Skip to main content
sharethis

ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติวิเคราะห์สาเหตุที่อิสราเอลทำการโจมตีกาซาอย่างไม่หยุดยั้ง ก็เพื่อพยายามบีบให้ชาวปาเลสไตน์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่หนีออกมา พร้อมระบุว่า "ไม่มีที่ไหนที่ปลอดภัยในกาซา"

 

28 ธ.ค. 2566 พอลลา กาวิเรีย เบตังคูร์ ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชนของผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (IDPs) ระบุว่า อิสราเอลได้สั่งให้พลเรือนหนีเอาตัวรอดที่ทางตอนใต้ของกาซาเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว เพียงเพื่อที่จะสั่งให้ทั้งผู้ลี้ภัยที่เพิ่งลี้ภัยไปที่ตอนใต้ของกาซาและผู้ที่อาศัยในตอนใต้หนีออกจากพื้นที่นั้น เบตังคูร์กังวลว่า อิสราเอลจะทำการบีบบังคับให้มีการเคลื่อนย้ายประชากรและทำการลงโทษแบบเหมารวม ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ล้วนแต่เป็นอาชญากรรมสงคราม

เบตังคูร์ตั้งคำถามว่าแล้วต่อจากนี้ไปจะเหลือที่ไหนให้ประชาชนในกาซาหนีไปได้อีก ในช่วงที่มีคำสั่งให้อพยพออกจากพื้นที่และปฏิบัติการทางทหารขยายวงกว้างออกไปอย่างต่อเนื่อง และพลเรือนก็เผชิญกับการโจมตีอย่างไม่หยุดยั้งในทุกวัน "ปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอลในกาซานั้น มีเป้าหมายเพื่อขับไล่ประชากรพลเรือนส่วนใหญ่ออกจากพื้นที่ทีละมากๆ"

การวิเคราะห์ของเบตังคูร์ออกมาในช่วงเดียวกับที่กระทรวงสาธารณสุขกาซารายงานตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการโจมตีของอิสราเอลเพิ่มเป็นอย่างน้อย 20,057 รายแล้ว คิดเป็นร้อยละ 1 ของประชากรกาซา

อิสราเอลเริ่มทำการกระหน่ำโจมตีกาซามาตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. เป็นต้นมา หลังจากที่กลุ่มติดอาวุธฮามาสก่อเหตุโจมตีทางตอนใต้ของอิสราเอลส่งผลให้มีประชาชนเสียชีวิตมากกว่า 1,100 ราย และมีการจับประชาชนประมาณ 240 รายเป็นตัวประกัน

อิสราเอลทำให้ผู้คนอย่างน้อย 1.9 ล้านคน กลายเป็นผู้พลัดถิ่น หรือร้อยละ 85 ของประชาชนในกาซา ถ้าหากพิจารณาตามคำสั่งของอิสราเอลที่ให้อพยพหนีออกจากพื้นที่แล้ว ในตอนนี้พลเรือนจะสามารถอาศัยอยู่อย่างปลอดภัยในพื้นที่ๆ เล็กกว่า 1 ใน 3 ของฉนวนกาซาทั้งหมดเท่านั้น

เบตังคูร์กล่าวว่า กาซาเป็นหนึ่งในพื้นที่ๆ มีประชากรอยู่รวมกันหนาแน่นมากที่สุดในโลกอยู่แล้ว การนำพลเรือนทั้งหมดของกาซามากักไว้ที่พื้นที่ส่วนเล็กๆ ของฉนวนกาซานั้นทำให้เกิดสถานการณ์ที่ไม่เหมาะสมสำหรับผู้พลัดถิ่น โดยเฉพาะต่อผู้หญิง, เด็ก, รวมถึงผู้เยาว์ที่ไม่มีใครดูแล, คนชรา, คนที่มีปัญหาสุขภาพร้ายแรง และคนพิการ

สถานการณ์สำหรับคนพลัดถิ่นนั้นถูกทำให้แย่ลงยิ่งกว่าเดิมจากข้อเท็จจริงที่ว่าอิสราเอลได้ทำการปิดล้อมฉนวนกาซาไม่ให้ได้รับเสบียงสิ่งของเครื่องใช้จำเป็น มีประชาชนในกาซาร้อยละ 90 ทานอาหารไม่ถึง 1 มื้อในแต่ละวัน และคนที่พลัดถิ่นอยู่ในทางตอนใต้ของประเทศก็สามารถเข้าถึงน้ำได้เพียงแค่วันละ 1 ลิตรครึ่ง ถึง 2 ลิตรเท่านั้น

"การที่อิสราเอลปิดกั้นและบีบคั้นอย่างผิดกฎหมายต่อการเข้าถึงพื้นที่ของกลุ่มช่วยเหลือทางมนุษยธรรมเป็นการทำให้คนพลัดถิ่นภายในประเทศมีชีวิตอยู่ภายใต้สภาพที่ย่ำแย่" เบตังคูร์ กล่าว

ในขณะเดียวกันคำสั่งให้อพยพออกจากพื้นที่ที่มาจากอิสราเอลก็ดูจะพึ่งไม่ได้ อิสราเอลออกคำสั่งแบบที่ขัดแย้งกันในตัวเอง มีการทิ้งระเบิดใส่ประชาชนที่กำลังหนีลงไปทางใต้หรือในพื้นที่ๆ ควรจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับพวกเขา แล้ววิธีที่พวกเขาเผยแพร่ประกาศก็ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศถึงแม้ว่าพวกเขาจะตัดไฟในพื้นที่เหล่านั้นอย่างผิดกฎหมายก็ตาม เบตังคูร์ กล่าวย้ำกว่าแม้แต่พลเรือนที่ไม่ได้หนีออกจากพื้นที่สงครามก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาสูญเสียสิทธิในการที่จะได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายนานาชาติ

เบตังคูร์กล่าวว่า พลเรือนทั้งภายในพื้นที่ภายใต้คำสั่งให้อพยพและภายในพื้นที่ๆ ระบุว่าเป็น "พื้นที่ปลอดภัย" ซึ่งเป็นพื้นที่ๆ ถูกจัดไว้เองโดยกองทัพอิสราเอลอย่างไม่เป็นไปตามหลักกฎหมายมนุษยธรรมสากล ต่างก็เป็นกลุ่มพลเรือนที่ตกเป็นเป้าหมายโจมตีแบบไม่เลือกหน้าเป็นเหตุให้มีชาวปาเลสไตน์ถูกสังหารเกือบ 19,000 ราย และได้รับบาดเจ็บมากกว่า 51,000 ราย

"มีคนอื่นๆ จำนวนมากเคยบอกมาก่อนแล้ว แต่มันก็ยังเป็นเรื่องที่พูดเท่าไหร่ก็ไม่พอ ว่ามันไม่มีพื้นที่ปลอดภัยในกาซา" เบตังคูร์ กล่าว

ถึงแม้ว่าการกระหน่ำโจมตีจะจบลงแล้ว แต่ความเสียหายในวงกว้างนั้นหมายความว่าชาวกาซาจะประสบความยากลำบากในการสร้างเมืองขึ้นมาใหม่

"ที่อยู่อาศัยและโครงสร้างพื้นฐานของพลเรือนถูกทำลายราบเป็นหน้ากลอง ทำลายความหวังผู้พลัดถิ่นจากกาซาที่ต้องการจะกลับบ้าน เป็นการตอกย้ำประวัติศาสตร์ซ้ำรอยที่มีมายาวนานที่อิสราเอลบีบให้ชาวปาเลสไต์ทีละจำนวนมากออกจากถิ่นฐานของตัวเอง" เบตันคูร์ กล่าว

อิสราเอลได้ทำลายสิ่งก่อสร้างในทางตอนเหนือของกาซาไปมากกว่า 2 ใน 3 ของทั้งหมด และทำลายไป 1 ใน 4 ของเมืองข่านยูนิสทางตอนใต้ของกาซา

คอรีย์ เชอร์ นักวิเคราะห์จากมหาวิทยาลัยซิตี้แห่งนิวยอร์กผู้ศึกษาพื้นที่ที่ถูกทำลายโดยอาศัยข้อมูลจากดาวเทียม โคเปอร์นิคัส เซนทิเนล-1 กล่าวว่า กาซาในตอนนี้มีสีที่ต่างออกไปเมื่อมองมาจากอวกาศ รวมถึงมีพื้นผิวที่ต่างออกไปด้วย

โรเบิร์ต เปบ นักประวัติศาสตร์การทหารสหรัฐฯ กล่าวว่า ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองฝ่ายสัมพันธมิตรได้ทำลายสิ่งก่อสร้างของฝ่ายเยอรมนีไปร้อยละ 10 ในช่วงเวลาระหว่างปี 2485-2488 ที่มีปฏิบัติการทิ้งระเบิด แต่อิสราเอลใช้เวลาเพียงแค่ไม่ถึง 3 เดือนเท่านั้นในการทำลายสิ่งก่อสร้างในกาซามากกว่าร้อยละ 33

เปบกล่าวว่า เหตุการณ์โจมตีกาซาในครั้งนี้นับเป็นหนึ่งในการโจมตีใส่พลเรือนครั้งที่หนักที่สุดในประวัติศาสตร์ และนับเป็นปฏิบัติการทิ้งระเบิดที่มีความรุนแรงในระดับต้นๆ ของโลก

มีบทวิเคราะห์ระบุว่าระเบิดที่อิสราเอลใช้ทิ้งใส่กาซาโดยส่วนใหญ่ผลิตในสหรัฐฯ

เบตังคูร์เรียกร้องให้อิสราเอลยุติการโจมตีต่อพลเรือนโดยทันที และหยุดปฏิบัติการที่จะเป็นการบีบบังบังคับให้เกิดการย้ายถิ่นเป็นจำนวนมากของประชากรกาซา ให้มีการหยุดยิงอย่างถาวร อนุญาตให้การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าไปในพื้นที่ได้โดยไม่มีการจำกัด และหันมาเน้นให้ความสำคัญต่อเรื่องการเจรจาเพื่อให้มีการปล่อยตัวตัวประกันที่เหลืออย่างปลอดภัย

 

 

เรียบเรียงจาก

UN Expert Says 'Only Logical Conclusion' Is That Israel Aims to Expel Majority of People From Gaza, Common Dreams, 22-12-2023

https://www.commondreams.org/news/mass-deportation-israel-gaza

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net