Skip to main content
sharethis

ศาลจังหวัดปัตตานีพิพากษา ยกฟ้องโจทก์คดีบิดามารดาผู้ตาย 4 ครอบครัว ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากกองทัพบก สำนักงานตำรวจแห่งชาติและสำนักนายกรัฐมนตรี กรณีเจ้าหน้าที่ยิงประชาชนเสียชีวิต 4 คน เมื่อปี 2558 ในพื้นที่ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี ขณะที่โจทก์จ่อยื่นอุทธรณ์คดีต่อไป

29 มี.ค.2562 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม แจ้งว่า คดีที่บิดามารดาของผู้ตายได้ยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดปัตตานีเมื่อวันที่ 24 ก.ค.2560 เรียกค่าเสียหายจาก กองทัพบก จำเลยที่ 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำเลยที่ 2  และสำนักนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 3 ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 เป็นคดีหมายเลขดำที่  พ.397/2560 จากกรณีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจยิงประชาชนเสียชีวิต 4 คน เมื่อวันที่ 25 มี.ค.2558 ในพื้นที่บ้านโต๊ะชูด ต.พิเทน อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี  ซึ่งสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยเสร็จสิ้นแล้วนั้น

28 มี.ค. ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดปัตตานีนัดฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลได้วินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจใช้อาวุธปืนยิงประชาชนเสียชีวิต 4 คน ในพื้นที่บ้านโต๊ะชูด ต.พิเทน อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี นั้น ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 จึงพิพากษายกฟ้องโจทก์

ภายหลังจากฟังคำพิพากษาดังกล่าวแล้ว โจทก์ทั้งแปดซึ่งเป็นมารดาและบิดาของผู้ตายทั้งสี่ครอบครัว กล่าวว่าจะดำเนินการยื่นอุทธรณ์คดีต่อไป โดยโจทก์ทั้งแปดไม่เห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยและคำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าว เพราะในวันเกิดเหตุมีชาวบ้านเป็นประจักษ์พยานจำนวนหลายคนที่ได้เบิกความแล้วว่าผู้ตายทั้ง 4 คน ไม่มีอาวุธใด ๆ แต่เจ้าหน้าที่ทั้งทหารและตำรวจต่างมีอาวุธวิ่งตามไป แล้วต่อมาก็ปรากฏว่าทั้งสี่คนถูกยิงเสียชีวิต  อีกทั้งในการฟ้องร้องดำเนินคดีดังกล่าวไม่ใช่เพียงแค่เพื่อให้ได้ค่าสินไหมทดแทนเท่านั้น แต่โจทก์ซึ่งเป็นชาวบ้านธรรมดายังคาดหวังว่าการดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมเป็นช่องทางสุดท้ายในการตรวจสอบการใช้กฎหมายพิเศษของเจ้าหน้าที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ถูกครหาโดยตลอดมาว่าขาดความโปร่งใสเพื่อให้เป็นบรรทัดฐานในการปรับปรุงแก้ไขการทำงานของเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมิให้กระทำละเมิดต่อร่างกายและชีวิตประชาชนดังเช่นเหตุการณ์คดีนี้ และขอเรียกร้องให้รัฐมีแนวทางในการควบคุมตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งใช้กฎหมายพิเศษอันได้แก่ กฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างเข้มงวดและมีประสิทธิภาพกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในพื้นที่ให้เกิดผลอย่างจริงจังต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net