Skip to main content
sharethis

นับเป็นประชามติครั้งประวัติศาสตร์สำหรับชาวเอกวาดอร์ ที่ออกเสียงประชามติเลือกที่จะปกปักษ์รักษาอุทยานแห่งชาติยาสุนีเอาไว้ ไม่ให้มีการเข้าไปขุดเจาะน้ำมัน ซึ่งสื่อ NACLA ที่รายงานเรื่องเกี่ยวกับละตินอเมริการะบุว่านับเป็นขัยขนะครั้งใหญ่ของชนพื้นเมืองรากหญ้าและนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมในการต่อต้านเชื้อเพลิงพลังงานฟอสซิล พวกเขาต่อสู้ท่ามกลางวิกฤตทางการเมืองในประเทศ

แฟ้มภาพผู้แทนจากชนพื้นเมืองเวารานีร่วมประชุมที่สมัชชาแห่งชาติเอกวาดอร์ นำเสนอปัญหาของอุทยานแห่งชาติยาสุนี เมื่อปี 2562 (ที่มา: Fernando Sandoval/Asamblea Nacional/ CC BY-SA 2.0)

เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2566 เอกวาดอร์ได้สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการออกเสียงประชามติสนับสนุนร้อยละ 59 ในการลงประชามติยับยั้งไม่ให้มีการขุดเจาะน้ำมันที่อุทยานแห่งชาติยาสุนี ซึ่งถือเป็นหนึ่งในแหล่งที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดในโลก อเล็กซานดรา อัลไมดา จากองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมในกรุงควิโต ประเทศเอกวาดอร์ ที่ชื่อ 'แอ็กซิอง อิโคโลจิกา' (Acción Ecológica) กล่าวว่า "มันไม่ใช่แค่เป็นตัวอย่างสำหรับเอกวาดอร์เท่านั้น แต่ยังเป็นตัวอย่างสำหรับทั้งโลกด้วย"

ย้อนไปเมื่อปี 2551 เอกวาดอร์กลายเป็นประเทศแรกที่มีการระบุถึงสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมไว้ในรัฐธรรมนูญ มาถึงตอนนี้เอกวาดอร์ก็กลายเป็นประเทศแรกอีกครั้งในการที่ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของชาวเอกวาดอร์สามารถเอาชนะนักการเมืองที่สนับสนุนการขุดเจาะทรัพยากรด้วยการทำประชามติไม่ให้มีการขุดเจาะน้ำมันจากพื้นที่ "บล็อก 43" หรือที่รู้จักในนาม การเคลื่อนไหว "ยาสุนี ไอทีที"

ขบวนการดังกล่าวนี้เป็นการพร้อมใจกันคุ้มครองที่ป่าลึกของอเมซอน ที่เรียกว่าอุทยานแห่งชาติยาสุนี ไม่ให้มีสัมปทานขุดเจาะน้ำมัน ถึงแม้ว่าทั่วโลกจะมีขบวนการอื่นๆ ที่ทำในเรื่องการยับยั้งการขุดเจาะทรัพยากรได้สำเร็จอยู่ด้วยเช่นกัน แต่นี่ก็นับเป็นยุทธศาสตร์ใหม่ที่สำคัญสำหรับสิ่งแวดล้อมและนักกิจกรรมด้านสิทธิชนพื้นเมือง

เจอมัน อาฮัว ประธานขององค์กรชนชาติเวารานีแห่งออเรลลานา ซึ่งเป็นหนึ่งในจังหวัดที่เป็นพื้นที่ของยาสุนี บอกว่า ผลการทำประชามติได้เปิดทางให้กับยุคใหม่ของชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีและอนาคตที่จะส่งผลต่อชุมชนชาวอเมซอนทั้งหมด

อาฮัวบอกว่า "50 ปีของการดำเนินการด้านปิโตรเลียมทำให้พวกเราเหลือแต่ซากปรักหักพัง" ซึ่งเน้นพูดถึงผลกระทบที่สร้างปัญหาด้านสุขภาวะและการขาดแคลนทรัพยากรทางเศรษฐกิจและการศึกษา อาฮัวบอกอีกว่า "ภาครัฐได้ทำให้เราเผชิญกับอะไรมากมายโดยที่พวกเราไม่ได้ยินยอมพร้อมใจโดยการตัดสินใจอย่างเสรี โดยบอกเอาไว้ก่อนล่วงหน้า และโดยได้รับการบอกกล่าว"

การยกเลิกขุดเจาะพื้นที่ยาสุนี จะสามารถยับยั้งไม่ให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 410 ล้านเมทริกตัน ซึ่งเทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 1 ปีจากฝรั่งเศสทั้งประเทศ

การลงประชามติในครั้งนี้ยังนับเป็นชัยชนะของขบวนการต่อต้านการขุดเจาะทรัพยากร ขบวนการด้านสิ่งแวดล้อม และขบวนการของชนพื้นเมือง พวกเขาได้รับชัยชนะหลังจากต้องฝ่าฟันเส้นทางความขัดแย้งทางสังคมและการเมืองที่ยาวนานนับทศวรรษในเรื่องนโยบายขุดเจาะทรัพยากร อีกทั้งยังเป็นชัยชนะในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สถานการณ์กำลังเลวร้ายลงกว่าเดิม หลังจากที่ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีถูกลอบสังหาร 10 วันก่อนหน้าการเลือกตั้งวันที่ 20 ส.ค. ที่ผ่านมา กลุ่มนักกิจกรรมที่เป็นกองหน้าต่างก็ต่อสู้ต่อไปในสภาพที่มีความรุนแรงและความไม่ปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น

สาเหตุที่ปกป้องผืนป่ายาสุนี

อุทยานแห่งชาติยาสุนีส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่อาณาเขตของบรรพบุรุษชนพื้นเมืองเวารานี นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งพื้นที่ที่เต็มไปด้วยพิชพรรณ, สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ, นก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ จนกลายเป็นแหล่งที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงสุดของโลกเมื่อเทียบเป็นพื้นที่ต่อตารางเมตร มีสิ่งมีชีวิตที่ถูกคุกคามหรือเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อยู่มากกว่า 150 สปีชีส์ มีกลุ่มชนชาติเวารานีอยู่ 3 กลุ่มคือ Tagaeri, Taromenane, และ Dugakeaeri ที่ยังคงแยกตัวเองออกจากโลกภายนอกโดยสมัครใจ และถูกนับเป็น "กลุ่มคนที่ไม่ประสงค์จะติดต่อกับโลก" แต่การขุดเจาะน้ำมันก็ได้สร้างความเจ็บป่วย, ความไม่มั่นคงด้านอาหาร และการสังหารหมู่ในพื้นที่

ซิลวานา นิฮัว ประธานองค์กรเวารานีแห่งปาสตาซาพูดถึงผลกระทบที่เธอประสบมาโดยตรงในฐานะผู้หญิงที่ทำงานหนักเพื่อเลี้ยงเด็กๆ จากในป่า เธอบอกว่าก่อนหน้านี้ไม่มีปัญหาน้ำมันรั่วไหลและดินถล่มมากขนาดนี้ แต่เมื่อราว 70 ปีที่ผ่านมา การขุดเจาะน้ำมันก็ส่งผลต่อแหล่งอาหารของเวารานีและสร้างผลกระทบทางสังคมและทางวัฒนธรรมอย่างรุนแรง ผู้คนที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำมันต้องอาศัยอาหารและยาที่บริษัทน้ำมันแจกให้แต่การแจกจ่ายก็ไม่ใช่ว่าจะพึ่งพาได้เสมอไป บางทีก็มีการหาข้ออ้างเลิกแจกอาหารให้ กลายเป็นว่าบริษัทน้ำมันเหล่านี้ไม่ได้ช่วยพวกเขาให้มีงานหรือมีข้าวกินแล้วยังทำลายวิถีชีวิตดั้งเดิมของพวกเขาโดยไม่มีการชดเชยด้วย

การที่มีสัมปทานน้ำมันมากขึ้นเรื่อยๆในพื้นที่ยาสุนีในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาทำให้เกิดการโจมตีพื้นที่เขตแดนและละเมิดสิทธิของชนพื้นเมืองชาวเวารานีเพิ่มมากขึ้น

จนกระทั่งในปี 2562 ขบวนการ รากหญ้า "ป่าฝนของพวกเราไม่ได้มีไว้เพื่อขาย" นำโดย เนมอนเต เนนกีโม นักกิจกรรมที่ได้รับรางวัลสิ่งแวดล้อมโกลด์แมนก็ทำให้เวารานีได้รับชัยชนะในคดีครั้งประวัติศาสตร์ที่ทำให้เกิดการยุติการขุดเจาะน้ำมันในพื้นที่ "บล็อก 22"

แต่การขุดเจาะในพื้นที่ใกล้เคียงอื่นๆ ก็ยังคงดำเนินต่อไป มีการปิดถนนประท้วงในพื้นที่ของเวารานีเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และในปีที่แล้ว (2565) กลุ่มชาวเวารานีก็ทำการยึดโรงกลั่นน้ำมันใกล้กับยาสุนีเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการประท้วงทั่วประเทศของขบวนการชนพื้นเมืองระดับชาติ

 

ประวัติศาสตร์การกดขี่และความรุนแรง

นับตั้งแต่ที่บริษัทน้ำมันเชลล์ร่วมมือกับมิชชันนารีในการติดต่อกับเวารานี ทำให้เกิดการขูดรีดโดยการขุดเจาะน้ำมันที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของชาวเวารานีไปอย่างสิ้นเชิง จากที่ก่อนหน้านี้ประชากรชาวเวารานีมีอยู่ประมาณ 60,000 ราย แต่เมื่อราว 40 ปีที่แล้วมีชาวเวารานีเหลืออยู่แค่ประมาณ 2,500 ราย เท่านั้น การผลิตน้ำมันส่งผลกระทบให้เกิดการเคลื่อนย้ายชุมชน มีการทำให้เป็นเมืองเกิดขึ้นที่ป่าอเมซอน ทำให้เกิดความแตกแยกและความขัดแย้งในกระบวนการตัดสินใจ และผลักดันให้เยาวชนละทิ้งถิ่นฐานของตัวเองเพื่อไปหางานทำ

มีกรณีที่บริษัทน้ำมันสังหารชาวเวารานีเกิดขึ้นหลายครั้ง ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา มีชาวเวารานี 4 รายถูกสังหารใกล้กับแหล่งติดตั้งปิโตรเลียมแห่งใหม่

ยาสุนีได้รับการระบุว่าเป็น "พื้นที่คุ้มครอง" มาตั้งแต่ปี 2522 แต่นิยามคำว่า "คุ้มครอง" ก็เปลี่ยนไปตามกาลเวลา

เช่นกรณีปี 2550 ประธานาธิบดี ราฟาเอล คอร์เรีย เคยมีแผนการจะระดมทุน 3,000 ล้านดอลลาร์เพื่อ "คุ้มครอง" พื้นที่ยาสุนี ITT ที่เรียกว่า "บล็อก 43" เพื่อให้ได้เงินทุนจากนานาชาติมาทดแทนการสูญเสียรายได้จากพลังงานฟอสซิล แต่หลังจากที่ล้มเหลวในการระดมทุน คอร์เรียก็หันมาวางแผนหาผลประโยชน์จากอุทยานยาสุนีแทน โดยการเสนอแก้นิยามของพื้นที่ยาสุนี เนื่องจากในรัฐธรรมนูญปี 2551 ที่ระบุให้เป็นพื้นที่คุ้มครองจึงเข้าไปทำเหมืองไม่ได้ คอร์เรียจึงแก้นิยามให้กลายเป็นพื้นที่ "ผลประโยชน์แห่งชาติ" แทนในปี 2556 จนได้รับการงดเว้นจากการคุ้มครองของรัฐธรรมนูญ


การต่อสู้ของ 'ยาสุนีดอส' ที่นำทางไปสู่ชัยชนะ

ทันทีที่การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวก็มีขบวนการทางสังคมเกิดขึ้นโดยทันทีจากการรวมกลุ่มแนวร่วมที่เรียกว่า "ยาสุนีดอส" พวกเขาล่ารายชื่อเพื่อขอทำประชามติให้มีการแบนกิจการน้ำมันออกจากบล็อก 43 สมาชิกกลุ่มยาสุนีดอสต่างก็ถูกจับกุมคุมขัง และมีการใช้กำลังปราบปรามจนทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากกระสุนยางและแก็สน้ำตา อีกทั้งรายชื่อครึ่งหนึ่งที่พวกเขาล่ามาได้ก็ไม่ได้รับการยอมรับจากกระบวนการที่ยาสุนีดอสเรียกว่าเป็นกระบวนการที่ฉ้อฉล

หลังจากที่มีการต่อสู้ทางกฎหมายเป็นเวลา 10 ปี ในวันที่ 9 พ.ค. 2566 ศาลก็ตัดสินว่ารายชื่อของยาสุนีดอสสามารถนำมาใช้ได้ จนทำให้เกิดการลงประชามติเกี่ยวกับบล็อก 43 ในที่สุด

แต่หนึ่งสัปดาห์หลังจากที่ศาลตัดสินในเรื่องนี้ ประธานาธิบดีฝ่ายขวา กิลเลอร์โม ลาสโซ ก็ประกาศให้มีการจัดเลือกตั้งอย่างกระทันหัน หลังจากที่เขาสั่งยุบสภาก่อนหน้าที่จะถูกโหวตถอดถอนเพราะกำลังเผชิญเรื่องอื้อฉาวจากการฟอกเงินและการมีส่วนเกี่ยวข้องกับแก็งค์ค้ายาเสพติด มีการตั้งวันเลือกตั้งไว้ 20 ส.ค. ซึ่งจะส่งอิทธิพลต่อการเรียกร้องเรื่องยาสุนีด้วย

ดูเหมือนว่านักการเมืองทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่่ายขวาของเอกวาดอร์จะต้องการให้มีการขุดเจาะน้ำมันเกิดขึ้น มีอดีตประธานธนาคารกลางเอกวาดอร์ที่เป็นพวกสนับสนุนการขุดเจาะน้ำมันประเมินการสูญเสียรายได้ที่จะเกิดขึ้นถ้าหากไม่ขุดเจาะน้ำมันเอาไว้ในแบบที่เกินจริง ทั้งๆ ที่ในงานศึกษาวิจัยด้านธรณีวิทยาระบุว่าต่อให้มีการขุดเจาะน้ำมันที่ยาสุนีจริงแต่แหล่งน้ำมันสำรองเอกวาดอร์ก็ยังจะหมดไปโดยส่วนใหญ่ภายในปี 2572 อยู่ดี

ฝ่ายนักกิจกรรมยาสุนีดอสก็พยายามใช้วิธีการรณรงค์สนับสนุนจากรากหญ้าให้เกิดการสนับสนุนในระดับประชาชนแทนนักการเมือง มีการใช้โซเชียลมีเดีย, การเดินขบวน, ศิลปะในที่สาธารณะ, บทเพลง และวิดีโอ โดยอาศัยชื่อการรณรงค์ว่า #SialYasuni (โหวตใช่ให้ยาสุนี) ที่พยายามสร้างความตระหนักในเรื่องผลกระทบจากมลภาวะและความสำคัญในการรักษาป่าอเมซอนที่มีต่อคนรุ่นต่อไปของโลก

ถึงแม้ว่าประชากรในเขตอเมซอนจะเป็นประชากรร้อยละ 5 ของเอกวาดอร์ และผู้คนจำนวนมากก็ไม่มีเอกสารตัวตนทางกฎหมายในการที่จะโหวตลงมติได้ แต่ในช่วงวันก่อนลงประชามติพวกเขาก็พากันส่งคาราวานไปที่เมืองใหญ่ๆ เพื่อส่งสารถึงประชาชนให้ "โหวตใช่ให้ยาสุนี" เพื่อลูกหลานในอนาคต

ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่ทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาไม่มีใครได้เสียงข้างมาก ทำให้การเมืองในเอกวาดอร์อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อและต้องมีการโหวตรอบตัดสินในเดือน ต.ค. ที่จะถึงนี้ ในขณะเดียวกันการทำประชามติของยาสุนีก็เกิดขึ้นในช่วงที่มีความรุนแรงจากกลุ่มแก็งค์อาชญากรรมค้ายาและการลอบสังหารทางการเมืองที่สะเทือนขวัญ ซึ่งผลการลงประชามติในครั้งนี้จะส่งผลสะเทือนไปถึงทั้งการเลือกตั้งรอบตัดสิน และเป็นการสร้างมาตรฐานให้กับเรื่องประชาธิปไตยทางตรงและการแก้ปัญหาโลกร้อนในระดับโลก

ถึงแม้ว่าฝ่ายปกป้องยาสุนีจะได้รับชัยชนะในการลงประชามติ แต่ขบวนการเคลื่อนไหวก็ยังไม่นิ่งนอนใจ พวกเขาบอกว่ายังจะต้องคอยจับตามองการนำหลักการจากประชามติมาปฏิบัติใช้ นอกจากนี้ยังต้องคุ้มครองพื้นที่อื่นๆ ที่เหลือของยาสุนีและโดยรอบยาสุนีด้วย

อย่างไรก็ตามแรงสนับสนุนจากมวลชนในการคุ้มครองทรัพยากรทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติของเอกวาดอร์ก็เป็นสิ่งที่ดูเบาไม่ได้เลย นิฮิวบอกว่า "พวกเรามีเด็กๆ ที่ควรจะได้รับประสบการณ์แบบเดียวกับที่พวกเราเคยได้รับ สรรพสัตว์, ปลา, ต้นไม้, น้ำสะอาด และน้ำตก ... น้ำมันยังคงอยู่ใต้พื้นดิน นี่คือสิ่งที่พวกเราเป็นคนตัดสิน"

เรียบเรียงจาก

Ecuador Votes to Keep Yasuní Oil in the Ground in Historic Referendum, NACLA, 23-08-2023

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net