Skip to main content
sharethis
  • ผอ. Deep South Watch มองการกลับมาเจรจากันอีกครั้งระหว่างคู่ขัดแย้งหลัก ‘BRN’ กับรัฐบาลไทย ถือเป็นสัญญาณที่ดี ขณะที่ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองของไทยเป็นปัจจัยทำให้การเจรจาไปต่อไม่ได้ ระบุการสื่อสารและการรับรู้ของสาธารณะมีผลต่อโต๊ะเจรจา โดยสถานะ ‘BRN’ ปัจจุบันต่อสายตาระหว่างประเทศเริ่มได้ความยอมรับ  
  • วิเคราะห์ระดับของความรุนแรงเป็นผลจากปฏิกิริยาตอบโต้ของรัฐที่ใช้ความรุนแรง โดยที่ นักวิชาการ-The Patani ชี้ ‘BRN’ ปรับตัวมุ่งเป้าไปยังเป้าแข็งมากกว่าเป้าอ่อน
  • The Patani ย้ำด้วยว่ากระบวนการสันติภาพเป็นกลไกสำคัญต่อการแก้ปัญหาและต้องเป็นวาระแห่งชาติ แต่ยังมองไม่เห็นถึงความตั้งใจของรัฐบาลไทย ชี้เจตจำนงทางการเมืองเป็นเรื่องที่สำคัญในกระบวนการ ขณะที่ปัญหารากเหง้ายังไม่ได้ถูกพูดถึง ระบุตั้งแต่อดีตขบวนการตั้งขึ้นเพื่อเอกราช ชี้การมีส่วนร่วมทางการเมืองไม่สามารถเกิดขึ้นได้ภายใต้รัฐบาลเผด็จการ กังวลมาเลเซียส่งตัวผู้ต้องหาข้ามแดนอาจจะมีผลต่อการเจรจาสันติภาพ
  • ปธ.สมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ เห็นพ้องการพูดคุยในรัฐบาลเผด็จการทหารทำให้กระบวนไปต่อไม่ได้และต้องหยุดชะงัก มอง ‘รัฐมีไพ่เหนือกว่าอยู่ในมือ’ จึงไม่ยุติธรรมมากพอต่อข้อเสนอบนโต๊ะเจรจา ห่วงหากรัฐยังคงใช้กฎหมายพิเศษจะทำให้บรรยากาศนำไปสู่ความรุนแรง ย้ำหลักการกระบวนการสันติภาพต้องมีมาตรฐานและสอดคล้องตามหลักสากล โดยที่ ‘BICARA PATANI’ คือกลไกแสดงความเห็นของประชาชนต่อกระบวนการสันติภาพ ขณะที่ประชาชนในพื้นที่ยังไม่ค่อยรับรู้ ‘ย้ำ’ จำเป็นต้องสื่อสาร 

ด่านตรวจ อ.นาเกลือ จ.ปัตตานี (แฟ้มภาพ : ประชาไท)

หลังการเจรจาสันติภาพอย่างเป็นทางการครั้งที่ 3 ระหว่างแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี หรือ บีอาร์เอ็น (Barisan Revolusi Nasional - BRN) กับรัฐบาลไทย (RTG, Royal Thai Government) เมื่อวันที่ 11-12 ม.ค. 2565 ที่ผ่านมา ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย มีกระแสคำถามและข้อสังเกตต่อกระบวนการสันติภาพที่เพิ่งเกิดขึ้นว่ามีรายละเอียดปลีกย่อยอย่างไร และมีผลอย่างไรต่อสถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่

ในโอกาสนี้จึงชวนผู้อ่านมามองความเห็น มุมมองทรรศนะรวมทั้งจุดยืนเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพในการเจรจาครั้งที่ผ่านมาเพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์ อีกทั้งอาจจะทลายข้อสงสัยของผู้อ่านต่อประเด็นดังกล่าวได้ดียิ่งขึ้นผ่านการพูดคุยกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี อาจารย์ประจำสถาบันสันติศึกษาและผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) และมูฮำหมัดอาลาดี เด็งนิ ประธานสมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (CAP) ในฐานะที่เป็นผู้ติดตามเรื่องกระบวนการสันติภาพ อีกทั้งยังรับหน้าที่สื่อสารถึงความคืบหน้าต่อประชาชนในพื้นที่ผ่านวงเสวนาที่มีชื่อว่า BICARA PATANI ซึ่งถือเป็นพื้นที่สื่อสารหลักในประเด็นกระบวนสันติภาพ สุดท้ายอาเต็ฟ โซ๊ะโก ประธานองค์กร The Patani ในฐานะที่เป็นองค์กรที่เคลื่อนไหวประเด็นทางการเมืองเพื่อการกำหนดชะตากรรมตนเอง (Rights to Self-Determination) 

การกลับมาเจรจากันอีกครั้งระหว่างคู่ขัดแย้งหลัก ‘BRN’ กับรัฐบาลไทย ถือเป็นสัญญาณที่ดี 

ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ อธิบายว่าหากเทียบเคียงระหว่างการเจรจาปี พ.ศ. 2556 กับรอบล่าสุดที่ผ่านมายังไม่มีอะไรที่ชัดเจนมากว่ามันมีอะไรที่มีความคืบหน้าหรือก้าวหน้าไปจากเดิมแต่ว่ามันถือเป็นก้าวหนึ่งที่ใกล้เคียงกันมากกับปี พ.ศ. 2556 เนื่องจากก่อนหน้านี้มีการพูดคุยกับ Mara Patani แต่ก็ไม่ใช่กลุ่มที่มีบทบาทหลักในพื้นที่ ซึ่งตนเชื่อว่า BRN คือตัวแสดงหลักในความขัดแย้งหรือเป็นคู่ขัดแย้งหลักของรัฐบาลไทยเพราะฉะนั้นถือว่าการที่รัฐไทยสามารถคุยกับ BRN ได้อีกครั้งหนึ่งเป็นการกลับเข้าไปสู่กระบวนการสันติภาพที่เคยทำกันในปี พ.ศ. 2556 แม้ยังไม่ได้ก้าวหน้ากว่าครั้งนั้นเท่าไหร่ แต่ก็ถือเป็นจุดที่ดีในแง่หนึ่งที่ได้กลับมาเจรจากับทาง BRN อีกทั้ง BRN ก็ยอมรับที่จะเจรจาด้วยนี้ถือเป็นจุดที่สำคัญ เพราะถือว่าการเจรจาอย่างเป็นทางการนั้นห่างหายไปนาน และปีนี้ถือเป็นครั้งแรกของการลงนามฉันทามติในบันทึกความร่วมมือ ซึ่งถือว่าเป็นความก้าวหน้ากว่าเดิม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี อาจารย์ประจำสถาบันสันติศึกษาและผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch)

ศรีสมภพ กล่าวเสริมว่าปัจจัยภายนอกเป็นปัจจัยที่ดึง BRN เข้ามาอยู่ในการเจรจาอีกครั้ง นั่นก็คือกระบวนการที่ริเริ่ม ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน ซึ่งเป็นการแทรกแซงเข้ามาขององค์กรระหว่างประเทศที่จัดการพูดคุยอย่างลับในปี พ.ศ. 2559 และทาง BRN เองก็ยอมรับที่จะเข้ามาพูดคุยในครั้งนั้นและตัวแทนของรัฐบาลไทยเองก็ยอมรับเช่นกัน หลังจากนั้นก็ได้มีการตกลงกันว่า BRN จะเข้ามาอยู่ในการเจรจาอีกครั้ง จนนำไปสู่การเจรจาในปี พ.ศ. 2563 ซึ่งในตอนนั้นมีความก้าวหน้าในแง่ที่ว่ามีผู้อำนวยความสะดวกก็คือทางมาเลเซียและก็มีผู้สังเกตการณ์จากต่างประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยมีมาก่อน ถือเป็นความก้าวหน้าที่น่าสนใจ อย่างไรก็ตามพอพบกันได้ 2 ครั้ง กระบวนการก็ต้องหยุดชะงักออกไปเพราะโรคระบาดโควิด - 19 แม้จะมีการพบปะกันทางออนไลน์ระหว่างทั้งสองฝ่ายแต่ก็ไม่ได้มีความคืบหน้าใด ๆ พอมีการพูดคุยสารัฐฐะในรอบใหม่ในปี พ.ศ. 2563 ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี 

“แม้จะยังไม่มีความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมแต่ก็ถือเป็นสัญญาณที่ดีที่คิดว่าน่าจะมีคุยต่อไปได้โดยตรงอีกครั้งหนึ่งและมีประเด็นที่จะคุยกันมากขึ้นไปจากเดิม ก็ต้องดูว่าการพูดคุยในรอบต่อไป คิดว่าควรจะหวังว่าน่าจะมีอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้นและเล็งเห็นถึงความพยายามของทุกฝ่ายที่จะพยายามคลี่คลายความขัดแย้งลง “ ศรีสมภพ กล่าว

ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองของไทยเป็นปัจจัยทำให้การเจรจาไปต่อไม่ได้ 

ศรีสมภพ กล่าวว่าบทเรียนที่สำคัญในการเจรจาในปี พ.ศ. 2556 ในฐานะที่เป็นหนึ่งในคณะทำงานในการเจรจาในครั้งนั้นมองว่าจุดใหญ่ของการพูดคุยสันติภาพต้องมีเจตนาหรือความจริงใจที่จะทำให้สำเร็จจริง ๆ จากทุกฝ่าย ทั้งรัฐบาลเองและกลุ่มขบวนการ BRN เอง ตอนนั้นในปี พ.ศ. 2556 มันก็มีปัญหาในแง่หนึ่งคือรัฐบาลเองในตอนนั้นหากมองในแง่เจตนาหรือความจริงใจแล้วผมคิดว่ามี แต่ว่ากองทัพหรือฝ่ายความมั่นคงนั้นไม่ค่อยจะเห็นด้วย ซึ่งผู้บัญชาการทหารในตอนนั้นก็คือ พล.อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่เห็นด้วยตั้งแต่แรกให้มีการเจรจาในครั้งนั้น แต่จำเป็นต้องยอมให้รัฐบาลนั้นดำเนินการตามกลไกที่มีอยู่ คิดว่านั่นอาจจะเป็นรอยแยกที่สร้างปัญหาขึ้น อีกทั้งสภาวะทางการเมืองที่กรุงเทพเองก็มีความขัดแย้งอยู่เหมือนกันการพูดคุยก็เลยหยุดชะงักไป และสุดท้ายก็มีการรัฐประหารเกิดขึ้นในปีต่อมา พ.ศ. 2557 

“พอรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร นายกรัฐมนตรีตอนนี้ก็เป็นหัวหน้าทหารในตอนปี พ.ศ. 2556 ประเด็นคือกระบวนการสันติภาพมันขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรีคนเดียวว่าจะเอาจริงหรือเปล่า ซึ่งเป็นแบบนี้มันก็ยังไม่ใช่กระบวนการที่ดี เพราะการตัดสินใจอยู่แค่เพียงนายกรัฐมนตรี ถ้ายังเป็นนายกคนนี้อยู่ คาดหวังยาก หากวันหนึ่งวันใดกระบวนการพูดคุยจะไปได้ดี แต่ถ้านายกไม่ยินยอมกระบวนการก็ล่มอีกตามเคย” ศรีสมภพ กล่าว

การสื่อสารและการรับรู้ของสาธารณะมีผลต่อโต๊ะเจรจาสันติภาพ

ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ให้ความเห็นว่า การเจรจาในปี พ.ศ. 2556 ประเด็นหนึ่งที่สำคัญก็คือการตื่นตัวและการรับรู้จากสาธารณะนั้นเปิดอย่างเต็มที่ ผู้มีส่วนร่วมของการพูดคุยนั้นก็มีตัวแทนฝ่ายความมั่นคงทั้ง สมช. ทั้ง ศอ.บต. ตำรวจ ฝ่ายปกครอง และองค์กรภาคประชาสังคม รวมถึงนักวิชาการในพื้นที่ กระบวนการมันทำให้นำไปสู่การเผยแพร่สู่สาธารณะ ทำให้การเข้าใจการรับรู้เรื่องราวของการเจรจามันกลายเป็นส่วนหนึ่งของกระแสในทางสังคม  ในแง่ของการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารมันถูกเปิดเผยอย่างตรงไปตรงมาได้ แต่การเจรจาในรอบนี้มันเงียบมาก ทำให้บรรยากาศของการพูดคุยไม่เป็นที่รับรู้ของสื่อและสังคม แม้จะมีการแถลงข่าวของคณะพูดคุยฝ่ายไทยที่ จ.ภูเก็ต หลังการเจรจาแต่การแถลงข่าวค่อนข้างเป็นพิธีการมาก ค่อนข้างจะเกร็ง ก็เลยทำให้ไม่ค่อยน่าสนใจเท่าไหร่ต่างกันกับปี พ.ศ. 2556 ที่คณะพูดคุยในครั้งนั้นจะมีการพูดคุยเป็นสาธารณะและบรรยากาศค่อนข้างคึกคัก ซึ่งมองว่าก็เป็นเจตนาของรัฐบาลเองที่ต้องการไม่ให้มีกระแสการสื่อสารมากเท่าไหร่ การทำให้มันเป็นกระแสสาธารณะน่าจะเป็นสิ่งที่ดีกว่า

ระดับของความรุนแรงเป็นผลจากปฏิกิริยาตอบโต้ของรัฐที่ใช้ความรุนแรง 

ศรีสมภพ อธิบายว่ามีข้อสังเกตตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 ในตอนที่เริ่มมีการเจรจาสันติภาพครั้งแรกระหว่าง BRN กับรัฐไทย เราเริ่มเห็นว่าระดับของความรุนแรงในพื้นที่มันเริ่มลดลงทุกปีจนกระทั่งปี พ.ศ. 2563 แต่ว่าพอถึงปี พ.ศ. 2564 พบว่าความรุนแรงมันเพิ่มระดับมากยิ่งขึ้น เปอร์เซ็นต์ความรุนแรงมันเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม เราจึงวิเคราะห์ได้ว่าการขาดหายของการเจรจาสันติภาพมันมีผลที่จะกำหนดระดับของความรุนแรงในพื้นที่ได้ อีกมุมมันเป็นนโยบายของกองทัพฝ่ายรัฐไทยเองในเรื่องของการจัดการกลุ่มผู้ก่อเหตุด้วยความรุนแรง ทั้งการปิดล้องตรวจค้น วิสามัญฆาตกรรม เพราะฉะนั้นการยกระดับของความรุนแรงในพื้นที่ผมมองว่าเป็นผลของปฏิกิริยาตอบโต้ของรัฐเองที่ใช้ความรุนแรง

ภาพบางส่วนจากนิทรรศการศิลปะภายใต้ชื่อ Stop Torture หรือยุติการซ้อมทรมาน ของศิลปินภายในพื้นที่ชายแดนใต้/ปาตานี ซึ่งจัดไปเมื่อ 5 พ.ย. - 5 ธ.ค.64 ที่ Patani artspace อ.หนองจิก จ.ปัตตานี

นักวิชาการ-The Patani ชี้ ‘BRN’ ปรับตัวมุ่งเป้าไปยังเป้าแข็งมากกว่าเป้าอ่อน

ศรีสมภพ กล่าวว่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 เราเห็นสัดส่วนระหว่างเป้าแข็ง (hard target) และเป้าอ่อน (soft target) โดยเป้าอ่อนจะสูงกว่า 60-40 เปอร์เซ็นต์ ที่น่าสังเกตคือเมื่อปี พ.ศ. 2564 สัดส่วนระหว่างเป้าแข็งและเป้าอ่อนมันพลิกกลับกัน เทียบใกล้เคียงกัน 50-50 เปอร์เซ็นต์ เป้าอ่อนจะลดลงและเป้าแข็งจะเพิ่มขึ้น เราคิดว่าน่าสนใจอยู่เหมือนกันคิดว่าเป็นการตอบโต้ระหว่างผู้ที่ถืออาวุธด้วยกัน มันมีผลทำให้ BRN นั้นเข้าไปสู่หลักสากลมากขึ้น การปฏิบัติการของ BRN เริ่มเปลี่ยนไป ก็สะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปอยู่เหมือนกัน 

ด้านประธาน The Patani ให้ความเห็นต่อประเด็นเดียวกันว่า BRN มีพัฒนาการเรื่องการปฏิบัติการที่ดีขึ้นมากไปจากเดิม ทั้งเรื่องการใช้กำลังอย่างจำกัด การกำหนดเป้าหมายที่เป็นเป้าแข็ง และการหลีกเลี่ยงการปฏิบัติการที่อาจจะสุ่มเสี่ยงอันตรายต่อประชาชน เราเริ่มเห็นสิ่งนี้ ถ้าให้คะแนนตนมองว่า BRN มีพัฒนาการในเรื่องมนุษยธรรมมากกว่ารัฐไทยหลายเท่า 

สถานะปัจจุบันของ ‘BRN’ ต่อสายตาระหว่างประเทศเริ่มได้รับความยอมรับ  

ศรีสมภพ ให้ความเห็นว่า ในช่วงที่ BRN แถลงการณ์หยุดการปฎิบัติการทางทหารเพื่อลดความรุนแรงและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่ทำงานด่านหน้าในช่วงโควิด - 19 ซึ่ง BRN ตอบรับคำเรียกร้องขององค์การสหประชาชาติ ที่เรียกร้องให้องค์กรใต้ดินหรือองค์กรที่ต่อสู้เพื่ออุดมการณ์เอกราชหยุดปฏิบัติการทางทหารเพื่อแก้ปัญหาเรื่องโรคระบาดก่อน ซึ่งในตอนนั้นเป็น BRN เป็นฝ่ายเดียวที่แถลงตอบรับข้อเสนอ ซึ่งตนมองว่าเป็นจังหวะการเคลื่อนทางการเมืองที่ดี และสอดคล้องกับสถานการณ์แต่รัฐไทยยังคงยืนยันที่จะบังคับใช้กฎหมาย เงื่อนไขนี้เองทำให้ BRN ได้รับการยอมรับสถานะจากสายตาระหว่างประเทศ ส่วนหนึ่งก็เป็นการปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสากล ทั้งในแง่ของเรื่องมนุษย์ธรรมระหว่างประเทศ เรื่องกฎหมายสงคราม จนสามารถยกระดับตัวเองเข้าสู่หลักสากลได้ ซึ่งในประเด็นนี้รัฐไทยเองก็มีความกังวลอยู่เหมือนกันในเรื่องของสถานะคู่ขัดแย้งหลักซึ่ง BRN เองก็ทำงานในส่วนนี้มากขึ้น และได้รับการยอมรับสถานะจากองค์กรระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น

The Patani ‘ย้ำ’ กระบวนการสันติภาพเป็นกลไกสำคัญต่อการแก้ปัญหา

อาเต็ฟ เล่าว่า The Patani พูดถึงท่าทีของการเจรจาในรอบล่าสุดระหว่างกลุ่ม BRN กับรัฐบาลไทยนั้น The Patani ไม่เชิงมีจุดยืนใหม่ต่อประเด็นนี้ และการให้ความเห็นต่อการเจรจาในรอบนี้ก็ไม่ต่างไปจากเดิม The Patani รู้สึกว่าการพบกันระหว่างทั้งสองฝ่ายอีกครั้งหนึ่งเป็นสิ่งที่ดี ก่อนหน้านี้ทางเราเองได้มีโอกาสทำงานและพูดคุยแลกเปลี่ยนกันกับผู้ที่เป็นตัวแทนอย่างเป็นทางการของทั้งสองฝ่าย ซึ่งหลายต่อหลายครั้งก็มีโอกาสได้เสนอข้อเสนอแนะที่คิดว่ามีประโยชน์ต่อปาตานีจริงๆ ซึ่ง The Patani เห็นว่ากระบวนการสันติภาพเป็นกลไกสำคัญอย่างหนึ่งที่จะจัดการความขัดแย้งปาตานี ซึ่งเป็นสิ่งที่เราเห็นมาตลอด หลายครั้งมีการเข้าใจผิดว่า The Patani เองไม่สนับสนุนกระบวนการสันติภาพ ซึ่งถือเป็นการเข้าใจที่คลาดเคลื่อน The Patani นั้นมองว่าการหาทางออกจากสภาวะการขัดกันด้วยอาวุธ สิ่งที่เป็นไปได้ก็คือกระบวนการสันติภาพ แต่กระบวนการสันติภาพจะเป็นไปในรูปแบบใด ยึดถือหลักการใดก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เราต้องถกเถียงกัน

อาเต็ฟ โซ๊ะโก ประธานองค์กร The Patani ในฐานะที่เป็นองค์กรที่เคลื่อนไหวประเด็นทางการเมืองเพื่อการกำหนดชะตากรรมตนเอง (Rights to Self-Determination) 

ชี้เจตจำนงทางการเมืองเป็นเรื่องที่สำคัญในกระบวนการสันติภาพ

ประธาน The Patani กล่าว่าเจตจำนงทางการเมือง (Political will) มันเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ ในกระบวนการสันติภาพที่ประสบความสำเร็จ ในพื้นที่อื่นๆ เช่น โคลัมเบีย ไอร์แลนด์เหนือ ติมอร์ตะวันออก หรือบังซาโมโร สิ่งนี้เราเห็นมาจากฟากฝั่งรัฐบาลซึ่งถือเป็นคู่ขัดแย้งที่ได้เปรียบกว่า แต่ถ้าเทียบกับรัฐไทยเราแทบจะไม่เห็นความพยายาม ถ้าพูดให้เห็นภาพก็คือเราไม่สามารถเห็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปจับมือกับตัวแทนคณะพูดคุย BRN เหมือนกรณีของมินดาเนา บังซาโมโร และถ้าหากจะอ้างว่าเพราะ BRN เองก็ไม่ได้เปิดตัวเบอร์หนึ่งของฝ่ายตนเอง ฝ่ายรัฐไทยก็ย่อมทำได้เช่นกัน ในมุมมองส่วนตัวเรื่องแบบนี้หากมันเป็นเจตจำนงจริงเราจะสัมผัสได้ สิ่งที่เรารู้สึกแปลกใจมาตลอดว่าเราเองมีความรู้สึกว่า ชุมชนของ BRN เราไม่ได้รู้สึกว่าเขาเชื่อมั่นต่อกระบวนการสันติภาพ แน่นอนเขาเชื่อว่ากระบวนการสันติภาพนั้นคือกลไกหนึ่งที่จะสร้างสันติภาพแต่เขามองว่าเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งในทางการเมืองที่จะยกระดับการต่อสู้ หากมันเป็นแบบนี้แล้วกระบวนการสันติภาพมันไม่ใช่สิ่งที่ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญจริง ๆ The Patani มองว่าหากกลไกที่สำคัญมากๆ ไม่ได้ทำงานแล้วต่อไปความขัดแย้งที่มีการขัดกันด้วยอาวุธมันจะจบลงอย่างไร นี้คือสิ่งที่กังวล

“แน่นอนเอกราชไม่ใช่สิ่งที่เราขอ เอกราชไม่ใช่สิ่งที่ชาวปาตานีร้องขอจากรัฐไทย แต่เขามองว่าสิทธิต่อเรื่องเอกราชมันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของชนชาติอยู่แล้ว”  อาเต๊ฟ กล่าว

ปัญหารากเหง้ายังไม่ได้ถูกพูดถึง ‘ย้ำ’ ตั้งแต่อดีตขบวนการตั้งขึ้นเพื่อเอกราช

อาเต็ฟ กล่าวว่าการที่จะนับเป็นตัวเลขมันยากมากๆ ว่าคนปาตานีที่ต้องการเอกราชมีกี่คน ใฝ่ฝัน โหยหา ต่อเอกราชแล้วมีความฝันต่อเอกราชในระดับไหน บ้างก็มองว่าเอกราชเป็นสิ่งที่ดีกว่า ถือเป็นคุณค่าสูงสุด ไม่สามารถทดแทนหรือเเลกเปลี่ยนได้ สิ่งนี้มันไม่สามารถที่จะวัดเป็นตัวเลขได้ เพราะมันไม่ได้อยู่ในบรรยากาศที่สามารถคุยกันได้อย่างตรงไปตรงมา ประเด็นของ The Patani คือว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นตั้งแต่อดีตมาจนถึงทุกวันนี้ คนปาตานียังต่อสู้เพื่อเอกราช กลุ่มติดอาวุธ ขบวนการใต้ดิน ถูกตั้งขึ้นมาก็เพื่อต่อสู้เพื่อเอกราช สิ่งที่ทำให้มีนักรบ สิ่งที่ทำให้กล้าหาญ แม้ต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ หรือแม้กระทั่งยอมสละเลือดเนื้อและชีวิต ก็เพราะว่าเราขัดแย้งกันเรื่องเอกราช การถูกยึดครองโดยกรุงเทพ การถูกเป็นอาณานิคมโดยสยาม สิ่งนี้ต่างหากคือสิ่งที่จะต้องมีทิศทางที่จะต้องเจรจา แต่ว่าที่ผ่านมาเรารู้สึกว่าเรื่องเอกราชมันกลายเป็นสิ่งที่ต้องกลบ หรือเป็นสิ่งที่ห้ามปรากฎในกระบวนการสันติภาพ แล้วท้ายที่สุดปัญหารากเหง้าก็ยังไม่ได้ถูกพูดถึง

อาเต็ฟ กล่าวต่อว่า The Patani ยังไม่เห็นว่ามีกระบวนการเกิดขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เราเห็น MILF (Moro Islamic Liberation Front) ประกาศชัดเจนว่าการต่อสู้เพื่อเอกราชไม่ใช่สิ่งที่จะอยู่ระหว่างการเจรจากับมะนิลา การต่อสู้ของเขาชัดเจนว่าเป็นการต่อสู้เพื่อมีอำนาจในการปกครองตนเอง เอกราชสิ้นสุดในยุคของตนและเป็นหน้าที่ของรุ่นลูกรุ่นหลานที่ต้องสืบเจตนารมณ์การต่อสู้นี้ต่อไป ซึ่งสิ่งนี้เรายังไม่เคยได้ยินที่ปาตานี และสมมติว่า BRN มองในมุมเดียวกันกับ MILF และการขึ้นโต๊ะเจรจานั้นเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดแล้วของ BRN จะทำยังไงให้กระบวนการการสื่อสารของ BRN เป็นการสื่อสารที่สามารถทำได้อย่างตรงไปตรงมา เรายังไม่เห็นสิ่งนี้ ยิ่งพอเราพูดถึง (ชาฮีด) หรือหมายถึงคนที่พร้อมเสียชีวิตเพื่อศาสนาในการต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมเราก็ทราบดีว่าพวกเขายังคงสู้เพื่อเอกราชอยู่ 

“ความขัดแย้งมันเกิดขึ้นระหว่างปาตานีกับรัฐไทยมันเป็นความขัดแย้งเรื่องการพยายามสู้เพื่อการเป็นเอกราช หากกระบวนการที่มีมันเป็นกระบวนการที่เราไม่ได้เห็นการพูดถึงเรื่องเอกราชมันก็แปลก แต่สุดท้ายเรื่องเอกราชก็จะยังคงอยู่ และก็จะยังมีคนสู้อยู่ต่อไป ตราบใดเสียที่มันยังไม่ได้มีตัวชี้วัดที่บ่งบอกว่าคนที่นี่ คนปาตานี จะไม่ต้องการเอกราชอีกแล้ว” ประธาน The Patani กล่าว

ภาพบางส่วนจากนิทรรศการศิลปะภายใต้ชื่อ Stop Torture หรือยุติการซ้อมทรมาน ของศิลปินภายในพื้นที่ชายแดนใต้/ปาตานี ซึ่งจัดไปเมื่อ 5 พ.ย. - 5 ธ.ค.64 ที่ Patani artspace อ.หนองจิก จ.ปัตตานี

ยังมองไม่เห็นถึงความตั้งใจของรัฐบาลไทย

อาเต็ฟ มองว่าหากนี่เป็นเครื่องมือที่ต้องการเข้ามาจัดการความขัดแย้งที่มีการขัดกันด้วยอาวุธ ทั้งสองฝ่ายจะต้องเข้ามาอย่างตั้งใจและมีเจตจำนงที่แท้จริง และเราก็ค้นพบว่าฝ่ายรัฐไทย ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา The Patani สัมผัสไม่ได้ว่าตัวรัฐบาลเองหรือคนที่มีอำนาจจริงๆ ต้องการเจรจา ต้องการที่จะคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งที่ขัดกันอาวุธอย่างตั้งใจ แน่นอนเราพบเห็นคนที่มีบทบาทต่อการเจรจานั้นมีทัศนคติที่ดี เราสัมผัสถึงความตั้งอกตั้งใจ แต่ในนามรัฐบาลเองเรากลับสัมผัสไม่ได้จนถึงทุกวันนี้ ซึ่งหลายครั้งเองสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่มันรู้สึกว่ามันไม่สอดคล้องกัน เรื่องการมีการเจรจาแล้วในพื้นที่มีความรุนแรงมันเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้น แต่ว่ามันก็ไม่ใช่เหตุผลเดียวกันที่จะบอกว่าเราไม่เห็นความพยายามของรัฐบาลในฐานะผู้ที่แต่งตั้งคณะพูดคุยที่แท้จริง 

การมีส่วนร่วมทางการเมืองไม่สามารถเกิดขึ้นได้ภายใต้รัฐบาลเผด็จการ 

ประธาน The Patani มองว่าในภาวะที่การพูดคุยเรื่องทั่วไป เรื่องความยุติธรรม เรื่องอุดมการณ์แนวคิดประเด็นประชาธิปไตย หรือเรื่องที่ประเทศที่ก้าวหน้าพอ แต่เชื่อมั่นเรื่องประชาธิปไตยมันยังทำได้ยาก มันยังไม่ปลอดภัยมากพอ แล้วเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเรื่องบูรณะภาพเหนือดินแดนมันเป็นเรื่องที่ใหญ่กว่ามาก ฉะนั้นการเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมทางการเมืองในภาวะที่รัฐไทยยังไม่ได้เป็นประชาธิปไตยและยังคงถูกปกครองโดยระบอบเผด็จการทหารมันเป็นเรื่องที่เป็นไม่ได้หรือมันจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อรัฐไทยจะรู้สึกว่าเรื่องนั้นไม่ได้เป็นภัยต่อเรื่องความมั่นคง ยกตัวอย่างเช่น การเจรจากันไม่ว่าจะเป็น MARA PATANI POLO หรือ BRN เมื่อไรก็ตามที่ฝ่ายรัฐไทยรู้สึกว่ามันมากไป มันส่งผลต่อความเข้าใจต่อสังคมไทยโดยรวมว่าเขากำลังจะสูญเสียความรัฐรวมศูนย์หรือรัฐอำนาจนิยมอย่างไร  ก็จะมีการแถลงจากรัฐบาลตลอดเพื่อไม่ให้สังคมทั่วไปเข้าใจเหมือนที่คนทั่วไปเห็นปรากฎการณ์การพบปะกันระหว่างทั้งสองฝ่าย สังคมไทยมันไม่ได้อยู่ในบรรยากาศของความเป็นประชาธิปไตย รัฐไทยยังคงมีโครงสร้างความเป็นอำนาจนิยมที่สูงอยู่มาก 

มาเลเซียส่งตัวผู้ต้องหาข้ามแดนอาจจะมีผลต่อการเจรจาสันติภาพ

ประธาน The Patani ให้ความเห็นว่าต้องตำหนิมาเลเซียอย่างรุนแรงหากมาเลเซียผิดพลาดจริง เพราะว่าหากมาเลเซียยังคงมีสถานะในฐานะผู้อำนวยความสะดวกในการเจรจาสันติภาพอยู่ ก็ต้องมีความรอบคอบ จะต้องเข้าใจรากเหง้าของความขัดแย้งอย่างลึกซึ้ง หากเราเชื่อการอ้างของเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่อ้างว่าเขาไม่รู้จริงหรือเป็นความผิดพลาดในการส่งตัว 3 คนนี้เข้าใจว่าเป็นเพียงแค่คนที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย ซึ่งส่วนตัวมองว่ามันเป็นข้ออ้างที่ตื้นเขินเกินไป แม้ว่าเป็นความจริงก็ตาม ซึ่งหากเป็นความจริงมันหมายถึงว่ามาเลเซียเองไม่สามารถเป็นคนกลางที่มีคุณภาพได้ ทั้ง ๆ ที่ความขัดแย้งนี้มันมีความซับซ้อน  

The Patani ‘ย้ำ’ กระบวนการสันติภาพต้องเป็นวาระแห่งชาติ

อาเต๊ฟ กล่าวว่า การเป็นวาระแห่งชาติมันสะท้อนว่ารัฐไทยมีเจตจำนงทางการเมืองที่มากพอที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้ง แต่การบอกว่าความขัดแย้งปาตานีเป็นวาระแห่งชาติไม่ใช่เพียงแต่ไปเขียนบนกระดาษแล้วมันจบ แต่มันหมายถึงว่ารัฐไทยไปทำอะไรหลังจากที่ประกาศว่ามันเป็นนโยบาย รัฐไทยมีความพยายามที่จะทำให้คนไทยส่วนใหญ่มองมุมบวกต่อความพยายามของรัฐในการพูดคุยกับ BRN หรือเปล่า ถ้าไม่ก็แปลว่าไม่ใช่วาระแห่งชาติ ทุกหน่วยงาน หรือนโยบายอื่นๆ ทุกย่างก้าวของรัฐต้องสอดคล้อง ต้องเอื้อให้วาระแห่งชาติมันเป็นไปในทางที่ดี 

“The Patani กังวลและมองว่าหากสิ่งนี้มันเป็นโอกาสหรือบรรยากาศในการพูดคุยของเพื่อนร่วมชาตินี้ (BRN) มันยังไม่สิ้นสุดหรือยังไม่มีกระบวนการที่ดีพอ ท้ายที่สุดกระบวนการที่มีอยู่ก็เป็นแค่กระบวนการในช่วงขณะใดขณะหนึ่งและรอวันที่ความขัดแย้งระลอกใหม่กลับมาอีกครั้ง” ประธาน The Patani กล่าวย้ำ

ปธ.สมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ ระบุการพูดคุยในรัฐบาลเผด็จการทหารทำให้กระบวนไปต่อไม่ได้และต้องหยุดชะงัก

มูฮำหมัดอาลาดี กล่าวว่าแม้ว่าการพูดคุยจะเริ่มต้นในรัฐบาลพลเรือนแต่ระหว่างทางก็ถูกทำให้เป็นโมฆะจากการรัฐประหาร และมันก็ล่มลงไปและถูกรื้อฟื้นใหม่อีกครั้งในยุคของรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งตอนนั้น การเจรจาในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เราเริ่มเห็นว่ากระบวนการสันติภาพมันดูใหญ่และถือว่าเป็นทางการครั้งแรก ในตอนนั้นสถานการณ์ในพื้นที่มันก็มีการตื่นตัวจากประชาชนพอสมควร แต่พอมาในสมัยหลังการรัฐประหารของประยุทธ์ รัฐพยายามดึงกระบวนการที่กำลังจะออกไปเป็นที่รับรู้ของนานาชาติให้มันเป็นกระบวนการภายใน ทั้งการเปลี่ยนชื่อกระบวนการจากกระบวนการสันติภาพไปสู่กระบวนการสันติสุข ซึ่งสังเกตจากหลังการพูดคุยกับ BRN และการพูดคุยกับ MARA PATANI ภาพของมันต่างกันมากพอสมควร

มูฮำหมัดอาลาดี เด็งนิ ประธานสมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (CAP) ในฐานะที่เป็นผู้ติดตามเรื่องกระบวนการสันติภาพอีกทั้งยังรับหน้าที่สื่อสารถึงความคืบหน้าต่อประชาชนในพื้นที่ผ่านวงเสวนาที่มีชื่อว่า BICARA PATANI

กระบวนการสันติภาพต้องมีมาตรฐานและสอดคล้องตามหลักสากล

ประธานสมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพให้ความเห็นว่าควรใส่ใจถึงกระบวนการว่าจะทำอย่างไรให้กระบวนการมีมาตรฐานตามหลักสากล และเป็นกระบวนการที่ดีจริงๆ เพราะฉะนั้นการทำให้เป็นกระบวนการที่ดี มีความยั่งยืน ต้องมีองค์ประกอบหลายอย่าง อาทิ ต้องมีผู้สังเกตการณ์จากนานาชาติ มีกลไกต่างๆ ที่ทำให้คนมองเห็นได้ ตรวจสอบได้ มีกระบวนการสื่อสารกับคนในพื้นที่ได้ มีมาตรฐาน มีการมีส่วนร่วม ไม่เช่นนั้น การเจรจาก็จะล่มได้ง่ายๆ และพอล่มแล้วเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ก็จะเพิ่มขึ้น และคนที่ได้รับผลกระทบจากสงครามก็คือประชาชน

‘รัฐมีไพ่เหนือกว่าอยู่ในมือ’ จึงไม่มีความยุติธรรมมากพอต่อข้อเสนอบนโต๊ะเจรจา

“เรามองว่าข้อสรุปจากทั้งสองฝ่ายแม้ดูไม่มีความแตกต่างกัน แต่กลไกการใช้งานในข้อเสนอต่างกันมาก ทั้งเรื่องการมีส่วนร่วมทางการเมือง รัฐไทยมีกลไกต่างๆ ทั้งสามารถรับฟังเสียงของประชาชน ทั้งสภาสันติสุขตำบล ทั้งกลไกข้าราชการในพื้นที่  สิ่งเหล่านี้คู่ขัดแย้งหลักไม่สามารถทำได้ แม้จะมีข้อเสนอที่ตรงกันก็คือการมีส่วนร่วมทางการเมือง จึงแปลกใจว่าการมีส่วนร่วมทางการเมืองของคู่ขัดแย้งจะใช้กลไกไหนที่สามารถทำได้อย่างตรงไปตรงอย่างที่รัฐทำได้” ประธาน สมัชชาฯ กล่าว

ห่วงหากรัฐยังคงใช้กฎหมายพิเศษจะทำให้บรรยากาศนำไปสู่ความรุนแรง

ประธานสมัชชาประชาสังคม กล่าวว่าหลังการมีขึ้นของการเจรจาตนเริ่มเห็นการปิดล้อมตรวจค้น การวิสามัญฆาตกรรม การคุกคามทั้งนักเคลื่อนไหว และนักศึกษาอยู่บ่อยๆ และรัฐก็มักจะอ้างว่านั้นเป็นการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ ตนมองว่าการบังคับใช้กฎหมายเช่นนั้นจะนำพาไปสู่การก่อเกิดความรุนแรงซึ่งมันมีบทเรียนในอดีตมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง แต่รัฐก็ยังคงใช้วิธีการเดิมๆ ไม่มีท่าทีจะเปลี่ยนแปลง ยิ่งรัฐพยายามปฎิบัติการแบบเดิม ความยอมรับหรือความเชื่อใจของประชาชนในพื้นที่ที่มีต่อรัฐก็ยิ่งน้อยลง และพอความยอมรับของประชาชนน้อยลงมันก็จะส่งผลกระทบต่อการเจรจาสันติภาพ มันทำให้คนที่จะเห็นด้วยกับการเจรจาก็ลดน้อยถอยลง คนจะมองว่ากระบวนการไม่ได้ทำให้สถานการณ์ความรุนแรงลดลง

“ซึ่งผมมองว่าทางรัฐไทยเองมีกลุ่มที่พร้อมสนับสนุนกระบวนการเจรจาสันติภาพ ซึ่งกลุ่มนี้ก็เป็นกลุ่มที่พยายามลดความรุนแรงและสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้มากที่สุด และอีกกลุ่มที่จ้องจะทำลายกระบวนการเจรจาสันติภาพอยู่โดยการพยายามสร้างบรรยากาศให้มันดูตึงเครียดและพร้อมที่จะให้เกิดเหตุความรุนแรงอยู่ ฉะนั้นมันก็จะมีบางส่วนที่คอยคุกคามนักกิจกรรม นักเคลื่อนไหว หรือกลุ่ม NGO ภาคประชาสังคมต่างๆ ซึ่งพอเกิดบรรยากาศแบบนี้ ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อกระบวนการสันติภาพจึงไม่มี” มูฮำหมัดอาลาดี กล่าว 

ภาพบางส่วนจากนิทรรศการศิลปะภายใต้ชื่อ Stop Torture หรือยุติการซ้อมทรมาน ของศิลปินภายในพื้นที่ชายแดนใต้/ปาตานี ซึ่งจัดไปเมื่อ 5 พ.ย. - 5 ธ.ค.64 ที่ Patani artspace อ.หนองจิก จ.ปัตตานี

ปชช. ในพื้นที่ยังไม่ค่อยรับรู้ ‘ย้ำ’ จำเป็นต้องสื่อสาร 

ประธานสมัชาประชาสังคมฯ มองว่า ประชาชนภาพรวมในพื้นที่ยังไม่ค่อยรับรู้และเข้าใจมากนักต่อประเด็นกระบวนการสันติภาพปาตานี เว้นเสียแต่กลุ่มนักศึกษาหรือนักเคลื่อนไหว และ NGO ในพื้นที่เท่านั้นที่รับรู้และให้ความสนใจ คิดว่าน่าจะเป็นเพราะกระบวนการสันติภาพยังไม่ได้มีความคืบหน้าในระดับที่ทำให้เห็นว่ามันมีผลต่อชีวิตประจำวันหรืออนาคตของคนในพื้นที่ ส่วนตัวคิดว่าประชาชนในพื้นที่จำเป็นที่จะต้องเอาเรื่องกระบวนการสันติภาพมาถกเถียงให้มากยิ่งขึ้นในสังค มและต้องให้ความสำคัญต่อความเข้าใจในประเด็นเหล่านั้นเพราะเป็นเรื่องที่สามารถกำหนดอนาคตของประชาชนเอง

‘BICARA PATANI’ คือกลไกแสดงความเห็นของ ปชช. ต่อกระบวนการสันติภาพ 

ประธาน CAP กล่าวว่า ในฐานะที่เราเป็นองค์กรภาคประชาสังคมที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่มาหลายปี จึงใช้กลไกที่มีอยู่ในการทำความเข้าใจหรือบอกกล่าวให้ประชาชนในพื้นที่ทราบถึงรายละเอียดและความคืบหน้าของกระบวนการสันติภาพ ซึ่งเป้าหมายหลักๆ ของเราก็คือการทำความเข้าใจว่า กระบวนการสันติภาพนั้นสำคัญอย่างไรต่อชีวิตและชะตากรรมของเราในฐานะที่เป็นประชาชนในพื้นที่ ซึ่ง BICARA PATANI เป็นพื้นที่เดียวที่คิดว่าประชาชนสามารถที่จะมีส่วนร่วมในการแสดงความเห็นว่าเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไรต่อกระบวนการสันติภาพที่มีอยู่และต้องการให้เป็นอย่างไรในอนาคต ฉะนั้นแม้ว่าเสียงที่เราพยายามนำเสนอและสะท้อนออกไป ทั้งสองฝ่ายจะรับไปพิจารณาหรือไม่นั้น แต่อย่างน้อยที่สุดประชาชนสามารถแสดงความเห็นได้บ้างก็ถือว่าดีในสถานการณ์ที่มีข้อจำกัดในเรื่องเสรีภาพเช่นนี้

สำหรับ มูฮัมหมัดอานัส หลงเดวา ผู้เขียนรายงานชิ้นนี้ เป็นนักศึกษาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.อ. ปัตตานี ปัจจุบันร่วมฝึกงานกับกองบรรณาธิการประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net