Skip to main content
sharethis

MMN แถลง "ผลกระทบจากนโยบายของเมียนมาเกี่ยวกับการบังคับส่งเงิน การเก็บภาษีซ้ำซ้อน และการเกณฑ์ทหารของผู้ย้ายถิ่น" ซึ่งจะทำให้มีชาวเมียนมาโยกย้ายอย่างผิด กม. และมีผู้อพยพจำนวนมาก พร้อมข้อเสนอถึงประเทศปลายทาง เพื่อช่วยเหลือชาวเมียนมาที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว

 

31 มี.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า เครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (MMN) ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2567 หัวข้อ "ผลกระทบจากนโยบายของเมียนมาเกี่ยวกับการบังคับส่งเงิน การเก็บภาษีซ้ำซ้อน และการเกณฑ์ทหารของผู้ย้ายถิ่น" และมีข้อเสนอถึงประเทศปลายทางที่ชาวเมียนมาอาศัย เพื่อช่วยเหลือชาวเมียนมาที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว

รายละเอียดแถลงการณ์ระบุว่า ทางองค์กรมีข้อกังวลเรื่องมาตรการของกองทัพพม่าต่อผู้โยกย้ายถิ่นฐาน หรือแรงงานข้ามชาติชาวพม่า ที่อาศัยในต่างประเทศ ประกอบด้วย 1. มาตรการส่งเงินกลับ 2. มาตรการจ่ายภาษีซ้ำซ้อน เพื่อแลกกับการทำเอกสารสำคัญในสถานทูต และ 3. มาตรการเกณฑ์ทหารที่จะผลักดันให้คนหนุ่มสาวที่ไม่ต้องการเข้าร่วมกับกองทัพ เดินทางออกนอกประเทศมากขึ้น

"มาตรการที่เหยียดหยามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เหล่านี้ประกาศใช้โดยรัฐบาลเผด็จการทหาร ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อรีดไถส่วนต่างของอัตราเงินต่างประเทศจากแรงงานข้ามชาติจำนวนมากซึ่งเป็นกลุ่มที่มีรายได้น้อย ขณะเดียวกัน ก็บีบบังคับให้คนหนุ่มสาวเข้าสู่สังเวียนการต่อสู้ในสงครามกลางเมืองที่กำลังดำเนินอยู่ภายในประเทศ" MMN กล่าวในแถลงการณ์ และระบุต่อว่า มาตรการเหล่านี้จะส่งผลต่อการโยกย้ายถิ่นฐานแบบผิดปกติ และมีผู้โยกย้ายถิ่นแบบไม่มีเอกสารเพิ่มมากขึ้น

มาตรการการบังคับส่งเงินกลับ

ที่มาที่ไปของมาตรการส่งเงินกลับ มีการรายงานของสื่อในวันที่ 1 ก.ย. 2566 มีการบังคับให้แรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาที่ทำงานในต่างแดน ต้องส่งรายได้ในอัตราส่วน 1 ใน 4 ของรายได้กลับประเทศ โดยโอนเงินผ่านธนาคารที่อยู่ในสังกัดภายใต้การควบคุมของธนาคารกลางเมียนมา [1] ในขณะเดียวกัน มีการปราบปรามการส่งเงินในรูปแบบอื่นๆ ที่ไม่เป็นทางการอีกด้วย [2] 

บรรยากาศการชุมนุมหน้า UNESCAP ถ.ราชดำเนินนอก เมื่อ 24 ก.ย. 2566

นอกจากนี้ ทางการเมียนมายังมีการรวบรวมข้อมูลแรงงานข้ามชาติจากสมาชิกในครอบครัวของพวกเขาที่อยู่ในเมียนมา [3] สำหรับบทลงโทษผู้ที่ไม่ปฏิบัติตาม จะไม่ได้รับการอนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศเป็นระยะเวลา 3 ปี [4]

MMN มีข้อกังวลว่าข้อบังคับนี้อาจส่งผลกระทบต่อผู้โยกย้ายถิ่นฐานไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกหมาย และอาจทำให้เกิดการย้ายถิ่นแบบผิดปกติมากขึ้น 

MMN มองว่า ตามหลักการแล้วมาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการที่ไม่สามารถยอมรับได้ เพราะถือเป็นการละเมิดสิทธิของผู้ย้ายถิ่นในการบริหารจัดการรายได้ของตนเองตามที่พวกเขาเห็นสมควร การส่งเงินกลับบ้านถือเป็นเรื่องส่วนตัว และควรเป็นไปตามความสมัครใจ และนอกจากนี้ อาจทำให้ผู้โยกย้ายถิ่นฐานอาจตกเป็นเป้าหมายการคว่ำบาตรจากนานาชาติ เพราะถูกบังคับส่งเงินผ่านธนาคารที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวพันกับการซื้ออาวุธสงครามใช้ทำร้ายพลเรือน [5] 

จากประสบการณ์ของ MMN ผู้ย้ายถิ่นไม่ได้มีความไว้วางใจในการส่งเงินผ่านระบบธนาคารของเมียนมา เนื่องจากค่าธรรมเนียมสูงและอัตราแลกเปลี่ยนต่ำกว่าที่มีอยู่ในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด 

ตัวแทนจากสมาคมแรงงานยองชิอู (Yaung Chi Oo Workers Association - YCOWA) หนึ่งในองค์กรสมาชิกของ MMN กล่าวแสดงความรู้สึกว่า "แรงงานข้ามชาติรู้สึกว่าพวกเขากำลังถูกหลอกใช้โดยรัฐบาลเผด็จการทหาร และเงินที่พวกเขาส่งกลับไปจะถูกนำไปซื้ออาวุธเพื่อสังหารคนในครอบครัวของพวกเขาเอง"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

การเก็บภาษีซ้ำซ้อน แลกทำ VISA-ใบอนุญาตทำงาน

เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2566 รัฐบาลทหารได้แก้ไขกฎหมายภาษีของสหภาพ เพื่อให้ชาวเมียนมาในต่างประเทศต้องจ่ายภาษีเงินได้สำหรับผู้มีรายได้จากต่างประเทศ ภายใต้การแก้ไขดังกล่าว กฎหมายภายในประเทศว่าด้วยการห้ามจัดเก็บภาษีซ้ำซ้อนได้ถูกยกเลิก [6] และมีการปรับเพดานภาษีเงินได้จากรายได้ต่างประเทศ [7] สำหรับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายภาษีดังกล่าว รัฐบาลทหารจะทำการระงับการออกหนังสือเดินทาง และหนังสือรับรองประจำตัวต่างๆ รวมถึงการลงโทษอื่นๆ เช่น การเพิกถอนหนังสือเดินทาง การห้ามเดินทาง หรือการดำเนินคดีทางแพ่งหรืออาญา ดังนั้น พลเมืองเมียนมาที่ประสงค์จะต่ออายุหนังสือเดินทางในต่างประเทศจะต้องชำระภาษีคงค้างทั้งหมดให้กับสถานทูตหรือสถานกงสุลโดยตรงเป็นเงินก้อน จึงจะสามารถดำเนินการยื่นคำร้องต่างๆ ได้ [8]

สมาชิก MMN ยังมีความกังวลว่า สถานะการเข้าเมืองและอยู่อาศัยของแรงงานข้ามชาติที่ไม่สามารถหรือไม่เต็มใจที่จะจ่ายภาษีเงินจะได้รับผลกระทบ เนื่องจากพวกเขาจะไม่สามารถต่อวีซ่า และใบอนุญาตทำงาน หากหนังสือเดินทางของพวกเขาถูกเพิกถอนหรือไม่ได้รับการต่ออายุ ผลที่ตามมาคือผู้ย้ายถิ่นจำนวนมากเสี่ยงต่อการกลายเป็นแรงงานไร้เอกสาร สถานะของพวกเขาจะเปราะบาง เพิ่มโอกาสที่จะถูกแสวงหาผลประโยชน์ในตลาดแรงงานมากขึ้น การบังคับใช้กฎหมายเก็บภาษีซ้ำซ้อนและมาตรการบังคับการส่งเงินจะทำให้แรงงานข้ามชาติยากจนดลง เพิ่มความรู้สึกกดดันให้กับผู้ย้ายถิ่นจากประเทศเมียนมาที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว 

ตัวแทนองค์กรสมาชิก MMN จาก YCOWA อธิบายว่า "เหล่านายจ้างกำลังฉกฉวยประโยชน์จากปริมาณแรงงานข้ามชาติที่เกินความต้องการและแสวงหาผลประโยชน์จากแรงงาน ตัวอย่างเช่น โรงงานทอผ้าในแม่สอดได้เพิ่มโควต้าการทำงานของแรงงานในแต่ละวัน แรงงานคนไหนที่ไม่สามารถทำตามโควต้าก็จะถูกไล่ออก"

ตัวแทนจากมูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (MAP Foundation) ตั้งข้อสังเกตว่า "มันไม่ใช่แค่การจ่ายภาษี หรือการถูกเรียกเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ ในการรักษาสถานะเอกสารประจำตัวของผู้ย้ายถิ่นที่ทำให้ผู้ย้ายถิ่นเป็นกังวล แต่ผู้ย้ายถิ่นต้องติดต่อสถานทูตหรือสถานกงสุล และให้ข้อมูลส่วนตัวแก่หน่วยงานปกครองที่พวกเขาไม่ไว้วางใจ เป็นอีกหนึ่งในอุปสรรคในการรักษาสถานะทางกฎหมายของพวกเขาเอาไว้"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

การเกณฑ์ทหาร จะทำให้คนหนุ่มสาวออกจากประเทศ ย้ายเข้ามาในประเทศไทย

สำหรับนโยบายการเกณฑ์ทหารสืบเนื่องเมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2567 กฎหมายการรับราชการทหารของเมียนมามีผลใช้บังคับ กฎหมายนี้เดิมประกาศใช้ในปี 2010 ระบุว่า ผู้ชายที่มีอายุระหว่าง 18 ถึง 35 ปี และผู้หญิงอายุระหว่าง 18 ถึง 27 ปี ต้องเข้ารับการฝึกทหารและรับราชการในกองทัพเป็นเวลาไม่เกิน 24 เดือน [9] แต่ในกฎหมายฉบับนี้ได้ขยายช่วงอายุสำหรับผู้ชายสูงสุดถึง 45 ปี และสูงสุด 35 ปีสำหรับผู้หญิงที่เป็น "ผู้เชี่ยวชาญ" ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ได้แก่ แพทย์ วิศวกร ช่างเทคนิค หรือเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญในสาขาอาชีพนั้นๆ [10] สามารถรับราชการทหารไม่เกิน 36 เดือน [11] ทั้งนี้ สามารถขยายระยะเวลาเข้ารับราชการทหารได้สูงสุดถึง 5 ปี หากประเทศยังอยู่ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน [12] 

นอกจากนี้ ภายใต้ภาวะฉุกเฉินของประเทศ ผู้ที่ผ่านการรับราชการทหารแล้วสามารถถูกเรียกระดมพลได้ทุกเมื่อ [13] อย่างไรก็ตาม รัฐบาลทหารได้ขยายเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ยึดอำนาจในปี 2564 [14] และมีแนวโน้มว่าจะยังคงบังคับใช้ต่อไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้ง

ข้อมูลจากเครือข่าย MMN ระบุด้วยว่า ในขณะจัดเตรียมแถลงการณ์ฉบับนี้ มีรายงานว่าทางการเมียนมาได้เริ่มนำส่งออกหมายเรียกเกณฑ์ทหารแล้วดังที่ตัวแทนจากมูลนิธิ 'EMPOWER' หนึ่งในองค์กรสมาชิกของ MMN อธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับกระบวนการเกณฑ์ทหารในระดับหมู่บ้านว่า "เรา (ชาวบ้าน) ได้รับแจ้งจากผู้ใหญ่บ้านว่าจะมีเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามารวบรวมรายชื่อผู้ที่มีคุณสมบัติ จากนั้นจะมีการจับสลากใครที่ได้รับเลือกก็จะต้องเข้าร่วมกองทัพ"

การบังคับใช้กฎหมายการรับราชการทหารได้เพิ่มอัตราการย้ายถิ่นแบบ "ผสมผสาน" (mixed-migration) จากเมียนมา [15] เพราะนับตั้งแต่มีการประกาศระดมพลมีแนวโน้มที่คนหนุ่มสาวจะข้ามชายแดนเข้ามายังประเทศไทยมากยิ่งขึ้น ในขณะที่จำนวนคิวของผู้ขอวีซ่า ณ เอกอัครราชทูตไทยในนครย่างกุ้ง เมียนมา มีภาพปรากฏบนหลายสื่อว่า มีการต่อคิวยาวขึ้นกว่าปกติ นอกจากนี้ ยังเกิดอุบัติเหตุการเหยียบกันจนทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ ณ สำนักงานหนังสือเดินทางในเมืองมัณฑะเลย์และย่างกุ้ง [16] ในขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยมหาวิทยาสงฆ์ในจังหวัดเชียงใหม่ ประกาศงดรับสมัครนักศึกษาชาวเมียนมาเนื่องจากมีผู้สมัครจำนวนมากเกินไป [17]

ชาวเมียนมาแห่ขอวีซาไทย หน้าสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง (ที่มาเฟซบุ๊ก กัณวีร์ สืบแสง)

ตัวแทนจากมูลนิธิ EMPOWER กล่าวถึงภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกที่คนหนุ่มสาวเมียนมาเผชิญว่า “รัฐบาลทหารบีบพวกเขาให้จนมุม พวกเขาเผชิญกับทางเลือกที่น่ากลัว เพราะจะหนีก็เสี่ยงตายหรือไม่หนีก็ตายอยู่ดี"

ตัวแทนจากมูลนิธิรักษ์ไทย แสดงความกังวลด้วยว่า "เราได้รับเคสหลายเคสจากผู้หญิงที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศและถูกข่มขืนระหว่างเดินทางมาประเทศไทย เป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับเราที่จะให้ช่วยเหลือในกรณีเหล่านี้ เนื่องจากผู้เสียหายเข้ามาผ่านช่องทางที่ไม่เป็นทางการ และไม่มีเอกสารประจำตัว"

MMN กังวลว่า แม้ตัวผู้ย้ายถิ่นจะอยู่ในต่างประเทศ แต่พวกเขายังคงเสี่ยงต่อการถูกเกณฑ์ทหาร เนื่องจากกฎหมายการรับราชการทหาร ระบุว่า “หากไม่พบบุคคลนี้ ให้ส่งมอบ (หมายเรียกเข้ารับราชการทหาร) ให้กับสมาชิกในครอบครัวที่อาศัยอยู่ด้วยกันต่อหน้าพยาน คำสั่งให้ปฏิบัติเสมือนเป็นการส่งโดยตรงไปยังผู้ถูกเกณฑ์เข้ารับราชการทหาร” การเกณฑ์ทหารนี้จะทำให้ผู้ย้ายถิ่นลดการติดต่อกับสถานทูตเมียนมา เพื่อต่ออายุหนังสือเดินทาง และเพิ่มโอกาสที่พวกเขากลายเป็นผู้ย้ายถิ่นที่ไร้เอกสารประจำตัว นอกจากนี้ ยังอาจเพิ่มจำนวนการขอลี้ภัยโดยพลเมืองเมียนมาในประเทศปลายทาง 

โดยตัวแทนจากมูลนิธิ EMPOWER ได้อธิบายว่า "ผู้ย้ายถิ่นกังวลเรื่องการหลบหนีคำสั่งเกณฑ์ทหาร เพราะรัฐบาลทหารขู่จะดำเนินคดีทางกฎหมายต่อสมาชิกในครอบครัวโดยมีโทษจำคุกและการริบทรัพย์สิน"

ทั้งนี้ มีอัพเดทข่าวระบุว่า เมื่อ 21 ก.พ. 2567 กองทัพพม่ามีการประกาศยกเลิกเกณฑ์ทหารหญิงชั่วคราวไปก่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข้อเสนอถึงประเทศปลายทาง ปกป้องสิทธิและช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติเมียนมาที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายที่ไม่เป็นธรรมของกองทัพพม่า

ด้าน MMN มีข้อเสนอดังนี้ ต่อประเทศปลายทางที่ชาวเมียนมาเดินทางไปทำงาน 1. เรียกร้องให้รัฐบาลและนายจ้างประเทศปลายทางของชาวเมียนมา ออกมาปกป้องสิทธิของแรงงานข้ามชาติในการตัดสินใจเกี่ยวกับการออม และการส่งรายได้ของพวกเขา ให้พวกเขามีอิสระในการเลือกธนาคารและช่องทางการโอนเงิน รวมไปถึงจำนวนเงินที่พวกเขาจะออมและส่งกลับบ้าน

2. เรียกร้องให้รัฐบาลของประเทศปลายทางและอาเซียนใช้มาตรการที่จำเป็นทั้งหมดเพื่อหลีกเลี่ยงการเก็บภาษีซ้ำซ้อนกับแรงงานข้ามชาติ 3. สำหรับผู้มีบทบาทในภาคเอกชน เช่น ธนาคารและบริษัทจัดหางานต่างๆ ที่อำนวยความสะดวกในการบังคับส่งเงินและนโยบายการเก็บภาษีซ้ำซ้อนตามที่อธิบายไว้ข้างต้น MMN เรียกร้องให้ยุติความร่วมมือกับรัฐบาลเผด็จการทหารของเมียนมาและตัวแทนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องของรัฐบาลทหาร

4. เนื่องจากความไม่ชอบธรรมของทหารในการปกครองประเทศ และบังคับคนหนุ่มสาวเข้ารับราชการทหาร นำมาซึ่งการบังคับใช้แรงงานที่ไม่เป็นธรรมกับผู้ย้ายถิ่นรายใหม่จากเมียนมา ดังนั้น เราจึงขอเรียกร้องให้ประเทศเพื่อนบ้านใช้การตอบสนองด้านมนุษยธรรมต่อผู้ย้ายถิ่นรายใหม่ทุกกรณี

5. เราขอเรียกร้องให้ประเทศปลายทางทำทุกวิถีทางเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำให้ผู้ย้ายถิ่นชาวเมียนมาที่เพิ่งเข้ามามีสถานะถูกต้องตามกฎหมาย และทำการปรับเปลี่ยนกระบวนการในการต่ออายุใบอนุญาตทำงาน เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ย้ายถิ่นจะไม่กลายเป็นบุคคลไร้เอกสาร นอกจากนี้ เรายังต้องการเรียกร้องให้ประเทศปลายทางปรับปรุงการให้บริการด้านการดูแลสุขภาพและการศึกษาแก่ผู้ย้ายถิ่นทุกคน

 

อ้างอิง 

[1] "Cash-Starved Junta Milks Myanmar Migrant Workers With New Remittance Rule", The Irrawaddy, 12 September 2023, accessible at https://www.irrawaddy.com/news/burma/cash-starved-junta-milks-myanmar-migrant-workers-with-new-remittance-rule.html.

[2] "CBM Intensifies Crackdown on Illegal Hundi Businesses", Global New Light of Myanmar, 14 January 2024, accessible at https://www.gnlm.com.mm/cbm-intensifies-crackdown-on-illegal-hundi-businesses/.

[3] "Junta Requires Workers Abroad to Send Money Home Via Approved Banks", Radio Free Asia, 13 September 2023, accessible at https://www.rfa.org/english/news/myanmar/worker-remittances-09132023092811.html. For further details also see the statement from the Central Bank of Myanmar, accessible at https://www.cbm.gov.mm/content/8440 (in Burmese).

[4] See Radio Free Asia, Ibid.

[5] See US Department of State, "Transactions with Sanctioned Burmese Banks Must Be Wound Down by August 5, 2023", 4 August 2023, accessible at https://www.state.gov/transactions-with-sanctioned-burmese-banks-must-be-wound-down-by-august-5-2023/; Australian Minister of Foreign Affairs, "Further Sanctions on the Myanmar Military Regime", 1 February 2024, accessible at https://www.foreignminister.gov.au/minister/penny-wong/media-release/further-sanctions-myanmar-military-regime.

[6] In accordance with s 31 (a)(iv) of The Union Taxation Law, 2023, State Administration Council Law No.18/2023, income tax was exempted from “income from the head salary earned in the foreign currency

of a citizen residing abroad”. English translation accessible at https://ird.gov.mm/sites/default/files/UTL_2023%28english%20version%29.pdf.

[7] "Myanmar’s Military Reaches into Migrant Pockets", The News Lens, 27 October 2023, accessible at https://international.thenewslens.com/article/186630.

[8] Aung Naing, "Myanmar Regime to Require Proof of Paying Taxes for Passport Renewals", Myanmar Now, 18 October 2023, accessible at https://myanmar-now.org/en/news/myanmar-regime-to-require-proof-of-paying-taxes-for-passport-renewals/.

[9] As per Public Military Service Law (2010), ss 2(b) and s 3(a). English translation accessible at https://www.lincolnmyanmar.com/wp-content/uploads/2024/02/National-Service-Law.pdf.

[10] Ibid., s 2(d).

[11] Ibid., s 3(c).

[12] Ibid., s 4.

[13] Ibid., s 21(a).

[14] See, "Myanmar Military Extends State of Emergency, Vows to ‘Crush’ Opposition", Al Jazeera, 31 January 2024, accessible at https://www.aljazeera.com/news/2024/1/31/myanmar-military-extends-emergency-rule-for-another-six-months.

[15] See, "Fears of Mass Migration from Myanmar as Military Plans to Draft Thousands", Al Jazeera, 10 March 2024, accessible at https://www.aljazeera.com/news/2024/3/10/fears-of-mass-migration-from-myanmar-as-military-plans-to-draft-thousands; and MMN, "Neighbours in Need: Examining Thailand’s Response to Mixed Migration from Post-Coup Myanmar", August 2023, accessible at https://mekongmigration.org/wp-content/uploads/2023/09/Book_Neighbours-in-Need_EN.pdf.

[16] Nay Min Ni, "Two Women Trampled to Death as Thousands Attempt to Enter Mandalay Passport Office", Myanmar Now, 19 February 2024, accessible at https://myanmar-now.org/en/news/__trashed/.

[17] See Radio Free Asia, at n 16 above.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net