนคน

จากสถานการณ์ดังกล่าว ทางเครือข่ายองค์กรด้านประขากรข้ามชาติ มีข้อเสนอต่อ รัฐบาลไทยและกระทรวงแรงงาน ดังนี้

  1. กระทรวงแรงงานควรเสนอให้คณะรัฐมนตรีมีนโยบายผ่อนผันขยายเวลาการดำเนินการออกไปก่อน โดยกำหนดให้นายจ้างและแรงงานข้ามชาติใช้หลักฐานเอกสารเดิม และแบบบัญชีรายชื่อที่ออกโดยสำนักงานจัดหางาน มายื่นขออนุญาตทำงาน เพื่อสามารถทำงานและอยู่อาศัยในประเทศไทยได้ไม่เกิน 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2567
  2. กระทรวงแรงงานควรเสนอให้คณะรัฐมนตรีมีมติผ่อนผันให้แรงงาน MoU ครบ 4 ปี ตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 ให้อยู่และทำงานในประเทศไทยได้เป็นการชั่วคราวไม่เกิน 2 ปี นับจากวันที่การได้รับอนุญาตให้ทำงานเดิมสิ้นสุด โดยใช้เอกสารหนังสือเดินทาง และใบอนุญาตทำงานเดิมมาเป็นหลักฐานในการยื่นขออนุญาตทำงาน
  3. กระทรวงแรงงานควรเสนอคณะรัฐมนตรีให้มีการผ่อนผันให้แก่แรงงานข้ามชาติที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า ตามเงื่อนไขของการขออนุญาตทำงานตามมาตรา 64 ของ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2567 ให้สามารถอยู่และทำงานในประเทศไทยได้เป็นการชั่วคราวเป็นระยะเวลา 1 ปี และพิจารณาต่อได้อีกครั้งละ 1 ปี ตามมติของคณะกรรมการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว โดยให้มีการดำเนินการจัดทำทะเบียนประวัติและยื่นขออนุญาตทำงานกับสำนักงานจัดหางานต่อไป

ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาปัญหาทางเศรษฐกิจของผู้ประกอบการ และเพื่อความปลอดภัยและแก้ไขปัญหาของแรงงานข้ามชาติ ที่ไม่สามารถดำเนินการตามเงื่อนไขของมติคณะรัฐมนตรี และตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จนกว่าสถานการณ์ในประเทศพม่าจะดีขึ้น

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ

12 เมษายน 2567

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net