Skip to main content
sharethis

นักวิจัยจากกองทุนบริจาคคาร์เนกีเพื่อสันติภาพระหว่างประเทศ ประเมินเรื่องที่ทำไมคาซัคสถานถึงตีตัวออกห่างจากรัสเซีย รวมถึงในช่วงที่รัสเซียทำสงครามรุกรานยูเครน และการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์เช่นนี้มีพื้นเพเป็นมาอย่างไร มีการประเมินทางยุทธศาสตร์จากฝ่ายคาซัคสถานอย่างไร แล้วทำไมมันถึงอาจจะกระทบต่อการส่งออกพลังงานไปที่ยุโรป

 

23 ก.ย. 2565 การที่รัสเซียก่อเหตุรุกรานยูเครนอาจจะไม่ได้ถึงขั้นทำให้เกิดการเปลี่ยนระเบียบโลกใหม่ แต่มันก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์การเมืองของเอเชีย ก่อนหน้าที่จะมีสงคราม รัสเซียมีพันธมิตรที่ใกล้ชิดทางฝั่งตะวันตกเป็นเบลารุส มีพันธมิตรที่ใกล้ชิดในโลกตะวันออกคือจีน และมีคาซัคสถานเป็นประเทศพันธมิตรใกล้ชิดทางตอนใต้ แต่คาซัคสถานก็ต่างออกไปจากเบลารุสและจีนตรงที่พวกเขาไม่ได้มองหาโอกาสพิเศษที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์กับรัสเซีย ในทางตรงกันข้ามคาซัคสถานพยายามค่อยๆ ถอนตัวออกจากความเป็นพันธมิตรกับรัสเซียอย่างเงียบๆ

ผู้ที่วิเคราะห์ในเรื่องนี้คือ เทมูร์ อูมารอฟ นักวิจัยจากกองทุนบริจาคคาร์เนกีเพื่อสันติภาพระหว่างประเทศ อูมารอฟบอกว่าคาซัคสถานไม่ได้ต้องการเป็นมิตรกับรัสเซียมาตั้งแต่แรกอยู่แล้วแต่ที่พวกเขาต้องทำเช่นนี้ก็เพื่อไม่ให้เป็นการทำให้รัสเซียโกรธแค้นพวกเขา ยิ่งหลังจากที่จีนแสดงการสนับสนุนคาซัคสถานเมื่อไม่นานนี้ยิ่งกลายเป็นโอกาสทองของคาซัคสถานในการดำเนินการตามเป้าหมายถีบตัวเองออกจากการเป็นพันธมิตรของรัสเซีย

สัญญาณในเรื่องนี้มาจากการที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีนเดินทางเยือนคาซัคสถานเมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบสองปีที่สีจิ้นผิงเดินทางเยือนต่างประเทศและเขาเลือกคาซัคสถานเป็นที่หมาย โดยมีการให้สัญญาว่าจะสนับสนุนคาซัคสถาน "ในการคุ้มครองเอกราช, อธิปไตย และบูรณภาพของเขตแดน" ของประเทศคาซัคสถาน

มีการตั้งข้อสังเกตว่าไม่มีเจ้าหน้าที่ทางการคาซัคสถานเลยสักรายเดียวที่แสดงการสนับสนุนรัฐบาลรัสเซียนับตั้งแต่ที่มีการรุกรานยูเครนตั้งแต่เดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ไม่แม้แต่กระทั่งจะพูดอ้อมๆ อย่างที่จีนเคยพูดเอาไว้ว่าพวกเขาเข้าใจ "เรื่องความกังวลด้านความมั่นคงที่มีเหตุผล" ของรัสเซีย ประธานาธิบดีคาซัคสถาน คาสซิม-โจมาร์ต โทคาเยฟ แสดงออกอย่างเปิดเผยว่าเขาปฏิเสธที่จะสนับสนุนรัสเซีย ทางการคาซัคสถานไม่ยอมรับให้เขตภูมิภาคดอนบัสที่มีกลุ่มแบ่งแยกดินแดนจากการหนุนหลังของรัสเซียว่าเป็นสาธารณรัฐที่แยกตัวออกมาจากยูเครน อีกทั้งยังไม่ยอมช่วยเหลือรัสเซียในการหลบเลี่ยงการคว่ำบาตรด้วย

ในทางการเมืองภายในประเทศคาซัคสถานแล้ว พวกเขามีการสกัดกั้นไม่ให้มีการแสดงออกใดๆ ที่ส่งสัญญาณสนับสนุนสงครามยูเครน โดยมีการสั่งแบนโฆษณาชวนเชื่อของกองทัพรัสเซียและยกเลิกการเดินขบวนวันแห่งชัยชนะของสหภาพโซเวียตในสงครามโลกครั้งที่ 2 (Victory Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 9 พ.ค.

เรื่องนี้ถึงขั้นทำให้สื่อสนับสนุนรัฐบาลรัสเซียและกลุ่มของโปรแกรมแช็ต Telegram ถึงขั้นกล่าวหาอ้างว่าคาซัคสถานช่วยเหลือส่งอาวุธให้กับยูเครน ข้อกล่าวหานี้อ้างอิงมาจากสิ่งที่พวกเขาอ้างว่าเป็นเอกสารสัญญาที่รั่วไหลจากบริษัทสัญชาติคาซัคสถาน Technoexport ที่ระบุถึงการส่งอาวุธที่มีมาตั้งแต่ยุคสหภาพโซเวียตให้กับยูเครนผ่านทางประเทศจอร์แดนและอังกฤษ ทางการคาซัคสถานปฏิเสธข้อกล่าวหาเหล่านี้ แต่ไม่ว่าคาซัคสถานจะส่งอาวุธให้ยูเครนจริงหรือไม่ก็ตาม สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือคาซัคสถานกำลังพยายามตีตัวออกห่างพันธมิตรที่เป็นพิษอย่างรัสเซีย

อูมารอฟมองว่าการที่สองประเทศนี้เคยเป็นพันธมิตรกันไม่ใช่แค่เรื่องมรดกจากยุคสหภาพโซเวียตเท่านั้น แต่ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาคาซัคสถานยังมีส่วนร่วมกับโครงการรวมกลุ่มของรัสเซียหลายกลุ่มด้วย คาซัคสถานรู้ดีว่าพวกเขามีข้อจำกัดที่เป็นสิ่งขวางกั้นความสัมพันธ์ของพวกเขากับรัสเซีย คาซัคสถานต้องพึ่งพิงรัสเซียในด้านเศรษฐกิจเพื่อสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวันอย่างอาหารและเครื่องนุ่งห่ม (การนำเข้าจากรัสเซียมีส่วนในการจุนเจือความต้องการของตลาดในคาซัคสถานมากกว่าร้อยละ 40) พอรัสเซียยกเลิกส่งออกน้ำตาลในปีนี้เพราะกลัวจะขาดแคลนในประเทศของตัวเอง ก็ส่งผลให้คาซัคสถานเองเผชิญกับการขาดแคลนและมีการขึ้นราคาด้วยเช่นกัน

ด้วยเหตุนี้เองทำให้คาซัคสถานต้องคอยมองอย่างระแวดระวังไปทางรัสเซียอยู่เสมอ ทางการรัสเซียแสดงให้เห็นว่าพวกเขามีอำนาจอิทธิพลต่อการเมืองภายในของคาซัคสถานมากน้อยเพียงใด แต่ทว่าอำนาจอิทธิพลของรัสเซียที่มีต่อคาซัคสถานก็กลับกลายเป็นเหตุผลที่คาซัคสถานต้องการหลุดพ้นจากความสัมพันธ์ที่มีกับรัสเซียด้วยเช่นกัน

ในทางตรงกันข้ามรัสเซียต้องการคงสภาพความสัมพันธ์แบบเดิมกับคาซัคสถานเอาไว้ การที่รัสเซียถูกโดดเดี่ยวจากประชาคมโลกทำให้คาซัคสถานเป็นประเทศคู่หูที่มีค่ามากกว่าแต่ก่อน รัสเซียรู้ตัวเองดีว่าตอนนี้พวกเขามีอำนาจต่อรองอยู่ในจุดที่ต่ำมากเป็นประวัติการณ์ ทำให้พวกเขาต้องการให้คาซัคสถานเป็นแหล่งที่ช่วยเหลือรัสเซียในยามที่ถูกคว่ำบาตรโดยการตอบรับบริษัทสัญชาติรัสเซียบางส่วน อนุญาตให้บริษัทเหล่านั้นส่งออกสินค้าที่ถูกคว่ำบาตรไปยังประเทศของพวกเขา หรือไม่เช่นนั้นก็ป้องกันไม่ให้บริษัทสัญชาติคาซัคสถานตัดความสัมพันธ์กับบริษัทจากรัสเซีย นอกจากนี้พวกเขายังต้องการคาซัคสถานในการเป็นกุญแจสำคัญให้กับโครงการรวมกลุ่ม สหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย (EEU) ด้วย

นับตั้งแต่ที่คาซัคสถานเป็นอิสระ พวกเขาก็มีนโยบายการต่างประเทศที่ให้ความสำคัญกับการลดอำนาจครอบงำของรัสเซีย และกระจายความสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ ในโลกมากขึ้น ยิ่งพวกเขาได้เห็นรัสเซียมีความขัดแย้งกับประเทศติดชายแดนทางตะวันตกอื่นๆ อย่างจอร์เจียเมื่อปี 2551 และยูเครนเมื่อปี 2557 ยิ่งทำให้คาซัคสถานเล็งเห็นว่าพวกเขาเลือกถูกทางแล้วที่จะตีตัวออกห่างจากรัสเซีย พวกเขาไม่เคยยอมรับดินแดนที่รัสเซียแผ่อิทธิพลครอบงำหรือผนวกรวมเป็นดินแดนของตัวเองเลย เช่นพื้นที่ไครเมียซึ่งรัสเซียยึดจากยูเครน เพราะการยอมรับก็จะเท่ากับว่าเป็นการให้ความชอบธรรมโดยทางอ้อมต่อการที่รัสเซียจะทำแบบเดียวกันกับคาซัคสถานบ้าง

ยิ่งรัสเซียเผชิญหน้ากับชาติตะวันตกและประชาคมโลกอย่างถลำลึกลงไปเรื่อยๆ ก็ยิ่งทำให้คาซัคสถานเตรียมถอนตัวออกจากความสัมพันธ์กับรัสเซีย นับตั้งแต่ที่รัสเซียเปิดฉากรุกรานยูเครนในเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา พวกเขาก็มองไม่เห็นเส้นแบ่งที่ชัดเจนว่าพวกเขาจะกระทำได้ขนาดไหนถึงจะถือว่าล้ำเส้นรัสเซีย ถ้าหากว่าก่อนหน้านี้การที่คาซัคสถานซ้อมรบกับนาโตไม่ทำให้รัสเซียโกรธ แต่ในตอนนี้รัสเซียมีความบาดหมางกับชาติตะวันตกมากขึ้นพวกเขาจะก้าวร้าวมากขึ้นต่อคาซัคสถานในเรื่องเดียวกันนี้หรือไม่

แต่การไร้เส้นแบ่งที่ชัดเจนนี้เองก็ทำให้คาซัคสถานได้โอกาส ในช่วงที่รัสเซียกำลังอ่อนแรงและทุ่มพลังงานกับทรัพยากรไปกับการทำสงครามในยูเครนและสร้างเสถียรภาพให้กับรัฐบาลวลาดิเมียร์ ปูติน คาซัคสถานก็ใช้โอกาสนี้ในการขยายความร่วมมือกับประเทศอื่นๆ ที่รัสเซียมองว่ารับได้

หลายเดือนหลังจากที่เริ่มมีการทำสงครามกับยูเครน โทคาเยฟก็เดินทางเยือนตุรกีเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ที่เขาเข้ารับตำแหน่ง ซึ่งนับเป็นการเดินทางเยือนครั้งที่มีความล้ำหน้าสำหรับความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ มีการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางยุทธศาสตร์และมีการตกลงว่าจะให้มีการใช้คาซัคสถานเป็นฐานการผลิตโดรนสัญชาติตุรกี ที่สำคัญไปกว่านั้นคือการที่คาซัคสถานเห็นชอบกับการแลกเปลี่ยนด้านข่าวกรองการทหารกับตุรกี ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ประเทศสมาชิก องค์การสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมกัน (CTSO) ทำข้อตกลงด้านข่าวกรองที่มีความอ่อนไหวกับประเทศสมาชิกนาโต

มีการตั้งข้อสังเกตว่า ในขณะที่คาซัคสถานปฏิเสธที่จะสนับสนุนรัสเซียในปฏิบัติการทางทหารของพวกเขา แต่คาซัคสถานก็ไม่รั้งรอที่จะแสดงออกเลือกข้างอย่างชัดเจนในเรื่องข้อพิพาทเขตแดนระหว่างอาเซอร์ไบจานกับอาร์เมเนีย ถึงแม้ว่าอาร์เมเนียจะเป็นสมาชิกของ CTSO แต่เมื่ออาเซอร์ไบจานสามารถเอาชนะอาร์เมเนียได้ โทคาเยฟก็แสดงความยินดีต่ออาเซอร์ไบจานว่าสามารถ "ฟื้นคืนบูรณภาพเขตแดน" ของประเทศพวกเขากลับมาได้

ทั้งคาซัคสถานและอาเซอร์ไบจานยังได้ยกระดับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจของพวกเขาด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากต่อธุรกิจของคาซัคสถานที่ไม่เพียงแค่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากการที่ชาติอื่นๆ คว่ำบาตรรัสเซีย แต่ยังเพราะถูกรัสเซียจงใจกดดันทางเศรษฐกิจต่อคาซัคสถานด้วย

การกระทำเช่นนี้ของโทคาเยฟเป็นสิ่งที่ผู้คนจำนวนมากประหลาดใจ เพราะว่าปูตินเพิ่งจะช่วยเหลือเขาจากการถูกโค่นล้มเมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมาในเหตุการณ์ที่เขาเรียกว่าเป็นการพยายามทำรัฐประหาร บางคนอาจจะมองว่าการที่รัสเซียเข้ามาแทรกแซงเพื่อช่วยเหลือโทคาเยฟนั้นเป็นเพราะพวกเขากำลังหาโอกาสในการแผ่ขยายอิทธิพลในภูมิภาค ขณะที่คาซัคสถานเข้าใจดีว่าแรงจูงใจหลักๆ ของรัสเซียในช่วงที่เกิดความไม่สงบคือการที่พวกเขากังวลเรื่องความมั่นคงของตัวเองกลัวว่าสถานการณ์ในประเทศใกล้เคียงจะเลยเถิดจนอยู่นอกเหนือการควบคุม เพราะกระบวนการตัดสินใจของรัสเซียตั้งอยู่กับการประเมินความเสี่ยงมากกว่าการแสวงหาโอกาส

กระนั้นก็ตามเรื่องของการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์และเรื่องข่าวลือก็ยังเป็นสิ่งที่มีความสำคัญทางการเมือง โทคาเยฟไม่อยากให้คนมองเขาว่าเป็นผู้นำได้รับการแต่งตั้งจากรัสเซีย เขาต้องการทำให้คนในประเทศเลิกวิจารณ์เรื่องที่ว่ารัสเซียจะมาแทรกแซงกิจการภายในของประเทศ ทำให้โทคาเยฟประกาศเลือกตั้งโดยด่วนเพื่อพยายามสร้างความชอบธรรมให้ตัวเองว่ามาจากเสียงของประชาชนชาวคาซัคสถาน

พวกชนชั้นนำสายเหยี่ยวในรัสเซียดูจะไม่พอใจที่ได้ข่าวการเปลี่ยนแปลงท่าทีของคาซัคสถาน พวกเขาพร้อมจะใช้วิธีการทางการเศรษฐกิจในการลงโทษคาซัคสถานในเรื่องนี้ จากการที่คาซัคสถานต้องพึ่งพารัสเซียในการส่งออก และต้องใช้ท่อก๊าซแคสเปียนหรือ CPC ที่รัสเซียถือหุ้นอยู่ร้อยละ 31 ในการส่งออกน้ำมัน ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาก็มีเหตุการณ์อย่างน้อย 5 เหตุการณ์ที่ทำให้ท่อก๊าซ CPC ต้องหยุดทำงานลงหรือทำให้ส่งออกน้ำมันจากคาซัคสถานไปให้ยุโรปลดลงอย่างมาก

ถ้าหากมีการปิดท่อก๊าซ CPC ก็จะกระทบต่อรายได้ของคาซัคสถานมากกว่าร้อยละ 40 การที่คาซัคสถานจะอาศัยช่องทางอื่นในการส่งออกผ่านทะเลแคสเปียนไปสู่ยุโรปจะสามารถส่งออกได้มากที่สุด 100,000 บาร์เรลต่อวัน ขณะที่ CPC สามารถขนส่งได้มากกว่า 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่ในตอนนี้คาซัคสถานยังหาทางเลือกอื่นในการขนส่งที่ดีกว่า CPC ยังไม่ได้ พวกเขาอยากได้อิสระในการจะขนส่งพลังงานมากกว่านี้ ทำให้โทคาเยฟเดินทางเยือนอาเซอร์ไบจานเพราะเขาหวังว่าท่าเรือในเมือง บากู จะสามารถใช้เป็นช่องทางส่งออกใหม่ได้

สำหรับท่าทีของรัสเซียนั้น ถึงแม้ว่าในเชิงทางการพวกเขาจะพูดย้ำถึงว่าตัวเองยังคงมีความสัมพันธ์กับคาซัคสถานอย่างราบรื่นเหมือนเคย แต่ในความเป็นจริงแล้วความไม่พอใจของพวกเขาอาจจะกลายเป็นความโกรธเคืองต่อคาซัคสถานได้ ถึงแม้ว่ารัสเซียจะไม่ได้แสดงออกต่อหน้าอย่างเป็นทางการ แต่พวกเขาก็ปล่อยให้พวกสายเหยี่ยวในรัฐบาลและกลุ่มนักวิจารณ์ข่มขู่คาซัคสถาน มีการนำเสนอข่าวหลอกว่ามี "การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวรัสเซีย" ในคาซัคสถาน ทำให้เกิดการพูดคุยเรื่อง "การขจัดความเป็นนาซี" ในคาซัคสถาน

ตั้งแต่เมื่อเดือน มี.ค. 2565 เซอร์กี ซาวอสต์ยานอฟ เจ้าหน้าที่ของรัสเซียเสนอให้มีการเพิ่มคาซัคสถานเป็น "เขตขจัดอาวุธและขจัดความเป็นนาซี" เพื่อปกป้องผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของรัสเซีย ในเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา ดิมิทรี เมดเยเดฟ รองประธานสภาความมั่นคงของรัสเซียโพสต์ในโซเชียลมีเดียว่าพวกเขาอาจจะหันเหความสนใจไปที่คาซัคสถานทางตอนเหนือแทนหลังจากมีการรุกรานยูเครนแล้ว เรื่องนี้ เมดเยเดฟ อ้างว่าบัญชีผู้ใช้งานของเขาถูกแฮก แต่นักข่าวรัสเซียที่มีชื่อเสียงก็ยืนยันว่าโพสต์นี้มาจากคณะทำงานของอดีตประธานาธิบดีที่ต้องการสร้างภาพให้เมดเยเดฟเป็นผู้สนับสนุนสงคราม

อูมารอฟ มองว่าการที่รัสเซียจะทำสงครามกับประเทศที่อยู่ติดกันอีกประเทศหนึ่งนั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะหลังจากที่ฝ่ายยูเครนโจมตีโต้ตอบรัสเซียได้สำเร็จ แต่ขณะเดียวกันคาซัคสถานก็อาจจะต้องเผชิญกับผลกระทบด้านลบจากการตีตัวออกห่างจากรัสเซีย ซึ่งจะมาจากการที่รัฐบาลรัสเซียทำตัวคาดเดาไม่ได้ในกระบวนการตัดสินใจของพวกเขา

 

 

เรียบเรียงจาก

Kazakhstan Is Breaking Out of Russia’s Grip, Foreign Policy, 16-09-2022

https://foreignpolicy.com/2022/09/16/kazakhstan-russia-ukraine-war/

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net