Skip to main content
sharethis

ประธานสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน พล.อ.เจ้ายอดศึก ตรวจเยี่ยมกำลังพลในพิธีจบหลักสูตรฝึกทหารใหม่ที่เมืองน้ำจ๋าง โดยตลอดเดือนเมษายนที่ผ่านมา พบความเคลื่อนไหวของกองทัพรัฐฉาน RCSS/SSA ที่มีการตรวจกำลังพล พบปะประชาชนและคณะสงฆ์ ในหลายเมืองในรัฐฉานตอนใต้ อาทิ หมอกใหม่ ลางเคอ เมืองนาย และที่น้ำจ๋าง

กองทัพรัฐฉาน RCSS/SSA กองพล 505 ฝึกทหารที่เมืองน้ำจ๋าง เมื่อ 12 เมษายน 2567 | ที่มา: YouTube/Tai Freedom 

แผนที่แสดงที่ตั้งเมืองน้ำจ๋าง ทางรัฐฉานตอนใต้ อยู่ห่างจากเมืองตองจี เมืองหลวงรัฐฉานไปทางทิศตะวันออก ประมาณ 120 กม. และที่ตั้งของกองบัญชาการกองทัพรัฐฉาน RCSS/SSA ดอยไตแลง ที่อยู่ตรงข้ามชายแดนไทย-พม่า ด้าน อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน | ที่มา: Google Maps

 

กองทัพรัฐฉาน RSCC/SSA ฝึกทหารใหม่ที่เมืองน้ำจ๋าง

เมื่อวันที่ 12 เม.ย. สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน/กองทัพรัฐฉาน RCSS/SSA จัดการฝึกทางการทหารรุ่นที่ 2 ในพื้นที่ของกองทัพรัฐฉาน RCSS/SSA พื้นที่ปกครองหมายเลข 3 กองพลน้อยที่ 505 ใกล้เมืองน้ำจ๋าง ห่างจากเมืองตองจี เมืองหลวงรัฐฉานไปทางทิศตะวันออก ประมาณ 120 กม. โดย พล.อ.เจ้ายอดศึก ประธานสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน RSCC เดินทางมาเป็นประธานในพิธีจบหลักสูตร นอกจากนี้มีนายทหาร และประชาชนเข้าร่วมงาน โดยมีการสวนสนามและสาธิตการฝึกปฏิบัติทางยุทธวิธีให้ผู้ร่วมงานได้ชม

ด้าน พล.อ.เจ้ายอดศึก กล่าวในพิธีเปิดการฝึกทหารว่า สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน RCSS มีจุดมุ่งหมาย 4 ประการ คือ เชื้อชาติ บ้านเมือง ภาษา และศาสนา ที่่ผ่านมาเป้าหมายของเรายังไม่บรรลุถึงที่ เพราะเราต่างก็ทำของใครของมัน ดังนั้นในปัญหาเรื่องความเป็นเอกภาพที่ผ่านมานั้น จึงใช้เป็นบทเรียนให้กับพวกเราได้อยู่ ขณะที่สังฆเจ้า พลเมือง และทัพศึก ถือเป็นหลักยึดมั่นสามประการที่สำคัญ หากร่วมมือกันก็จะมีกองทัพที่เป็นกำลังสำคัญของบ้านเมือง ซึ่งหากไม่มีทัพศึกก็เหมือนเนื้อไม่มีกระดูก เนื้อไม่มีก้าง ใครจะกุมจะกินก็ทำได้ง่าย 

นอกจากนั้นในงานยังมีการกล่าวให้โอวาทของตัวแทนคณะสงฆ์ นายทหารในกองทัพรัฐฉาน และตัวแทนประชาชน

พล.อ.เจ้ายอดศึก ประธานสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน RCSS ตรวจเยี่ยมการฝึกทหารใหม่ที่เมืองลางเคอ ทางตอนใต้ของรัฐฉาน เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา | ที่มา: สำนักข่าว SHAN

ก่อนหน้านี้ในรายงานของสำนักข่าวฉาน (SHAN) รายงานว่าเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ประธานสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน RCSS เดินทางไปตรวจเยี่ยมการฝึกทหารใหม่ที่เมืองลางเคอ ทางตอนใต้ของรัฐฉาน

ในเพจ Know Shan State ระบุว่า สถานที่ฝึกทหารใหม่ที่ลางเคอ ไม่เพียงพอรองรับทหารที่มาฝึกจำนวนมาก ทางกองทัพรัฐฉาน RCSS/SSA จึงย้ายกำลังพลไปฝึกที่เมืองปั่นและเชียงตองด้วย

ทั้งนี้สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน RCSS ประกาศเกณฑ์ทหารของกองกำลังตัวเอง ภายหลังจากรัฐบาลทหารพม่า SAC ซึ่งแพ้การสู้รบกับกองกำลังฝ่ายต่อต้านทั่วประเทศหลายแนวรบ เริ่มประกาศเกณฑ์ทหาร 

โดย พ.อ.จายคำจ๋าม โฆษก RCSS บอกกับสำนักข่าวฉานว่าประชาชนสามารถตัดสินใจที่จะไม่เกณฑ์ทหารตามกฎหมายเกณฑ์ทหารของรัฐบาลทหารพม่า SAC ด้วยการเข้าร่วมกับกองกำลังในรัฐฉาน

ตามระเบียบของ RCSS ที่ร่างมาตั้งแต่ปี 2539 ระบุว่าทั้งผู้ชายและหญิง อายุระหว่าง 18-45 ปีจากทุกกลุ่มชาติพันธุ์ในรัฐฉาน จะต้องรับใช้กองทัพของสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน RCSS เป็นเวลา 6 ปี โดยการฝึกทหารเกณฑ์ใหม่ในแต่ละปีจะเริ่มต้นในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์

ก่อนหน้านี้มีรายงานข่าว พล.อ.เจ้ายอดศึก ประธานสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน RCSS เดินทางพบปะประชาชน ที่หมอกใหม่ ลางเคอ เมืองนาย และน้ำจ๋าง โดยที่ลางเคอ เขากล่าวถึงนโยบายของ RCSS และการรักษาความเป็นเอกภาพของชาติพันธุ์ในรัฐฉาน โดยเว็บไซต์ข่าวสารของ RCSS เผยแพร่ภาพประชาชนหลายพันคนที่เมืองนาย และหมอกใหม่ รอต้อนรับ

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีรายงานด้วยว่า พล.อ.เจ้ายอดศึก เดินทางไปพบปะกำลังพลและประชาชนที่เมืองปั่น เกงตอง ก้าลี่ และกุ๋นฮิง

ปฏิบัติการ 1027 สะเทือนดุลอำนาจรัฐฉาน

ก่อนหน้านี้ สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน/กองทัพรัฐฉาน (RCSS/SSA) หรือ กองทัพรัฐฉานใต้ และ พรรครัฐฉานก้าวหน้า/กองทัพรัฐฉาน (SSPP/SSA) หรือ กองทัพรัฐฉานเหนือ และเพิ่งตกลงหยุดยิงระหว่างกันเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2566 หลังจากปะทะกันตั้งแต่ปลายปี 2561 โดยชนวนความขัดแย้งมาจากการที่กองทัพรัฐฉาน RCSS/SSA ส่งทหารขึ้นไปควบคุมเมืองทางรัฐฉานตอนเหนือ เช่น น้ำตู้ สี่ป้อ จ็อกเม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งหมู่เจ้-น้ำคำ ซึ่งเป็นชุมทางการค้าสำคัญของทางหลวงหมายเลข 3 ตรงข้ามชายแดนจีน-รัฐฉานที่ด่านรุ่ยลี่ มณฑลยูนนาน

ในปี 2564 กองทัพตะอาง TNLA เปิดปฏิบัติการร่วมกับกองทัพรัฐฉานเหนือ SSPP/SSA เพื่อขับกองทัพรัฐฉานใต้ RCSS/SSA ถอนกำลังออกจากฐานที่มั่นสำคัญในพื้นที่รัฐฉานตอนเหนือ โดยจนถึงสิ้นปี 2564 กองทัพรัฐฉานใต้ถอนทหารจากพื้นที่ตอนเหนือของรัฐฉาน กลับไปอยู่ทางด้านใต้ของทางหลวงหมายเลข 3 สายมัณฑะเลย์-ล่าเสี้ยว-หมู่เจ้ โดยในรายงานของ Frontier Myanmar ระบุว่าเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2565 ในงานรำลึก 59 ปีวันปฏิวัติตะอาง ผู้นำ TNLA ได้ประกาศชัยชนะเหนือ RCSS/SSA ที่ถอยออกจากพื้นที่ตอนเหนือของรัฐฉาน

แหล่งข่าวในรัฐฉานระบุว่าการเจรจาทางการเมืองระหว่างกองทัพรัฐฉานเหนือ SSPP/SSA และกองทัพรัฐฉานใต้ RCSS/SSA ดำเนินมาตลอดปี 2566 มาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว ก่อนที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะเผยแพร่แถลงการณ์หยุดยิงดังกล่าว

อนึ่ง กองทัพสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตยเมียนมา MNDAA หรือกองกำลังโกก้าง ร่วมกับ กองทัพตะอาง TNLA และกองทัพอาระกัน AA หรือ 3 พันธมิตรภราดรภาพ ได้เปิด “ปฏิบัติการ 1027” ทำสงครามเพื่อยึดจุดยุทธศาสตร์สำคัญในภูมิภาคโกก้าง ทางตอนเหนือของรัฐฉาน โดยสามารถยึดเมืองชินฉ่วยเหอ กุนโหลง เมืองโก ตลอดจนฐานที่มั่นทางทหารของกองทัพพม่าบริเวณชายแดนจีน-รัฐฉาน

ในขณะเดียวกันตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ 2567 กองทัพรัฐฉานเหนือ SSPP/SSA และกองทัพรัฐฉานใต้ RCSS/SSA ต่างประกาศรับสมัครทหารใหม่ โดยข่าวรับสมัครทหารใหม่ของทั้งกองทัพรัฐฉานใต้ และกองทัพรัฐฉานเหนือ เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่กองกำลังพันธมิตรสามภราดรภาพ โดยเฉพาะกองกำลังตะอาง TNLA ที่ประกาศเกณฑ์ทหารในพื้นที่ยึดครองหลังปฏิบัติการ 1027 รวมทั้งรัฐบาลทหารพม่า SAC ที่ประกาศว่าจะบังคับใช้กฎหมายเกณฑ์ทหารฉบับเก่าปี 2553 โดยกำหนดให้ผู้ชายทุกคนที่มีอายุ 18-35 ปี เข้าเกณฑ์ทหาร 2 ปี ทั้งนี้ตอนแรกกองทัพของรัฐบาลทหารพม่าจะเกณฑ์ทหารหญิงด้วยแต่ยกเลิกไป

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

กองทัพรัฐฉาน RCSS/SSA กับการรักษาสถานะคู่เจรจาหลังรัฐประหารพม่า

อนึ่ง กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์สำคัญอย่าง สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU ถอนตัวจากข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) และร่วมกับกองกำลังชาติพันธุ์และฝ่ายต่อต้านหลายกลุ่มฯ ภายหลังจากเกิดรัฐประหารโดยกองทัพพม่าเมื่อกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ขณะที่สถานะปัจจุบันของสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน RCSS ยังคงยึดสถานะเป็นกลุ่มหยุดยิง ตามข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) กับรัฐบาลเต็งเส่ง เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2558 และล่าสุดเพิ่งจัดประชุมกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์รวม 7 กลุ่ม (7 EAO Alliance) เมื่อ 17 มีนาคมที่ผ่านมา ที่ จ.เชียงใหม่

โดย พล.อ.เจ้ายอดศึก ระบุว่าทั้ง 7 กลุ่มจะเริ่มการบริหารปกครองในพื้นที่ๆ กลุ่มของตนมีกำลังควบคุม และจะส่งตัวแทนของกลุ่มไปเจรจากับรัฐบาลทหารพม่าที่เนปิดอว์ โดยมีการส่งตัวแทนกลุ่มรวมทั้งเจ้าสองหาญ กรรมการบริหาร RCSS ไปเจรจาในช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

สำหรับสมาชิกของพันธมิตรชาติพันธุ์ 7 กลุ่ม ประกอบด้วยกลุ่มที่เคยเจรจาหยุดยิงทั่วประเทศกับรัฐบาลเต็งเส่งเมื่อปี 2015 และรัฐบาลพรรคเอ็นแอลดีเมื่อปี 2018 บางส่วน ได้แก่ (1) สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน/กองทัพรัฐฉาน RCSS/SSA (2) องค์กรปลดปล่อยแห่งชาติปะโอ PNLO (3) พรรคปลดปล่อยอาระกัน (ALP) (4) สภาสันติภาพแห่งกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง KPC (5) กองทัพกะเหรี่ยงประชาธิปไตยผู้มีความเมตตา (DKBA) (6) พรรครัฐมอญใหม่ (NMSP) และ (7) ผู้แทนจากสหภาพประชาธิปไตยลาหู่ (LDU) 

อย่างไรก็ตาม 3 กลุ่มชาติพันธุ์และกลุ่มติดอาวุธที่เคยลงนาม NCA และไม่ได้เข้าร่วมประชุมดังกล่าวคือ สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU, แนวร่วมแห่งชาติชิน CNF และ แนวร่วมนักศึกษาพม่าทั้งมวลเพื่อประชาธิปไตย ABSDF โดยทั้ง 3 กลุ่มต่อสู้กับกองทัพพม่ามาตั้งแต่หลังรัฐประหารกุมภาพันธ์ 2564 ขณะที่ 7 กลุ่มที่เหลือยังคงรักษาสถานะเจรจากับรัฐบาลทหารพม่า

แกนนำพรรครัฐมอญใหม่แยกตัวเป็นพรรครัฐมอญใหม่ต่อต้านเผด็จการ

สำหรับหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มพันธมิตร 7 กลุ่มชาติพันธุ์ คือ พรรครัฐมอญใหม่/กองทัพปลดปล่อยประชาชนมอญ (NMSP/MNLA) มีผู้นำคือนายหงสา มีฐานที่มั่นสำคัญอยู่ใกล้ด่านเจดีย์สามองค์ มีนายอ่องมิน ตัวแทน NMSP เป็นรองประธานกลุ่มพันธมิตร 7 ชาติพันธุ์ดังกล่าว

อย่างไรก็ตามพรรครัฐมอญใหม่ NMSP กำลังประสบปัญหาเอกภาพ โดยในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ กำลังพลประมาณ 300 คนของกลุ่มนำโดย อดีตเลขาธิการพรรครัฐมอญใหม่ นายเซยะ และอดีตรองผู้บัญชาการกองทัพปลดปล่อยประชาชนมอญ MNLA พลจัตวา ซะลุน ทอ แยกตัวออกจากพรรครัฐมอญใหม่ และก่อตั้งพรรครัฐมอญใหม่ต่อต้านเผด็จการ (NMSP-AD) ประกาศสงครามกับรัฐบาลทหารพม่า

ส่วนคณะกรรมการกลางของ LDU ออกแถลงการณ์เตือน 6 กลุ่มชาติพันธุ์ที่เหลือว่าการเข้าร่วมพันธมิตรชาติพันธุ์ดังกล่าวไม่เกี่ยวกับมติ LDU

 

ที่มา: 

Tai Freedom, April 12, 2024

Tai Freedom Video, YouTube, April 12, 2024

RCSS Chair Meets New Recruits in Southern Shan State, SHAN, April 4, 2024

Signatory Organizations of NCA Announce New Name, 7 EAO Alliance, BNI, 20 March 2024

Rocky Start for New Bloc of Myanmar EAOs Formed to Join Junta Peace Talks, The Irrawaddy, April 12, 2024

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net