Skip to main content
sharethis

'สมัชชาคนจน' พอใจผลประชุมกับกระทรวงแรงงาน หาทางแก้ไขปัญหารายกรณีโดยเฉพาะการลอยแพเลิกจ้างแรงงาน เตรียมตั้งอนุกรรมการผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบาย และแก้ไขกฎหมายที่ล้าสมัย

 

24 พ.ย. 2566 ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานวันนี้ (24 พ.ย.) ตั้งแต่เวลา 9.00 น. ที่กระทรวงแรงงาน มีการประชุมแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจนกรณีแรงงาน โดยรัฐมนตรีแรงงานเป็นประธานในที่ประชุม ความคืบหน้าวันนี้ บุญยืน สุขใหม่ กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุมมีการตั้งอนุกรรมการแก้ไขปัญหากรณีเชิงนโยบายโดยเฉพาะปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานทั้งหมด เพราะว่ากฎหมายที่ผ่านมาไม่มีแก้ไขให้ทันสมัย โดยให้มีผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานเป็นประธานในที่ประชุม และผู้แทนฝ่ายรัฐ และผู้แทนสมัชชาคนจนฯ สัดส่วนเท่าๆ กัน

บุญยืน กล่าวต่อว่า ปัญหาหลักๆ คือกรณีการเยียวยาผู้ประกอบการ 6 แห่งที่ลอยแพลูกจ้าง ไม่จ่ายค่าชดเชย ผลสรุปได้มติที่ค่อนข้างเป็นน่าพอใจ และจะมีการเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาในวันที่ 28 พ.ย.นี้ และถ้า ครม. มีมติเห็นชอบให้เห็นชอบจัดตั้งงบประมาณ รัฐมนตรีกระทรวงจะตั้งงบประมาณในวันที่ 4 ธ.ค. ช่วงที่มี ครม.สัญจรที่จังหวัดหนองบัวลำภู

บุญยืน สุขใหม่

สำหรับข้อเสนอของสมัชชาคนจนนั้น ต้องการให้ทางกระทรวงแรงงานตั้งงบประมาณ เพื่อขอมติคณะรัฐมนตรีจ่ายเงินชดเชยให้กับแรงงานที่ถูกผู้ประกอบการลอยแพ หรือถูกละเมิดสิทธิแรงงาน

บุญยืน กล่าวถึงข้อเรียกร้องเรื่องการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศนั้น ทางแกนนำสมัชชาคนจน ระบุว่า เขาไม่ได้เรียกร้องให้รัฐบาลต้องเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำในปีนี้ แต่เรามี 3 ประเด็นที่อยากให้เป็นบรรทัดฐานคือค่าจ้างขั้นต่ำต้องเท่ากันทั่วประเทศ ส่วนต่างของค่าจ้างขั้นต่ำที่ปรับขึ้นทุกคนต้องได้ รวมทั้งข้าราชการ และลูกจ้าง และสุดท้าย รัฐบาลต้องจัดทำโครงสร้างเงินเดือนของลูกจ้าง ให้ลูกจ้างอายุงาน 10 ปี หรือ 20 ปี ปรากฏว่าเป็นคนงานรับเหมาค่าแรงจะได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ ตอนนี้รัฐบาลยังไม่มีความชัดเจน และกระทรวงแรงงาน ระบุว่า เสนอปรับที่ 400 บาทต่อวันในปีนี้ แต่กระทรวงแรงงานยังไม่ตกผลึกในเรื่องนี้

อภิสิทธิ์ เหล่าลุมพุก กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ ฝ่ายสมัชชาคนจน กล่าวถึงผลการหารือว่าเป็นไปตามที่เราต้องการ แต่บางประเด็นก็มีการปรับเปลี่ยนไปตามสภาพของการหารือในวงประชุม คิดว่าต้องตามดูว่ากระบวนการทำงานร่วมกันระหว่างสมัชชาคนจน และกระทรวงแรงงาน ในส่วนของการประสานงานคิดว่าไม่น่ามีปัญหาอะไร เพราะหลายเรื่องรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานรับปากและนำหลักการไปดำเนินการต่อ ถือว่าเป็นโอกาสอันดีในการแก้ไขปัญหาให้สำเร็จลุล่วง แต่ทั้งนี้ ก็ต้องขึ้นอยู่กับ ครม.ที่จะมีความจริงจังในการแก้ไขปัญหาที่สมัชชาคนจนนำเสนอหรือไม่

การประชุมดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องของการชุมนุมของสมัชชาคนจน ที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 8 ต.ค. จนถึง 7 พ.ย. 2566 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาของคนจน ระหว่างปักหลักที่ กทม. นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจน กรณีปัญหาแรงงาน โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานกรรมการ และมีการจัดประชุมวันแรกเพื่อหาแนวทางการทำงานร่วมกันระหว่าง สมัชชาคนจน และกระทรวงแรงงาน วันนี้ (24 พ.ย.)

สำหรับสมัชชาคนจน มีข้อเรียกร้องแก้ไขปัญหาแรงงานทั้งหมด 19 กรณี แบ่งเป็น กรณีปัญหาเกี่ยวกับแรงงาน 9 ข้อ ข้อเสนอเชิงนโยบาย 10 ข้อ และกรณีปัญหาอื่นๆ 1 ข้อ  

  1. นายจ้างใช้สิทธิปิดงานและเลิกจ้างกรรมการสหภาพแรงงานฯ และฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งเฉพาะกรรมการลูกจ้างซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานบริษัท A (นามสมมติ) จำนวน 9 คน
  2. นายจ้างใช้สิทธิปิดงานและเลิกจ้างเฉพาะสมาชิกสหภาพแรงงานบริษัท A (นามสมมติ) จำนวน 38 คน
  3. บริษัท T (นามสมมติ) ปิดกิจการและเลิกจ้างพนักงาน 31 คน
  4. บริษัท W (นามสมมติ) ปิดกิจการและเลิกจ้างพนักงาน จำนวน 124 คน
  5. บริษัท G (นามสมมติ) ปิดกิจการและเลิกจ้างพนักงานจำนวน 12 คน
  6. บริษัท P (นามสมมติ) ชดใช้ค่าเสียหายจากการละเมิด และจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม นางสาว พ. ซึ่งได้รับอุบัติเหตุจากการทำงาน
  7. บริษัท N (นามสมมติ) ปิดกิจการและเลิกจ้างพนักงาน 106 คน
  8. ขอให้สำนักงานกองทุนเงินทดแทนจ่ายเงินให้กับญาติ/ทายาท/ผู้มีสิทธิ์กรณี MR. K (นามสมมติ) เสียชีวิตเนื่องจากการงาน เป็นลูกจ้างของ บริษัท E (นามสมมติ)
  9. บริษัท C (นามสมมติ) และ D (นามสมมติ) เกิดอุบัติเหตุจากการทำงานและเลิกจ้างนางสาว ว. 

กรณีปัญหาอื่นๆ : ขอให้สถานทูตญี่ปุ่น สถานทูตเกาหลี สถานทูตจีน เข้ามารับฟังข้อมูลการละเมิดสิทธิแรงงาน และดำเนินการเรียกนักลงทุนจีนให้ปฏิบัติตามกกหมายแรงงานไทย กรณีที่มีการละเมิดสิทธิแรงงานเกิดขึ้นให้ส่งกลับแรงงานที่เป็นชาวต่างชาติภายใน 24 ชั่วโมง

ข้อเสนอเชิงนโยบาย 

  1. รัฐบาลต้องสนับสนุนให้สถานประกอบการจัดให้มีระบบความปลอดภัยในการทำงาน และจัดสภาพแวดล้อมที่ดีสำหรับผู้ใช้แรงงานหรือลูกจ้าง
  2. ตั้งคณะกรรมการเพื่อทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานทุกฉบับให้ทันสมัย และสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยมีสมาชิกสมัชชาคนจน และนักวิชาการที่สมัชชาคนจนเสนอ เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ อาทิ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เพิ่มสิทธิลาคลอด 180 วันได้รับค่าจ้าง 90 วัน วันหยุดสามารถแบ่งกันระหว่างสามี และภรรยา มีสวัสดิการผ้าอนามัยฟรี สำหรับผู้หญิง หรือการเปลี่ยนนิยาม “ลูกจ้าง” ตามมาตรา 5 ครอบคลุมนักศึกษาฝึกงาน ฯลฯ
  3. รัฐต้องทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีและสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา โดยจัดให้มีการทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานทุก 5 ปี
  4. ผลักดันการยกระดับฐานะ “ตำบลบ่อวิน” ให้เป็น “อำเภอบ่อวิน” จังหวัดชลบุรี
  5. ผู้ประกันตนสามารถเลือกใช้สิทธิการเลือกตั้งทุกระดับในพื้นที่ที่ตนเองทำงานหรือที่อยู่อาศัยจริงและการเริ่มการใช้วิธีการลงคะแนนแบบ Electronics Voting (E-Voting ให้กับผู้ประกันตน)
  6. คณะกรรมการไตรภาคีทุกคณะตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน พระราชบัญญัติประกันสังคมพระราชบัญญัติเงินทดแทน ผู้พิพากษาสมทบในศาลแรงงานตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 หรือกรรมการไตรภาคีอื่น ๆ ต้องมาจาการเลือกตั้งของลูกจ้างโดยตรง
  7. รัฐบาลต้องริเริ่มผลักดันให้ศาลจังหวัดทุกจังหวัดเพิ่มแผนกคดีแรงงานในศาลจังหวัดนั้น ๆ ที่มีศาลจังหวัดตั้งอยู่ หรือให้ตราเป็นพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานจังหวัดตาม มาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522
  8. รัฐบาลต้องริเริ่มผลักดันให้มีการบรรจุเนื้อหากฎหมายแรงงานต่างๆ เบื้องต้นในหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน คือระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย และระดับอาชีวะศึกษา
  9. กรณีที่รัฐบาลประกาศปรับค่าจ้างขั้นต่ำ: 1. ต้องประกาศปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้เท่ากันทั้งประเทศ 2. ต้องปรับส่วนต่างของค่าจ้างขั้นต่ำที่ถูกปรับขึ้นให้กับลูกจ้างทุกคน และรัฐต้องจัดทำโครงสร้างค่าจ้างพื้นฐานสำหรับลูกจ้างในสถานประกอบการเพื่อให้ลูกจ้างดำรงชีวิติอยู่ได้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในสังคม
  10. รัฐบาลต้องมีมติคณะรัฐมนตรียกเลิกการนำร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ ฉบับ พ.ศ. ..... ฉบับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกานำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีอีก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net