Skip to main content
sharethis
  • ทิชา ผอ.บ้านกาญจนาชี้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับ "หยก" เป็นผลจากระบอบอำนาจนิยมที่อยู่ในสถานพินิจที่รับเอากฎกติกาจากคุกของผู้ใหญ่มาใช้นับตั้งแต่ 2495 ที่เริ่มแยกขังเด็กและผู้ใหญ่ออกจากกัน 
  • กฤษฎางค์ชี้ว่าศาลมีอำนาจปล่อยตัวหยกได้ทันทีเพราะการจับกุมไม่ชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่แรกอีกทั้งขณะเกิดการกระทำความผิดหยกยังอายุ 14 ปี ซึ่งไม่ต้องรับโทษตามกฎหมายอยู่แล้ว
  • ปริญญามองปัญหาที่เกิดขึ้นกรณีที่ผู้พิพากษามีคำตัดสินหรือมีคำสั่งไม่เป็นไปตามกฎหมายนี้เพราะในทางกฎหมายไม่มีการกำหนดฐานความผิดของผู้พิพากษาเมื่อมีการกระทำที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายเกิดขึ้น

5 พ.ค.2566 ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีเสวนาหัวข้อ “อนาคตเยาวชนไทยในกระบวนการยุติธรรม” ที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมที่ถูกนำมาใช้กับ “หยก” ธนลภย์ (สงวนนามสกุล) เยาวชนอายุ 15 ปี ที่ขณะนี้ถูกควบคุมตัวอยู่ที่สถานพินิจบ้านปรานี จ.นครปฐม เนื่องจากศาลสั่งให้คุมขังระหว่างสอบสวนในคดีที่เธอถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

ในเวทีเสวนามีวิทยากรที่เข้ารวมได้แก่ ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กและเยาวชน กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความที่ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ถูกดำเนินคดีจากการใช้เสรีภาพการแสดงออก และปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ทั้งนี้เวทีนี้ได้มีการเชิญฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐทั้งตำรวจสน.พระราชวังที่เป็นชุดจับกุม ตำรวจ สน.สำราญราษฎร์ที่เป็นผู้ขอออกหมายจับ อธิบดีศาลเยาวชนและครอบครัว เจ้าหน้าที่จากสถานพินิจบ้านปรานี มาด้วยแต่ไม่มีฝ่ายเจ้าหน้าที่ปรากฏตัวเข้าร่วมเวทีแต่อย่างใด

ก่อนเริ่มการเสวนากลุ่มเพื่อนของธนลภย์ได้เล่าถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับธนลภย์ตั้งแต่วันที่เธอถูกจับกุมจนถึงสถานการณ์ล่าสุดที่เธอกำลังเผชิญอยู่

'เก็ท' โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง จากกลุ่มโมกหลวงริมน้ำและในฐานะผู้ได้รับความไว้วางใจจากครอบครัวของธนลภย์ให้เข้าเยี่ยมได้เล่าสถานการณ์ที่ธนลภย์เผชิญอยู่ในขณะนี้ว่าศาลได้สั่งให้คุมขังเธอต่ออีก 15 วัน ทั้งที่ที่อีก 11 วันโรงเรียนที่ธนลภย์สอบเข้าได้จะเปิดเทอมแล้วแต่เธอก็ยังไปมอบตัวตามกำหนดของโรงเรียนไม่ได้และทำให้ตอนนี้เธอต้องเตรียมการเรียนอยู่ในสถานพินิจ

โสภณเล่าถึงที่มาของคดีนี้ว่าเกิดจากที่ธนลภย์ไปเขียนข้อความลงบนพื้นด้วยข้อความที่เป็นการวิจารณ์ถึงสถาบันกษัตริย์ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์หกตุลาฯ ต่อมาอานนท์ กลิ่นแก้ว จากกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับธนลภย์ด้วยมาตรา 112 ทำให้ต่อมาธนลภย์ถูกจับกุมและยังถูกตำรวจใช้กำลังฉุดกระชากและล่วงละเมิดทางเพศโดยล้วงเข้าไปในอกเสื้อเพื่อยึดอุปกรณ์สื่อสารโดยเธอไม่ยินยอม นอกจากนั้นหมายจับที่ตำรวจใช้จับกุมตัวเธอก็เป็นหมายในคดีที่เธอขอเลื่อนรับทราบข้อหาไปแล้วด้วย

ตัวแทนของธนลภย์กล่าวว่าจากเหตุการณ์นี้ทำให้ธนลภย์ไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรม เพราะเธอเชื่อว่ากระบวนการยุติธรรมที่ยังเป็นตัวแทนของกษัตริย์โดยยังอ้างนามของกษัตริย์ว่ากระบวนการจะไม่เอนเอียง แล้วทั้งตำรวจและศาลก็ให้ความจริงใจไม่ได้ว่าทั้งกระบวนการยุติธรรมจะเป็นกลางได้จริงๆ

โสภณกล่าวว่าธนลภย์ยังต้องเผชิญความรุนแรงและการละเมิดสิทธิอื่นๆ ในบ้านปรานีด้วย เช่น จดหมายและหนังสือที่เพื่อนๆ ส่งเข้าไปเป็นของเยี่ยมก็ไปไม่ถึงมือธนลภย์ เช่น หนังสือกรณีสวรรคตของ ร.8ก็ถูกห้ามทั้งที่ไม่ได้เป็นหนังสือต้องห้าม แม้กระทั่งการจะสั่งอาหารเข้าไปฝากก็ไม่สามารถฝากให้คนเดียวได้แต่ต้องซื้อถึง 30ชุดให้เด็กคนอื่นๆ ด้วยโดยทางเจ้าหน้าที่บ้านปรานีก็อ้างว่าเพื่อความเท่าเทียมของเด็ก และตอนนี้ก็ไม่สามารถส่งอาหารไปเยี่ยมได้แล้ว หรือการข่มขู่และยังหาคนอื่นมาเยี่ยมหยกแทนและเพื่อบีบให้ธนลภย์ยอมประกันตัวเองออกไป

อันนา อันนานนท์

อันนา อันนานนท์ จากกลุ่มนักเรียนเลวเล่าถึงเหตุการณ์วันที่ธนลภย์ถูกจับกุมที่วันนั้นเธออยู่กับธนลภย์ในฐานะผู้ไว้วางใจขณะอยู่ที่สน.พระราชวังด้วยกัน เธอเล่าว่าตอนแรกตำรวจทำการจับกุมธนลภย์โดยไม่บอกว่าเธอทำความผิดอะไรหรือจับกุมด้วยข้อหาใดเธอจึงบอกกับตำรวจว่าถ้าไม่บอกเธอจะพาตัวธนลภย์กลับตำรวจถึงยอมบอกว่าจับมาเพราะมีการถ่ายภาพการพ่นสีกำแพงวัดพระแก้ว ทั้งนี้ตำรวจพยายามยึดเครื่องมือสื่อสารของเธอโดยไม่มีหมายค้นทั้งที่เธอยืนยันว่าให้ทนายความและมีสหวิชาชีพอยู่ด้วยแต่ตำรวจไม่ยอมรอ

อันนาเล่าต่อว่าตำรวจใช้ความรุนแรงกับธนลภย์โดยใช้ตำรวจ 4 นาย เป็นชาย 2 นาย หญิง 2 นายช่วยกันจับธนลภย์กดลงกับพื้นแล้วเอามือล้วงเข้าไปในเสื้อเพื่อพยายามค้นหาเครื่องมือสื่อสารของเธอ และจะย้ายธนลภย์ไป กองบัญชาการตำรวจนครบาล 6 โดยอ้างว่าเพื่อนำตัวไปสอบสวนโดยจะไม่รอให้ทนายความมาถึงก่อน เธอจึงบอกกับตำรวจให้ทำบันทึกจับกุมและทรัพย์สินที่ยึด แต่ตำรวจก็ไม่ยอมทำ จนกระทั่งทนายความมาถึงตำรวจถึงยอมแสดงหมายจับคดีมาตรา 112และแจ้งสิทธิผู้ต้องหากับธนลภย์ทั้งที่ละเมิดสิทธิธนลภย์ไปแล้ว

ก่อนเริ่มช่วงเสวนาโสภณได้โทรศัพท์ติดตามผู้กำกับ สน.สำราญราษฎร์ซึ่งเป็นหนึ่งในวิทยากรฝ่ายรัฐที่ทางกลุ่มได้เชิญเพื่อให้มาชี้แจงต่อกรณีที่เกิดขึ้นแต่ไม่ได้มาปรากฏตัวที่เวที อย่างไรก็ตามเมื่อเจ้าหน้าที่รับสายแจ้งว่าจะไม่มาที่เวทีและไม่ส่งตัวแทนมา อีกทั้งเมื่อโสภณถามขอคำชี้แจงต่อการออกหมายจับทางเจ้าหน้าที่แจ้งว่าคดีนี้อยู่ระหว่างการสอบสวนยังไม่สามารถให้รายละเอียดทางคดีได้ จากนั้นโสภณจึงวางสายไป

ระบอบอำนาจนิยมในสถานพินิจ

จากนั้นในช่วงเสวนาพิธีกรได้ตั้งคำถามกับวิทยากรที่มาร่วมเสวนาว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับธนลภย์นี้มีความผิดปกติในกระบวนการยุติธรรมอย่างไร

ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนา อธิบายถึงสถานพินิจบ้านปรานีว่าเป็นสถานแรกรับกรณีเป็นคดีเด็กและเยาวชนที่คดียังไม่สิ้นสุด แต่สำหรับบ้านกาญจนาที่เธอทำงานอยู่จะเป็นสถานที่รองรับคดีเด็กและเยาวชนที่คดีสิ้นสุดแล้วและส่วนใหญ่จะเป็นคดีอุกฉกรรจ์ เช่น คดีฆาตกรรมเป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ทิชาเห็นว่าสถานพินิจมีปัญหาเชิงระบบอยู่มากและเมื่อต้องการจะเปลี่ยนแปลงอะไรก็ต้องเจอกับแรงเสียดทานมาก เช่น เรื่องเสื้อผ้าหน้าผมของเด็กที่ถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่บ้านกาญจนาจะให้สิทธิแก่เด็กในการตัดสินใจเป็นต้น แต่ปัญหาในสถานพินิจเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากเจ้าหน้าที่ระดับรายบุคคลเพราะถ้าไปดูเป็นรายบุคคลไปก็จะเจอคนดีอยู่มากมายในระบบราชการ

ทิชาอธิบายเรื่องนี้ว่าปัญหาเหล่านี้คือมรดกตกทอดที่มาจากตั้งแต่เริ่มมีการตั้งคุกเด็กเมื่อพ.ศ.2495 ที่เป็นเพียงการแยกการคุมขังเด็กออกจากคุกของผู้ใหญ่ไม่ให้รวมกัน แต่กฎระเบียบที่ถูกนำมาใช้กับคุกเด็กก็ยังเป็นการนำเอาระบบของคุกผู้ใหญ่มาปรับใช้เท่านั้นและถูกผลิตซ้ำกันมาจนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นระบบอำนาจนิยม

ทิชา ณ นคร

ผอ.บ้านกาญจนาเล่าวันแรกที่เธอรับตำแหน่งเข้าไปเป็นผอ.บ้านกาญจนาก็ได้เจอเด็กที่บาดเจ็บจากการถูกซ้อมโดยเจ้าหน้าที่ เธอจึงไล่เจ้าหน้าที่ออกจากงานทันที ผลจากการไล่เจ้าหน้าที่ที่ทำร้ายร่างกายเด็กออกทำให้มีเจ้าหน้าที่กลุ่มหนึ่งเข้ามาหาและถามกับเธอว่าทำอย่างนี้กับพวกเขาได้อย่างไรหากตีเด็กไม่ได้เท่ากับทำให้เจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจและเป็นเรื่องความปลอดภัยในการทำงานของพวกเขาด้วย

“ยิ่งไม่ใช้อำนาจยิ่งมีอำนาจไง ดังนั้นการที่เด็กคนนี้หรือเด็กทั้งบ้านเขาค้นพบว่าเจ้าหน้าที่ทำร้ายเค้าถูกลงโทษเท่ากับว่าเขาทำความรู้จักกับสิ่งที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน สิ่งนั้นก็คือกฎหมายศักดิ์สิทธิ์ กติกาศักดิ์สิทธิ์ ข้อห้ามที่ไม่ให้ทำร้ายเด็กมีอยู่จริง เขาจะรู้สึกได้ว่าสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของเขามันเป็นสิทธิอันศักดิ์สิทธิ์ที่ใครก็ละเมิดมิได้และความรู้สึกแบบนี้ง่ายที่จะชวนให้เขาเคารพกติกาทุกอย่างที่มีอยู่ในบ้านหลังนี้ เช่นการไม่ทำร้ายเพื่อน” ผอ.บ้านกาญจนากล่าว

ทิชากล่าวต่อว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายเด็กที่ออกมาเมื่อปี 2495 ก็ได้หลงทางไปแล้ว และสิ่งที่ยังเหลืออยู่ก็คือระบอบอำนาจนิยม ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มากดังนั้นถ้าเราต้องการจะจัดการกับสถานควบคุมเด็กก็ทำผิดพลาดกันมาอย่างมากมายเพราะที่ผ่านมาเราไม่เคยใส่ใจกับเรื่องนี้ และหลายคนก็อาจจะเคยเชียร์ให้จับเด็กที่ลักวิ่งชิงปล้นเข้าไปขังไว้ในสถานที่แบบนั้นแล้วก็ถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายแล้วก็มองเรื่องพวกนี้ว่าเป็นเรื่องเหมาะสมแล้ว ทำให้อำนาจนิยมยิ่งเติบโตในสถานควบคุมเหล่านี้ และเมื่อวันหนึ่งเปลี่ยนจากเด็กที่ลักวิ่งชิงปล้นกลายมาเป็นเด็กที่ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 คนก็มาเจ็บปวดกับเรื่องเหล่านี้

“เราก็ยืนยันว่าถ้าประเทศนี้มีรัฐบาลที่ดี มีรัฐบาลที่มีวิสัยทัศน์ ถ้าเรามีพื้นที่ที่ดีที่สร้างสรรค์ให้เด็กๆ ได้ไปใช้ เชื่อว่าเด็กจะติดคุกน้อยกว่านี้ ดังนั้นไม่ว่าเด็กจะติดคุกด้วยลักวิ่งชิงปล้นหรือข้อหาฆ่า หรือเด็กที่ติดคุกด้วย 112 สำหรับเรามันเป็นความบกพร่องความผิดพลาดของระบบใหญ่ของประเทศนี้ด้วย ซึ่งตอนนี้ก็อาจจะสายไปแล้วที่เมื่อก่อนเราเพิกเฉยต่อมุมมืดของสังคมนี้ แต่ก็ขอบคุณที่ทุกคนตื่นมาในปีพ.ศ.นี้ แน่นอนว่าจะแก้ 112 หรือจะต้องเข้าไปแทรกแซงในหลายอย่าง”

คนในกระบวนการยุติธรรมที่ทำผิดกฎหมายทุกขั้นตอน

กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความที่ให้ความช่วยเหลือกับนักโทษการเมืองมา กล่าวถึงสิ่งที่ทิชากล่าวไปนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ได้อยู่ในกฎหมายวิธีพิจารณาความเด็กหรืออยู่ในศาลเยาวชนเลยแต่ก็เป็นเป้าหมายสูงสุดที่คาดหวังให้มันเกิดขึ้นในการใช้กฎหมายกับอนาคตของชาติ แต่ที่ผ่านมาไทยก็ทำมันลวกๆ โดยการสร้างคุกแห่งใหม่แล้วก็ตั้งชื่อใหม่ให้มันว่าเป็นบ้านเมตตาหรือบ้านปรานีบ้าง แต่ไม่ได้ใส่เรื่องที่ทิชาพูดถึงความปราถนาดีต่อเด็กเข้ามาในกฎหมาย และเราก็สร้างกลไกขึ้นมาเพื่อสักแต่ว่าทำไปตามที่สากลพูดโดยไม่ได้คิดว่าจริงๆ แล้วเด็กทำอะไรและเด็กคือใคร

กฤษฎางค์ นุตจรัส

ทนายความกล่าวว่ากรณีของธนลภย์เป็นตัวอย่างหนึ่งที่มีการจับกุมตามที่อันนาอธิบายนั้นเป็นไปอย่างเลวร้ายมากและเขาขอประนามสน.พระราชวังที่ทำกับเด็กอย่างนั้น ทั้งที่วันที่เกิดการกระทำความผิดธนลภย์มีอายุเพียงแค่ 14 ปี 8 เดือน ซึ่งกระบวนการผิดตั้งแต่ตำรวจไปขอออกหมายจับ มีการจับกุมแบบที่กล่าวไปแล้วก็เอาเธอไปขังในคุกที่ไม่ว่าจะถูกเรียกด้วยชื่ออะไรก็ตามแต่ก็คือคุก เยาวชนไทยในกระบวนการยุติธรรมไม่ได้รับการดูแลมานานแล้ว

กฤษฎางค์กล่าวถึงคดีของธนลภย์ว่าที่เธอพูดถึงเรื่องหกตุลาจนถูกดำเนินคดี 112เหตุการณ์ 6 ต.ค.2519 ที่มีการสังหารหมู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีเยาวชนไทยตายไปจำนวนมากเท่าที่นับได้ 47 ศพ มีคนถูกจับกุมคุมขังอีกสามพันกว่าคนที่มีทั้งผู้ใหญ่และเยาวชนแล้วพวกเขาก็ไม่ได้รับความเมตตาทั้งที่เรื่องนี้เกิดขึ้นหลังปี 2495 แล้วและพวกเขายังต้องไปขึ้นศาลทหารโดยถูกห้ามตั้งทนายความมาสู้คดีห้ามอุทธรณ์ฎีกาจนสถานการณ์บีบบังคับถึงมีการนิรโทษกรรมซึ่งก็ไม่ใช่เพื่อนักศึกษาเหล่านี้แต่เป็นการนิรโทษกรรมให้กับคนฆ่า

“เยาวชนไทยในกระบวนการยุติธรรมเราเจอมาตลอด ถ้าเราศึกษาเฉพาะกรณีหยกผมพูดได้เลยเพราะศึกษามาแล้วว่าเราผิดถึงขนาดควรจะต้องทำการเปลี่ยนแปลงกระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็ก คือจริงๆ กระบวนการยุติธรรมมันห่วยทุกขั้นตอนแหละทุกวันนี้ แต่ถ้าพูดถึงเรื่องเด็ก ถ้ามีคนที่มีจิตใจมีอุดมการณ์มีความคิดไม่จำเป็นต้องเป็นนักกฎหมายก็ได้แต่เป็นคนอย่างทิชา กฎหมายจะเขียนยังไงก็ได้ แต่เด็กจะได้รับความเมตตา”

กฤษฎางค์กล่าวว่าการดำเนินคดีอาญาจะต้องสันนิษฐานว่าผู้ต้องหาเป็นผู้บริสุทธิ์ก่อนจะกระทำเหมือนเป็นผู้กระทำความผิดแล้วไม่ได้ ไม่ว่าธนลภย์จะถูกกล่าวหาอย่างไร สน.สำราญราษฎร์ก็ไปขอศาลออกหมายจับ กฎหมายวิธีพิจารณาความเด็กระบุชัดว่าศาลจะออกหมายจับเด็กหรือเยาวชนพึงคำนึงถึงความผิด โอกาส สถานะ พฤติการณ์ของเด็ก พึงคำนึงถึงว่าการจับเด็กจะทำให้เขาเสียหายอย่างไรบ้าง และยังเขียนถึงกับว่าหากพิจารณาแล้วไม่มีความจำเป็นต้องออกหมายจับให้ใช้วิธีอื่นเช่นติดตามตัวเด็กไปพบภายหลัง

“นี่มันบ้าหรือเปล่า ตำรวจไปขอออกหมายจับแล้ว(ศาล)ก็ออกหมายจับ ผมพูดในสถานะที่วิพากษ์วิจารณ์ได้ไม่ว่าผู้พิพากษาจะศาลใดก็ดีเป็นตัวแทนของผม ในระบบประชาธิปไตยใช้อำนาจทางศาล เขาเป็นแค่ผู้แทนของเรา ผมวิจารณ์ว่าคุณผิด ถ้าคุณว่าถูกคุณต้องมาพูดวันนี้ ผมเสียใจที่ไม่มานะ แต่ถ้าสิ่งที่ผมพูดไปถึงกรุณาชี้แจงว่าทำไมถึงออกหมายจับหยก ตำรวจสน.สำราญราษฎร์ผมไม่ติดใจหรอกเพราะตำรวจมันออกหมายจับทุกคนคดีลักวิ่งชิงปล้น คดีผัวเมียอะไรก็ออกหมด แต่ว่าคดีนี้ศาลเยาวชนพึงใช้กฎหมายเยาวชนทำไมถึงออกหมายจับหยก”

กฤษฎางค์อธิบายว่าคดีที่ธนลภย์ถูกออกหมายจับมานี้เป็นคดีที่เคยไปทำเรื่องขอเลื่อนนัดรับทราบข้อกล่าวหาไว้กับตำรวจแล้วว่าจะขอไปมอบตัวกับทางโรงเรียนก่อน แล้วตอนนั้นธนลภย์ก็ยังสอบอยู่เลยไปไม่ได้ แต่ตำรวจก็ไปออกหมายจับ และวิธีการจับกุมโดยการกดลงไปกับพื้นห้องแล้วควานเข้าไปในอกเสื้อเพื่อเอาของมันสมควรหรือไม่ ทั้งที่กฎหมายก็เขียนไว้ด้วยซ้ำทั้งกฎหมายเด็กหรือกฎหมายผู้ใหญ่ก็บอกว่าการจับกุมคุมขังให้ทำเท่าที่จำเป็นเพื่อไม่ให้เขาหลบหนี และในกฎหมายเด็กยังเขียนไว้ชัดว่าการจับเยาวชนหรือเด็กจะต้องใช้วิธีการละมุนละม่อม แล้วพอจับแล้วก็เอาตัวไปส่งศาล

ในกฎหมายศาลเยาวชนคือการตรวจสอบการจับว่าการจับกุมถูกต้องหรือไม่ ที่ศาลควรจะทำคือเด็กคนนี้ทำอะไรผิด สมควรจะต้องจับกุมหรือไม่ ซึ่ง ณ วันที่ธนลภย์ไปเขียนพื้นตอนนั้นก็อายุเพียง 14 ปี 8 เดือน แล้วกฎหมายก็เขียนเอาไว้ว่าเด็กที่อายุต่ำกว่า 7 ปี ไม่ต้องรับโทษต่ำกว่า 15 ปีก็ไม่ต้องรับโทษเหมือนกันแต่ศาลอาจจะออกเงื่อนไขต่างๆ มาได้ แล้วศาลออกหมายจับมาได้อย่างไรเพราะหมายจับต้องจับคนที่มีโทษ เขาก็รู้ว่าเด็กคนนี้ไปกระทำความผิดที่ไม่มีโทษแล้วศาลออกหมายจับได้อย่างไร และหากตรวจสอบแล้วก็ต้องปล่อย

“คุณจะหลับหูหลับตาไม่คิดอะไรเลยไม่ได้ เด็กคนนี้เรียนโรงเรียนรัฐบาลมีชื่อเสียง สอบเข้าม.4 ได้ที่หนึ่ง กำลังเรียนหนังสือมีอนาคต เราไม่ได้มองว่าเป็นเด็กเก่งแล้วจับไม่ได้ ไม่ใช่ แต่เวลาคิดถึงเวลาใช้ดุลพินิจเวลาใช้มันสมองในการเขียนในการสั่งมันจะต้องประกอบด้วยวิจารณญาณที่เหมาะสม ผู้พิพากษา ตำรวจ อัยการ ทนายความ ถ้าไม่มีวิจารณญาณที่เหมาะสมไม่เหมาะกับการทำหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม”

ทนายความเห็นว่ากระบวนการยุติธรรมมันล้าหลังทั้งระบบซึ่งคนไทยทุกคนมีส่วนต้องรับผิดชอบ เราต้องส่งเสียงไปว่ามันควรจะเปลี่ยนแปลงแล้ว เราจะเคารพต่อระบบอำนาจนิยมหรือเราจะเคารพกฎเกณฑ์ที่ยุติธรรมแล้วให้คนที่มีความยุติธรรมมีดุลพินิจเข้าใจแล้วไปตัดสิน

กฤษฎางค์ระบุว่าศาลเยาวชนมีสิทธิปล่อยธนลภย์ได้ทันทีเพราะศาลจะไม่ขังก็ได้ แล้วอย่างกรณีศาลถอนหมายจับ ส.ว.ที่มีความเกี่ยวข้องกับยาเสพติดได้ ทั้งที่เจ้าตัวก็ไม่ได้มาขอ ศาลก็ลุกลี้ลุกลนเรียกประชุมด่วนตั้งแต่อธิบดีศาล รองอธิบดี เรียกตำรวจที่มาขอออกหมายจับมาด่าสั่งถอนหมายจับ แต่กับคดีธนลภย์ศาลกลับไม่ทำสิ่งเดียวกันทั้งที่คดีของ ส.ว.มีโทษถึงประหารชีวิตแต่ของธนลภย์ถึงจะมีความผิดก็ไม่ต้องรับโทษเพราะกฎหมายก็เขียนไว้และเขาเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ว่าคือความเฮงซวย

ศาลมีหน้าที่ปกป้องสิทธิเสรีภาพประชาชน

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าตามรัฐธรรมนูญมาตรา 29 วรรคสองมีหลักว่าในคดีอาญาให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยยังไม่มีความผิด ดังนั้นเมื่อถูกตั้งข้อหาก็เรื่องนึง แต่จะเป็นความผิดหรือไม่ก็เป็นหน้าที่ศาล แล้วศาลในกระบวนการยุติธรรมของประเทศที่เป็นประชาธิปไตยที่มีหลักเดียวกันนี้ศาลจึงมีหน้าที่ปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนจากการกล่าวหาของฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล

ปริญญากล่าวว่าคนที่ถูกลืมในการพูดถึงเรื่องนี้คือนายกรัฐมนตรีที่ตามกฎหมายแล้วเป็นผู้บังคับบัญชาเหนือผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ การตั้งข้อหาใดสมควรหรือไม่และมีการดำเนินการถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือไม่ทั้งการออกหมายจับ การตรวจค้น การจับกุม ถ้ามีความไม่ถูกต้องในกระบวนการก็ต้องโทษนายกฯ ด้วยในฐานะเป็นผู้บังคับบัญชา

เขาเห็นด้วยว่าตามข้อเท็จจริงในกรณีของธนลภย์นี้กระบวนการก็ไม่ถูกต้อง แล้วปัญหาในกระบวนการยุติธรรมก็หนักอยู่แล้วเพราะถึงจะมีการเขียนหลักสันนิษฐานว่าก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยบริสุทธิ์แต่ว่าผู้พิพากษาไทยส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะเชื่อตำรวจหรืออัยการที่ตั้งข้อหารุนแรงมาแล้วก็ไม่ปล่อยชั่วคราวแล้วก็บอกว่ามีพฤติกรรมร้ายแรงความผิดมีโทษสูง จึงผิดในแง่ที่ว่าเป็นการสันนิษฐานไว้ก่อนแล้วว่าผิดเพราะไปฟังตำรวจ

“ศาลต้องทำใจให้เป็นกลางในแง่ที่ว่าถือไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์เพราะนี่เป็นการกล่าวหา แล้วยิ่งเป็นคดีที่เป็นความเห็นต่าง คดีที่เห็นต่างจากรัฐบาลหรืออะไรก็แล้วแต่ ยิ่งต้องพึงระมัดระวังเพราะนายกฯ นั้นคุมตำรวจ ศาลจึงต้องเป็นอิสระจากการตั้งข้อหาทั้งหลายทั้งปวงของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ต้องถือเอาไว้ก่อนว่าประชาชนเป็นผู้บริสุทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ”

ปริญญากล่าวว่าหลักเรื่องนี้ในทางปฏิบัติก็หย่อนกันมาก และปัญหาเดิมอีกเรื่องก็คือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของไทยก็โบราณมาก แม้จะมีหลักสันนิษฐานเอาไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2492 แต่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ.อาญา) ที่มีมาตั้งแต่พ.ศ. 2477 หลักเป็นสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผิด แม้รัฐธรรมนูญที่มีหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ถูกฉีกอยู่เรื่อยทำให้ป.วิ.อาญาไม่ถูกแก้ไข

นอกจากนั้นปริญญายังกล่าวถึงรัฐธรรมนูญมาตรา 29 ยังมีวรรคสามด้วยที่ระบุถึงเรื่องการจับกุมหรือคุมขังจะทำเท่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันไม่ให้หลบหนี หากเขาไม่หนีทุกคนมีสิทธิได้สู้คดีนอกคุกไม่ควรมีใครติดคุกก่อนที่ศาลจะพิพากษาไม่ว่าจะเป็นข้อหาใดก็แล้วแต่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติผิดทั้ง ป.วิ.อาญาและยังผิด พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัว มาตรา67 ด้วยที่ให้ศาลมีหน้าที่ต้องใช้ดุลพินิจในการออกมหายจับหากการจับกุมจะเกิดผลกระทบกับเด็กซึ่งศาลได้พิจารณาเรื่องนี้ก่อนออกหมายจับหรือไม่

เหตุของการออกหมายจับก็ต้องมีเหตุผลตามป.วิ.อาญา มาตรา 66 ด้วยแต่กรณีของธนลภย์ที่มีการขอเลื่อนเพราะว่าต้องไปเรียนเขาไม่ได้หลบหนี การออกหมายจับนี้จึงไม่เป็นไปตามมาตรานี้ด้วย

เรื่องการคุมขังที่อยู่ในมาตรา 68 ของพ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ ก็ห้ามควบคุมคุมขัง คุมความประพฤติหรือใช้มาตรการอื่นใดในการจำกัดสิทธิเด็กที่เป็นผู้ต้องหาหรือเป็นจำเลยยกเว้นว่ามีหมายของศาล แต่ก็ต้องไม่เกินกว่าเหตุ เพราะที่ไทยมี พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ ก็เพื่อคุ้มครองเด็กและเยาวชน

ปริญญากล่าวว่าการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่จับกุมและศาลไม่ได้เป็นไปตามกฎหมายต่างๆ ที่ได้กล่าวไปทั้งหมดข้างต้น

“ในเรื่องคดีความเห็นต่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมาตราที่มีความละเอียดอ่อนที่ทำให้เกิดความเห็นต่างหรือความขัดแย้งทางความคิด ยิ่งพึงต้องใช้อย่างระมัดระวัง เพราะมาตรา 112 หากทำอย่างไม่เหมาะสมหรือพร่ำเพรื่อ หรือรุนแรงเกิดคดีขึ้นมาปัญหามันไมได้กระทบแต่ตำรวจหรือศาล แต่มันกระทบไปถึงสิ่งซึ่งตัวกฎหมายตั้งใจคุ้มครองด้วยซ้ำไป”

ปริญญากล่าวว่าเรื่องนี้ขอให้ยึดตามหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 และตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ อย่างเคร่งครัด เท่านี้ก็จะดีขึ้นสุดท้ายกระบวนการของกรมพินิจไม่ได้ช่วยได้มากนัก แต่ในพ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ ที่กำหนดเรื่องที่ปรึกษากฎหมายนั้นคือมีการตั้งขึ้นมาหรือยังก็เป็นประเด็นที่เขาเองไม่แน่ใจว่าได้ทำหรือยัง

เขายังบอกอีกว่ากรณีของธนลภย์นี้สุดท้ายแล้วศาลสั่งปล่อยได้เลยเพราะการจับการออกหมายจับมันไม่ถูกต้องตั้งแต่ต้น ไม่ต้องให้ผู้ต้องหาไปขอปล่อยชั่วคราวด้วยซ้ำเพราะหลักคือสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ ศาลสามารถยกเลิกหมายขังเองได้เลย

“สังคมจะสงบสุขได้ เห็นต่างเป็นเรื่องธรรมดาทุกสังคมก็มีความเห็นต่าง แต่ทำอย่างไรไม่ให้ เรื่องของความเห็นต่างลุกลามไปสู่ความเกลียดชัง วิธีการที่ผมคิดว่าดีที่สุดคือให้ความเป็นธรรมกับทุกคนทุกฝ่าย และนี่คือสิ่งที่เราคาดหวังจากกระบวนการยุติธรรม”

กฤษฎางค์ตอบคำถามของปริญญาเรื่องการแต่งตั้งที่ปรึกษากฎหมายว่า ธนลภย์เลือกที่จะปฏิเสธกระบวนการยุติธรรม ทั้งที่ตอนแรกเขาก็ต้องการจะเดินเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่เขาบอกว่าตำรวจหักหลังเขาเพราะว่าให้เลื่อนนัดรับทราบข้อกล่าวหาแล้วแต่ตำรวจก็ไปขอออกหมายจับ ศาลก็ออกหมายจับมา และธนลภย์เองก็รู้ว่าถ้าศาลตรวจสอบการจับก็จะรู้ว่าเธอเคยขอเลื่อนนัดมาแล้ว

“เขาก็อ่านกฎหมายฉบับเดียวกับเรา เขาก็เลยคิดว่าจะไม่เข้าสู่กระบวนการนี้เขาก็เลยไม่แต่งตั้ง การที่เขาไม่แต่งตั้งที่ปรึกษากฎหมายหรือทนายความ จริงๆ แล้วไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการที่คนที่เป็นที่ปรึกษากฎหมายหรือทนายความจะเข้าไปพบเขา”

ทนายความอธิบายเรื่องนี้ทั้งสถานพินิจและศาลก็ยืนยันว่าต้องมีการตั้งที่ปรึกษากฎหมายก่อน แต่ ป.วิ.อาญาที่ใช้กับทั้งผู้ใหญ่และเด็กทุกคนเขียนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยมีสิทธิที่จะพบหรือปรึกษาหารือกับทนายความหรือผู้ที่ “จะเป็น” ทนายความ เพราะฉะนั้นจึงไม่ได้จำเป็นจะต้องแต่งตั้งก็ได้

“เพราะฉะนั้นคุณเอาสิทธิ์อะไรที่จะมาบอกว่าคนจะไปเยี่ยมต้องได้รับการแต่งตั้ง มันเป็นเรื่องผิด ผิดทุกอย่าง ไม่รู้จะหาข้อถูกให้มันได้อย่างไร คือผมบอกกับทนายความรุ่นน้องๆ ผมพูดกันในออฟฟิศทนายความกันเองก็อาจจะดูรุนแรงไปหน่อย น้องก็บอกว่า ผอ.เขาอ้างว่ามีระเบียบเขาอย่างนี้ไม่ได้ ผมก็บอก(น้อง) ว่าระเบียบของโจรมันใช้บังคับไม่ได้”

 

สู้จนกว่าสังคมจะเปลี่ยน

ทิชาตอบคำถามถึงการใช้ดุลพินิจของศาลต่อกรณีธนลภย์ว่า เวลาพูดเรื่องนี้ไม่ได้เป็นปัญหาระดับบุคคลแต่เป็นปัญหาที่ระบบและเราทุกคนมีส่วนทำให้ระบบที่มันแย่ยังคงอยู่มาเรื่อยๆ และผู้พิพากษาของศาลเยาวชนฯ ไม่ได้มีความชำนาญเป็นพิเศษ แต่เป็นผู้พิพากษาที่หมุนเวียนไปตามศาลต่างๆ โดยที่ยังไม่ได้ชำนาญกับงานคดีของศาลนั้นๆ ทำให้ทัศนคติหรืออุดมคติของผู้พิพากษาเมื่อเข้ามาสู่ศาลเยาวชนตามไม่ทันกับคดีของเด็กและยังคงใช้ชุดความคิดที่ใช้กับคดีของผู้ใหญ่มาใช้กับเด็ก

ทิชากล่าวว่ามีข้อเสนอแนะในเชิงนโยบายโดยยกตัวอย่างของศาลในรัฐไมอามี่ที่กำหนดให้นักกฎหมายที่อยากเป็นผู้พิพากษาศาลเยาวชนจะต้องเข้าเรียนจิตวิทยาพัฒนาการมาด้วยอีก 1 คอร์ส

“ดังนั้นเมื่อเราไปเจอผู้พิพากษาในประเทศที่เขาเขียนกติกาชัดเราจะเห็นคนหนึ่งคนที่มีสองศาสตร์อยู่ในคนคนเดียวกัน แต่เราไม่มีทางเห็นผู้พิพากษาที่มีสองศาสตร์อยู่ในคนเดียวกัน เราไม่มีทางเห็น ดังนั้นเราจะเจอคำพิพากษาที่อาจจะประหลาด”

ผอ.บ้านกาญจนาเล่าว่าตลอด 20 ปีที่ผ่านมาเธอได้หมายศาลหลายครั้งเพราะการลุกขึ้นมาปกป้องเด็กๆ ที่พวกเธอคิดว่าเด็กได้รับคำตัดสินที่ไม่ถูกต้อง แต่เมื่ออยากจะเปลี่ยนคำพิพากษานั้นให้กับเขาก็ต้องเขียนคำแถลงไปถึงศาลซึ่งก็มีจดหมายตอบโต้กลับมา หรือแม้กระทั่งบ้านกาญจนาเคยต้องปล่อยเด็กที่ศาลสั่งขังต่อเพียงเพราะศาลมีคำสั่งให้เด็กไปเย็บใบหูที่ระเบิดเอาไว้ตั้งแต่ก่อนเกิดคดีอย่างไม่มีเหตุผลทั้งที่เรื่องนี้เป็นสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของเด็ก ซึ่งการที่ศาลสั่งแบบนี้จึงเป็นเรื่องของอำนาจนิยมไม่ใช่สั่งด้วยเจตนาบริสุทธิ์

นอกจากเรื่องนี้เธอยังเคยได้รับคำถามว่าจัดการความเสี่ยงอย่างไรเมื่อให้อิสรภาพกับเด็กที่ถูกดำเนินคดีอาชญากรรมอุกฉกรรจ์เอาไว้

“ความเสี่ยงคือมายาคติ ความเสี่ยงไม่มีอยู่จริง ความเสี่ยงคือสิ่งที่เราสร้างขึ้นเพื่อให้ความชอบธรรมที่จะกดพวกเขาให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของเรา และเราก็พบว่ายิ่งไม่ใช้อำนาจเรายิ่งมีอำนาจ ยิ่งปฏิบัติต่อเขาบนฐานของความเป็นมนุษย์เท่าไหร่ เราจะเห็นความเป็นมนุษย์ของเขาในสัดส่วนที่เท่าเทียมกัน เขารักเราเห็นใจเราพร้อมจะอยู่ที่นี่โดยที่ไม่สร้างปัญหาเลย”

“แสดงให้เห็นว่าคนทุกคนมีจิตใจที่ดีงาม ถ้าคุณไม่เอาระบบอำนาจนิยมซึ่งเป็นอำนาจในแนวดิ่งไปบังคับใช้เค้า”

ทิชาจึงได้ตอบคำถามที่ว่าจะทำอย่างไรกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่นี้ว่า เป็นเรื่องที่ทำอะไรกับมันไม่ได้แต่ก็ต้องสู้กันกับทุกกรณีที่เกิดขึ้นสู้ไปทุกวันจนกว่าความเปลี่ยนแปลงเชิงระบบในประเทศนี้จะเกิดขึ้น

กุณฑิกา นุตจรัส หรือทนายทราย ผู้ดำเนินรายการและเป็นทนายความผู้ให้ความช่วยเหลือแก่ธนลภย์ในการดำเนินคดีกับตำรวจที่ใช้ความรุนแรงในการค้นตัวเธอ

ไม่มีกระบวนการยุติธรรมที่ดีในสังคมที่เสื่อมถอย

กฤษฎางค์ กล่าวถึงสถานการณ์จำนวนคดีที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาที่มีจำนวนคนถูกดำเนินคดีจากการออกมาใช้เสรีภาพมากถึง 284คน ใน 213 คดีด้วยข้อหาหลากหลายประเภท และในจำนวนนี้มีคนที่อายุต่ำกว่า 15 ปี 41 คน และคนที่อายุช่วง 15-18 ปี 240 คน เป็นคดีมาตรา112 ที่ผู้ถูกดำเนินคดีเป็นเด็กและเยาวชน 18 คน 21 คดีมีบางคนที่ถูกดำเนินคดี 2 คดี

ทนายความตอบคำถามว่าจะทำอย่างไรกับกระบวนการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายก็คือต้องสู้ต่อไปเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่การเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายไม่ได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างของกระบวนการยุติธรรมตราบใดที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคม

“เราจะได้กระบวนการยุติธรรมที่ทันสมัย รักเสรีภาพ รักประชาธิปไตยในสังคมที่เสื่อมถอยได้ยังไง”

กฤษฎางค์ยกตัวอย่างต่อจากที่ทิชายกเรื่องการสร้างผู้พิพากษาของศาลเยาวชนในรัฐไมอามี่ว่า ถ้าไทยรับมาใช้ก็จะแค่สร้างหลักสูตรเร่งรัดขึ้นมาให้กับคนที่อยากเป็นผู้พิพากษาศาลเยาวชนแล้วก็ไปติวสอบเพื่อให้ผ่านคอร์สเท่านั้น เพราะการใช้กฎหมายในไทยไม่ได้ใช้กันอย่างมีสำนึก แล้วที่ผ่านมาไทยก็เป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กเพราะกลัวนานาชาติจะไม่ค้าขายหรือมาลงทุนตั้งอุตสาหกรรมในไทย และเขาก็ไม่แน่ใจว่าผู้พิพากษาศาลเยาวชนเองเคยได้อ่านข้อ 13 ในอนุสัญญาที่ให้การรับรองสิทธิเสรีภาพในการคิดและแสดงออกของเด็กและเยาวชนเอาไว้หรือไม่

ทนายความกล่าวต่อว่าการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่นี้จึงไม่สามารถแก้ไขในสังคมแบบที่เป็นอยู่นี้ได้ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ก็จะเกิดขึ้นกับลูกหลานของพวกเราหรือแม้กระทั่งกับลูกของผู้พิพากษาเอง ในขณะที่เด็กที่ถูกดำเนินคดีเหล่านี้ที่ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นคนที่จะต้องรับภาระของประเทศต่อไปและเป็นอนาคตของประเทศชาติ ซึ่งเป็นเรื่องที่คนที่มีอำนาจตั้งแต่เจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์ไปจนถึงผู้พิพากษาศาลเยาวชนจะต้องคิด

ทนายความเห็นว่าการตรวจสอบการจับกุมเป็นเรื่องจำเป็นมากเพราะถ้าการจับกุมทำให้เด็กได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจ แล้วหากได้ดูภาพเหตุการณ์ที่ธนลภย์กำลังถูกจับกุมก็จะเห็นว่าทำให้เธอเจ็บปวดและปฏิเสธสังคมซึ่งเขาเห็นว่าสมแล้วที่ธนลภย์จะปฏิเสธแบบนั้น เพราะถ้าดูเอกสารตรวจสอบการจับกุมก็เป็นเหมือนกับข้อสอบปรนัยมีช่องให้ติ๊กถูก

กฤษฎางค์กล่าวว่าเรื่องนี้ทั้งที่ศาลควรจะต้องถามกับผู้ที่ถูกจับกุมว่าเหตุการณ์การจับกุมที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไรใช้ความรุนแรงอย่างไร แล้วก็เรียกตำรวจมาถามข้อเท็จจริง เปิดภาพวิดีโอการจับกุมดูเพราะกฎหมายก็ระบุว่าการจับกุมจะต้องมีการถ่ายวิดีโอไว้ด้วยเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ

“การที่คุณ(ศาล) ทำเป็นกรณีไปโดยละเอียดก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงสังคมได้ แต่คุณได้ทำมั้ย หรือคุณเป็นแค่คอมพิวเตอร์ กด 1234567 แล้วปริ้นท์ออกมา อย่างนี้ไม่ต้องจ้างคนสิ เขาจ้างคุณเงินเดือนเป็นแสนเพราะเขาก็หวังว่าคุณจะเป็นตัวแทนของประชาชน ตัวแทนของผม ตัวแทนของคุณ ในการปกป้องสิทธิเด็ก”

ทนายความกล่าวว่าศาลสามารถทำกรณีของธนลภย์เป็นตัวอย่างได้ก็คือปล่อยได้เลยทันที ศาลสามารถถอนหมายจับก็ได้ เพราะถ้าศาลบอกว่าไม่ได้แล้วทำไมการถอนหมายจับคดีของ ส.ว.จึงทำได้ เพราะเรื่องเหล่านี้ศาลจะต้องตอบคำถามสังคมให้ได้

ผู้ใหญ่ที่เพิกเฉยต่อความทุกข์ของเด็ก

ทิชากล่าวถึงประเด็นการแก้ไขกฎหมายเยาวชนของไทยว่าตั้งแต่ไทยเข้าร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กเมื่อพ.ศ.2535 แล้วไทยต้องทำรายงานส่งถึงคณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติทำให้ถูกตั้งคำถามถึงเรื่องที่เด็กไทยต้องรับผิดทางอาญาตั้งแต่อายุยังน้อยเป็น 1 ใน 36 ข้อกลับมาจากคณะกรรมการ

จนกระทั่งปี 2551 จึงมีการแก้ไขกฎหมายเปลี่ยนอายุของเด็กที่ต้องรับโทษทางอาญาจาก 7 ปีเป็น 10 ปี แต่ก็ยังเป็นอายุที่ในทางสากลยังเห็นว่าน้อยเกินไปและถ้าหากเด็กกระทำความผิดจริงก็ต้องใช้กระบวนการอื่นๆ จนกระทั่งเมื่อปีที่แล้วจึงมีการเปลี่ยนจาก 10 ปีเป็น 12 ปี และให้เด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปีที่กระทำความผิดไม่ต้องเอาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแต่ให้กระบวนการอื่นๆ แทน

ผอ.บ้านกาญจนาชี้ว่าเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าถ้าไม่มีปัจจัยภายนอกเข้ามาทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง คนที่อยู่ในประเทศนี้ล้วนแต่เพิกเฉยต่อความทุกข์ของเด็ก ซึ่งในทางประวัติศาสตร์จะต้องขอบคุณที่ธนลภย์ได้ปลุกผู้ใหญ่ในประเทศนี้จำนวนหนึ่งให้ตื่นขึ้นมาเมื่อได้เห็นถึงกติกาที่ไม่เป็นธรรมจะต้องลุกขึ้นมาส่งเสียงและเอาปัญหามาพูด

“แน่นอนว่าเด็กจำนวนหนึ่งลักวิ่งชิงปล้นโทรมแต่เราต้องยอมรับว่าคดีของเด็กๆ ทั้งหมดเกิดขึ้นจากนโยบายที่ไม่มีวิสัยทัศน์ของรัฐบาล แล้วในที่สุดเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ประมาณ 15 ล้านคนในประเทศนี้จำนวนมากที่มาติดคุกกันมันมาจากการที่เขาไม่มีทางออกที่ดีพอ ไม่ใช่ว่าเขาเกิดมาเพื่อเป็นนักโทษ”

ผู้พิพากษาไม่ตัดสินตามกฎหมายไม่มีความผิด

ปริญญามองถึงปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่นี้ว่า การเรียกร้องให้ทุกคนต้องทำตามกฎหมายถือเป็นเรื่องแปลกประหลาดเพราะอาชีพอย่างผู้พิพากษาถ้าเกิดไม่ทำตามกฎหมายขึ้นมากลับไม่มีความผิด อย่างไรก็ตามปัญหาที่เกิดอยู่นี้ก็ยังสามารถเปลี่ยนแปลงได้โดยเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงสิ่งเล็ก

เขายกตัวอย่าง ปัญหาการถูกบันทึกประวัติอยู่ในทะเบียนอาชญากรตั้งแต่ยังเป็นผู้ต้องหาแล้วทำการพิมพ์ลายนิ้วมือที่ต่อให้อัยการสั่งไม่ฟ้องหรือศาลยกฟ้องแล้วประวัติของบุคคลก็ไม่ถูกลบจากทะเบียนอาชญากรก็ไม่ถูกลบจนกว่าคนนั้นจะไปขอลบเอาเองกับตำรวจ เพราะศาลและอัยการก็มองว่าเรื่องนี้ไม่ใช่หน้าที่ตัวเอง ทำให้ที่ผ่านมามีคนที่มีประวัติในทะเบียนอาชญากรรมถึง 12 ล้านคนและทำให้คนเหล่านี้ไม่สามารถไปหางานที่ดีทำได้ กระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ แต่เรื่องนี้ก็ถูกแก้ไขให้ประวัติของบุคคลที่ถูกดำเนินคดีจะอยู่ในทะเบียนประวัติผู้ต้องหาเท่านั้นและไม่เปิดเผยทุกกรณี และประวัติจะถูกบันทึกในประวัติอาชญากรก็ต่อเมื่อศาลมีคำพิพากษาว่ามีความผิดให้ลงโทษจำคุกเท่านั้น และข้อมูลของเก่าก็จะถูกสะสางออก

นอกจากนั้นปริญญาได้ยกอีกหนึ่งความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นคือ ในเดือนที่ผ่านมาแต่ละพรรคการเมืองก็ยังมีข้อเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาให้มีหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์และให้มีการปล่อยตัวเป็นหลักแทนการให้ขังโดยตำรวจะต้องพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าจะเกิดการหลบหนีได้อย่างไรถึงจะขัง ซึ่งพรรคการเมืองที่มารับว่าเมื่อสภาเปิดในสมัยหน้าก็จะเสนอการแก้ไขกฎหมายเป็นเรื่องแรกๆ ที่จะทำ

ปริญญายังได้เสนอถึงความคิดเรื่องกฎหมายที่กำหนดฐานความผิดของผู้พิพากษาที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่ยังไม่มีกฎหมายเฉพาะในเรื่องนี้ เนื่องจากเมื่อศาลประพฤติมิชอบขึ้นมาแล้วสร้างความเสียหายจะใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างมาตรา 157 ก็ใช้ไม่ได้เพราะในประมวลกฎหมายอาญามีหมวดความผิดต่อหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมแยกต่างหาก

ปริญญาอธิบายว่าในหมวดดังกล่าวมีมาตรา 200 ที่กำหนดฐานความผิดแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจและอัยการไว้หากมีการช่วยเหลือคนให้ไม่ต้องรับโทษหรือมีการใช้กฎหมายในกลั่นแกล้งคนแต่ในฐานความผิดนี้กลับไม่รวมถึงผู้พิพากษาด้วย จะมีแค่มาตรา 201 202 ที่ผู้พิพากษาจะมีฐานความผิดกรณีรับสินบน ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหา

“เขียนกฎหมายแบบนี้นอกจากผู้พิพากษาจะไม่ต้องทำตามกฎหมายแล้ว ยังมีเจตนาช่วยคนหนึ่งคนใดไม่ต้องรับโทษหรือมีเจตนาในการแกล้งให้รับโทษหนักขึ้นยังไม่ผิดเลย อันนี้เป็นข้อประหลาดมากในการเขียนกฎหมาย”

ปริญญายังได้ยกตัวอย่างกฎหมายของเยอรมันหรือประเทศอื่นในยุโรปมีการกำหนดฐานความผิดลักษณะนี้ของผู้พิพากษาเอาไว้ว่าให้มีความผิดทางอาญากรณีที่ผู้พิพากษาสร้างความเสียหายต่อผู้ต้องหาหรือจำเลย แต่เรื่องนี้ที่เขาเสนอขึ้นมาไม่ได้ต้องการให้เอาผู้พิพากษาไปติดคุก

เขายกตัวอย่างเปรียบเทียบเหมือนการออกกฎหมายให้คนไข้ฟ้องแพทย์ได้เมื่อ 20 ปีที่หลังจากเกิดกรณีแพทย์ปฏิบัติงานผิดพลาดซึ่งหลังจากมีกฎหมายนี้มาก็ทำให้เกิดกระบวนการตรวจสอบการทำงานขึ้นมาเพื่อลดความผิดพลาดและทำให้หลังจากนั้นมาก็ไม่มีแพทย์ถูกฟ้องจากความผิดพลาดเช่นการลืมอุปกรณ์ไว้ในร่างกายคนไข้อีกเลย ซึ่งเขาเห็นว่าจำเป็นต้องทำแบบเดียวกันนี้กับบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมอย่างผู้พิพากษาด้วยให้ต้องรับผิดชอบต่อกฎหมายด้วย

“เพราะรัฐธรรมนูญก็บัญญัติว่าผู้พิพากษาและตุลาการต้องตัดสินคดีตามรัฐธรรมนูญและตามกฎหมาย แต่พอไม่ตัดสินตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายกลับไม่มีความผิดอะไรเลย ก็เลยไม่เกิดการทำตามที่ว่าไปนั้น”

ปริญญา กล่าวว่า ประเด็นที่กล่าวไปนี้เป็นเรื่องที่สังคมต้องช่วยกันพิจารณา และเขายืนยันว่าเรื่องนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกคนแม้แต่กับผู้พิพากษาเอง และยังมีอีกปัญหาที่ต้องแก้ไขอีกเรื่องคือการเป็นตำรวจได้โดยไม่ต้องจบกฎหมายมาทั้งที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ต้นทางที่ทำการจับกุมตั้งข้อหา โดยจะต้องฝึกอบรมกฎหมายให้กับตำรวจด้วยอย่างจริงจังซึ่งเขาคิดว่าถ้าทำเรื่องเหล่านี้ได้จะทำให้กระบวนการยุติธรรมดีขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net