Skip to main content
sharethis

'สมัชชาคนจน' ยุติการชุมนุม หลังได้วันประชุมนัดแรก คกก.แก้ไขปัญหา ลั่นพร้อมกลับมาหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยว หากรัฐบาลบิดพริ้ว

 

8 พ.ย. 2566 เพจเฟซบุ๊ก สมัชชาคนจน ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ นโยบายโดยรัฐ และอื่นๆ ถ่ายทอดสดออนไลน์ (8 พ.ย.) สืบเนื่องการชุมนุมของกลุ่มสมัชชาคนจน ซึ่งปักหลักบริเวณถนนลูกหลวง ริมคลองผดุงกรุงเกษม เขตพระนคร กรุงเทพฯ เป็นเวลายาวนานกว่า 1 เดือน เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของผู้มีรายได้น้อย โดยที่ผ่านมา ตัวแทนสมัชชาคนจน ได้เข้าหารือกับตัวแทนของกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทั่งมีการตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหา 7 ชุด ให้มีการเร่งแก้ปัญหา 

วันนี้สมัชชาคนจน ประกาศยุติการชุมนุมแล้ว หลังคณะกรรมการแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจนส่วนใหญ่ได้นัดวันประชุมครั้งแรก 

ไพฑูรย์ ได้อ่านแถลงการณ์สมัชชาคนจน ฉบับที่ 7 ร่วม 1 เดือน ที่ปักหลักเพื่อขอให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจน ซึ่งเราได้มีข้อเรียกร้องหลักดังนี้ 1. ให้นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง เปิดการเจรจากับตัวแทนสมัชชาคนจน เพื่อสรุปแนวทางในแก้ไขปัญหาของสมัชชาคนจนเป็นรายกรณี หากมีกรณีที่สามารถเจรจาหาข้อยุติได้ ให้มีการเจรจาแก้ไขปัญหาโดยทันที 

2. นำผลการเจรจา ทำเป็นบันทึกข้อตกลงร่วมระหว่างรัฐบาล และสมัชชาคนจน เพื่อแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจนเป็นรายกรณี 

ข้อ 3 ให้นำผลการเจรจาจัดทำเป็นบันทึกข้อตกลงรัฐบาล กับสมัชชาคนจน เรื่องแนวทางการบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของสมาชิกสมัชชาคนจนที่ครอบครองและทำกินในที่ดินพิพาท ในระหว่างการดำเนินการแก้ไขปัญหาของสมัชชาคนจน 

4. ให้นายกรัฐมนตรีจัดตั้งคณะกรรมการแก้ไขสมัชชาคนจน ต้องมีสัดส่วนระหว่างตัวแทนรัฐบาล และสมัชชาคนจนเท่ากัน และ 5. จัดทำบันทึกข้อตกลงเรื่องแนวทางการแก้ไขปัญหารายกรณี แนวทางบันทึกข้อตกลงเรื่อง แนวทางการบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของสมาชิกสมัชชาคนจน ที่ครอบครองที่ดินพิพาทในระหว่างการดำเนินการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล คำสั่งแต่งตั้ง คณะกรรมการสมัชชาคนจน ทั้ง 7 คณะ ทั้ง 3 อย่างนี้ต้องนำเข้าการประชุม ครม. เพื่อรับทราบ

6. ข้อสุดท้าย กำหนดให้คณะกรรมการแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจน ทั้ง 7 คณะ จะมีการประชุมนัดแรก เพื่อวางแนวทางการดำเนินงาน และวางกรอบระยะเวลาในการแก้ไขปัญหา ให้เป็นไปตามบันทึกข้อตกลงระหว่างรัฐบาล และสมัชชาคนจน 

ไพฑูรย์ ระบุว่า รัฐบาลได้ให้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาเป็นตัวแทนเจรจากับสมัชชาคนจน แบบเสมอหน้า และผลการเจรจาเป็นที่น่าพอใจ ‘ระดับหนึ่ง’ นายกรัฐมนตรีมีการลงนามจัดตั้งคณะกรรมการกำกับและติดตามแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจน โดยมี ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และ ร.อ.ธรรมนัส เป็นรองประธาน คกก. 

ต่อมา 7 พ.ย.ที่ผ่านมา มีการประชุมนัดหมายของคณะกรรมการกำกับและติดตามการแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจนนัดแรก ในการประชุมครั้งนั้นมีอีก 2 กรณี ที่ยังไม่ได้วันเวลาที่แน่ชัดในการประชุม คือ คณะกรรมการแก้ไขกรณีย่อย 8 กรณี ที่มีรองนายกรัฐมนตรี ภูมิธรรม เป็นประธาน และมี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นรองประธาน มีการกำหนดประชุมภายในวันที่ 24 พ.ย. 2566 

คณะที่สองก็คือ คณะกรรมการแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงมหาดไทย มีการกำหนดการประชุมภายในวันที่ 30 พ.ย. 2566

ดังนั้น สมัชชาคนจน จึงหวังว่าทางการจะเร่งกำหนดวัน-เวลาที่ชัดเจนในการประชุมของคณะกรรมการทั้ง 2 ชุดนี้ และถ้าหากการประชุมของคณะกรรมการทั้งหมด ไม่เป็นไปตามกรอบที่บันทึกไว้ พวกเราขอประกาศว่า หลังฤดูกาลเก็บเกี่ยว สมัชชาคนจน พร้อมที่จะกลับมาทวงคืนผลการเจรจาที่รัฐบาลได้เจรจาไว้ และขอประกาศยุติการชุมนุม ณ บัดนี้ 

ธรรมนัส ยันรัฐบาลมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหา

ด้านสำนักข่าว Green News รายงานว่า หลังจากทางสมัชชาคนจนอ่านแถลงการณ์เรียบร้อยแล้ว ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ขึ้นเวที และกล่าวว่า ตนรับรู้ว่าที่ทาง สคจ. มาเรียกร้องในครั้งนี้ก็มาจากความยากลำบากที่สะสมมาอย่างยาวนาน ยืนยันว่าทางรัฐบาลมีความจริงใจในการแก้ปัญหา และจะสะสางปัญหาให้อย่างแน่นอน

ธรรมนัส พรหมเผ่า เจรจากับสมัชชาคนจน

“ตั้งแต่ผมมาสัมผัสกับพี่น้องมวลชนที่มาปักหลักชุมนุมจุดนี้มา 31 วันเต็มๆ ผมเข้าใจดีว่าถ้าพี่น้องไม่เดือดร้อนก็คงจะไม่มานั่งตากแดด ตากลม ตากฝนอยู่ ณ จุดนี้แน่ หลายท่านไม่สบาย มี 1 ท่านเสียชีวิต ไม่ใช่เรื่องที่พวกเรามีความสุข 

“ขอยืนยัน ว่ารัฐบาลชุดนี้มีความใส่ใจ สนใจ มีความปรารถนาที่ดี และมีความจริงใจที่จะร่วมในการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน โดยเราทั้ง 2 ฝ่ายมีความเข้าใจกัน และเข้าใจเหตุผลซึ่งกันและกันอย่างดี 

“ตอนนี้รัฐบาลแล้วตัวเองรับรู้ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนแล้ว หลังจากนี้จะสะสางปัญหาเก่าสานต่อสิ่งดีๆ ให้กับชาวบ้านทุกๆ คน

“สำหรับคณะกรรมการ 6 คณะ ในส่วนของกระทรวงพลังงานจะจัดประชุมนัดแรกวันที่ 16 พ.ย. จากนั้นคณะกรรมการในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต่อในวันที่ 20 พ.ย. ต่อมากระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็จะจัดสรรเวลาในการประชุมตามลำดับ และจะมีกรอบเวลาแจ้งกับพี่น้องกลุ่มสมัชชาคนจนรับทราบอย่างชัดเจน” ธรรมนัส กล่าว

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมา มติชน ออนไลน์ รายงานว่า ระหว่างการชุมนุมของ สมัชชาคนจน มีผู้ชุมนุมเสียชีวิต 1 ราย คือ แม่ทอง บุญขันธุ์ ทั้งนี้ ทางผู้ชุมนุมสมัชชาคนจน ได้มีการบริจาค เพื่อทำพิธีฌาปนกิจอุทิศให้กับแม่ทอง 

เวลา 13.00-18.00 น. เพจเฟซบุ๊ก "สมัชชาคนจน" แชร์โพสต์ไลฟ์สดจาก "อินทรีย์แดง นิวส์" เผยให้เห็นว่า รถทัวร์ของผู้ชุมนุมสมัชชาคนจนเริ่มทยอยออกจากพื้นที่ ถ.ลูกหลวง แล้ว  

รายละเอียดการนัดประชุมครั้งแรก

วานนี้ (7 พ.ย.) เมื่อเวลา 17.00 น. ไพฑูรย์ สร้อยสด เลขาธิการสมัชชาคนจน ให้สัมภาษณ์ เปิดเผยว่ามีการประชุมของคณะกรรมการกำกับและติดตามการแก้ไขปัญหาของสมัชชาคนจน โดยเป็นการกำหนดกรอบการประชุมนัดแรกของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจน 6 คณะ 

ไพฑูรย์ สร้อยสด

คณะแรก คณะกรรมการแก้ไขปัญหาคนจน รวมรายกรณีเล็กๆ น้อยๆ อีก 28 กรณี จะมีการประชุมนัดแรกภายใน 24 พ.ย. 2566

คณะกรรมการชุดที่ 2 คือคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทย อยู่ในกรอบการประชุมนัดแรกไม่เกิน 30 พ.ย. 2566

คณะกรรมการแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจนเขื่อนหัวนา และเขื่อนราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ จะมีการกำหนดการประชุมนัดแรก วันที่ 20 พ.ย. 2566 ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

คณะกรรมการแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจนที่ดินและป่าไม้ในรูปแบบของนิคมสหกรณ์ มีกำหนดการประชุมในวันที่ 20 พ.ย. 2566 ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 

คณะกรรมการแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจน เขื่อนปากมูล จ.อุบลราชธานี ที่รับผิดชอบโดยกระทรวงพลังงาน จะมีการนัดหมายการประชุมนัดแรก วันที่ 26 พ.ย. 2566 ในเวลา 10.00 น.

อย่างไรก็ตาม ยังเหลืออีก 2 คณะกรรมการที่ยังไม่ได้วันที่ชัดเจน คือคณะกรรมการแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจน และคณะกรรมการแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจนในความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทย ตามที่สื่อรายงานข้างต้น

ผ่อนผันการดำเนินคดีข้อพิพาทที่ดินทำกิน ระหว่างแก้ไขปัญหา

ไพฑูรย์ กล่าวต่อว่า  อีกวาระที่ได้มีการพิจารณามีเรื่องของบันทึกแนวทางข้อตกลงในการผ่อนผันให้ประชาชนอยู่อาศัยทำกินได้ในพื้นที่พิพาทตามวิถีชีวิตปกติ จนกว่าการแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจนจะแล้วเสร็จ อันนี้เป็นบันทึกที่มีความสำคัญมากสำหรับพี่น้องที่ต้องการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทเรื่องที่ดิน และเรื่องของป่า เพราะว่าอดีตที่ผ่านมา ถ้าไม่มีแนวทางในการผ่อนผัน การดำเนินคดีและการข่มขู่คุกคามขับไล่ประชาชนออกจากที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัย มักจะเกิดขึ้นบ่อยๆ คือตอนนี้เรามีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาร่วมกันแล้ว เพื่อแก้ไขกับทางรัฐบาล เรื่องราวเหล่านี้ทั้งการข่มขู่คุกคามดำเนินคดีไม่ควรที่จะเกิดขึ้น เพราะว่าจะเป็นอุปสรรคในการแก้ไขปัญหา ซึ่งที่ประชุมมีมติรับทราบและให้ทางคณะกรรมการแต่ละชุดดำเนินการพิจารณา 

กรณีปัญหาเร่งด่วน 4 กรณี

เลขาธิการ สมัชชาคนจน ระบุว่ากรณีปัญหาเร่งด่วนที่ได้นำเสนอมาตั้งแต่ในช่วงของการเปิดเจรจาเมื่อวันที่ 11 ต.ค. ที่ผ่านมา ที่กระทรวงเกษตรฯ ประกอบด้วย 1. เสนอให้รัฐบาลช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เขื่อนโปร่งขุนเพชร จ.ชัยภูมิ ตอนนี้น้ำยังคงท่วมบ้าน ไม่สามารถอาศัย หรือออกไปทำมาหากินได้ จึงได้เสนอให้รัฐบาลช่วยเรื่องค่าใช้จ่ายครอบครัวละ 5 พันบาทต่อเดือน จนกว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินได้

2. กรณีประชาชนปากน้ำท่าเคย อ.ท่าฉาง จ.สุราษฎร์ธานี เป็นเรื่องของพิพาทกับกรมทะเลและชายฝั่ง ปัญหาคือประชาชนมีบ่อปลาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ มันเกิดมีความขาดของบ่อจากกระแสน้ำ และภัยธรรมชาติ และประชาชนไม่สามารถซ่อมได้ เนื่องจากในพื้นที่หากมีการนำอุปกรณ์เครื่องมือในการเข้าไปซ่อมจะถูกทางกรมทะเลและชายฝั่ง ดำเนินคดี และจับกุม เราเลยอยากให้มีการประสานงานเร่งด่วน เพื่อให้ประชาชนสามารถซ่อมแซมบ่อที่อยู่อาศัยที่มันชำรุดที่เกิดจากภัยธรรมชาติ 

3. คือเรื่องที่สาธารณะประโยชน์โคกหนองเหล็ก ที่ตำบลแคน อ.สนม จ.สุรินทร์ เป็นเรื่องของกระทรวงศึกษาธิการ สร้างโรงเรียนทับที่ดินทำกินของชาวบ้าน และมีการสืบเสาะข้อเท็จจริง และได้ข้อยุติว่ากระทรวงศึกษาธิการ ก็จะชดเชยให้กับประชาชน แต่ว่าตอนนี้ยังไม่ได้มีการนำเสนอเข้า ครม.ให้ความเห็นชอบในการจ่ายค่าชดเชย เพราะว่าทาง สพฐ. อ้างว่าต้องหารือว่าจะต้องใช้งบประมาณกลาง หรืองบประมาณกระทรวงฯ โดยข้อสรุปในที่ประชุมระบุว่า ธรรมนัส พรหมเผ่า แจ้งในที่ประชุมว่า ตอนนี้เสนอทาง สพฐ. ก็คือ เสนอขอใช้งบกลาง เพื่อนำเข้า ครม.ในการจ่ายกรณีนี้ 

เลขาธิการ สมัชชาคนจน ระบุต่อว่า สุดท้าย เรื่องการตัดโค่นไม้ยาง ซึ่งอันนี้เป็นปัญหาที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปี 2562 ที่เรียกร้องให้เขตพื้นที่อุทยานนเรศวร ของทางจังหวัดนครศรีธรรมราช ตรัง และพัทลุง ทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด อุทยานแห่งชาติเขาปู่เขาย่า และก็อีกสอง พื้นที่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน เมื่อยางพาราหมดสภาพการกรีด ประชาชนในพื้นที่ไม่สามารถที่จะตัดโค่นและปลูกใหม่ได้ ประชาชนจึงไม่มีรายได้ ต้องอาศัยทำงานรับจ้างทั่วไป เพื่อให้พอมีรายได้มา เลี้ยงดูครอบครัว ข้อเสนอของเราคืออยากให้มีการผ่อนผัน เพื่อให้สามารถดำเนินการโค่นต้นยาง เพื่อปลูกใหม่ทดแทนได้ 

ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นตัวแทนประธานการประชุม แจ้งกับที่ประชุมว่า เมื่อ 7 พ.ย. 2566 ได้มีการหารือกับการยางแห่งประเทศไทย โดยมีการกำชับว่า ให้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือหารือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้มีการตัดโค่นต้นยางได้ นอกจากนี้ ธรรมนัส รับปากว่าจะติดตามเพื่อให้การดำเนินการต่างๆ เกิดขึ้นได้ 

วาระเพิ่มเติมอื่นๆ จะมีของแก่งเสือเต้น และเขื่อนท่าแซะ ก่อนหน้านี้ที่ได้มีการเจรจากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือกรมชลประทาน ยืนยันว่าเขื่อนทั้ง 2 ลูกไม่มีแผนที่จะสร้าง ข้อเสนอของสมัชชาคนจน ให้กรมชลประทานได้นำเสนอต่อ ครม. เพื่อให้มีมติเห็นชอบ ‘ยกเลิก’ โครงการก่อสร้างเขื่อนทั้ง 2 แห่งนี้ ทาง ร.อ.ธรรมนัส ได้ยืนยันว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของกระทรวงเกษตรฯ และจะสั่งการด้วยตนเอง

ไพรฑูรย์ ระบุต่อว่า อีกเรื่องหนึ่งก็คือการรับรองสายพันธุ์ข้าวหอมมะลิที่ปลูกในพื้นที่นอกเขต ปัญหาคือประชาชนในจังหวัดสระแก้ว ปลูกข้าวหอมมะลิ สายพันธุ์ 105 เหมือนกัน แต่ว่าราคาที่ขายได้จะต่ำกว่าราคาข้าวหอมมะลิที่ผลิดอยู่ในแถบพื้นที่ภาคอีสาน หรือพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ต่างกันอยู่ประมาณ 2 บาท หรือ 1 ตัน ราคาจะห่างกันที่ประมาณ 2,000 บาท ซึ่ง 2 พันบาทมีมูลค่ามากสำหรับชาวนา ซึ่งรายได้ตรงนี้จะนำไปสู่การเก็บเกี่ยว และรายได้จิปาถะในการดูแลรักษา ในการทำการผลิตข้าว

ต่อมา ในที่ประชุมมีมติว่า ให้กรมการข้าว ไปเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ เพื่อให้มีการกำหนดราคาให้เท่าเทียมกันทั้งประเทศ และพอเสร็จแล้ว ข้าวจังหวัดสระแก้วในการซื้อในราคาที่ต่ำกว่า 2 บาท กลับมีการขนข้าวไปที่ภาคอีสาน ไปอำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ ไปจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็นพื้นที่ของทุ่งกุลาร้องไห้ และเอาข้าวที่จังหวัดสระแก้วไปปนกับทุ่งกุลาร้องไห้ และนำไปขายผู้บริโภคในราคาที่รับซื้อมาจากทุ่งกุลาร้องไห้ ทำให้เรารู้สึกว่าไม่เป็นธรรม เพราะว่านายทุนที่มากดขี่ขูดรีดไม่ใช่แค่เฉพาะชาวนา แต่กดขี่ราคากับผู้บริโภคด้วย ซื้อถูก แต่เอาไปขายแพง

ร.อ. ธรรมนัส ย้ำว่า ท่านช่วยเถียงคอเป็นเอ็น แต่สุดท้าย ในที่ประชุมมีมติให้กระทรวงเกษตรฯ ส่งกลับมาทบทวน อย่างไรก็ตาม ท่านยังคงที่จะผลักดันในเรื่องนี้ต่อ 

คกก.แก้ไขปัญหาแรงงาน ประชุมนัดแรก 24 พ.ย.นี้ เร่งช่วยแรงงานถูกลอยแพ

บุญยืน สุขใหม่ ผู้ประสานงานกลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก และกรรมการบริหารสมัชชาคนจน เผยว่า คณะกรรมการแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจน กรณีปัญหาแรงงาน จะมีการจัดประชุมวันที่ 24 พ.ย. 2566 เวลา 10.00 น. ที่กระทรวงแรงงาน ในส่วนของกลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ของเราส่งตัวแทนในส่วนของผู้แทนเจรจาส่วนกรณีปัญหาแรงงานทั้ง 11 คน 

สมัชชาคนจน สอบถามกระทรวงแรงงาน กรณีนัดวันประชุม คกก.แก้ไขปัญหา เมื่อ 6 พ.ย. 2566

ทั้งนี้ ประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงแรงงานจะมีด้วยกัน 10 ประเด็นปัญหารายกรณี โดยเฉพาะที่ผ่านมา หลายสถานประกอบการปิดกิจการ และลอยแพลูกจ้างโดยที่ไม่ได้รับเงินค่าชดเชย หรือเงินอื่นตามกฎหมาย การประชุมนัดแรกจึงจะมีการกำหนดแนวทาง และวางกรอบเวลาแก้ไขปัญหา

นอกจากนี้ บุญยืน ระบุว่า กระทรวงแรงงานชี้แจงว่าเขาไม่มีการตั้งงบประมาณเพื่อช่วยเหลือลูกจ้างที่ถูกลอยแพเลิกจ้าง แต่ว่าทางสมัชชาคนจน มองว่า รัฐบาลต้องเป็นผู้รับผิดชอบ เพื่อที่จะจ่ายเงินในส่วนนี้ให้กับลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างแล้วก็ไม่ได้รับค่าชดเชยแล้วถูกลอยแพ

กรรมการบริหารสมัชชาคนจน กล่าวว่า กรณีเชิงนโยบาย จะเป็นเรื่องของปัญหาในส่วนของการแก้ไขกฎหมายให้มีการอัพเดทราว 9 ฉบับ (10 กรณี) ที่เราเสนอ ในรายละเอียดส่วนนี้จะทำเป็นลิงก์ เพราะว่าถ้าเกิดใครสนใจที่จะติดตามสามารถเข้าไปติดตามได้ที่เพจของกลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก หรือว่าเพจสมัชชาคนจน ในกรณีปัญหาแรงงาน ซึ่งถ้าได้กรอบแนวทางในการแก้ไขปัญหา เราคิดว่า อย่างน้อยในกลไกในการแก้ไขปัญหาได้ระบุไว้ในมติของที่ประชุมของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าจะต้องมีการรายงานปัญหาทุกๆ 2 เดือนต่อ 1 ครั้ง เครื่องมือตัวนี้จะทำให้ปัญหาของสมาชิกสมัชชาคนจน กรณีปัญหาแรงงาน และปัญหาอื่นๆ ได้รับการแก้ไขได้ทันท่วงที และน่าจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ดีกว่าในอดีตที่ผ่านมา
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net