Skip to main content
sharethis

เครือข่ายนักวิชาการศึกษานโยบายการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คนศ. จชต.) และสมัชชาคนจน ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนตำบลศรีบรรพต อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส จัดเวทีระดมข้อมูลและหาแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินตำบลศรีบรรพต 

เครือข่ายนักวิชาการศึกษานโยบายการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คนศ. จชต.) แจ้งข่าวว่าเมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2566 ที่ผ่านมา สมัชชาคนจน และ คนศ. จชต. ได้ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนตำบลศรีบรรพต อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส จัดเวทีระดมข้อมูลและหาแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินตำบลศรีบรรพต ณ มัสยิดบ้านลูโบ๊ะยีริง  มีชาวศรีบรรพตมาเข้าร่วมบอกเล่าข้อมูลปัญหากันอย่างกระตือรือร้น 

ตำบลศรีบรรพตเป็นพื้นที่ที่ทรัพยากรธรรมชาติมีความอุดมสมบูรณ์ เอื้ออำนวยต่อการทำเกษตร เช่น สวนผลไม้ สวนยางพารา สวนผสมผสาน (สวนดูซง) อันเป็นฐานในการดำรงชีพของผู้คน ในส่วนของภาครัฐเองในอดีตก็ได้เข้าใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่ตำบลนี้ผ่านทางการให้สัมปทานทำไม้แก่ “เถ้าแก่” หรือนายทุนจากภายนอก 

จากเวทีนี้ พบว่า ชาวศรีบรรพตประสบปัญหาการไม่มีเอกสารสิทธิในที่ดิน แม้จะได้ขยับขยายมาจากตำบลหรืออำเภอข้างเคียงมาบุกเบิกตั้งถิ่นฐานที่ตำบลศรีบรรพตมานาน 2-3 ชั่วอายุคนแล้วก็ตาม  โดยบางส่วนมีเพียงหลักฐานการเสียภาษีที่ดิน หรือ ภบท.5 เท่านั้น เนื่องจากทางการระบุว่าทั้งตำบลศรีบรรพตเป็นเขต “ป่า” ตามพระราชบัญญัติป่า พ.ศ. 2484 จึงไม่สามารถออกเอกสารสิทธิได้ อย่างไรก็ดี ในขณะที่ประชาชนทั่วไปในตำบลศรีบรรพตไม่มีช่องทางเข้าถึงการขอเอกสารสิทธิในที่ดิน ปรากฎว่าทางการได้ออกเอกสารสิทธิ์ น.ส. 3 ก. บนที่ดินผืนใหญ่ราว 1,850 ไร่ให้แก่ผู้ถือครองรายหนึ่งที่เป็นคนนอกพื้น ที่สำคัญก็คือ มีประชาชนนับร้อยรายที่ทำกินอยู่บนที่ดินผืนนั้น โดยที่ไม่รู้ว่าที่ดินของตนถูกนำไปออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบมาตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 2530 ซึ่งเป็นช่วงเศรษฐกิจฟองสบู่ และผู้ถือครองก็ได้นำ นส.3 ก ไปกู้เงินจำนวนมหาศาลกับสถาบันการเงินในเวลานั้น 

การที่พื้นที่ตำบลศรีบรรพตทั้งตำบลถูกประกาศให้เป็นเขต “ป่า” นี้ นอกจากจะทำให้นอกจากจะทำให้ไม่สามารถขอเอกสารสิทธิในที่ดินทำกินได้แล้ว ยังสร้างปัญหาอื่นๆ ให้กับประชาชนอีก โดยตั้งแต่หลังการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ในปี 2557 ที่มี “นโยบายทวงคืนผืนป่า” เจ้าหน้าที่ป่าไม้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจตราจับกุมดำเนินคดีกับชาวบ้านขึ้นอย่างมาก เช่น จับกุมผู้ที่เลื่อยไม้ในที่ดินของตนเอง ส่วนคนที่มีสวนยางก็ไม่สามารถโค่นต้นยางแก่เพื่อปลูกใหม่ได้อีกต่อไป รวมทั้งไม่ได้รับการสนับสนุนกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย. หรือ การยางแห่งประเทศไทยในปัจจุบัน) อีกแล้ว 

ที่สำคัญ การที่ทั้งตำบลเป็นเขต “ป่า” ได้นำมาสู่ภาวะการจำกัดการพัฒนา ซึ่งได้สร้างปัญหาและอุปสรรคต่อการทำงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนขององค์การบริหารส่วนตำบลศรีบรรพต (อบต.ศรีบรรพต) เป็นอย่างมาก เนื่องจากกรมป่าไม้ไม่อนุญาตให้นำเครื่องจักรเข้ามาปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในพื้นที่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณที่ถูกทางการระบุว่าเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 2  ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปปรับปรุงเส้นทางถนนลูกรัง การซ่อมแซมเสาไฟฟ้า และการซ่อมแซมบำรุงรักษาฝายชลประทานซึ่งเป็นแหล่งผลิตน้ำประปาของตำบล จะทำได้ก็เพียงด้วยการใช้แรงงานคนและเครื่องมือประเภทจอบเท่านั้น  ส่งผลทำให้ชาวศรีบรรพตที่มีบ้านเรือนและสวนในโซนนั้นมีความยากลำบากในการเดินทางสัญจรและการดำรงชีพเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า ในการกำหนดชั้นพื้นที่ลุ่มน้ำที่ผ่านมาแทบไม่มีแนวทางที่ตายตัว อีกทั้งในพื้นที่อื่นรัฐได้อนุญาตให้นายทุนเข้ามาทำประโยชน์ในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 มาโดยตลอด เช่น การให้สัมปทานเหมืองแร่ ขณะที่การปรับปรุงทางลูกรังหรือฝายประปาซึ่งเป็นประโยชน์สาธารณะของตำบลศรีบรรพตซึ่งเป็นเพียงพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 2 กลับทำไม่ได้

อีกปัญหาที่เร่งด่วนอีกของชาวศรีบรรพตก็คือ การที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กำลังจะประกาศให้พื้นที่แถบนี้กว่า 41,000 ไร่ (รวมตำบลและอำเภอใกล้เคียง) เป็นเขตอุทยานแห่งชาติน้ำตกซีโป ซึ่งแนวเขตอุทยานแห่งชาติที่กำลังจะถูกประกาศนี้ยังซ้อนทับกับที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของชาวบ้านอยู่มาก  อันจะสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านเนื่องจากกฎหมายอุทยานแห่งชาติฉบับปัจจุบันมีบทลงโทษผู้ที่ละเมิดกฎหมายอย่างหนักหน่วง ทั้งนี้ ทางกรมอุทยานฯ อ้างว่าเมื่อกลางปี 2565 ที่ผ่านมา ได้จัดการจัดรับฟังความคิดเห็นกับบุคคลที่มีส่วนได้ส่วนเสียต่อการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติน้ำตกซีโป ไปเรียบร้อยแล้วทั้งแบบ on-site และ แบบ online แต่อย่างไรก็ดี ชาวศรีบรรพตส่วนใหญ่ไม่ทราบเรื่องและไม่ได้มีส่วนร่วมในการรับฟังความคิดเห็นนี้แต่อย่างใด ปัจจุบันผลจากการจัดรับฟังความคิดเห็นได้ถูกจัดทำเป็นรายงานเสนอไปยังกรมอุทยานฯ เรียบร้อยแล้ว เหลือแค่ขั้นตอนรอการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ดังนั้น เรื่องนี้จึงเป็นประเด็นเร่งด่วนที่บ้านศรีบรรพตจะต้องดำเนินเพื่อให้ทางการชะลอการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติน้ำตกซีโปออกไปก่อน จนกว่าที่ทางกรมอุทยานฯ จะมาพูดคุยกับประชาชนและมาร่วมกันกับประชาชนในการกำหนดแนวเขตของอุทยานให้มีความชัดเจนและไม่กระทบต่อที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของประชาชน  


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net