Skip to main content
sharethis

หลังยูเครนแลกเปลี่ยนเชลยศึกกับกองทัพรัสเซีย ทหารหญิงยูเครนอายุ 26 ปีที่เพิ่งได้ปล่อยตัวมาเล่าถึงประสบการณ์ที่เธอและผู้หญิงคนอื่นๆ ถูกทารุณกรรมจากกองทัพรัสเซียทั้งทำร้าย เอาอาหารบูดให้กิน

24 ต.ค. 2565 รัสเซียและยูเครนเพิ่งจะมีการแลกเปลี่ยนเชลยศึก ทำให้มีเชลยได้รับการปล่อยตัวจำนวนมากเมื่อไม่นานนี้ หนึ่งในเชลยที่ได้รับการปล่อยตัวคือทหารหญิงยูเครนอายุ 26 ปี ผู้เรียกตัวเองว่า ฮันนา โอ (ปกปิดชื่อสกุลจริงเพื่อปกป้องครอบครัวของเธอที่ยังอยู่ในพื้นที่ที่ถูกยึดครองโดยรัสเซียไม่ให้ต้องเผชิญกับอันตราย) สามารถเดินทางกลับบ้านได้ และเธอก็ได้เล่าถึงประสบการณ์ที่เธอเผชิญให้กับสื่อยูเครน

"พวกนั้นทำกับเราเหมือนเป็นสัตว์ จะบอกกับพวกคุณเลยก็ได้ว่า แม้แต่สัตว์ก็ไม่ทำอะไรแบบนี้" ฮันนากล่าวทั้งน้ำตานองหน้า

ฮันนาเป็นหนึ่งในเชลยผู้หญิง 108 คน ที่ได้รับการปล่อยตัวออกจากการคุมขังของกองทัพรัสเซียเมื่อวันที่ 24 ต.ค. ที่ผ่านมา ในจำนวนนี้มีพลเรือนรวมอยู่ด้วย 12 คน นับเป็นหนึ่งในการแลกเปลี่ยนปล่อยตัวเชลยศึกจำนวนมากที่สุดของสงครามยูเครน แอนดรีย์ เยอร์มัก ประธานสำนักประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี กล่าวว่านี่ถือเป็นครั้งแรกที่มีการแลกเปลี่ยนเชลยศึกที่เป็นผู้หญิงนับตั้งแต่ที่มีสงครามยูเครนเกิดขึ้นในเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา

ฮันนาถูกจับตัวเป็นเชลยในช่วงที่เธอเป็นทหารหญิงหน่วยกองพลน้อยนาวิกโยธินที่ 36 ประจำการอยู่ที่มาริอูโปล ในตอนนั้นคือเดือน พ.ค. เธอกับสมาชิกกองทัพยูเครนรายอื่นๆ ยอมจำนนต่อกองทัพรัสเซียหลังจากที่ถูกปิดล้อมอยู่ในโรงเหล็กอะซอฟสตัลเป็นเวลาหลายสัปดาห์ ในขณะที่รัสเซียได้ปิดล้อมและทิ้งระเบิดใส่โรงงานแห่งนี้ หลังจากที่ยอมจำนนฮันนาก็ถูกจับเป็นเชลยศึกอยู่เป็นเวลายาวนาน 6 เดือน

ฮันนาเล่าว่าทหารรัสเซียได้ "ทำการทุบตีผู้หญิง ทารุณกรรมผู้หญิงด้วยการใช้กระแสไฟฟ้าช็อต ทุบตีเธอด้วยค้อน นั่นยังถือเป็นเรื่องเบาะๆ พวกเขายังได้จับผู้หญิงเหล่านี้มัดแล้วแขวนไว้ ไม่ต้องพูดถึงอาหารเลย พวกมันบูดเปรี้ยว แม้แต่กับสุนัขก็ไม่มีคนเอาอาหารแบบนี้ให้"

ฮันนาเล่าอีกว่า "คนที่มีรอยสักบนตัว... พวกนั้น(ทหารรัสเซีย)พยายามจะตัดมันออกจากมือของพวกเรา ตัดตรงที่เป็นรอยสักออก เอาน้ำร้อนมาลวกพวกเรา เพียงเพราะแค่พวกเรามีอยู่ เพียงเพราะพวกเราเป็นนาวิกโยธิน เพียงเพราะพวกเราพูดภาษายูเครน" ฮันนาบอกว่าสิ่งเดียวที่เป็นแรงใจให้เธอฮึดต่อไปได้เพราะเธอหวังอยู่เสมอว่าสักวันหนึ่งจะได้กลับบ้าน

เรื่องเล่าของฮันนาเป็นหนึ่งในอีกหลายๆ เรื่องเกี่ยวกับการถูกทารุณกรรมภายใต้กองทัพรัสเซียที่มีเปิดเผยออกมามากขึ้นเรื่อยๆ คนที่เผชิญกับการทารุณกรรมเหล่านี้มีทั้งสมาชิกกองทัพยูเครนและพลเรือน และตามหลักอนุสัญญาเจนีวาแล้ว การทารุณกรรมไม่ว่าจะกระทำต่อทหาร กำลังรบ หรือพลเรือนก็ตาม นับเป็นอาชญากรรมสงครามทั้งสิ้น

เรื่องราวที่ว่าทหารรัสเซียทารุณกรรมเชลยยูเครนมีปรากฏออกมามากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่กองกำลังยูเครนเริ่มเปิดฉากรุกหนักขึ้นต่อพื้นที่ประเทศยูเครนที่ถูกยึดครองโดยรัสเซีย ในเดือน ก.ย. ที่ผ่านมามีเหตุการณ์ที่กองกำลังรัสเซียถูกโจมตีจนต้องถอยร่นออกจากเมืองอีเซียม สื่อต่างประเทศได้ตรวจสอบพบว่ามี 10 จุดในเมืองที่ชาวยูเครนทั้งทหารและพลเรือนต่างก็ถูกทารุณกรรม มีผู้หญิงคนหนึ่งเล่าให้สื่อฟังว่าเธอได้สลักรายละเอียดของตอนที่เธอถูกทารุณกรรมเอาไว้บนกำแพงในที่ๆ เธอถูกคุมขัง เพื่อที่ว่าคนจะได้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นถ้าหากเธอไม่สามารถรอดชีวิตออกไปได้

ในเดือน ก.ย. คณะผู้สืบสวนสอบสวนที่ได้รับการแต่งตั้งโดยสหประชาชาติสรุปว่า กองทัพรัสเซียได้ก่ออาชญากรรมสงครามหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการทารุณกรรม การข่มขืน ทั้งต่อทหารและต่อพลเรือน และแม้กระทั่งต่อเด็ก นอกจากนี้ยังพบหลักฐานว่ามีการบังคับส่งตัวออกนอกประเทศซึ่งอาจจะนับเป็นอีกหนึ่งในอาชญากรรมสงครามด้วย หลังจากที่มีรายงานว่า กองทัพรัสเซียได้บังคับพรากเด็กชาวยูเครนแล้วส่งตัวพวกเขาไปที่รัสเซียเพื่อให้ได้รับการเลี้ยงดูในฐานะชาวรัสเซีย


 

เรียบเรียงจาก

A 26-year-old Ukrainian woman described being tortured with electric shocks and hammers while held in Russian captivity for 6 months: 'They treated us like animals', Business Insider, 24-10-2022

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net