Skip to main content
sharethis

รัฐบาลอินเดียยกเลิกมาตรา 370 ในรัฐธรรมนูญ ยกเลิกสถานภาพพิเศษของรัฐจัมมูและแคชเมียร์ เปิดทางรัฐบาลกลางเข้าควบคุมกิจการในแคว้น ตัดสิทธิพิเศษชาวแคชเมียร์ในพื้นที่ตนเองตามคำมั่นรัฐบาลฮินดูชาตินิยมตอนหาเสียง ปากีสถานโต้ จะใช้ทุกวิถีทางตอบโต้การยึดครองพื้นที่พิพาทครั้งนี้ แอมเนสตี้ฯ หวั่น การไม่ปรึกษาหารือคนในพื้นที่อาจเสี่ยงให้สถานการณ์พิพาทระหว่างสองประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครองย่ำแย่ลง

ภาพทหารในพื้นที่แคชเมียร์ (ที่มา:แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล)

6 ส.ค. 2562 เมื่อวานนี้ (5 ส.ค.) มีความเคลื่อนไหวใหญ่ในภูมิภาคเอเชียใต้ เมื่อรัฐบาลอินเดียยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 370 ที่ให้สถานะพิเศษแก่รัฐจัมมูและแคชเมียร์ พื้นที่พิพาทระหว่างอินเดียกับปากีสถานมานานราวเจ็ดทศวรรษ กลายเป็นการตัดสินใจทางการเมืองที่ถูกตีความจากปากีสถานว่าเป็นการยึดครองพื้นที่พิพาท

สถานภาพพิเศษของจัมมูและแคชเมียร์ได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ปี 2490 สองปีหลังจากดินแดนอนุทวีปอินเดียแยกตัวเป็นประเทศอินเดียและปากีสถาน โดยจะแปรสภาพพื้นที่ดังกล่าวเป็นดินแดนสหภาพ (Union Territory) สองผืน ได้แก่จัมมูและแคชเมียร์ และภูมิภาคลาดักห์

รัฐธรรมนูญอินเดียระบุว่า ดินแดนสหภาพคือหน่วยการปกครองที่ไม่มีอำนาจการปกครองเต็มที่ อำนาจส่วนมากจะกลับไปอยู่ที่รัฐบาลกลางที่กรุงนิวเดลี ซึ่งจะมีอำนาจตัดสินใจในเรื่องสิทธิที่ดิน เขตแดน กฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย ส่วนหน่วยการปกครองท้องถิ่นจะมีหน้าที่บริหารจัดการเรื่องวันต่อวัน ในแคชเมียร์และจัมมูจะมีสมัชชานิติบัญญัติเหมือนที่ดินแดนสหภาพอื่นๆ ในอินเดียมี แต่ในส่วนของลาดักห์นั้นยังไม่มีรายละเอียดใดๆ 

มาตรา 370 ซึ่งถูกระบุให้อยู่ในฐานะบทบัญญัติชั่วคราว อนุญาตให้จัมมูและแคชเมียร์มีรัฐธรรมนูญและธงของตัวเอง มีอิสระในการดำเนินการต่างๆ ยกเว้นกิจการต่างประเทศ กลาโหมและการสื่อสารที่จะต้องเป็นไปตามกฎหมายอื่นของรัฐบาลกลาง ชาวจัมมูและแคชเมียร์ถูกปกครองภายใต้ชุดกฎหมายแยกต่างหากจากชาวอินเดียในพื้นที่อื่น ทำให้มีการนิยามเรื่องสัญชาติ กรรมสิทธิ์ สิทธิขั้นพื้นฐานไม่เหมือนกับชาวอินเดียอื่นๆ ทำให้คนจากพื้นที่อื่นเข้ามาเป็นเจ้าของสินทรัพย์หรือที่ดินในพื้นที่จัมมูและแคชเมียร์ได้

การยกเลิกมาตรา 370 เป็นไปตามคำมั่นของรัฐบาลพรรคภารตียชนตา (BJP) พรรคฮินดูชาตินิยม นำโดยนายกรัฐมนตรีนเรนธรา โมดี ที่ประกาศเอาไว้ในช่วงหาเสียงว่าตั้งใจจะทำให้เกิด “อินเดียเดียว” ที่กฎหมายชุดเดียวถูกบังคับใช้กับทั้งประเทศอย่างเท่าเทียม ไม่มีการเลือกปฏิบัติ ทั้งนี้ บีบีซีรายงานว่าการยกเลิกมาตรา 370 นั้นยกเว้นในข้อที่บอกว่าจัมมูและแคชเมียร์เป็นส่วนหนึ่งของอินเดีย

ในด้านกระแสวิพากษ์วิจารณ์ นักการเมืองในพื้นที่แคชเมียร์อย่างโอมาร์ อับดุลลาห์ ฟารูก อัลดุลลา และเมห์บูบา มุฟตี อดีตมุขมนตรีของแคชเมียร์และจัมมูใช้คำว่า “ภัยพิบัติ” และ “หายนะ” มุฟตีทวีตว่า การยกเลิกมาตรา 370 เป็นการทำลายสะพานระหว่างแคชเมียร์และอินเดียในฐานะที่อินเดียทำตัวเป็นผู้ครอบครองแคชเมียร์

รัฐบาลปากีสถานเองก็มีท่าทีคัดค้านการยกเลิกมาตรา 370 เช่นกัน โดยระบุว่าจะ “ใช้ทุกทางเลือกที่เป็นไปได้เพื่อตอบโต้ขั้นตอนที่ผิดกฎหมาย” ที่อินเดียกระทำในประเด็น “การยึดครองแคชเมียร์” 

ก่อนประกาศยกเลิกมาตรา 370 อินเดียได้ส่งกองกำลังทหารเข้าประจำการในพื้นที่แคชเมียร์ฝั่งอินเดียมากขึ้น โดยให้เหตุผลว่าเป็นเรื่องของความมั่นคง

เอเชียนิวส์เน็ตเวิร์คระบุว่า การยกเลิกมาตรา 370 อาจทำให้ชาวอินเดียเข้ามาอาศัย ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หรือเป็นเจ้าของสินทรัพย์และที่ดินในพื้นที่ได้ ผู้หญิงชาวจัมมูและแคชเมียร์จะไม่เสียสิทธิในมรดกหากแต่งงานกันคนนอกรัฐ ชาวแคชมีรี่ปันดิต ชาวฮินดูที่ลี้ภัยไปเมื่อทศวรรษ 2530 อาจมีสิทธิเดินทางกลับไปในจัมมูและแคชเมียร์

พื้นที่แคชเมียร์และจัมมูเป็นเวทีพิพาทระหว่างอินเดีย-ปากีสถานมาราว 70 ปี ในช่วงเวลานี้มีสงครามเกิดขึ้น 4 ครั้ง และมีการปะทะด้วยกำลังทหารยิบย่อยราวๆ 12 ครั้ง ปากีสถานและอินเดียต่างอ้างสิทธิการปกครองเหนือดินแดนของอีกฝ่าย ปัจจุบันทั้งสองประเทศต่างมีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครอง

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์ในวันที่ 6 ส.ค. แสดงความเห็นว่าการยกเลิกมาตรา 370 โดยไม่มีการปรึกษาหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ ภายใต้บริบทความตึงเครียดด้านความมั่นคงที่เสรีภาพและการสื่อสารพลเรือนถูกปิดกั้น ยิ่งเสี่ยงที่จะทำให้สถานการณ์แย่ลง เสี่ยงต่อการเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากขึ้น มีใจความดังนี้

“สิ่งที่เราเห็นช่วงหลายวันที่ผ่านมาในจัมมู และแคชเมียร์ คือการตรึงกำลังทหารเพิ่มเติม การปิดกั้นบริการโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ตแบบเหวี่ยงแห การควบคุมจำกัดการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งทำให้เกิดความตึงเครียดในบรรดาประชาชนชาวจัมมูและแคชเมียร์เป็นอย่างยิ่ง ที่เลวร้ายกว่านั้น ทางการยังควบคุมตัวผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางการเมืองที่เป็นแกนนำสำคัญไว้ในบ้าน นอกจากนั้นปัจจุบันรัฐสภาได้ลงมติที่สำคัญเกี่ยวกับจัมมู แคชเมียร์โดยไม่มีการปรึกษาหารือใด ๆ กับประชาชนที่นั่นเลย” อาการ์ ปาเตล หัวหน้าสำนักงานแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล อินเดียกล่าว

คาดว่าการยกเลิกมาตรา 370 จะทำให้เกิดการลุกฮือต่อต้านขนานใหญ่ในแคว้นแห่งนี้ จนถึงปัจจุบัน รัฐบาลใช้การปราบปรามอย่างเข้มงวดในพื้นที่ ส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง ทั้งการทำให้คนตาบอด การสังหาร และการทำให้เกิดความเจ็บปวดทุกข์ทรมานใจสำหรับประชาชนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในรายงานฉบับย่อที่ชื่อ “สูญเสียการมองเห็นในแคชเมียร์: ผลกระทบจากการยิงด้วยปืนอัดลม” ‘Losing Sight in Kashmir: The Impact of Pellet Firing Shotguns’ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล อินเดียบันทึกข้อมูลและเน้นให้เห็นผลจากการใช้ ปืนอัดลม และอาวุธอื่น ๆ ซึ่งถือว่าละเมิดมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ แม้ว่ารัฐมีสิทธิในการรักษาความสงบของสาธารณะ แต่ก็ต้องเคารพสิทธิของประชาชนในการประท้วงอย่างสงบเช่นกัน 

การสั่งระงับบริการโทรคมนาคมอย่างเหวี่ยงแหและไม่มีเวลากำหนดในจัมมู แคชเมียร์ ยังเป็นมาตรการที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ การปิดกั้นเช่นนี้ ส่งผลให้ประชาชนในแคว้นแห่งนี้ไม่สามารถแสวงหา ได้รับ และเผยแพร่ข้อมูล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก การปิดกั้นเช่นนี้ยังส่งผลให้เพื่อนและญาติไม่สามารถติดต่อหากันได้ ทำให้เกิดความเสี่ยงด้านความปลอดภัยและความตึงเครียด ทำให้เกิดความรู้สึกไม่มั่นคง

แปลและเรียบเรียงจาก

India revokes special status for troubled border state, Asia News Network, Aug. 5, 2019 

What is Article 370? Three key points, Times of India, Aug. 3, 2019

อินเดียยกเลิกสถานะพิเศษ “แคชเมียร์” ส่งทหารคุมนับหมื่น-ตัดการสื่อสาร, ไทยรัฐออนไลน์, Aug. 8, 2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net