Skip to main content
sharethis

รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติพม่า (NUG) ออกแถลงการณ์ขอยอมรับอำนาจการพิจารณาคดีของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศที่กรุงเฮก เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการไต่สวนเนื้อหาของคดีกวาดล้างโรฮิงญา พร้อมเตือนศาลโลกไม่ให้ยอมรับคณะรัฐประหารเป็นตัวแทนของพม่าในการพิจารณาคดี 


ภาพพื้นที่หมู่บ้านชาวโรฮิงญาที่ถูกเพลิงไหม้เมื่อปี 2560 | ที่มาภาพ: แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

6 ก.พ. 2565 รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติพม่า (NUG) ออกแถลงการณ์ว่าจะขอยอมรับอำนาจการพิจารณาคดีของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ และจะขอถอนคำคัดค้านเบื้องต้นทั้งหมดที่เคยมีก่อนหน้านี้ เพื่อให้สามารถข้ามไปสู่ขั้นตอนการไต่สวนเนื้อหาของคดีกวาดล้างโรฮิงญาโดยเร็ว พร้อมเตือนศาลโลกไม่ให้ยอมรับคณะรัฐประหารเป็นตัวแทนของพม่าในการพิจารณาคดี เพราะอาจทำให้ทหารยิ่งเหิมเกริมในการเข่นฆ่าประชาชน

แถลงการณ์ดังกล่าวของดูวา ลาชี ลา รักษาการประธานาธิบดีของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติพม่า เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2565 ประกาศออกมา หลังจากคณะรัฐประหารพม่าจะเป็นตัวแทนในการสู้คดีกับศาลยุติธรรมระหว่างประเทศที่กรุงเฮกในวันที่ 21 ก.พ. 2565 โดยอ้างว่าศาลยุติธรรมระหว่างประเทศไม่มีอำนาจในการพิจารณาคดี สำหรับคดีนี้ ฟ้องโดยรัฐบาลแกมเบียเมื่อ พ.ศ. 2562 จากกรณีกองทัพพม่าสังหารหมู่เมื่อ พ.ศ. 2560 ส่งผลให้มีผู้ลี้ภัยกว่า 7 แสนคน 

อ่านข่าวเพิ่มเติม: 
คาดศาลโลกนัดไต่สวนคดีกวาดล้างโรฮิงญา ก.พ.นี้
รัฐบาลฝ่าย ปชต.พม่าพร้อมร่วมมือศาลโลกในคดีฆ่าล้างโรฮิงญา

ในการพิจารณาคดีนี้ รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติระบุว่า จอ โม ตุน เอกอัครราชทูตถาวรประจำองค์การสหประชาชาติเป็นบุคคลเดียวที่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติพม่าให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้แทนของพม่าในคดีนี้ เพราะคณะรัฐประหารควบคุมตัวเจ้าหน้าที่และผู้ช่วยที่เคยรับผิดชอบคดีนี้ไปอย่างผิดกฎหมาย และด้วยความผิดเพี้ยนของระบบราชการ ศาลโลกจึงยังคงติดต่อกับพม่าผ่านทูตในกรุงบรัสเซลส์ ซึ่งอยู่ใต้การควบคุมของคณะรัฐประหาร

รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเตือนว่าหากศาลโลกยอมรับคณะรัฐประหารเป็นตัวแทนของพม่าในคดีนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่อันตรายและขัดแย้งกับจุดยืนของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ นอกจากนี้ การยอมรับคณะรัฐประหารยังเป็นภัยคุกคามต่อผลประโยชน์ของพม่า ประชาชนพม่า และความยุติธรรมของชาวโรฮิงญา และยิ่งทำให้ทหารเหิมเกริมในการทำร้ายประชาชน และกระทำความผิดตามกฎหมายอาชญากรรมระหว่างประเทศ

“ขณะเดียวกัน เราจะยังคงทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดภาระความผิดทางอาญาระหว่างประเทศ รวมถึง การรวบรวมและนำส่งหลักฐานแก่กลไกสอบสวนอิสระของพม่าและการอนุมัติอำนาจการพิจารณาให้แก่ศาลอาญาระหว่างประเทศสำหรับอาชญากรรมทั้งหมดที่ครอบคลุมอยู่ในธรรมนูญกรุงโรม ตั้งแต่ ก.ค. 2545 ” รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติพม่ากล่าว 

อ่านข่าวเพิ่มเติม: 
ตำรวจรัฐกะเรนนีเตรียมฟ้องทหารพม่าต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ

“ไม่มีใครจะให้การยอมรับคณะรัฐประหารพม่าหรอก”

หลังจากออกแถลงการณ์ ซิน มาร์ ออง ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว RFA ว่า “ไม่มีประเทศใดในโลก หรือกระทั่งองค์การสหประชาชาติ ยอมรับการรัฐประหารโดยกองทัพ [เป็นวิธีการเหมาะสมในการโอนถ่ายอำนาจ] นี่คือเหตุผลว่าทำไมเผด็จการทหารจึงไม่ควรได้รับโอกาสให้เป็นตัวแทนของพม่า เราส่งจดหมายแก่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศบนพื้นฐานของเหตุผลเหล่านี้” 

เมื่อปี 2562 ออง ซาน ซู จี เคยต่อสู้คดีกับศาลอาญาระหว่างประเทศว่าแม้การสอบสวนของพม่าจะพบว่ามีอาชญากรรมสงครามและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงเกิดขึ้นจริง แต่ไม่พบว่ามี “เจตนาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” อย่างที่แกมเบียกล่าวหาว่าเป็นการละเมิดอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันและลงโทษความผิดอาญาฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ พ.ศ. 2491 

ซิน มาร์ ออง เคยบอกว่าผู้นำทหารที่รับผิดชอบต่อการสังหารหมู่ในรัฐยะไข่เคยถูกดำเนินคดีภายใต้กฎหมายของพม่าแล้ว แต่ในสัมภาษณ์ล่าสุดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา เขาบอกว่าการปกครองของกฎหมายภายในประเทศถดถอยลงเพราะระบอบเผด็จการทหาร และปัจจุบันไม่สามารถคาดหวังให้ความยุติธรรมเกิดขึ้นได้แล้ว จึงต้องหวังพึ่งพาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ

ในวันพฤหัสบดี สำนักข่าว RFA ได้สอบถามไปยัง พลตรี ซอว มิน ตุน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงข้อมูลข่าวสารของคณะรัฐประหารพม่า เพื่อสอบถามความเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวล่าสุดของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติพม่า อย่างไรก็ตาม เขาขอไม่แสดงความเห็นในเรื่องนี้โดยระบุว่า “นี่เป็นทางเลือกของเขา เราขอไม่วิจารณ์หรือแสดงความเห็นในเรื่องนี้” 

“เราจะเข้าร่วมและให้การข้อโต้แย้งในการไต่สวนของศาลโลกในฐานะรัฐบาลผู้รับผิดชอบคดี โดยมีผู้แทนคือรัฐมนตรีและอัยการสงสุด เราไม่สามารถเปิดเผยได้ว่ายุทธศาสตร์ของเราเป็นอย่างไร หรือเราจะต่อสู้คดีอย่างไร แต่เราได้ทำการว่าจ้างทนายความที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยเฉพาะไว้แล้ว” พลตรี ซอว มิน ตุน กล่าว โดยผู้ที่จะเข้าร่วมการไต่สวนคือ วันนา มอง ลวิน รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของคณะรัฐประหาร

นิกกี้ ไดม่อน นักกิจกรรมสิทธิมนุษยชนพม่าในเยอรมนี บอกกับสำนักข่าว RFA ว่าคณะรัฐประหารมีแนวโน้มจะใช้การไต่สวนของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เป็นส่วนหนึ่งในการแสวงหาความชอบธรรมจากประชาคมระหว่างประเทศ “กองทัพพยายามคว้าโอกาสอันน้อยนิดไว้ ...ไม่มีใครจะให้การยอมรับคณะรัฐประหารพม่าหรอก” เขากล่าว อย่างไรก็ตาม เขาจะติดตามการไต่สวนอย่างใกล้ชิด

สถานการณ์ชาวโรฮิงญายังน่ากังวล

ขณะเดียวกันสถานการณ์ของขาวโรฮิงญาในพม่ายังคงน่ากังวลขึ้นทุกที แม้ว่าจะมีการคำสั่งชั่วคราวโดยศาลยุติธรรมระหว่างประเทศออกมาเมื่อ ม.ค. 2563 ให้ยุติความรุนแรงต่อชาวโรฮิงญาแล้วก็ตาม โร เนย์ ซาน ลวิน บอกกับสำนักข่าว RFA ว่า “ปัจจุบันไม่มีรัฐบาลในพม่า ประเทศถูกปกครองโดยกองทัพ และพวกเขาโหดร้ายทารุณยิ่งกว่า เพราะเหตุนี้ประชาชนจึงใช้ชีวิตอยู่อย่างหวาดกลัว” 

“โดยสรุปแล้ว การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญายังไม่จบ ฉันขอสรุปว่ามันยังคงดำเนินอยู่เพราะสถานการณ์ยังไม่เปลี่ยนแปลงสำหรับพวกเขา มันโหดร้ายทารุณขึ้น พวกเขาทำกระทั่งจับกุมชาวโรฮิงญาที่หนีเอาชีวิตรอดจากรัฐยะไข่และขังพวกเขาไว้ในคุก” โร เนย์ ซาน ลวิน กล่าว ขณะเดียวกัน เมื่อไม่นานมานี้ ก็มีรายงานสถานการณ์บริเวณชายแดนพม่า-บังกลาเทศก็น่ากังวลขึ้นด้วยหลังการกลับมาของกองกำลังปลดแอกชาวโรฮิงญาแห่งรัฐอะระกัน

อ่านข่าวเพิ่มเติม: 
ชายแดนพม่า-บังกลาเทศตึงเครียด คาดกระทบแผนส่งกลับผู้ลี้ภัยโรฮิงญา
รัฐบาลฝ่าย ปชต. พม่า พร้อมเปลี่ยนกฎหมายเพื่อให้สัญชาติกับชาวโรฮิงญา

เมื่อวันพุธที่ผ่านมา กลุ่มนักกิจกรรมชาวโรฮิงญาในบังกลาเทศระบุว่าพวกเขาเห็นด้วยกับการถอนคำให้การโต้แย้งเบื้องต้นของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติพม่า และเห็นว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวอาจมีส่วนช่วยให้การพิจารณาคดีนำไปสู่ข้อสรุปที่เป็นประโยชน์ และอาจนำไปสู่การยุติความรุนแรงต่อชาวโรฮิงญาในพม่าที่ดำเนินมากว่าหลายทศวรรษ อย่างไรก็ตาม พวกเขายังต้องการให้กองทัพถูกลงโทษจากพฤติกรรมป่าเถื่อนที่กระทำต่อชาวโรฮิงญา

“กองทัพจงใจกระทำการชั่วร้ายเหล่านี้กับหมู่บ้านชาวมุสลิมทั้งหมดในปี 2560 พวกเขาเผาหมู่บ้านและฆาตกรรมเด็กและคนชราที่ไม่สามารถหนีได้” ชาวโรฮิงญาที่ไม่ประสงค์ออกนามคนหนึ่งในเมืองบุษิด่อง รัฐยะไข่ระบุ “พวกเขาอ้างว่าพวกเขาปฏิบัติการกวาดล้าง แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ มันเป็นแค่กลยุทธ์ในการกำจัดพวกเรา ฉันอยากให้ผู้นำทหารได้รับการลงโทษอย่างเหมาะสมภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศสำหรับอาชญากรรมที่พวกเขาก่อ” 

นอกจากแถลงการณ์แล้ว รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติยังส่งจดหมายแก่ประธานศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ร่วมกับกลุ่ม Legal Action Worldwide, Fortify Rights และกลุ่ม Myanmar Acountability Project โดยโต้แย้งว่าหากยอมรับให้คณะรัฐประหารเป็นตัวแทนของพม่า จะเป็นการเสี่ยงทำให้คณะรัฐประหารมีความชอบธรรมในการยึดอำนาจอย่างผิดกฎหมาย และขัดแย้งกับจุดยืนของสถาบันต่างๆ ขององค์การสหประชาชาติ

จดหมายดังกล่าวยังระบุด้วยว่าหากยอมรับให้คณะรัฐประหารเป็นตัวแทนของพม่า ชาวโรฮิงญาอาจ “ไม่ได้กลับพม่าอีกเลย” ขณะเดียวกัน รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติของพม่าเคยระบุเมื่อ มิ.ย. 2564 ว่าจะให้สัญชาติกับชาวโรฮิงญา หากได้รับอำนาจกลับคืนมาจากทหาร อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติของพม่าระบุว่ายังต้องมีการ “พูดคุยกันเพิ่มเติม” เพื่อหาข้อสรุปว่าพม่าจะยอมรับชุมชนชาวโรฮิงญาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ของพม่าอย่างเป็นทางการหรือไม่


แปลและเรียบเรียงจาก
Myanmar shadow government says junta should not take stand in genocide trial (RFA, 3 February 2022)
https://www.facebook.com/NUGmyanmar/posts/243516891284875

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net