Skip to main content
sharethis

ศาลจังหวัดสมุทรปราการพิพากษาลงโทษจำคุกนายจ้าง 6 ปี 16 เดือน ปรับ 6 แสนบาท ในคดีค้ามนุษย์โดยการบังคับใช้แรงงาน พร้อมชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 1.5 ล้านบาท แก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นลูกจ้างชาวลาว

 

15 ก.ย. 2565 มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ. หรือ HRDF) รายงานต่อสื่อวันนี้ (15 ก.ย.) ว่า เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2565 ศาลจังหวัดสมุทรปราการกำหนดนัดอ่านคำพิพากษาคดีค้ามนุษย์ คดีที่พนักงานอัยการจังหวัดสมุทรปราการ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนางทิพยอาภา ยิ้มเนียม เป็นจำเลย โดยมีผู้เสียหายเป็นโจทก์ร่วมของคดี ในข้อหาที่เกี่ยวข้องกับความผิดต่อ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก ความผิดต่อร่างกาย เป็นคดีหมายเลขดำที่ คม 1/2564 คดีหมายเลขแดงที่ คม 1/2565 โดยศาลพิพากษาให้

1. จำเลยมีความผิด ฐานค้ามนุษย์ โดยหน่วงเหนี่ยว กักขัง จัดให้อยู่อาศัย หรือรับไว้ซึ่งเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปี โดยแสวงหาประโยชน์จากการบังคับใช้แรงงาน, ให้คนต่างด้าวเข้าพักอาศัยเพื่อให้พ้นการจับกุม, จ้างเด็กอายุต่ำกว่าสิบห้าปีเข้าทำงานโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย, เป็นนายจ้างไม่จ่ายเงินค่าจ้างให้ตรงตามกำหนดเวลาและเป็นการจ่ายแก่บุคคลอื่นอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน , ทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำได้รับอันตรายสาหัส เสียโฉมอย่างติดตัว และกระทำอันเป็นการทารุณกรรมต่อร่างกายหรือจิตใจของเด็ก ลงโทษจำคุก 6 ปี 16 เดือน ปรับ 6 แสนบาท 

2. ในส่วนของการให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมตามคำฟ้องนั้น แยกเป็น ค่าสินไหมที่เป็นค่ารักษาพยาบาลบาดแผลตามร่างกาย จำนวน 1,950,000 บาท ศาลพิพากษาให้จำเลยจ่าย 500,000 บาท ค่าเสียหายต่อจิตใจ จำนวน 550,000 บาท ศาลพิพากษาให้ 500,000 บาท และค่าขาดประโยชน์ จากการขาดรายได้ เนื่องจากมือซ้ายพิการ ค่าขาดประโยชน์จากการทำงาน 44 ปี จำนวน 2,640,000 บาท ศาลพิพากษาให้ 500,000 บาท รวมค่าสินไหมที่จำเลยจะต้องรับผิดเป็นค่าเสียหายต่อร่างกาย จิตใจ และชื่อเสียงของโจทก์ร่วมทั้งสิ้น 1,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม 

คดีนี้สืบเนื่องมาจากเมื่อปี พ.ศ. 2557 เด็กหญิงเอ (นามสมมุติ) อยู่ที่แขวงจำปาศักดิ์ สปป.ลาว ในขณะที่อายุเพียง 10 ขวบ พร้อมพี่ชาย ถูกนายหน้าชาวลาวหลอกลวงพาเข้ามาให้ทำงานเป็นเด็กรับใช้ในบ้านของจำเลย ผู้เป็นนายจ้าง ที่จังหวัดสมุทรปราการ ตลอดเวลาหลายปีที่ทำงาน เด็กหญิงเอ ถูกนายจ้างกลั่นแกล้งและกระทำทารุณกรรมอย่างโหดร้าย ไร้มนุษยธรรมและย่ำยีศักดิ์ศรี ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ถูกทุบตี ถูกใช้กรรไกรทิ่มแทง ตัดผิวหนังและเนื้อตัวร่างกายจนปรากฏเป็นริ้วรอยบาดแผลทั่วตัว รวมทั้งให้กินอาหารสัตว์และอยู่ร่วมกับแมวและสุนัขที่นายจ้างเลี้ยงไว้ จนเด็กหญิงเอได้รับความทุกข์ทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจอย่างแสนสาหัส หลังจากทุกข์ทรมานอยู่ 5 ปี ในปี พ.ศ. 2562 เด็กหญิงเอจึงได้หลบหนีออกมาจากบ้านของนายจ้างสำเร็จ แต่เนื่องจากไม่ทราบว่าจะกลับบ้านที่ สปป.ลาว อย่างไร จึงถูกนายกาหลง เมืองจันทร์ ชาวบ้านในจังหวัดสมุทรปราการ ล่อลวงและข่มขืนกระทำชำเราหลายครั้ง จนในที่สุดเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ให้ความช่วยเหลือส่งตัวให้เจ้าหน้าที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ดูแล ต่อมา เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2563 ศาลจังหวัดสมุทรปราการ มีคำพิพากษา ให้จำคุกนายกาหลง เป็นเวลา 10 ปี 3 เดือน โทษฐานกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี  ส่วนนายจ้างและญาติอยู่ระหว่างการถูกดำเนินคดีในข้อหาค้ามนุษย์ 

มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ซึ่งได้รับมอบหมายให้ช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่เด็กหญิงเอ ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย ดังนี้ 

1. ประสานงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในการยื่นเรื่องขอรับเงินค่าตอบแทนผู้เสียหายในคดีอาญา ในกรณีถูกทำร้ายร่างกายโดยนายจ้างและถูกข่มขืนกระทำชำเราโดยนายกาหลง กระทรวงยุติธรรมกลับปฏิเสธ ไม่จ่ายค่าตอบแทนให้เด็กหญิงเอ เหยื่ออาชญากรรมดังกล่าว โดยอ้างว่าแม้เด็กหญิงเอไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิด แต่เนื่องจากเข้ามาในประเทศโดยผิดกฎหมายด้วยความสมัครใจ จึงไม่เป็นผู้เสียหาย ไม่มีสิทธิได้เงินค่าตอบแทนผู้เสียหายในคดีอาญา 

ทางมูลนิธิฯ ได้อุทธรณ์คำสั่งของคณะกรรมการวินิจฉัยจ่ายเงินค่าตอบแทนให้ผู้เสียหาย และคณะกรรมการฯ ได้พิจารณาสั่งจ่ายค่าตอบแทนแก่ผู้เสียหายในคดีอาญา ด้วยเหตุว่าเนื่องจากปรากฏข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดสมุทรปราการว่า ก่อนเกิดเหตุขณะที่เด็กหญิงเอ อายุ 10 ปีเศษ ถูกบิดาส่งตัวให้มาทำงานในประเทศไทย จึงไม่อาจถือว่าเด็กหญิงเอ เข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย  วินิจฉัยให้จ่ายค่าตอบแทนแก่เด็กหญิงเอ เป็นค่าตอบแทนความเสียหายอื่น จำนวน 50,000 บาท ในกรณีถูกข่มขืนกระทำชำเรา 

ภาพเมื่อ 29 ก.ค. 2565

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

2. ยื่นฟ้องนายจ้างต่อศาลแรงงาน ภาค 1 เพื่อให้นายจ้างปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน จังหวัดสมุทรปราการ เป็นเงินจำนวน  99,133.32 บาท โดยศาลแรงงานภาค 1 พิพากษาให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างแก่เด็กหญิงเอ เป็นเงินจำนวน 11,000 บาท โดยมีประเด็นสำคัญที่ศาลเห็นว่า เด็กหญิงเอ เป็นลูกจ้างทำงานบ้านที่ไม่มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย จึงไม่ได้รับการคุ้มครองอัตราค่าแรงขึ้นต่ำตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เด็กหญิงเอ จึงมีสิทธิได้รับค่าจ้างตามอัตราที่นายจ้างตกลงจ่ายให้เดือนละ 3,000-5,000 เท่านั้น 

เป็นทนายความและผู้แทนคดีให้แก่เด็กหญิงเอ ในฐานะโจทก์ร่วม ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายจ้างเป็นจำเลยในคดีค้ามนุษย์โดยการบังคับใช้แรงงาน 

กาญจนา อัครชาติ ผู้จัดการคดี ของมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา หรือ HRDF ให้ความเห็นว่า เด็กหญิงเอ ผู้เสียหายในคดีนี้ได้รับความเสียหายรุนแรง และความเสียหายที่เกิดขึ้นจะติดตัวต่อไปอีกเป็นเวลานาน ซึ่งสร้างผลกระทบทั้งในด้านการดำรงชีวิต การประกอบอาชีพในอนาคต ตลอดจนการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม ดังนั้น ในคดีค้ามนุษย์ ที่มีการเรียกค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายคดีค้ามนุษย์ ควรมีการทำรายละเอียดให้ชัดเจนทั้งในแง่ของหลักการ หลักเกณฑ์ และทำให้เป็นบรรทัดฐานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในฐานะผู้ที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ เพื่อให้ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นธรรม รวมทั้งเรียกร้องให้กระทรวงแรงงานยกเลิกกฎกระทรวง ฉบับที่ 14 (พ.ศ. 2555) ได้ประกาศยกเว้นการคุ้มครองค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับลูกจ้างทำงานเกี่ยวกับงานบ้านอันไม่ได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย ทำให้ลูกจ้างทำงานบ้าน ในฐานะที่เป็นแรงงานซึ่งตกลงทำงานให้จ้าง ไม่ได้รับอัตราค่าจ้างที่เป็นธรรมและถูกเลือกปฏิบัติ และขัดต่ออนุสัญญาองค์การด้านแรงงานระหว่างประเทศ และอนุสัญญาที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคี

 

อ้างอิง 

สตม. ช่วยด.ญ.ชาวลาววัย 14 ปี เหยื่อความรุนแรงนายจ้าง

สตม.จับกุมนายจ้างโหด บังคับใช้แรงงาน ทำทารุณ ทำร้ายเหยื่อเด็กหญิงชาวลาว หนีเสือปะจระเข้เจอชายแก่หลอกให้ความช่วยเหลือกลับถูกข่มขืน

แถลงการณ์: กระทรวงยุติธรรมปฏิเสธจ่ายเงินเยียวยาเด็กหญิงลาว เหยื่อค้ามนุษย์ที่ถูกทำร้ายและข่มขืน อ้างเหตุเข้าเมืองผิดกฎหมายโดยสมัครใจ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net