Skip to main content
sharethis

กมธ.กฎหมายฯ สภาผู้แทนราษฎร เรียก 4 หน่วยงานแจงเกณฑ์คัดกรองเพื่อช่วยเหลือเหยื่อการค้ามนุษย์เมืองเล้าก์ก่าย พบดำเนินตาม NRM ที่เป็นหลักสากล คัดแยกผู้กระทำผิดจริง ย้ำแนวทางให้ความคุ้มครองตามกฎหมายหากเป็นผู้เสียหาย ใช้กองทุนค้ามนุษย์ช่วยเหลือ


เจ้าหน้าที่ไทยควบคุมความเรียบร้อยบนเครื่องบินเช่าเหมาลำที่ใช้ในการส่งตัวผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือจากเมืองเล้าก์ก่าย โดยมีต้นทางจากเมืองคุนหมิง แคว้นยูนนานของจีน โดยได้เบลอภาพใบหน้าทั้งหมด ขณะมีการคัดกรองระหว่างเหยื่อและนักค้ามนุษย์ เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2566 | ที่มาภาพ: สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

เว็บไซต์สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา รายงานเมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2567 นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม กมธ. เพื่อศึกษาถึงกลไกการคัดกรองผู้เสียหายที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์และปัญหาที่สืบเนื่องจากเหตุการณ์คนไทยถูกขบวนการค้ามนุษย์หลอกลวงไปค้าแรงงาน ณ เมืองเล่าก์ก่าย เมียนมา สำหรับการพิจารณาในครั้งนี้สืบเนื่องจาก นายจารุวัฒน์ จิณห์มรรคา รองประธานมูลนิธิอิมมานูเอล นำข้อร้องเรียนจากผู้ปกครองของกลุ่มผู้เสียหายที่ไปทำงาน ณ เมืองเล่าก์ก่าย และถูกทำร้ายร่างกาย บังคับคู่เข็ญ กักขัง เรียกค่าไถ่ และยึดหนังสือเดินทาง เข้าข่ายความผิดฐานค้ามนุษย์ มาร้องเรียนต่อคณะ กมธ. และเมื่อผู้เสียหายบางส่วนที่ได้รับการช่วยเหลือและกลับประเทศไทยแล้ว กลับถูกกล่าวหาว่าสมัครใจไปทำงาน ทำให้ไม่ได้รับความคุ้มครองในฐานะผู้เสียหาย จึงขอให้คณะกมธ. พิจารณาถึงกลไกและหลักเกณฑ์ การคัดกรองผู้ตกเป็นเหยื่อ ว่าได้รับการคุ้มครองอย่างครอบคลุมหรือไม่ เพื่อสร้างความเป็นธรรมต่อกรณีดังกล่าว

คณะ กมธ. การกฎหมายฯ ได้ทราบข้อมูลจากผู้แทนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ถึงกลไกในการคัดกรองหรือการส่งต่อระดับชาติ (National Referral Mechanism :NRM) ที่เป็นไปตามหลักสากล ในการช่วยเหลือบุคคลที่มีเหตุอันควรเชื่อว่าเป็นผู้เสียหาย เพื่อช่วยให้เข้าถึงการช่วยเหลือได้ในเบื้องต้น กรณีนี้กระทรวง พม. ได้ดำเนินการคัดแยกร่วมกับกระทรวงแรงงาน และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หากไม่เป็นผู้เสียหายจะส่งกลับภูมิลำเนา แต่หากเป็นผู้เสียหายจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย เพื่อช่วยเหลือตามสถานการณ์ และดำเนินเรียกค่าสินไหมทดแทนจากผู้กระทำผิด ช่วยติดตามคดี และช่วยเหลือด้านต่างๆ โดยกองทุนค้ามนุษย์ ซึ่งขณะนี้มีการประชุมพิจารณา NRM จึงจะรายงานผลให้คณะ กมธ.ทราบต่อไป ขณะที่ ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชี้แจงเพิ่มเติมถึงการคัดแยกผู้เสียหายตามขั้นตอน NRM ร่วมกับกระทรวง พม. พบว่าบางรายทราบว่าตนเองถูกลวงไปทำงานผิดกฎหมาย อาทิ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ (Call Center) และธุรกิจพนันออนไลน์ ตำรวจจึงจำเป็นต้องออกหมายจับ ส่วนผู้แทนกระทรวงแรงงาน เผยว่าในกระบวนการ NRM  พบว่าหลายคนเคยเดินทางไปทำงานผิดกฎหมายที่สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ เมื่อได้รับการช่วยเหลือแล้ว กลับไปค้าแรงงานที่เมืองเล่าก์ก่ายซ้ำอีก จึงเชื่อว่าสมัครใจไปทำงานที่ผิดกฎหมาย ส่วนกลุ่มผู้ที่ถูกหลอกไปค้ามนุษย์จริง พบมากในกลุ่มที่ช่วยเหลือมาจากรัฐฉาน เมียนมา ส่วนข้อมูลจากผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ ทราบว่ากระทรวงได้เข้าช่วยเหลือและส่งเดินทางกลับประเทศทุกราย โดยไม่ได้พิจารณาว่าเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์หรือไม่ พร้อมกับทำการประสานความช่วยเหลือและส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อ ในขณะที่ผู้แทนกรมสอบสวนพิเศษ ระบุว่าความผิดฐานค้ามนุษย์เป็นคดีพิเศษ เมื่อได้รับแจ้งการกระทำความผิดที่เป็นความผิดฐานค้ามนุษย์ จึงดำเนินการสอบสวน เพื่อพิจารณาว่าเข้าข่ายเป็นคดีพิเศษหรือไม่ หากไม่ใช่คดีพิเศษ จะส่งต่อให้พนักงานสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติไปดำเนินการต่อ

อย่างไรก็ตาม คณะ กมธ. เห็นควรให้กระทรวง พม. ส่งหลักเกณฑ์การคัดกรองความเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ข้อบ่งชี้ การใช้ดุลพินิจ และรอการแจ้งผลการประชุมของกระทรวง ที่ประชุมพิจารณากลไกการคัดกรองผู้เสียหายที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์และกลไกการส่งต่อระดับชาติให้คณะ กมธ.ทราบเพื่อนำมาพิจารณาต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net