Skip to main content
sharethis

ตูแวดานียา ตูแวแมแง จากสำนักปาตานีรายาฯ เตือนว่าการฟ้องนักศึกษาอาจเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวที่ทำลายบรรยากาศสันติภาพ/สันติสุข ถามทำไมเลือกดำเนินคดีกับนักศึกษาทั้งที่งานวิชาการหลายที่ใช้คำถามเดียวกัน หวังสกัดพรรคก้าวไกลหรือไม่ เพราะปัญญาชนเริ่มเชื่อมั่นสันติวิธีจึงกล้าพูด แต่ กอ.รมน.กลับมองเป็นศัตรู แค่จัดเวทียังไม่ถึงขั้นการปรึกษาหารือสาธารณะ (Public Consultation) ก็รับฟังเสียงนักศึกษาไม่ได้แล้ว เชื่อว่ายิ่งผลักคนหนุ่มสาว BRN จะยิ่งได้ประโยชน์ เพราะประตูสันติวิธีรัฐทำลายเสียเอง

 

อาจเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวทำลายสันติภาพ/สันติสุข

ตูแวดานียา ตูแวแมแง สำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (LEMPAR) กล่าวถึง กรณีที่ กอ.รมน.ภาค 4 สน.(กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า) ดำเนินคดีนักศึกษาที่เรียกตัวเองว่าขบวนนักศึกษาแห่งชาติ รวมถึงอดีตเลขาธิการพรรคเป็นธรรม ฮากิม พงติกอ และอาเต็ฟ โซ๊ะโก จากองค์กร The Patani ทางเพจ The Poligens News ว่า เป็นกรณีที่ไม่น่าเกิดขึ้น อาจเข้าข่ายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวที่จะกระทบต่อบรรยากาศในการสร้างสันติภาพ/สันติสุข

กรณีนี้มีนักวิชาการ นักกฎหมายออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า สิ่งที่นักศึกษาจัดเสวนาและจำลองการทำประชามตินั้นอยู่ในกรอบของสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางวิชาการเป็นหลัก คนที่เข้ามาร่วมก็มีประมาณ 50-60 คนเท่านั้น สถานที่จัดก็อยู่ในมหาวิทยาลัย และอาจารย์ที่ปรึกษาส่วนใหญ่ก็เป็นอาจารย์คณะรัฐศาสตร์

ทำไมเลือกดำเนินคดีกับนักศึกษา

ตูแวดานียา กล่าวว่า เนื้อหาเสวนาที่เกี่ยวข้องกับสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง หรือ RSD ที่ผ่านมาก็เคยมีการจัดของนักวิชาการหลาย ๆ มหาวิทยาลัย ร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคมรวม 24 องค์กรในการทำวิจัยสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อกระบวนการสันติภาพ/สันติสุข หรือ Peace Survey โดยมีคำถามคล้ายกับที่นักศึกษาตั้งคำถามในบัตรจำลองประชามติว่า “หากหากต้องการจะให้ปัญหาความไม่สงบยุติลงทางออกคือต้องให้พื้นที่นี้เป็นรัฐอิสระแยกออกจากประเทศไทยหรือไม่”

“ถามว่า(คำถามนี้)อยู่ในที่กรอบข่ายที่ฝ่ายความมั่นคงนำโดย กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าอ้างว่ามีความผิดและเป็นอันตรายต่อความมั่นคงหรือไม่ อย่างไร”

“ผมคิดว่าคำว่า รัฐอิสระ แยกออกจากประเทศไทยก็มีความหมิ่นเหม่ แต่ไม่มีการดำเนินคดี ทำให้มองว่ามีความเป็น Double Standard หรือ 2 มาตรฐานหรือไม่ในการบังคับใช้กฎหมาย เพราะนักศึกษาตั้งคำถามว่าเห็นด้วยหรือไม่ถ้าจะให้มีการทำประชามติเอกราชถูกต้องตามกฎหมายก็อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน”

การเลือกที่จะบังคับใช้กฎหมายกับน้องๆ นักศึกษา แต่ไม่เลือกที่จะบังคับใช้กฎหมายกับนักวิชาการ ทำให้มีข้อสงสัยไม่ได้ว่า แรงจูงใจสำคัญในการตัดสินใจดำเนินคดีมาจากการที่จะรักษาสถานะของความมั่นคงโดย กอ.รมน.ภาค4 ส่วนหน้าอย่างเดียวหรือเปล่า หรือว่ามีแรงใจหลักอย่างอื่นด้วย

หวังทำลายความน่าเชื่อถือพรรคก้าวไกลหรือไม่

ตูแวดานียา กล่าวว่า ถ้าดูจากไทม์ไลน์ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าขยับหลังจากเลขาธิการ สมช. (สภาความมั่นคงแห่งชาติ) ให้สัมภาษณ์ว่าจะดำเนินคดีกับคนที่เกี่ยวข้องกับการจัดเสวนาและประชามติจำลอง ซึ่งแน่นอนว่าการขยับของเลขาธิการ สมช.คงต้องมีการสั่งการของนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลรักษาการปัจจุบัน

“ตรงนี้ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า เพราะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่พอใจพรรคก้าวไกล พรรคเป็นธรรมและพรรคประชาชาติซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามที่จะจัดตั้งรัฐบาล จึงหาจังหวะโอกาสเป็นเงื่อนไขในการดิสเครดิตทั้ง 3 พรรคหรือไม่ โดยเฉพาะพรรคก้าวไกลที่มีนโยบายชัดเจนว่าจะยุบ กอ.รมน. เลยเป็นโอกาสที่จะเล่นงานฝ่ายตรงข้ามโดยเอาน้องๆนักศึกษาเป็นที่ลง

ปัญญาชนเริ่มเชื่อมั่นในสันติวิธีจึงกล้าพูด แต่ กอ.รมน.กลับมองเป็นศัตรู

ตูแวดานียา เชื่อว่า ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆ จะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการพูดคุยสันติภาพโดยตรง และจะส่งผลในระยะยาวด้วย เพราะตอนนี้อารมณ์ความรู้สึกของปัญญาชนคนหนุ่มสาวเริ่มจะเชื่อมั่นในแนวทางสันติวิธีมากขึ้น จึงกล้าที่จะพูดอะไรที่ดูหมิ่นเหม่ต่อฝ่ายความมันคง แต่ในทางวิชาการพวกเขารู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ปลอดภัย และเป็นสิทธิเสรีภาพที่ย่อมกระทำได้ เพราะไม่ได้ไปฆ่าคน ไม่ได้ทำให้ใครถูกทำลายสิทธิเสรีภาพหรือทรัพย์สินเงินทอง แต่เป็นการใช้ความคิด พยายามที่จะใช้สินติวิธีที่เป็นไปได้จริง

แต่การประกาศดำเนินคดีของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ส่งผลโดยตรงให้คนหนุ่มคนสาว ปัญญาชน นักศึกษาเข้าใจว่า ฝ่ายความมั่นคงกำลังมองนักศึกษาเป็นศัตรู และส่งผลต่อแนวทางสันติวิธีในการแก้ปัญหาด้วยแนวทางการเมืองนำทางทหารด้วย และเป็นการประกาศชัดเจนในทำนองเดียวกันว่า แนวทางสันติวิธีก็เป็นศัตรูของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าด้วยเช่นกัน

ยังไม่ถึงขึ้นปรึกษาหารือสาธารณะ ก็รับฟังเสียงนักศึกษาไม่ได้แล้ว

ตูแวดานียา กล่าวว่า เมื่อเป็นอย่างนี้ แน่นอนว่าบรรยากาศโดยรวมที่ผู้คนหลายๆ ภาคส่วน แม้คนในระดับชุมชนเองเริ่มมีความหวังกับการใช้สันติวิธีและการมีส่วนร่วม ซึ่งทั้ง BRN และคณะพูดคุยฝ่ายไทยเองก็พยายามที่จะให้มีการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน มีการเปิดเวทีสาธารณะต่าง ๆ แม้ยังไม่ถึงขั้นกระบวนการปรึกษาหารือสาธารณะด้วยซ้ำ แต่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าก็ยังรับฟังน้องๆนักศึกษาวิพากษ์วิจารณ์ในกรอบวิชาการไม่ได้

“แบบนี้มันเป็นการย้อนแย้งกันระหว่างระดับนโยบายที่นำโดย สมช.ที่จะสนับสนุนบรรยากาศการพูดคุย ให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม กับกับการปฏิบัติระดับพื้นที่ ซึ่ง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เลือกที่จะใช้กฎหมายมาสกัดกั้นไม่ให้สิทธิเสรีภาพของน้องๆนักศึกษาที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนแนวทางสันติวิธีให้เกิดการเชื่อมั่นกับทุกภาคส่วนและประชาชนได้มีส่วนร่วมขับเคลื่อนสันติภาพ/สันติสุขนั้น จะเป็นสิ่งที่มาลบล้างความเชื่อมั่นความศรัทธาของพี่น้องประชาชน”

BRN จะได้ประโยชน์สูงสุด หากรัฐผลักให้คนหนุ่มสาวจับอาวุธ

ตูแวดานียา วิเคราะห์ด้วยว่า กรณีนี้คนที่จะได้ประโยชน์มากที่สุดไม่ใช่ กอ.รมน. ไม่ใช่ท่านประยุทธ์ จันทร์โอชา  แต่เป็นฝ่ายตรงข้ามรัฐไทยที่เป็นคู่ต่อสู้เรียกร้องสิทธิความเป็นเจ้าของเหนือดินแดนในพื้นที่ ก็คือขบวนการ BRN ที่รัฐบาลเองก็ยอมรับสถานะเป็นคู่พูดคุย

“BRN จะได้รับประโยชน์จากเหตุการณ์นี้โดยตรง เพราะ BRN มีแนวทางยุทธศาสตร์ที่ยังเป็นองค์กรลับ ซึ่งตอนที่รัฐไม่เปิดช่องทางทางการเมืองสันติวิธี จึงเป็นที่มาว่าทำไม BRN จึงต้องมีกองกำลังติดอาวุธในการต่อรองกับรัฐ และการที่รัฐดำเนินคดีกับขบวนนักศึกษาแห่งชาติที่พยายามจะใช้สันติวิธีจะเป็นการผลักใสให้คนหนุ่มคนสาว ปัญญาชน กลับหมดความเชื่อมั่นในแนวทางสันติวิธีและอาจหันเข้าไปมีส่วนร่วมกิจกรรมในทางลับ โดยการนำของ BRN ก็เป็นได้”

ประตูสันติวิธีที่รัฐทำลายเสียเอง

ตูแวดานียา ตอกย้ำว่า ดังนั้น รัฐเสียโดย กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เป็นคนผลักให้น้องๆเหล่านี้ไปร่วมกิจกรรมทางอาวุธ ซึ่งนำโดยยุทธศาสตร์การปฏิวัติเพื่อสร้างเงื่อนไขให้รัฐมีความล้มเหลวในการดูแลปกป้องชีวิต ทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนในพื้นที่

“หากหลังจากนี้น้องๆ นักศึกษาคนหนุ่มคนสาวเข้าไปร่วมอาจโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ตอนนี้ช่องทางสันติวิธีในการแก้ปัญหาและการสร้างสันติภาพ/สันติสุขในพื้นที่... รัฐเสียเองเป็นคนทำลายมันด้วยน้ำมือของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” นายตูแวดานียา กล่าวทิ้งท้าย

 

 

การจัดเสวนาหัวข้อ “สิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง (Right to Self Determination : RSD) กับสันติภาพปาตานี” เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2566 ซึ่งมีนักวิชาการ นักการเมือง ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการจัดกิจกรรมที่อยู่ในกรอบของสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและอยู่ในมิติวิชาการเป็นหลัก

การจำลองเหตุการณ์แสดงความคิดเห็นผ่านบัตรในงานก็เป็นการจัดในรั้วมหาวิทยาลัย ผู้เข้าร่วมมีแค่ 50-60 คนและคณะอาจารย์ที่ปรึกษาส่วนมากอยู่ในคณะรัฐศาสตร์

ที่ผ่านมามีการพูดถึงเนื้อหาเกี่ยวกับการกำหนดอนาคตตนเองหรือ  RSD อยู่แล้ว ทั้งการจัดวิจัย Peace Survay โดยเครือข่ายประชาสังคมทั้งหมด 24 องค์กร เป็นการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการพูดคุยสันติภาพ สันติสุข ก็มีการตั้งคำถามแบบทำนองเกียวกันแต่กรณีที่นักศึกษาจัดขึ้นกลับถูกดำเนินคดี

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net