Skip to main content
sharethis

เชียงใหม่จัดเสวนา “ความปลอดภัยและการจัดการถนนในพื้นที่เมือง - ชนบทของประเทศไทย” ถกปัญหาผังเมืองกับความปลอดภัยของประชาชน ภิญญพันธุ์ ชี้ ถนนเมืองไทยมีชนชั้นรถยนต์ใหญ่สุด คนเดินถนนเล็กเป็นฝุ่นละออง "วัฒนธรรมการใช้ถนน" และ "อำนาจของคนเดินถนน" ควรถูกตระหนักถึงมากกว่านี้ เพื่อความปลอดภัยของทุกคน

 

23 เม.ย. 2566 เมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2566 เครือข่ายภาคประชาชนเชียงใหม่จัดงานเสวนา “ความปลอดภัยและการจัดการถนนในพื้นที่เมืองและชนบทของประเทศไทย” ขึ้นที่บ้านเตื่อมฝัน โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนาดังนี้ ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง, ณัฐชยา ภักดี กลุ่มละอ่อนต๊ะตอนยอน, ธนาธร วิทยเบญจา พรรคนักศึกษาเปลวเทียน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ณัฐพล ศรีภูมิ กลุ่มเยาวชนดงเจริญ อำเภอดงเจริญ จังหวัดพิจิตร และอุดมศักดิ์ คำมาเมือง พรรคนักศึกษา the next gen มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตล้านนา

ภาพความทรงจำของเมืองและชนบทในมุมมองของแต่ละท่านเป็นอย่างไรบ้าง

ณัฐพล ศรีภูมิ: ความเจริญกับความปลอดภัยครับ คือประเทศไทยเรา ต่อจะให้เป็นในเมืองมีทั้งทางม้าลายหรืออะไร จิตสำนึกมนุษย์มันไม่ได้จอดให้เราอยู่แล้ว  ผมเคยไปอยู่กรุงเทพฯช่วงหนึ่งนะครับ  คือผมรู้สึกว่าการเดินข้ามทางม้าลายไม่ปลอดภัยเลย และการใช้ชีวิตอยู่ข้างๆริมทางเท้าเนี่ยก็ไม่เคยปลอดภัยเลย  ผมกลับรู้สึกว่าชุมชนหรือชนบทปลอดภัยกว่า  รู้สึกว่าชาวบ้านเขาระมัดระวังกว่า ไม่ได้เร่งรีบร้อนไปทำงานในช่วงเวลาเช้าเลยอะไรอย่างนี้  ผมเลยรู้สึกว่าในเมืองมันอันตรายกว่าในชุมชน

ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์: เมืองมันเป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจ ศูนย์กลางของระบบเศรษฐกิจ ศูนย์กลางของการเมือง อะไรก็แล้วแต่ ที่ทางนี้ยกทางสันกำแพงขึ้นมา  สันกำแพงถ้าเราดูในมุมของคนกรุงเทพฯ  มันไม่ใช่เมือง ทำไมคนกรุงเทพฯไม่รู้จักสันกำแพง  เอาง่าย ๆ คือต่างอำเภอ  ดังนั้นในสายตาของคน คนที่อยู่ข้างนอกมันไม่ได้มองว่าเป็นเมือง  แต่คนในเมืองว่ามันเป็นเมืองเพราะมันเป็นตลาดใช่ไหม  เพราะคนมันต้องมาทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ  มาติดต่อราชการอะไรกัน  ผมคิดว่ามันก็จะมีการให้นิยามที่แตกต่างกันไป  สำหรับคนในท้องถิ่นผมคิดว่าความเป็นเมืองคือลักษณะที่มันเป็นเซ็นเตอร์ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและกิจกรรมทางธุรกรรม ดังนั้นเมื่อมันเป็นศูนย์กลางทางกิจกรรมทางเศรษฐกิจหรือการดำเนินการทางราชการอะไรก็แล้วแต่  มันก็จะเป็นการดึงให้คนมากระจุกตัวอยู่แล้วก็ลดหลั่นกันไป

โดยเฉพาะประเทศไทย ปัญหาสำคัญ คือการรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่หน่วยงานราชการ  ดังนั้นเราจึงให้ความสำคัญกับตัวส่วนกลางมากกว่าเขตที่อยู่นอกตัวอำเภอ ลักษณะของเมืองจึงรวมศูนย์อำนาจไปอยู่ตรงกลางและดึงทรัพยากรต่างๆ  จากชนบท ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงงบปงบประมาณพัฒนาอย่างเดียวมันดึงคนเข้าไปด้วย  ส่วนพื้นที่ที่เป็นชนบทมันก็คือเป็นส่วนที่อยู่ห่างไกลจากอำนาจในการเข้าถึงทรัพยากรหลัก  และถ้าเป็นคนเชียงใหม่  สมมุติว่ามีความสามารถที่จะส่งลูกเรียน  ถามว่าเขาจะส่งลูกเรียนในตัวอำเภอหรือเปล่า เขาก็อยากจะส่งไปเรียนในตัวอำเภอเมืองมากกว่าหรือเปล่า  ผมคิดว่าสุดท้ายแล้วการมองเรื่องเมืองและชนบท มันเป็นเรื่องของการจัดสรรทรัพยากรและการที่คนเห็นโอกาสที่จะเข้าไปอยู่ในเมือง จะนำมาสู่เรื่องปัญหาเรื่องการจราจร เรื่องความปลอดภัยในเมือง

 

การวางผังเมืองหรือการจัดการถนนส่งผลกระทบในเรื่องความปลอดภัยหรือความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างไร

ณัฐพล ศรีภูมิ: กระทบครับ คือบางทีเขาไม่ได้ถามความคิดเห็นของชาวบ้าน ก็เลยกระทบกับชาวบ้านที่แบบว่า  พอสร้างไปแล้วปัญหามันถึงจะเกิดครับ  ก่อนสร้างไม่มีปัญหาอะไรหรอก แต่พอสร้างไปแล้ว  ถ้าเกิดชาวบ้านไม่เห็นด้วยแต่ถนนเสร็จแล้ว มันทำอะไรได้  ที่นี้การสัญจรจากที่แบบว่า  ยกตัวอย่าง บ้านผมอยู่ใกล้ถนนสายเอเชีย  รถก็จะวิ่งเร็ว  แต่ว่าในพื้นที่ด้านข้างเป็นพื้นทีนา  ซึ่งชาวบ้านที่อาศัยอยู่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นผู้สูงอายุเพราะว่าในพื้นที่แทบไม่มีงานเลย สำหรับเด็กวัยรุ่นคือเด็กจบม.6  ก็แทบจะออกจากบ้านไปหมด ไปเรียน ไปทำงาน สมองก็คือไหลเข้าเมืองหมดเลย  เพราะไม่มีมหาวิทยาลัยในพิจิตร ก็จะเหลือแต่ผู้สูงอายุ

แล้วทีนี้พอมันติดถนนสายเอเชีย  รถมันสัญจรด้วยความเร็ว  ชาวบ้านที่เป็นผู้สูงอายุบางคนก็สายตาไม่ดี มันก็เลยเกิดอันตราย อีกอย่างคือ ประเทศเราไม่ได้จริงจังเรื่องความเร็ว  เรื่องจำกัดความเร็วขนาดนั้น  ถึงคุณใช้ (ความเร็ว)คุณก็ไปจ่ายค่าปรับ  คุณก็จบ  แล้วก็ไม่มีไฟเลยครับผมก็ยังเน้นย้ำตรงนี้   ไม่มีเลยจริงๆ  ทำไม พอเราแจ้งว่าอยากให้มีการปรับปรุงเรื่องไฟส่องสว่าง หลายครั้งได้รับคำตอบว่างบประมาณมันไม่พอ  ก็เลยเป็นคำถามกับเราตรงนี้ 

ธนาธร วิทยเบญจา: ผมมองว่าการจัดการที่รัดกุมนำไปสู่ความปลอดภัยที่ดีขึ้นได้  แล้วทำไมในประเทศไทยมันดูมีอันตรายจากการใช้รถใช้ถนน อัตราการตายอันดับต้น ๆ นี้จะเป็นอุบัติเหตุทางยานพาหนะ ส่วนหนึ่งผมมองว่าประเทศไทยมันดูอิหลักอิเหลื่อพอสมควรในการวางผังเมือง  การใช้อำนาจเด็ดขาดก็ไม่ได้ทำขนาดนั้นจริง ๆ คือมีการจัดโซนต่างๆ แต่ไม่ได้มีการจัดตัวถนนให้เป็นรูปเป็นร่างขนาดนั้นเท่าไร  แบบว่ามีหมู่บ้านเกิดขึ้น  ถนนจึงต้องตามมาหรือไม่ก็ทำถนนบางจุดให้ดีขึ้น  ซึ่งการออกแบบเหมือนว่าเขาไม่ได้อยากจะใช้อำนาจในการจัดการให้มันเกิดกับคนไปใช้  หรือว่าใช้อำนาจในการจัดการให้มันเกิดความโฟลวของการใช้ถนนจริงๆ  สุดท้ายมันก็เลยออกมาก้ำกึ่ง อย่างถามว่าการที่ไม่ให้อำนาจให้คนท้องถิ่นเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเอง  ขนาดถนนพัง ทุกวันนี้คือเราก็ต้องรอรัฐมาแก้ไข  เราไม่ได้มีอำนาจในการตัดสินใจกันเองในการซ่อมถนนกันเองขนาดนั้น 

ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง

ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์: เวลาพูดถึงผังเมืองเราน่าจะนึกถึงเป็นแผนที่ใช้ระบายสีเขียวสีเหลืองสีแดง  แต่ว่าในเชิงหลักการแล้ว  ผังเมืองมันจะมีอยู่สองแบบ แบบแรกเรียกว่าผังเมืองรวมกับอีกแบบเรียกว่าผังเมืองเฉพาะ ผังเมืองรวมคือที่เราเห็นในผังสี  เป็นการกำหนดโซนว่าควรสร้างอะไร  ไม่ควรสร้างอะไร  แต่ว่าไม่ได้ลงลึกว่าห้ามทำอะไร  จริงๆมันจะมีอีกอันที่เรียกว่าผังเมืองเฉพาะซึ่งต้องออกในระดับพระราชบัญญัติ  ซึ่งมันกระทบกับคนมาก เรามีกฎหมายผังเมืองตั้งแต่ปี 2518 เกือบ 50 ปีแล้ว แต่ว่าเรายังไม่มีผังเมืองที่เรียกว่าผังเมืองเฉพาะเลย แปลว่าอะไรเมื่อเทียบกับในโลกที่เจริญแล้ว เราไม่มีเครื่องมือตัวนี้  ผังเมืองรวมเป็นกฎหมายระดับแค่กฎกระทรวงซึ่งมันเล็กมาก  ระดับแค่รัฐมนตรีเป็นคนออกเองเท่านั้นเอง สุดท้ายแล้วผังสีแบบนี้ก็สามารถถูกล๊อบบี้ได้และไม่ได้มีผลอะไรมากนัก 

สิ่งที่มีพลานุภาพ มีพลังสูงมากๆ ในบ้านเรา คือกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท ใช้งบประมาณมหาศาลมากกับกรมทางหลวงและกรมทางหลวงส่วนท้องถิ่น ทุกวันนี้ใครเดินทางอย่างพิจิตรมาเชียงใหม่  คุณจะเห็นว่าระหว่างทางมีการซ่อมทางตลอดเวลา เราใช้งบมหาศาลมากๆในการทำถนนและหลายรูปแบบมาก ซ่อมถนน ทำถนนใหม่ ที่เป็นสองเลนก็ขยายเป็นสี่เลน สี่เลนก็เป็นหกเลน เป็นแปดเลน ทางหลวงบางทีดูแล้วยังไม่เร็วก็ตัดมอเตอร์เวย์เพิ่มขึ้นอีก  มอเตอร์เวย์แค่ค่าเวนคืนก็เป็นหมื่นล้านแล้ว ขณะที่ในการลงทุนในการออกแบบพื้นที่เมืองน้อยมาก ลองนึกถึงเชียงใหม่  ถ้าใครไปจัดนิทรรศกาลที่ท่าแพ มันอนาถมาก คำเมืองขักหลัก มันระเกะระกะไปหมด พื้นที่ตรงนั้นใครดูแล เทศบาลนครเชียงใหม่ แต่เราจะประณามเทศบาลนครเชียงใหม่ก็ไม่ได้ งบมันไม่ได้เยอะ ช่องทางโง่ ๆ ไหล่ทางโง่ ๆ ขุนตาลเนี่ยครับถ้าใครผ่าน  ยี่สิบล้านบาทแปลว่าอะไร  แปลว่าอำนาจของบ้านเรา ไปลงในการทำ space ถนนทั้งหมด 

คนรุ่นนี้ไม่รู้ทันวลี “น้ำไหล ไฟสว่างทางสะดวก” หรือเปล่า สมัยก่อนจะมีคำนี้ที่ผู้ใหญ่ก็จะท่องกัน  น้ำไหลไฟสว่างเป็นสัญลักษณ์ของจุดสุดยอดของการพัฒนา  ดังนั้นถนนมันจึงมีคุณูปการมาก ๆสำหรับประเทศนี้  สำหรับคนจำนวนมาก  แต่ในทางกลับกันครับ  ถนนก็มีปัญหามากๆ เช่นเดียวกัน  ถ้าสมัยก่อนถนนลำปาง-เชียงใหม่ยังเป็นสองเลน  รถยังต้องแซงแอบ คุณต้องตามสิบล้อ  ลำปาง-เชียงใหม่เมื่อก่อนใช้เวลา 2-3 ชั่วโมงขึ้นไป  ผุดขึ้นดอยคุณต้องตามตูดสิบล้อ  แต่เดี๋ยวนี้ไม่จำเป็นต้องตามแล้ว เพราะหน้าที่ของกรมทางหลวงคือการสร้างโฟลว สร้างความเร็วของรถให้เร็วที่สุด  แต่หมายความว่าอะไร ทางที่เร็วที่สุด  มันคือความอันตรายที่เพิ่มขึ้นด้วย โอเคบนป่า บนเขา  คนไม่ค่อยสัญจรนะไม่ว่ากัน  แต่เส้นลำพูน-เชียงใหม่  มันตัดผ่านอำเภอเมืองลำพูน อำเภอสารภี มันผ่าเข้าทั้งเส้น เส้นลำพูนมีโรงงาน นิคมอุตสาหกรรม 

ถ้าใครขับไปช่วงคนงานออกมาจะเห็นฝูงมอเตอร์ไซค์ที่จะยูเทิร์นจากบ้านเข้าไปโรงงานซึ่งเสี่ยงมาก  ลองนึกถึงว่ามอเตอร์ไซค์ต้องรอยูเทิร์น ให้รถที่ขับประมาณสองร้อยวิ่งผ่าน นั่นหมายว่าอันตรายที่จะเกิดขึ้น  คุณไม่มี infrastructure ไม่มีสะพานลอยให้มอเตอร์ไซค์ข้าม  ถ้าเอาตัวเลขมา ตัวเลขที่จดมอเตอร์ไซค์ในประเทศประมาณยี่สิบกว่าล้านคัน ประชากรไทยตอนนี้หกสิบหกล้านคน แปลว่าเราจะมีมอเตอร์ไซค์ที่จดทะเบียนประมาณหนึ่งในสามหรือน้อยกว่านั้นหน่อย แต่ infrastructure เราไม่อำนวยความสะดวกมอเตอร์ไซค์เลย

บนถนนเป็นเรื่องสำคัญซึ่งถนนก็มีชนชั้นอีก  ใหญ่ที่สุดก็คือรถยนต์ รองลงมาก็มอเตอร์ไซค์และเป็นฝุ่นละอองเลยก็คือคนเดินถนน ดังนั้นเอาอย่างคือเส้นลำพูน-เชียงใหม่  คนตายก่อนคือคนเดินถนน ดังนั้น  ปัญหาที่มันเกิดขึ้นของการสร้างถนนว่าสุดท้ายแล้วถนนมันเข้าไปแหกเมือง แหกชนบททั้งหมด ชัดเจนที่สุดก็คือแยกเมญ่า ดึงถนนแปดเลนพุ่งไปเจอกับสี่แยก ซึ่งทุกวันนี้พยายามจะดีไซด์ให้เป็นชิจุกุ ชิบุย่าแบบญี่ปุ่น  แต่คุณเอาการจราจรที่วิ่งมาด้วยความเร็วสูง มาเจอแยกแบบนี้ เพื่ออะไร....เอารถมาเพื่อจะมาชนคน ใครเคยขับมาแยกนี้บ้างแล้วต้องเลี้ยวไป มช. ถึงเราจะเป็นคนจิตใจดีแค่ไหน ไฟเขียวอยู่ข้างหน้าเราก็ต้องเร่ง  การดีไซด์ถนนทำให้เราเป็นส่วนหนึ่งของปิศาจแห่งความเร็วนั้นด้วย สิ่งที่ควรจะทำคืออะไร โดยหลักการ ต้องบีบให้เหลือเลนที่รถวิ่งได้ช้าลง  คลายความเร็วของรถตั้งแต่ข่วงสิงห์แล้วด้วยซ้ำ ทำให้จากข่วงสิงห์เหลือแค่สองเลน  จะเห็นว่าถนนมันมีประโยชน์แต่เราไม่เคยตระหนักเลยว่าปัญหาของถนนมันคืออะไรบ้าง

นำมาสู่คำถามที่สองที่ว่า จะมีส่วนร่วมยังไง  ผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องแค่การที่เราจะไปขอความเห็นใจจากหน่วยงานรัฐ  มันต้องสร้างอำนาจต่อรอง การจะมีส่วนร่วมนั่นคือการสร้างอำนาจต่อรอง  แต่ผมคิดว่าสุดท้ายแล้วพอพูดแบบนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก ๆ ต้องมองในเชิงพื้นที่ให้มากขึ้น เช่นสมมุติถ้าเรามองอย่างกรณีแยกรินคำ ถามว่าแยกรินคำตอนนี้ถนนตรงนั้นใครดูแล กรมทางหลวง เอาจริงๆ แล้วคนที่เป็นส่วนได้ส่วนเสียที่สุดแล้วคือเทศบาลนครเชียงใหม่ ประชาชนที่อยู่แถวนั้นหรือประชาชนที่ใช้พื้นที่แถบ มช. ทำยังไงให้เสียงเหล่านี้มันมีพลัง  ทำให้กลไกของอำนาจรัฐมันสามารถทำได้จริง  เช่น การคืนพื้นที่ ลองนึกถึงว่าพื้นที่ตั้งแต่ข่วงสิงห์เป็นต้นมา ให้เป็นอำนาจของเทศบาลนครเชียงใหม่เป็นคนบริหาร กลไกที่ควรเกิดขึ้นคือการทำให้ประชาชนที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียเข้ามาเป็นบอร์ดบริหารของสภาบริหารนครเชียงใหม่ ดึง stakeholder ต่างๆ เข้ามา อาทิ มช. ชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงหรือว่าคนที่ใช้รถใช้ถนน  ฉะนั้นสิ่งที่จะทำให้มีส่วนร่วมได้คุณต้องไปสร้างกลไกการบริหารให้มันไปอยู่ในท้องถิ่น

ถามว่าทุกวันนี้กรมทางหลวงที่ดูแลกรมทางหลวงเชียงใหม่คิดเองได้ทั้งหมดไหม  คำตอบคือไม่ได้  คุณต้องฟังรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม ในประเทศที่เจริญแล้วไม่ใช้ครับ  ประเทศที่เจริญแล้วนายกเทศมนตรีที่จัดการพื้นที่ต่างหากที่ควรที่จะมีอำนาจและถูกคานและดุลย์อำนาจโดยภาคประชาสังคม

ธนาธร วิทยเบญจา พรรคนักศึกษาเปลวเทียน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ณัฐพล ศรีภูมิ กลุ่มเยาวชนดงเจริญ อำเภอดงเจริญ จังหวัดพิจิตร

ข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่อง 'ความปลอดภัยบนท้องถนนในประเทศไทย'

ณัฐพล ศรีภูมิ: ผมว่าตอนนี้ประเทศเรา โลกเราตอนนี้เกือบทุกคนเข้าถึงอินเตอร์เน็ตกันได้เกือบหมดแล้ว  อยากให้แบบมีเว็บไซด์ของหน่วยงานรัฐที่สามารถแจ้งปัญหาได้โดยตรง เราควรจะได้รู้ตลอด 24 ชั่วโมงว่าเขาแก้ไขถึงไหนแล้ว  โดยที่เราไม่ต้องไปยื่นเอกสารต่าง ๆ ตามหน่วยงาน ตาม อบต. แล้วเราก็ไม่รู้เลยว่าเขาดำเนินการแก้ไขไปถึงไหน รองบประมาณอยู่หรือว่าติดปัญหาอะไร  ถ้าเกิดมันเป็นออนไลน์เลย ทุกคนไม่ต้องเสียเวลา เสียการเสียงานต้องเดินทางเข้าไปในอบต. สามารถตรวจสอบได้  แบบโอเคคุณรองบประมาณ เหลือเวลาอีกเท่าไร อันนี้เราจะได้รู้  คอยติดตามได้ว่าปัญหาได้รับการแก้ไขไหม เพราะว่าบางที่เราเดินทางไปมันไม่ใช่เขตพื้นที่ของเรา  แต่เราเห็นว่าเป็นปัญหา  เราก็สามารถรายงานเข้าไปได้  น่าจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่บอกว่าประชาชนจะเข้าไปแก้ปัญหากับหน่วยงานรัฐได้เร็วและไวที่สุด

ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์:  พูดถึงหัวใจของความปลอดภัยของการใช้รถใช้ถนน อยากจะเสนอสิ่งที่เรียกว่า "วัฒนธรรมการใช้ถนน" เวลาเราพูดถึงวัฒนธรรมการใช้ถนนมักคิดว่าถนนมันคือเครื่องมือสำคัญที่สุดในการที่จะแก้ไขปัญหาทุกอย่าง รถติด ถนนรถเยอะก็เพิ่มถนนเข้าไปสิ  ซึ่งบางทีแล้วมันไม่ใช่วิธีแก้  แต่ประเทศที่เจริญแล้ว การใช้ถนน การสัญจรในเมือง มันไม่ใช่มีแค่รถยนต์ส่วนตัว แต่อาจจะรวมถึงระบบขนส่งสาธารณะที่มันเวิร์คด้วย ซึ่งขนส่งขณะนี้อาจจะไม่ใช่รถไฟฟ้าอย่างเดียวก็ได้มันอาจจะหมายถึงเรื่องของรถเมล์ทีมันรับคน ที่มันถี่มากพอที่เราใช้  แล้วสะดวกที่ไม่จำเป็นต้องขับรถไปติดแหงกอยู่ในเมือง  ผมคิดว่าวัฒนธรรมการใช้ถนนของเราเนี่ยทำยังไงให้อำนาจมันอยู่ที่คน ปุถุชนมากขึ้น

ทุกวันนี้คนที่จะอยู่ในเมืองใหญ่คุณต้องมีเงินซื้อรถ  แต่ถ้าใครเคยใช้ชีวิตอยู่กรุงเทพฯ  ถามว่าเราไม่ต้อมีรถเราก็อยู่กรุงเทพฯได้ไหม ได้ แต่ถ้าอยู่เชียงใหม่ไม่มีรถ ทำยังไงครับยากแล้ว  แต่ว่าอยู่กรุงเทพฯ คือยังโอเค ต้องเสียเงินเยอะ  แต่ว่าคุณไม่ต้องมีรถยนต์ส่วนตัวคุณก็เข้าถึงทุกซอกทุกมุมของกรุงเทพฯแทบจะได้ทั้งหมด แต่ต่างจังหวัดทำอย่างนั้นไม่ได้เลย สิ่งที่ผมคิดว่าด้านหนึ่งที่จะต้องคุยกันมากขึ้นก็คือวัฒนธรรมการสัญจร  วัฒนธรรมการใช้รถใช้ถนนร่วมกัน  ซึ่งนำไปสู่เรื่องของความปลอดภัยด้วย  เวลาเราออกแบบถนนหรือเวลาเราขับรถเนี่ย เราใช้สายตาคนขับรถเป็นหลัก อย่างเช่นกรณีหมอกระต่ายที่เราจำได้ตรงสะพานลอย ถ้าใครเคยไปตรงนั้นจะเห็นเลยว่าโอเคมันจะเป็นหน้าโรงพยาบาลก็จริง แต่มันคือถนนสี่เลน คือถนนไฮเวย์ดีๆ นี่เอง  เอาเข้าจริงแล้วการออกแบบที่ดีมันจะต้องบีบถนนตรงนั้นให้เลนแคบขึ้นหรือดีไซน์อะไรก็ว่ากันไปครับ  ดังนั้นผมคิดว่าวัฒนธรรมการใช้ถนนเป็นเรื่องสำคัญมากๆ  อาจจะมากกว่าการมารู้จักผังเมืองด้วยซ้ำ แต่ว่าทำยังไงให้วัฒนธรรมการใช้รถถนนถึงจะไปกันได้กับสังคมแบบนี้

ณัฐชยา ภักดี กลุ่มละอ่อนต๊ะตอนยอน

อุดมศักดิ์ คำมาเมือง พรรคนักศึกษา the next gen

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตล้านนา

อยากอะไรเกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนนไหม

อุดมศักดิ์ คำมาเมือง: ก็อยากจะขอฝากเรื่องเมาแล้วขับนิดนึงครับ เรื่องเมาแล้วขับเพราะว่า เราคงจะขี่ไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์แน่นอน (ถ้าเมา) ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครับ

ณัฐชยา ภักดี: คือประเทศไทยเองเวลาเราเข้าใจถึงพื้นที่สาธารณะทุกครั้งนะคะ  เราจะมีภาพที่มีประตูแล้วก็มีกุญแจล็อคไว้อยู่ คือเราคิดว่ามันยังมีมายเซ็ตหรือว่ามีแนวคิดในเรื่องของพื้นที่สาธารณะที่แปลก ๆมันเป็นพื้นที่สาธารณะแล้วทำไม่ต้องล๊อคไว้  พื้นที่สาธารณะควรที่จะเปิดยี่สิบสี่ชั่วโมงหรือเปล่า อย่างโรงเรียนนับเป็นพื้นที่สาธารณะไหม พื้นที่ราชการตรงนี้ถือว่าเป็นพื้นที่สาธารณะไหมอะไรอย่างนี้ แล้วพื้นที่สาธารณะทุกวันนี้มันเอื้อกับใครอยู่ อย่างสนามกีฬาที่เล่นในตัวของอำเภอเองที่เป็นเครื่องเล่น ถ้าเกิดจะไปใช้ตีสองจะใช้ได้ไหม ก็ไม่ได้ อะไรอย่างนี้  คือมายเซ็ตของคนไทยเอง พื้นที่สาธารณะเท่ากับมีกุญแจล็อค 

ณัฐพล ศรีภูมิ: ผมอิจฉาคนเชียงใหม่ เพราะว่าผมอยู่ในพื้นที่ชนบท ไม่มีพื้นที่สาธารณะ ไม่มีที่เที่ยว ไม่มีอะไรแบบนี้เลย ไม่มีพื้นที่ไปทำกิจกรรมตอนเย็นกับกลุ่มเพื่อนหรืออะไรได้เลย  รัฐควรเพิ่มพื้นที่สาธารณะไม่ใช่แต่ในเมือง ชุมชนหรือชนบทที่ไกลปืนเที่ยง  พวกเขาก็อยากใช้พื้นที่อย่างคุ้มค่าและก็มันช่วยลดปัญหาหลายๆ อย่างได้  เคยมีการให้เหตุผลว่ากลัวการมั่วสุม หรือเสพยา ผมคิดว่าถ้าคนจะเสพไม่มาเสพต่อหน้าคนหรอก มันเป็นการทำกิจกรรมที่มีประโยชน์อย่างอื่นมากกว่า ซึ่งก็ต้องมีการออกแบบจัดการพื้นที่ร่วมกันกับผู้คนในชุมชน

ธนาธร วิทยเบญจา: สิ่งที่อยากจะเสนอก็คือ  หลักๆก็คือทำยังไงไม่ให้คนจำเป็นต้องขับรถกัน คือทุกวันนี้คือเราจะเห็นว่ายิ่งเมืองที่มีความหนาแน่นของการใช้รถยนต์อย่างกรุงเทพฯ  อุบัติเหตุพุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ  การที่คนต้องขับรถเนี่ย มันก็เท่ากับการที่คนต้องมีเงื่อนไข สภาพแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะเมา บางคนอาจจะง่วง เพลีย ไม่พร้อมในเรื่องต่าง ๆ  หลัก ๆคือการที่ทุกคนต้องมานั่งขับรถเองตลอดเวลา มันมีความเหนื่อยล้าอะไรบางอย่างด้วย ดังนั้นผมก็เลยอยากว่าถ้ารัฐกยากแก้อุบัติเหตุรถยนต์ อาจจะเพิ่มทางเลือกในการใช้รถ ใช้ถนนกับคนให้ได้มากขึ้น 

อย่างเชียงใหม่เรามีเรื่องของรถสาธารณะ รถไฟฟ้า มันอาจจะทำให้เราไม่จำเป็นต้องใช้มอเตอร์ไซค์จนเกิดอุบัติเหตุกันง่าย ถามว่าทำไมพื้นที่ใน มช. เกิดอุบัติเหตุกันเยอะเพราะนักศึกษาหลายคนเพิ่งได้มาขับรถมอเตอร์ไซค์ตอนเข้าปี 1 เอง  มันคือจะไปขับคล่องได้ยังไง บวกกับถนนลื่น  ดังนั้นวิธีแก้ปัญหาก็คือ ผมเข้าใจของ มช. นะครับ ทำไมพยามพลักดันเรื่องรถม่วงก็คือวิธีการแก้ปัญหาหนึ่ง  คิดว่ามันจะช่วยลดอุบัติเหตุ แต่อย่างไรก็ตามการสร้างขนส่งสาธารณะต้องมีคนที่จะใช้งานมาร่วมออกแบบด้วย  ประเด็นรถแดงเนี่ย คือรถแดงเนี่ยไม่ได้สนับสนุนให้เป็นขนส่งที่คนสามารถใช้กันได้ทุกคนจริง (เรื่องรถม่วง) จริงๆ คือให้อธิการบดีมานั่งไปตึกหน้าเป็นตัวอย่าง  เค้าต้องใช้เหมือนกัน เขาจะรู้ปัญหาไงว่าเดินไกล

ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์: มีประเด็นเรื่องเกี่ยวกับเรื่องพื้นที่สาธารณะนิดนึง  สิ่งที่สังคมไทยให้ความสำคัญน้อยไปนะครับ  มันจะเป็นพื้นที่ทางด้านศิลปะ แม้กระทั่งทางด้านการเมืองต่างๆนะครับ อย่างเช่น กรณีเชียงใหม่ก็จะมีแค่ท่าแพ  เล็กมากถ้าเทียบกับสนามหลวง กรุงเทพ ที่ใช้ทำกิจกรรมได้ดี  แต่ของเรามีพื้นที่ค่อนข้างน้อย เรื่องสำคัญมาก ๆ

อำนาจในการจัดการพื้นที่เนี่ย ทุกวันนี้มันไปอยู่บนถนนแล้ว อำนาจบนถนนคือใครครับ คนที่มีอำนาจ คนที่มีรถขับ มีเงินซื้อรถ แต่กลายเป็นว่าพื้นที่ในสารธารณะมีน้อยมากหรือโดนปิดพื้นที่อะไรต่างๆ ไป ถ้าเทียบกับประเทศต่างๆ ผมไปเวียดนามเนี่ย คนเขาสนุกมาก ออกมาใช้พื้นที่ คนเวียดนามไม่ค่อยอยู่บ้าน ออกไปใช้ชีวิตกันข้างนอก แต่บ้านเราไม่ใช่ ไม่ได้มีใช้ชีวิตสาธารณะร่วมกัน สิ่งสำคัญมากคือการเพิ่มอำนาจให้กับประชาชน คือการให้อำนาจในเชิงกายภาพ  ควรจะดีไซน์กับมันมากขึ้น ยกตัวอย่างสมัยก่อนอนุเสาวรีย์สามกษัตริย์ มีรั้วกั้นรอบ พอเอารั้วออกพื้นที่นี้ก็เป็นพื้นที่เปิดกว้างขึ้น คนก็ไปใช้มากขึ้น ต้องทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ของพื้นที่ราชการน้อยลง พื้นที่สาธารณะกว้างมากขึ้น  พื้นที่สำหรับรถยนต์ต้องถูกลดความสำคัญลง เพิ่มขนส่งสาธารณะ ทางเท้า ให้ความสำคัญกับทางเท้าให้คนรู้สึกเดินแล้วปลอดภัย การเดินทุกวันนี้ถามว่าทำไมคนถึงไม่อยากเดิน  บางคนเอามอเตอร์ไซค์ไปจอดถึงที่เลย เอารถยนต์ไปจอดที่เลยเพราะมันอันตรายครับ  บางคนมีลูก มีหลาน จะไปส่งให้ถึงที่เพราะถนนมันเดินไม่ได้  ผมคิดว่าสิ่งสำคัญมากคือการตระหนักถึงอำนาจของคนเดินถนน  อันนี้ผมว่าเมืองไทยขาดมากๆ  เรามักจะให้อำนาจกับคนขับรถและถนนเป็นหัวใจหลักของคนในประเทศนี้มากกว่าทางเท้าซึ่งต้องคิดเรื่องนี้ใหม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net