Skip to main content
sharethis

เฮลิคอปเตอร์ พล.อ.ประยุทธ์ เปลี่ยนจุดลง เลี่ยง 'สมัชชาคนจน' ชุมนุมทวงถามข้อเรียกร้องตามที่ผู้แทนรัฐบาลรับปากไว้ แต่กลับไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ

ภาพซ้าย ผู้ชุมนุมสมัชชาคนจนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจบริเวณ หน้า ร.ร.ราษีไศล อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ ภาพขวา พล.อ.ประยุทธ์ เดินทางเป็นประธานพิธีเปิดอาคารโรงคลุมชุดตู้อบข้าวเปลือก ณ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านอุ่มแสง ต.ดู่ อ.ราษีไศล 

7 พ.ย.2562 ช่วงสายวันนี้ ที่บริเวณหน้า ร.ร.ราษีไศล อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ กลุ่มสมัชชาคนจน เดินทางมาเพื่อยื่นหนังสือต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการแก้ไขปัญหา เขื่อนหัวนา เขื่อนราษีไศล เขื่อนปากมูล และเขื่อนสิรินทร แต่ปรากฏว่าถูกเจ้าหน้าที่สกัดกั้น ไม่ให้เข้าไปพบ พล.อ.ประยุทธ์ โดยที่ผู้ชุมนุมพยายามฝ่าด่านตำรวจเพื่อเคลื่อนขบวนไปยังบ้านกระเดาอุ่มแสง แต่ว่าโดนสกัดอย่างเต็มที่ จึงเกิดการกระทบกระทั่งประมาณ 30 นาที  ต่อมากลุ่มสมัชชาคนจน ได้ปักหลักรอพบนายกฯ ที่บริเวณหน้า ร.ร.ราษีไศล โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาตั้งแถวคุมเข้มอย่างใกล้ชิด

สำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ มีกำหนดมาราชการที่บ้านกระเดาอุ่มแสง อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ ซึ่งเดิมจะใช้พื้นที่ ร.ร.ราษีไศล เป็นสถานที่จอดเฮลิคอปเตอร์ แต่เจ้าหน้าที่ได้เปลี่ยนจุดจอดเฮลิคอปเตอร์ ไปเป็นที่ ร.ร.หวายคำวิทยาแทน ทำให้ผู้ชุมนุมสมัชชาคนจนไม่ได้พบ จึงทำได้เพียงอ่านแถลงการณ์ที่ด้านหน้า ร.ร.ราษีไศล เท่านั้น

ประทีป กีรติเรขา รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ได้มาพบกับกลุ่มสมัชชาคนจน เพื่อรับทราบปัญหาและข้อเรียกร้องต่าง ๆ และจะได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป

สำหรับการชุมนุมดังกล่าวของสมัชชาคนจน ระบุถึง การชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ระหว่างวันที่ 5-23 ต.ค.ที่ผ่านมา ข้างกระทรวงศึกษาธิการ โดยนายกรัฐมนตรีมอบหมายรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี คือ เทวัญ ลิปตพัลลภ ให้เป็นผู้ที่ทำหน้าที่เจรจาแก้ไขปัญหาของสมัชชาคนจนแทนนายกฯ และได้ข้อตกลงร่วมกัน ประกอบด้วย 1.) รัฐบาลได้รับทราบข้อร้องเรียนและข้อเสนอเชิงนโยบายของสมัชชาคนจน ซึ่งได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาในทันที และจะขับเคลื่อนผลักดันการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องต่อไป 2. ) รัฐบาลร่วมกับสมัชชาคนจนได้จัดทำบันทึกข้อตกลงซึ่งมีกรอบเวลาร่วมกันในการดำเนินการแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนและข้อเสนอเชิงนโยบาย ซึ่งจะได้นำผลการจัดทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าวนำเรียนที่ประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งต่อไป โดยในกรณีปัญหาฝายหัวนาและเขื่อนราษีไศล ได้มีข้อตกลงร่วมกันว่าจะกำหนดวันประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาฝายหัวนาและเขื่อนราษีไศลในวันเดียวกัน ภายในเดือนตุลาคม 2562

3. ) สำหรับข้อเสนอให้แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของสมัชชาคนจนตามร่างคำสั่งที่สมัชชาคนจนเสนอไว้ จะได้เร่งดำเนินการนำกราบเรียนนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป และ 4.) สำหรับเรื่องที่สมัชชาคนจนมีความวิตกกังวลเป็นอย่างยิ่ง คือ การผ่อนผันให้ทำกินในที่ดินเดิมของสมัชชาคนจนนั้น ในเรื่องนี้ได้มีการจัดทำบันทึกความเข้าใจระหว่างสมัชชาคนจนและรัฐบาล ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เห็นชอบแล้ว เพื่อแนบกับบันทึกข้อตกลง และนำเรียนที่ประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งต่อไป

"เมื่อบรรลุข้อตกลงดังกล่าวพวกเราจึงได้ประกาศยุติการชุมนุมเพื่อแสดงความจริงใจต่อรัฐบาลในวันที่เราเดินทางกลับบ้าน เราเชื่อมั่น ไว้ใจ และมีความหวังอย่างยิ่งว่าข้อตกลงระหว่างรัฐบาลกับสมัชชาคนจนจะได้รับการดำเนินการตามที่ผู้แทนรัฐบาลรับปากไว้ แต่ถึงตอนนี้กลับกลายเป็นว่ารัฐบาลยังไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ พวกเราจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมาทวงถามสัญญากับนายกรัฐมนตรี" สมัชชาคนจน ระบุไว้ในแถลงการณ์วันนี้ (7 พ.ย.62)

เรียบเรียงจาก : เพจ สมัชชาคนจน วอยส์ออนไลน์ มติชนสุดสัปดาห์ออนไลน์ และไทยรัฐออนไลน์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net