Skip to main content
sharethis

หลังแถลงร่วมกับตำรวจรัฐกะเรนนีว่าจะเตรียมฟ้องคณะรัฐประหารพม่าต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ ล่าสุดกลุ่มสิทธิเปิดเผยรายงานการรวบรวมหลักฐานพบว่ากองทัพพม่าใช้ประชาชนเป็นโล่มนุษย์และสังหารพลเรือนไปอย่างน้อยหลายสิบคน พร้อมเรียกร้องให้อาเซียนสนับสนุนการห้ามซื้อขายอาวุธกับกองทัพพม่า

สำนักข่าวอัลจาซีรารายงานการเปิดเผยข้อมูลใหม่ของกลุ่ม Fortify Rights เมื่อ 15 ก.พ. ที่ผ่านมาว่าการฆาตกรรมพลเรือน และใช้พลเรือนเป็นโล่มนุษย์ ระหว่างการโจมตีภาคตะวันออกของรัฐกะเรนนีหลายครั้ง อาจเป็นความผิดทางอาญาในข้อหาอาชญากรรมสงคราม

ที่ผ่านมา กลุ่ม Fortify Rights บันทึกการโจมตีโบสถ์ บ้านพักอาศัย ค่ายผู้ลี้ภัย และเป้าหมายที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทหารอื่นๆ ในรัฐกะเรนนี หรือรัฐกะยาห์ มาโดยตลอด ตั้งแต่ พ.ค. 64 ถึง ม.ค. 65 และพบว่ามีผู้เสียชีวิตระหว่างนี้อย่างน้อย 61 คน

รายงานของกลุ่ม Fortify Rights ถูกเผยแพร่ออกมาขณะที่รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของสมาชิกอาเซียนกำลังจะเข้าร่วมการประชุมที่กัมพูชา ขณะที่ฉันทามติ 5 ข้อที่ตกลงกับกองทัพเมื่อ เม.ย. 64 เพื่อยุติความรุนแรงยังไร้ความคืบหน้าใดๆ

ฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน

1. ยุติความรุนแรงในพม่าโดยทันทีและทุกฝ่ายต้องกระทำการโดยอดทนอดกลั้นอย่างถึงที่สุด

2. จะต้องเริ่มการเจรจาอย่างสร้างสรรค์ระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางออกอย่างสันติโดยเอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง

3. ผู้แทนพิเศษของประธานอาเซียนจะเป็นผู้ประสานงานและตัวกลางของกระบวนการเจรจา  โดยการสนับสนุนจากเลขาธิการอาเซียน

4. อาเซียนจะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมผ่านศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในการจัดการภัยพิบัติ (AHA Centre)

5. ผู้แทนพิเศษและคณะตัวแทนจะเดินทางไปพม่าเพื่อพบกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

แหล่งที่มา: อัลจาซีรา

จากการเปิดเผยรายงานนี้ กลุ่ม Fortify Rights ยังเรียกร้องให้อาเซียนสนับสนุนการห้ามซื้อขายอาวุธในทันทีอีกด้วย

“กองทัพคณะรัฐประหารพม่ากำลังสังหารประชาชนด้วยอาวุธที่ได้รับการจุนเจือจากตลาดโลก และการกระทำเช่นนี้ต้องยุติ” อิสมาอิล วูล์ฟฟ์ ผู้อำนวยการภูมิภาคของกลุ่ม Fortify Rights ระบุในแถลงการณ์ “การกระทำที่ชัดเจนและแน่นอนเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อผลักดันให้คณะรัฐประหารพม่าทบทวนการโจมตีพลเรือนของตนเอง คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติต้องสั่งห้ามซื้อขายอาวุธกับกองทัพพม่าโดยทันที และจะเป็นการเหมาะสมในเชิงยุทธ์ศาสตร์และเหตุผลหากอาเซียนสนับสนุนด้วย”

รายงานของ Fortify Rights มาจากคำให้การของพยานในเหตุการณ์และผู้รอดชีวิตกว่า 31 คน รวมถึง หลักฐานภาพถ่ายและวิดิโอที่ได้รับการพิสูจน์ความถูกต้องแล้ว ซึ่งเปิดเผยรายละเอียดใหม่เกี่ยวกับการสังหารประชาชนในวันคริสมาสต์อีฟที่เมืองพรูโซ ในเหตุการณ์ดังกล่าวมีพลเรือนเสียชีวิตอย่างน้อย 40 ราย รวมถึงเด็กและเจ้าหน้าที่ของกลุ่ม Save the Children ด้วย

แพทย์ที่ทำงานชันสูตรศพของผู้ที่ถูกฆ่าบอกกับ Fortify Rights ว่าศพของบางคนถูกเผาจนไม่สามารถชันสูตรได้ แต่ทีมของเขาก็สามารถยืนยันได้ว่าศพของ 5 คนเป็นของผู้หญิง ส่วนศพของอีกคนเป็นของเด็กหญิงที่อายุต่ำกว่า 15 ปี

“บางคนในปากเต็มไปด้วยผ้า เราจึงค่อนข้างมั่นใจว่าพวกเขาถูกยัดปาก” แพทย์บอกกับ Fortify Rights “กะโหลกของเกือบทุกคนมีรอยร้าวและแตกหักอย่างเลวร้าย...[ในศพของบางคน] เราสามารถรวบรวมหลักฐานได้เพียงพอจนบอกได้ว่าพวกเขาถูกเผาทั้งเป็น”

ในอีกกรณีหนึ่ง Fortify Rights บอกว่ากองทัพพม่าใช้ชายอายุ 18 ปี ลุงของเขา และชายอีก 2 คนเป็นโล่มนุษย์ระหว่างการปะทะกับข้าศึกจากกองกำลังพิทักษ์ประชาชนของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติพม่าในเมืองมองบาย ซึ่งมีชายแดนติดกับรัฐฉาน

“ทหารพาดปืนบนบ่าของเราและยิงกองกำลังพิทักษ์ประชาชน โดยยืนอยู่ข้างหลังเรา” ชายคนหนึ่งบอกกับ Fortify Rights “เราถูกจับมัดและปิดตา เราถูกซ้อมทรมานเยอะมาก ด้วยวิธีหลายอย่าง พวกเขาเตะร่างกายเรา ทุบหัวเราด้วยด้ามปืน และอื่นๆ” Fortify Rights ระบุว่าชาย 3 คนหนีออกมาได้ในท้ายที่สุด แต่ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับชายคนที่ 4

‘องค์กรอาชญากรรม’

ที่ผ่านมา กองทัพพม่าพยายามใช้กำลังเพื่อพยายามปราบปรามประชาชนที่ต่อต้านรัฐประหาร ด้วยการสลายการชุมนุมและยกระดับการโจมตีกองกำลังต่อต้านรัฐประหาร และเขตพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่เป็นคู่ขัดแย้งกับรัฐบาลทหารพม่ามาตลอดหลายสิบปี

ข้อมูลจากสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า (AAPP) ซึ่งติดตามสถานการณ์มาอย่างต่อเนื่อง ระบุว่า ณ วันที่ 14 ก.พ. 65 มีผู้เสียชีวิตจากความรุนแรงแล้วอย่างน้อย 1,549 คน และมีผู้ถูกจับแล้วกว่า 12,000 คน

“ผู้นำรัฐประหาร พล.อ. อาวุโส มิน อ่อง ลาย และกองกำลังของเขาอ้างว่าต่อสู้กับ ‘ผู้ก่อการร้าย” Fortify Rights ระบุในรายงาน “แต่กองกำลังของเขากลับกำลังปฏิบัติการเหล่านี้และก่ออาชญากรรมชั่วร้ายอื่นๆ ต่อประชากรพลเรือน โดยไม่ต้องรับผิดแม้แต่น้อย”

Fortify Rightsระบุว่าการสั่งห้ามทั่วโลกไม่ให้ขายอาวุธและเทคโนโลยีที่อาจนำมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการทหารได้แก่กองทัพพม่า ซึ่งนำโดยองค์การสหประชาชาติ เป็นมาตรการที่สำคัญอย่างยิ่ง และองค์การสหประชาชาติควรบังคับให้มีการคว่ำบาตรเพิ่มเติมเพื่อยับยั้งกองทัพไม่ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ โดยเฉพาะรายได้จากการขายก๊าซธรรมชาติ

Fortify Rights ยังระบุด้วยว่าสถานการณ์ในพม่าควรถูกส่งไปให้กับศาลอาญาระหว่างประเทศเป็นผู้ดำเนินคดี

ข้อมูลของเครือข่ายประชาสังคมกะเรนนีระบุว่าที่ผ่านมามีพลเรือนกว่า 170,000 คน จากประชากรของรัฐกะเรนนีทั้งหมด 300,000 คน ที่ถูกบังคับให้ต้องทิ้งบ้านของตัวเองจากการโจมตีอย่างต่อเนื่องของทหาร

ความพยายามทางการทูตเพื่อหาทางออกให้กับวิกฤติการณ์ในพม่าคืบหน้าไปน้อยมาก คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเคยออกแถลงข่าวเพื่อแสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ในพม่าเพียง 5 ครั้ง และเคยออกแถลงการณ์ของประธานคณะมนตรีเพียงครั้งเดียวเมื่อ 10 มี.ค. 64

ด้านอาเซียน ซึ่งพม่าเข้าร่วมเป็นสมาชิกภายใต้ระบอบทหารในปี 2540 พยายามริเริ่มหาทางออก แต่ก็แทบไม่ประสบความสำเร็จเลยเช่นกัน อัลจาซีราระบุ เมื่อไม่นานมานี้ มีรายงานว่ารัฐมนตรีต่างประเทศของพม่าจะไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมอาเซียนที่จะเริ่มขึ้นเร็วๆ นี้ แต่จะมีการเชิญ “ตัวแทนที่ไม่ใช่ฝ่ายการเมือง” เข้าร่วมแทน

Fortify Rights ระบุว่าถึงเวลาแล้วที่อาเซียนต้องแสดงจุดยืนแข็งกร้าวขึ้นเพื่อต่อต้านผู้นำคณะรัฐประหาร พร้อมเรียกร้องให้อาเซียนเริ่มสนทนากับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติพม่า ที่ก่อตั้งขึ้นโดยนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งและถูกยึดอำนาจ และเริ่มสนทนากับตัวแทนจากกลุ่มชาติพันธุ์

“คณะรัฐประหารไม่ใช่รัฐบาล มันคือองค์กรอาชญากรรม และไม่สมควรได้อยู่ในโต๊ะเจรจาของอาเซียน” อิสมาอิล วูล์ฟฟ์  “ถือเป็นเรื่องอันตรายหากอาเซียนให้ความชอบธรรมทางการเมืองแก่มิน อ่อง ลาย และคณะรัฐประหารของเขา”

แปลและเรียบเรียงจาก

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net