Skip to main content
sharethis

'กัณวีร์' พรรคเป็นธรรม เล็งตั้งกลุ่ม 'ระเบียงสันติภาพเพื่อเมียนมา' รวม สส. 5 ประเทศ รับมือสงครามปฏิวัติ สร้างพื้นที่ปลอดภัยตามแนวชายแดนให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากสงคราม เบื้องต้น เริ่มคุยแล้ว 2 ประเทศ

 

7 ธ.ค. 2566 ทีมสื่อพรรคเป็นธรรม ระบุวันนี้ (7 ธ.ค.) ว่า กัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์สงครามปฏิวัติในเมียนมา ระหว่าง กองทัพเมียนมา และกองกำลังชาติพันธุ์ ที่รวมตัวกันเป็น Ethnic Revolution Organization (ERO) เพื่อเรียกร้องการปกครองแบบสหพันธรัฐประชาธิปไตย (Democratic Federal State) ที่กำลังรุนแรง และน่าเป็นห่วงว่าจะส่งผลกระทบโดยตรงกับประเทศเพื่อนบ้านรอบเมียนมา โดยเฉพาะประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

"ผลกระทบแรงที่สุดในประเทศไทยคือผู้ลี้ภัยและความมั่นคงชายแดน ต้องยอมรับว่า กระทบกับไทยโดยตรง ไม่ว่าจะผู้ลี้ภัย ผู้หนีภัยการสู้รบ และคนไทยชายแดน จะมีผลกระทบทางทหารกับประชาชนไทยด้วย" กัณวีร์ กล่าว

กัณวีร์ เปิดเผยว่า จากการทำงานด้านมนุษยธรรมและผู้ลี้ภัย จนมาทำงานการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร จึงอยากใช้บทบาท สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ สส.ประสานความร่วมมือกับ สส. 5 ประเทศ รอบเมียนมา ทั้งไทย จีน อินเดีย ลาว และบังคลาเทศ ตั้งกลุ่ม สส. สร้างความร่วมมือ 'ระเบียงสันติภาพเพื่อเมียนมา' (Inter-parliamentarian for Myanmar Peace Corridor - IPMPC)

"ถ้าเกิดสถานการณ์ในเมียนมา จะปิดหูปิดตาไม่ได้แล้ว เราสามารถจับมือกับประเทศเพื่อนบ้าน 5 ประเทศ ทำให้เมียนมา เปลี่ยนจุดยืน ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย หรือ Safety zone ต้องคุยกับทหารเมียนมา และกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธว่าต้องไม่ปฏิบัติการตามแนวชายแดน เพราะจะมีผู้พลัดถิ่นตามชายแดน พร้อมลี้ภัยจำนวนมาก อย่างบังคลาเทศ ก็มีชาวโรฮิงญากว่า 1 ล้านคน อินเดีย มีคนเข้าไป แต่ไม่เข้าไปเกี่ยวข้องในเรื่องภายในของเมียนมา จีนมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ก็ไม่อยากเกี่ยว แต่จากกรณีในเมืองเลาก์กาย มีปฏิบัติการทหารระหว่างเมียนมากับกลุ่มโกก้างก็กระทบ ทำให้จีนเริ่มเรียกร้องให้ยุติทางการทหารของเมียนมาด้วย" เลขาธิการ พรรคเป็นธรรม กล่าว 

กัณวีร์ กล่าวว่า ในจำนวน 5 ประเทศที่มีชายแดนติดเมียนมา อย่างอินเดีย มีชายแดน 1,643 กม. กับไทย 2,416 กม. กับจีน 2,129 กม. กับลาว 238 กม. และกับบังคลาเทศ 271 กม. รวมแล้ว 6,697 กม. ที่ต้องกระทบแน่นอน จึงอยากริเริ่มในการพูดคุยกับประเทศเพื่อนบ้านจะทำอย่างไรให้สถานการณ์ในเมียนมานำไปสู่สันติภาพได้ เพราะกว่า 2 ปีหลังการรัฐประหารในเมียนมา เมื่อ 1 ก.พ. 2564 องค์กรระหว่างประเทศ ทั้งองค์การสหประชาชาติ สหภาพยุโรป และอาเซียน ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น พยายามอย่างดีที่สุดเพื่อแก้ไขปัญหาขั้นพื้นฐานในด้านมนุษยธรรมและการพัฒนา เพื่อทำให้สถานการณ์ภายในเมียนมาเป็นปกติโดยเร็วที่สุด

"ผมหวังว่าความร่วมมือ ระเบียงสันติภาพเพื่อเมียนมา ผ่าน สส. 5 ประเทศ ทั้ง ไทย จีน อินเดีย บังคลาเทศ และลาว เป็นการทำงานในระดับสภาผู้แทนราษฏร เราสามารถเสนอกฎหมายและนโยบายได้ จะใช้กลไก ตรงนี้ ผลักดันนโยบายของประเทศเพื่อนบ้าน ต้องมุ่งเน้นงานมนุษยธรรม และการสร้างสันติภาพ กำลังหารือกับจีน และอินเดีย 2 ประเทศแล้ว" เลขาธิการพรรคเป็นธรรม กล่าว

กัณวีร์ เปิดเผยว่า ได้คุยกับ 2 ประเทศแล้วที่ตั้งใจจะผลักดัน กลุ่มระเบียงสันติภาพเพื่อเมียนมา ให้เห็นผลในสมัยการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยนี้ หากได้ครบ 5 ประเทศก็จะนัดหารือ เพราะสถานการณ์ในเมียนมาคุกรุ่น ไทยต้องเตรียมตัวให้พร้อมไว้มากที่สุด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net