Skip to main content
sharethis

บริษัทปิโตรนาส ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันของมาเลเซียประกาศว่าพวกเขาต่อสู้ทางกฎหมายต่อไป หลังจากที่บริษัทสาขาย่อยของพวกเขาสองแห่งในลักเซมเบิร์กถูกยึดทรัพย์ เพราะการฟ้องร้องอ้างสิทธิโดยทายาทอดีตสุลต่านแห่งซูลู การฟ้องร้องดังกล่าวมีการอ้างถึงสัญญาที่เคยทำไว้กับเจ้าอาณานิคมอังกฤษตั้งแต่ 144 ปีที่แล้ว

 

14 ก.ค. 2565 ตัวแทนทางกฎหมายของทายาทสุลต่านคนสุดท้ายแห่งซูลูเปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ยึดทรัพย์ของศาลในลักเซมเบิร์กได้เข้ายึดทรัพย์บริษัทสาขาย่อยของบริษัทปิโตรนาส 2 แห่ง ซึ่งตั้งอยู่ในลักเซมเบิร์ก คือ ปิโตรนาสอาเซอร์ไบจาน (ชาห์ เดนิซ) และ ปิโตรนาสเซาท์คอเคซัส จากที่ก่อนหน้านี้มีกรณีข้อพิพาททางกฎหมายมูลค่าเกือบ 15,000 ล้านดอลลาร์ ที่มาจากข้อตกลงที่อดีตสุลต่านเคยเซ็นสัญญาไว้กับบริษัทของอังกฤษเมื่อ 144 ปีที่แล้ว

ข้อพิพาทดังกล่าวนี้เริ่มต้นจากการที่กลุ่มทายาทสุลต่านแห่งซูลูฟ้องร้องในปี 2560 เพื่อเรียกร้องให้มีการชดเชยเรื่องที่ดินในซาบาห์ ซึ่งพวกเขาอ้างว่าเป็นที่ดินที่บรรพบุรุษของพวกเขาเคยปล่อยให้บริษัทของอังกฤษเช่าที่เมื่อปี 2421 ก่อนหน้าที่จะมีการค้นพบทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมากในแถบนั้น จนกระทั่งในเดือน มี.ค. ปีนี้ศาลอนุญาโตตุลาการของฝรั่งเศสได้ตัดสินว่าประเทศมาเลเซียต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับทายาทสุลต่านเป็นเงิน 14,900 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากมาเลเซียรับช่วงต่อสัญญาข้อตกลงเช่าที่ดินดังกล่าวหลังจากที่ได้รับอิสรภาพจากอังกฤษ

มาเลเซียถูกสั่งให้ต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับทายาทของสุลต่านเป็นรายปี แต่พวกเขาก็หยุดจ่ายเงินให้ในปี 2556 ซึ่งในตอนนั้นมาเลเซียโต้แย้งว่าไม่มีใครที่มีสิทธิเหนือพื้นที่ซาบาห์ซึ่งนับเป็นพื้นที่อาณาเขตส่วนหนึ่งของมาเลเซีย นั่นทำให้ทายาทอดีตสุลต่านฟ้องร้องในปี 2560 และนำมาซึ่งคำตัดสินของศาลฝรั่งเศส ต่อเนื่องมาจนถึงการยึดทรัพย์สาขาย่อยของปิโตรนาสในที่สุด

ในเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี อิสมาอิล ซาบรี ยาคอบ เคยแถลงโต้ตอบคำตัดสินของฝรั่งเศส โดยบอกว่ารัฐบาลมาเลเซียจะไม่ยอมให้ใครมาอ้างสิทธิเหนือพื้นที่ดินแดนของรัฐชาติมาเลเซีย

สำหรับสิ่งที่เกิดขึ้นล่าสุดนี้ ปิโตรนาสแถลงว่าการยึดทรัพย์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นการกระทำแบบ "ไร้เหตุผล" และ ทางปิโตรนาส "กำลังทำงานอย่างหนักเพื่อปกป้องจุดยืนทางกฎหมายของพวกเขาในเรื่องนี้" รัฐมนตรีกฎหมายของมาเลเซีย วัน จูไนดี แถลงในเรื่องนี้ว่าคำสั่งศาลฝรั่งเศสที่สั่งให้ยึดทรัพย์ของบริษัทย่อยของปิโตรนาสเป็นคำสั่งที่ไม่สามารถนำมาบังคับใช้ได้ และรัฐบาลมาเลเซียไม่เคยยอมรับคำตัดสินของพวกเขา นอกจากนี้ยังบอกอีกว่าทางการมาเลเซียจะไม่ยอม "สละอธิปไตยของตนเอง"

ไฟแนนเชียลไทม์ระบุว่าปิโตรนาสถูกดึงเข้ามาอยู่ในข้อพิพาทในช่วงเดียวกับที่พวกเขากำลังวางแผนแสวงหากำไรในช่วงที่น้ำมันกำลังราคาสูงเพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของมาเลเซียหลังจากที่เศรษฐกิจประสบปัญหาจากการระบาดของ COVID-19

ทั้งนี้ยังมีการตั้งข้อสังเกตจากนักกฎหมายถึงความแปลกประหลาดของคดีนี้ คอลิน ออง คิวซี ทนายความและนักกฎหมายด้านอนุญาโตตุลาการชื่อดังบอกว่าคดีนี้ "แปลกประหลาดมาก ...มันมีข้อตกลงที่เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนหน้าการก่อตั้งประเทศ(เข้ามาเกี่ยวข้อง)"

เอลิซาเบธ เมสัน ทนายความที่เป็นผู้นำการให้คำปรึกษาแก่โจกท์ 8 รายในคดีนี้บอกว่า

"คดีนี้มันเป็นประวัติศาสตร์ลัทธิอาณานิคม ...เรื่องนี้แตกต่างจากคนที่ถูกตัดสิทธิจากทรัพย์สินกรณีอื่นๆ ลูกความของพวกเรามีการทำสัญญามาตั้งแต่ปี 2421 แล้ว พวกเขามีหนทางไปสู่การได้รับความยุติธรรมในแบบที่ลูกความรายอื่นๆ จำนวนมากไม่ได้รับ" เอลิซาเบธ กล่าว

 

 

 

 

เรียบเรียงจาก

Malaysia’s Petronas to fight seizure of Luxembourg assets, Aljazeera, 13-07-2022
https://www.aljazeera.com/economy/2022/7/13/malaysias-petronas-to-fight-seizure-of-luxembourg-assets

Petronas subsidiaries seized as lawyers press $15bn claim on Malaysia, 12-07-2022
https://www.ft.com/content/659437c7-dcc5-4756-821d-12d56d569732

Court order to seize Petronas assets unenforceable, says Putrajaya, Free Malaysia Today, 13-07-2022
https://www.freemalaysiatoday.com/category/nation/2022/07/13/court-order-to-seize-petronas-assets-unenforceable-says-putrajaya/

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net