Skip to main content
sharethis

รอมฎอน ปันจอร์ เผยสัญญาณความคืบหน้า นายกฯ เห็นชอบเดินหน้าพูดคุยสันติภาพแล้ว สมช.เป็นแม่งานหลัก แต่ยังมีปัญหาในแนวหน้า พร้อมชวนติดตาม กอ.รมน.จะถูกลดบทบาทลงหรือไม่ ถ้าไม่ให้บทบาทกองทัพและ กอ.รมน.ในงานสันติภาพเลยก็เสี่ยงจะสปอยล์ แต่ถ้าให้มากไปก็อาจเละ 

20 พ.ย.2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รอมฎอน ปันจอร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้โพสต์ในเฟซบุ๊ก Romadon Panjor ว่า ที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯ วันนี้ (20 พ.ย. 66) ได้รับแจ้งจากสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรีว่า เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มีความเห็นชอบเกี่ยวกับแนวทางการพูดคุยสันติภาพสันติภาพแล้ว

 “เราได้รับแจ้งข้อมูลใหม่เกี่ยวกับ #การพูดคุยสันติภาพ ว่า #นายกรัฐมนตรี ได้มีความเห็นชอบเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาเกี่ยวกับแนวทางการพูดคุยที่จะมี #การสานต่อ จากสิ่งที่รัฐบาลก่อนหน้านี้ได้ดำเนินการมา หลังจากที่ทาง สมช.(สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งขาติ) ได้บรีฟสรุปไปก่อนหน้านี้เมื่อต้นเดือนตุลาฯ“

“เท่ากับว่าความเห็นพ้องระหว่างทีมรัฐบาลไทยและบีอาร์เอ็นที่บันทึกเอาไว้ในเอกสาร General Principle on Peace Dialogue Process (ลงนาม 31 มีนาคม 2565) ได้รับการยืนยันและรับรองจากรัฐบาลใหม่แล้ว” รอมฎอน ระบุ

รอมฎอน ยังโพสต์ด้วยว่า ส่วนคณะพูดคุยและโครงสร้างหรือกลไกการพูดคุยจะมีความชัดเจนภายใน 2 สัปดาห์นี้ หรือน่าจะหลังจากการเยือนมาเลเซียในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้

สมช.เป็นแม่งานหลัก แต่ยังมีปัญหาในแนวหน้า

รอมฎอน ให้ข้อมูลด้วยว่า กลไกการพูดคุยใหม่ในฝั่งรัฐบาลไทยจะรองรับด้วย คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ฉบับใหม่ เพื่อทดแทนคำสั่งฯ เดิมที่ยกเลิกไปพร้อมกับรัฐบาลก่อน โครงสร้างใหม่ที่ว่านี้จะยึดโยงกับกลไกภายใน สมช. เองที่ชื่อ คณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คยศ.จชต.) ที่มีเลขาธิการ สมช. เป็นประธาน

“ถ้าฟังไม่ผิด จะมี สภา มช. (สภาความมั่นคงแห่งชาติ) ที่มีนายกฯ เป็นประธานและมีรัฐมนตรี 7-8 กระทรวงเป็นกรรมการ ทำหน้าที่ในลักษณะกลไกกำกับทิศทางการพูดคุย (steering committee)”

รอมฎอน ระบุว่า ทั้งหมดนี้ แม่งานหลักของงานพูดคุยสันติภาพจะยังคงอยู่ที่ สมช. (สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ) หนึ่งในเรื่องที่น่าจะยังไม่ลงตัวก็คือ หน่วยแนวหน้า ที่จะต้องทำหน้างานกับภาคประชาสังคมและประชาชน ที่ผู้แทนจาก สมช.ระบุในวงประชุมว่าน่าจะต้องเป็นหน่วยงานทางสังคมและการพัฒนา

“หากเป็นเช่นนั้น ชะตากรรมของงานประสานงานในพื้นที่อาจเปลี่ยนโฉมไป ในยุครัฐบาลหลังรัฐประหารและรัฐบาลประยุทธ์ งานนี้เดิมทีอยู่ในมือของ กอ.รมน.ภาค 4 สน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า) ซึ่งเข้ามามีส่วนใน งานการเมือง นี้อย่างสำคัญ หลายคนรู้จักกันในชื่อ "สล.3" นั่นเอง”

รอมฎอน ตั้งข้อสังเกตว่า บทบาทของกองทัพและ กอ.รมน.ในงานสันติภาพนั้นน่าสนใจ เพราะหากพวกเขาไม่มีส่วนเลย ก็มีความเสี่ยงที่จะ #สปอยล์ (คำให้เสีย) กระบวนการที่หลายฝ่ายกำลังทำกันอยู่ แต่หากให้บทบาทมากเกินไปก็อาจสร้างปัญหาความเชื่อมั่น เพราะการใช้กรอบคิดแบบทหารทำงานการเมืองที่ต้องละเมียดละไมอาจส่งผลด้านกลับ

“น่าติดตามว่าตกลงแล้ว กอ.รมน. กำลังจะถูกลดบทบาทลงหรือไม่? แล้วพวกเขาจะอยู่ตรงไหนใน #กระบวนการสันติภาพ ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลใหม่”

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net