Skip to main content
sharethis

อ่าน 5 เรื่องราวชีวิตจากบุตรและภรรยาของสุรชัย แซ่ด่าน บิลลี่ รักจงเจริญ ทนง โพธิ์อ่าน สมชาย นีละไพจิตร และสมบัด สมพอน ผู้ถูกทำให้สูญหายด้วยน้ำมือเจ้าหน้าที่รัฐในวาระครบรอบ 15 ปีการหายตัวไปของทนายสมชาย ในยุคที่สภาแต่งตั้งอย่าง สนช. เลิกพิจารณาร่างกฎหมายต้านทรมาน-อุ้มหาย ญาติมิตรของเหยื่อก็ยังต้องอยู่กับความคลุมเครือต่อไปทุกเมื่อเชื่อวัน

ภาพวาด พอละจี 'บิลลี่' รักจงเจริญและครอบครัวที่หน้างาน ใบหน้าของบิลลี่ถูกทำให้หายไป

การนั่งฟังเรื่องเล่าจากผู้ที่คนรักถูกทำให้หายสาบสูญไปอย่างไม่ทราบชะตากรรมว่าเป็นหรือตายด้วยน้ำมือเจ้าหน้าที่รัฐทำให้เห็นภาพของตาชั่งกระบวนการยุติธรรมที่ถูกถ่วงเอาไว้ ยิ่งทำให้คนฟังเห็นถึงความอยุติธรรมเมื่อคนกระทำไม่ต้องรับผิดชอบประหนึ่งว่ากฎหมายเปิดช่องให้มีใบอนุญาตลบชีวิตมนุษย์ออกไปจากโลกนี้ง่ายๆ เหมือนลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ และที่สำคัญ ผู้เสียหายไม่เคยทราบชะตากรรมอย่างเป็นทางการของคนรักที่หายไปอย่างไม่เต็มใจอีกเลย

วันนี้ (12 มี.ค. 2562) ที่สถานทูตเนเธอร์แลนด์ กรุงเทพฯ มีการจัดงาน “15 ปี สมชายและเสียงจากผู้สูญหาย” เนื่องในโอกาสครบรอบ 15 ปีที่สมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนถูกบังคับสูญหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐบน ถ.รามคำแหง เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2547 จนถึงบัดนี้ครอบครัวยังไม่ได้รับการยืนยันสถานภาพและชะตากรรมของสมชายอย่างเป็นทางการ

มีการเชิญผู้เกี่ยวข้องใกล้ชิดกับผู้ถูกทำให้สูญหายมาร่วมแบ่งปันเรื่องราวอีกสี่คน ได้แก่ ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ ภรรยาของสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือสุรชัย แซ่ด่าน นักกิจกรรมชื่อดังที่หายสาบสูญไปขณะลี้ภัยอยู่ในประเทศลาวเมื่อเดือน ธ.ค. 2561 และคาดว่าเสียชีวิตไปแล้ว พิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาของพอละจี ‘บิลลี่’ รักจงเจริญ นักกิจกรรมชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่หายสาบสูญไปหลังถูกเจ้าหน้าที่รัฐจับกุมตัวเมื่อปี 2557 อดิศร โพธิ์อ่าน ลูกชายของทนง โพธิ์อ่าน ผู้นำแรงงานที่ถูกอุ้มฆ่าเมื่อปี 2534 และซุยเม็ง เอิง ภรรยาของสมบัด สมพอน นักกิจกรรมพัฒนาชื่อดังชาวลาวที่ถูกลักพาตัวไปกลางกรุงเวียงจันทน์เมื่อปี 2555

ข้อมูลจากคณะทำงานองค์การสหประชาชาติในประเด็นการถูกบังคับและการสูญหายบันทึกว่า ตั้งแต่ปี 2523 ประเทศไทยมีกรณีการบังคับสูญหายแล้ว 82 กรณี ตกเฉลี่ยถึงทุกวันนี้เท่ากับมีคนถูกบังคับสูญหายปีละสองคน

ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายให้การทรมานและบังคับสูญหายเป็นอาชญากรรม แต่ไม่ใช่ไม่เคยมีความพยายาม ไทยได้ลงนามและให้สัตยาบันกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (UNCAT ลงนามเมื่อปี 2550  และให้สัตยาบันแล้วในปีเดียวกัน) และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (ICCPED ลงนามเมื่อปี 2555 ยังไม่ให้สัตยาบัน) หลังจากนั้นก็มีความพยายามยกร่าง พ.ร.บ. ป้องกันการซ้อมทรมานและบังคับสูญหาย ผ่านการตัดทอน เปลี่ยนแปลงจนกระทั่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีวาระพิจารณาร่างฯ ในวันที่ 7 มี.ค. 2562 แต่ท้ายที่สุดก็ถอนออกไป

ดู พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมาน-อุ้มหาย ยังดีกว่านี้ได้ ล่าสุด สนช. ถอดจากวาระพิจารณาแล้ว 

และเนื่องในโอกาสครบรอบการสูญหาย เรามารับรู้เรื่องราวของพวกเขากันอีกครั้ง

อังคณา นีละไพจิตร

อังคณา นีละไพจิตร

อังคณากล่าวว่า นับแต่วันที่สมชายหายไป เธอก็ดำเนินการติดตามอย่างจริงจัง ไปทุกที่ที่เชื่อว่ามีการฆ่าและทำลายศพไม่ว่าจะเป็นบริเวณที่ขนย้ายวัตถุระเบิดในค่ายทหาร ที่ทิ้งขยะในแม่น้ำที่เชื่อว่ามีการเอาเถ้าและชิ้นส่วนกระดูกของสมชายไปทิ้ง ไปศาลทุกวันที่มีการพิจารณาคดี ไปนั่งเผชิญหน้าจำเลยที่เป็นตำรวจห้าคน ในช่วงห้าเดือนระหว่างพิจารณาคดีในศาล มีหลักฐานว่ามีการนำเศษชิ้นส่วนของสมชายหลังถูกเผาในถังน้ำมัน 200 ลิตรไปทิ้งที่แม่น้ำแม่กลอง แต่พอพิสูจน์แล้วก็ไม่ใช่ของสมชาย แต่เป็นของใครก็ไม่ทราบ ซึ่งอาจเป็นบุคคลนิรนามซึ่งเขาอาจเป็นอีกคนที่ถูกทำให้หายไปโดยไม่ได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นใคร

14 ปี 'ทนายสมชาย นีละไพจิตร' ถูกอุ้มหาย 'อังคณา' แถลง 14 ปี ไร้ซึ่งความยุติธรรม

การบังคับสูญหายผ่านไป 15 ปี มีหลายสิ่งที่เปลี่ยนแปลงทั้งที่เป็นเรื่องดีและน่าเศร้าใจ เมื่อ ม.ค. 2555 รัฐบาลไทยได้ลงนามใน ICCPED ของ UN มีเจตจำนงเพื่อให้สัตยาบัน และมีกฎหมายภายในประเทศ แต่หลังจากนั้นสามปี ศาลฎีกาก็ยกฟ้องจำเลยที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจห้านายในคดีกักขังหน่วงเหนี่ยวและลักทรัพย์สมชาย คำพิพากษาระบุว่า ทนายสมชายถูกคนกลุ่มหนึ่งผลักขึ้นรถแล้วหายไปโดยไม่ทราบชะตากรรม แต่ศาลก็ไม่สามารถนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้ ศาลเห็นว่าพยานหลักฐานที่ขึ้นสู่ศาลไม่มีความน่าเชื่อถือ และไม่มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงมายืนยันความถุูกต้องของเอกสาร และครอบครัวผู้ถูกบังคับสูญหายนั้น ตามกฎหมายไม่มีสิทธิยื่นเรื่องเป็นผู้เสียหายแทนผู้ถูกบังคับสูญหายได้ คดีนี้จึงมีผู้เสียหายคนเดียวก็คือสมชาย นีละไพจิตร แต่เมื่อยังไม่มีศพก็คือยังไม่ตาย ไม่มีหลักฐานว่าเขาได้รับบาดเจ็บ เขาจึงต้องมาร้องต่อศาลด้วยตนเอง ญาติพี่น้องทำอะไรไม่ได้เลย ผลก็คือคดีสมชายไม่มีผู้เสียหายเพราะไม่รู้ว่าผู้เสียหายอยู่ที่ไหน

ในวันที่ 24 ธ.ค. 2559 ครม. มีมติให้สัตยาบัน ICCPED และให้กระทรวงยุติธรรมทำร่างกฎหมายป้องกันการซ้อมทรมานและบังคับสูญหายให้ สนช. พิจารณา แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ สนช. ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนหรือคนทำงานด้านการบังคับสูญหาย รวมถึงไม่รับฟังข้อเรียกร้องและความทุกข์ยากของเหยื่อและครอบครัว การเขียนกฎหมายจึงเหมือนการเขียนกฎหมายด้วยความกลัวและหวาดระแวงว่ากฎหมายนี้จะเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐ อาจขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ ทำให้สาระสำคัญเทไปที่การปกป้องเจ้าหน้าที่รัฐมากกว่าสิทธิ เสรีภาพของประชาชน ซึ่งอาจไม่สามารถป้องกันการทรมานและบังคับสูญหายได้จริง

กฎหมายที่ไทยจะร่างขึ้นจำเป็นจะต้องสอดคล้องกับ ICCPED ของ UN รัฐมีหน้าที่ต้องสืบสวนเรื่องผู้ถูกบังคับสูญหายจนกว่าจะรู้ที่อยู่และชะตากรรมของพวกเขา หากยังไม่พบเจอ รัฐไม่สามารถยุติการสืบสวนสอบสวนได้ นอกจากนั้น การยืนยันหลักไม่ผลักดันคนกลับไปสู่อันตรายเป็นอีกเรื่องที่น่ากังวลที่หายไปจากร่างฯ นี้ รวมทั้งการสร้างหลักประกันว่าไม่ว่าในสถานการณ์ใดก็ไม่เป็นเหตุให้บุคคลถูกทรมานหรือบังคับให้สูญหายได้ การเอาคนผิดมาลงโทษเป็นสาระสำคัญที่ไม่อาจละเว้นได้ แม้ผู้กระทำผิดจะเป็น เจ้าหน้าที่รัฐ กฎหมายจำเป็นต้องระบุถึงผู้เกี่ยวข้องทุกระดับ

อีกสิ่งที่ทำสำคัญกับเหยื่อคือสิทธิจะทราบความจริง เป็นสิ่งที่ทำให้ครอบครัวพ้นจากพันธนาการการไม่รับรู้ซึ่งชะตากรรม เธอและครอบครัวผู้สูญหายทุกคนยังรอคอยความยุติธรรม และยังคาดหวังว่า 7 มี.ค. ที่ สนช. กำหนดการพิจารณร่างฯ ไทยจะมีกฎหมายที่สอดคล้องกับอนุสัญญา ICCPED ของ UN แต่สุดท้ายก็ไม่มีใครทราบเหตุผลว่าทำไมร่างฯ ฉบับนี้จึงถูกถอดไป ดิฉันเห็นว่าสิ่งสำคัญที่สุดในการคลี่คลายอาชญากรรมของเจ้าหน้าที่รัฐ รัฐบาลต้องให้ความสำคัญ มีเจตจำนงทางการเมืองและเจตนาที่แน่วแน่ในการปกป้องประชาชน แม้ผู้กระทำผิดจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐก็ตาม

ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจ การดำเนินความยุติธรรมต่ออาชญากรรมจากเจ้าหน้าที่รัฐไม่เคยเกิดขึ้น และยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง การช่วยเหลือมีเพียงการสงเคราะห์ สิ่งที่เธอและเหยื่อต้องการคือการเปิดเผยที่อยู่ ความจริงและชะตากรรมของผู้ถูกบังคับสูญหาย นำคนผิดมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม มีการฟื้นฟูเยียวยา และสร้างหลักประกันว่าจะไม่มีใครถูกบังคับสูญหายโดยรัฐอีก รัฐต้องร่วมทุกข์กับเหยื่อ ไม่ใช่ให้เขาเรียกร้องความเป็นธรรมโดยรัฐไม่ใส่ใจ

หลังคดีสมชาย เธอคิดว่าไม่ควรมีใครถูกบังคับสูญหายอีก แต่กระนั้นก็ยังเห็นเหยื่อของการบังคับสูญหายจำนวนมากในสังคมไทย เธอก็คงเหมือนญาติผู้สูญหายอื่นๆ ที่ตลอดชีวิตอาจไม่พบความยุติธรรม แต่เชื่อว่าสิ่งที่ทำลงไปใน 15 ปีที่ผ่านมาจะทำให้คนรุ่นใหม่เห็นคุณค่าของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จะเห็นคนรุ่นใหม่ออกมาทวงถามความเป็นธรรมมากขึ้น และบอกว่าจะไม่ยอมให้รัฐใช้อำนาจเช่นนั้นอีกต่อไป

ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์

ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์

ปราณีกล่าวว่า วันนี้ครบรอบการหายตัวไปของสุรชัยครบสามเดือนพอดี สุรชัยเป็นคนนครศรีธรรมราช ชาว อ.ปากพนัง เป็นคนธรรมดา มีอาชีพช่างซ่อมวิทยุ โทรทัศน์ ต่อมาเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชน นักศึกษา สุรชัยที่อยู่ที่นครศรีธรรมราชได้รับทราบข่าวคราวก็ได้ร่วมทำกิจกรรมที่ภาคใต้ หลังจากนั้นสุรชัยก็มีบทบาทช่วยเหลือญาติพี่น้อง ชาวบ้านภายในพื้นที่ภาคใต้ จนกระทั่งถึงปี 2518 เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่นครศรีธรรมราช สุรชัยได้ร่วมกับนักศึกษา ประชาชน เรียกร้องเรื่องการได้รับแจกสิ่งของต่อผู้ประสบอุทกภัยที่ไม่เป็นธรรม จึงได้ชุมนุมที่ศาลากลางนครศรีและมีการเผาจวนผู้ว่าฯ สุรชัยถูกจับกุมตัวร่วมกับนักศึกษาและครูจากวิทยาลัยครูราชภัฏนครศรีธรรมราช ทั้งนี้เธอระบุว่าสุรชัยไม่ได้เป็นผู้ก่อเหตุ แต่เกิดจากมวลชนมาชุมนุมกันมากแล้วควบคุมฝูงชนไม่ได้

ต่อมามีการปล่อยตัวสุรชัยแล้วก็กลับมาเริ่มดำเนินคดีใหม่ในปี 2519 สุรชัยจึงต้องหลบหนีการจับกุมเข้าป่าไปเข้ากับสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่ อ.กรุงชิง จ.นครศรีธรรมราช จากนั้นก็ย้ายค่ายไปอยู่ที่บ้านช่องช้าง จ.สุราษฎร์ธานี ภายใน 5 ปีนั้นก็มีเหตุการณ์การเจรจาขอหยุดการรบโดยผู้ว่าฯ จ. สุราษฎร์ธานี ทางพรรคส่งสุรชัยเป็นผู้เจรจากับผู้ว่าฯ ที่สุราษฎร์ธานี แต่ไม่ทันเจรจา สุุรชัยก็ถูกทหารมาจับกุมตัวไป แล้วก็มีข้อตกลงว่าถ้าสุรชัยยอมรับว่ามามอบตัวก็จะไม่เอาผิดทางคดีอาญาที่เผาจวน และปล้นรถไฟ ฆ่าเจ้าหน้าที่ ซึ่งจุดนี้ปราณีระบุว่าสุรชัยไม่ได้ปล้นรถไฟและฆ่าเจ้าหน้าที่ เพียงแต่เขากำลังทำหน้าที่แถลงนโยบายของพรรคคอมมิวนิสต์ในที่เกิดเหตุ ทั้งนี้ สุรชัยถูกตัดสินเพราะไม่ยอมมามอบตัว ก็โดนทั้งคดีเผาจวนผู้ว่าฯ ติดคุก ศาลตัดสินจำคุก 23 ปี ส่วนปล้นรถไฟกับฆ่าเจ้าหน้าที่นั้นมีโทษประหารชีวิต

ภาพสุรชัยในนิทรรศการศิลปะหน้างาน

สุรชัยอยู่ในคุกตั้งแต่ปี 2524 เป็นนักโทษที่ดี และได้รับพระราชทานอภัยโทษมารวม 5 ครั้งด้วยกัน จากประหารชีวิตค่อยๆ ปรับลดลงมาจนได้รับอิสรภาพในปี 2539 ติดคุกรวม 16 ปี และแต่งงานกับปราณีในปี 2540 ในเดือน เม.ย. นี้จะครบรอบแต่งงาน 22 ปี สุรชัยเคยทำงานการเมืองท้องถิ่น เคยเป็น ส.จ. อ.ปากพนัง ต่อมาลงสมัคร ส.ว. แล้วไม่ได้รับเลือกตั้ง และในปี 2545 เคยลงสมัครนายก อบจ. แต่แพ้พรรคประชาธิปัตย์ จนเกิดเหตุการณ์ยึดอำนาจในปี 2549 สุรชัยได้เคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการอีกรอบ ให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะลาออก มีการปราศรัยหลายจังหวัด ช่วงนั้นตำรวจก็ไปบันทึกเสียงปราศรัยที่แต่ละเวทีแล้วไปแจ้งความว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ สุรชัยก็ยอมรับว่าให้ไปรวบรวมมาทุกเวที เพราะเขาจะไม่สู้คดีหมิ่นฯ สุดท้ายได้มาห้าคดี สุรชัยก็ยอมรับ ได้รับการตัดสิน 12 ปีครึ่ง ทำขอพระราชทานอภัยโทษพิเศษ ออกมาใน ต.ค. 2556 พอออกมาแล้วตำรวจยังแอบเอาอีกคดีที่ปราศรัยในปี 2552-53 มาแจ้งอีก สุรชัยเลยรับไม่ได้ เมื่อมีการยึดอำนาจในปี 2557 เลยต้องหลบไปอยู่ต่างประเทศ แล้วทางการก็มีหมายจับว่าสุรชัยนี้อยู่ที่ประเทศเพื่อนบ้าน มีการส่งหนังสือกดดันหลายครั้งแต่ประเทศเพื่อนบ้านก็บอกว่าหาตัวไม่เจอ แต่ทางการก็กดดันไปเรื่อยๆ

ผล DNA ยืนยัน ศพลอยแม่น้ำโขงเป็นคนสนิท อ.สุรชัย

ป้าน้อยแจ้งความ สภ.ท่าอุเทน เชื่อศพที่หายไปคือศพ 'สุรชัย แซ่ด่าน'

สุดท้ายก็มีการหายออกจากบ้านในสภาพที่ถูกอุ้มหาย ต่อมามีศพที่ถูกฆาตกรรมย่างโหดเหี้ยมไปเกยท่า จ.นครพนม 3 ศพ ศพแรกหาไม่เจอ ไม่มีการแจ้งความ แต่อีกสองศพคือคนที่อยู่ด้วยกันกับสุรชัย จึงไปแจ้งความที่ท้องที่ว่าสุรชัยถูกอุ้มฆ่า แต่ศพถูกลักพาหายไป จึงได้ไปร้องเรียนกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และต่อไปจะไปทำเรื่องร้องเรียนกับ UN และจะต้องไปแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปรามและ DSI ต่อไป

พิณนภา พฤกษาพรรณ

พิณนภา พฤกษาพรรณ

พิณนภากล่าวว่า บิลลี่เป็นชาวบ้านธรรมดาคนหนึ่ง ไม่มีตำแหน่งอะไร ตั้งแต่เด็กพยายามค้นคว้าหาความรู้ไปช่วยหมู่บ้านของตัวเองในเขตอุทยานที่ถูกประกาศทับด้วย พ.ร.บ.อุทยาน จนกระทั่งประมาณ 2554 ปู่คออี้ มีมิ (ผู้นำอาวุโสชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่เสียชีวิตเมื่อปี 2561) ที่อยู่บ้านบางกลอยบน และใจแผ่นดินก็ถูกเผาหมู่บ้าน ไม่มีอะไรเหลือเลย บิลลี่ก็หาทางเข้าไปช่วยปู่ให้ได้รับความยุติธรรมกลับมา บิลลี่ไปสมัครเป็นสมาชิก อบต. ที่บ้านบางกลอย ด้วยคิดว่าจะสามารถติดต่อเครือข่ายภายนอกมาให้คำปรึกษาได้โดยตรง แต่เป็นสมาชิก อบต. ได้แค่ปีกว่าเขาก็ถูกทำให้หายตัวไป

ขอให้ “รักจงเจริญ”: คุยเรื่องรักกับ ‘มึนอ’ ภรรยาบิลลี่และ 3 ปีที่ตามหาความเป็นธรรม

เมื่อวันที่  17 เม.ย. 2557 ตอนที่เรื่องเกิดใหม่ๆ ก็ไม่รู้ว่าบิลลี่หายไปอย่างไร เมื่อไร เธอรู้จากพี่ชายบิลลี่ในวันที่ 18 เม.ย. ช่วงบ่าย ถามว่าเห็นบิลลี่กลับมาหาครอบครัวไหม ก็บอกว่าไม่เห็น เลยถามพี่ชายว่าเกิดอะไรขึ้น พี่ชายบอกว่าบิลลี่ลงมาตั้งแต่ 17 เม.ย. 2557 และเอาน้ำผึ้งมาด้วย จากนั้นมีชาวบ้านอกว่าเขาถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว พี่ชายก็นึกว่าจะแค่ถูกจับและดำเนินคดี แต่กลับไม่เป็นไปตามอย่างที่คิด วันที่ 18 เม.ย. เธอโทรหาบิลลี่ไม่ติด ก็เลยโทรไปหาเพื่อนที่รู้จักทุกคนซึ่งไม่มีใครพบเจอบิลลี่ เช้าวันที่ 19 เม.ย. เธอพาพี่ชายและเพื่อนบิลลี่มาแจ้งความที่ สภ.แก่งกระจาน เจอเจ้าหน้าที่มีหนวดเคราเยอะๆ เขาบอกว่า คนถูกจับตัวไปไม่ใช่คนหาย จะมาแจ้งความได้อย่างไร

ช่วงบ่ายเธอก็มาอีกรอบ มาเจอเจ้าหน้าที่คนเดิมเขาก็บอกว่าช่วยประสานงานกับเจ้าหน้าที่อุทยานในพื้นที่ ก็ได้ข้อมูลว่าจับตัวได้จริง แต่ปล่อยตัวไปแล้ว และไม่ได้ทำอะไรบิลลี่เลย เธอเลยตอบเจ้าหน้าที่ไปว่า ปล่อยอย่างไร เขายังไม่เห็นกลับมาอยู่ครอบครัว เจ้าหน้าที่บอกว่าสิ่งนี้แหละสำคัญ แล้วให้เธอไปตามหาข้อมูลมาให้ ก่อนที่จะนำเรื่องไปออกสื่อทีหลัง เธอก็บอกว่าไม่กล้าหาข้อมูล ขอให้เจ้าหน้าที่หาให้ เจ้าหน้าที่ก็บอกว่าให้ไปคุยในห้องสอบสวน เจ้าหน้าที่ก็ถามตั้งแต่วันที่บิลลี่อยู๋กับครอบครัวเป็นวันสุดท้ายเมื่อไร เอาอะไรออกไปบ้าง

พอเล่าจบ เจ้าหน้าที่ก็ถามวนไปวนมา เธอก็งง ไม่รู้จะตอบอย่างไร พอพูดเสร็จเจ้าหน้าที่ก็ให้ออกมา แล้วเรียกพี่สะใภ้บิลลี่ไปอีกคน พี่สะใภ้ก็บอกว่าไม่กล้าเข้าไป ให้เราเข้าไปเป็นเพื่อน พี่สะใภ้ก็ขาสั่น บางอย่างพี่สะใภ้พูดไม่ได้เธอก็พูดแทน ต่อมา 23 เม.ย. ก็ทำเรื่องไปยังศาลากลาง จ.เพชรบุรี ยื่นหนังสือให้หัวหน้าอุทยานออกนอกพื้นที่เพื่อความโปร่งใสในการหาตัวบิลลี่ แต่ผู้ว่าฯ บอกว่าไม่มีหลักฐานเพียงพอจะให้เขาออกนอกพื้นที่ จากนั้นก็ไปยังกองพิสูจน์หลักฐาน พอไปก็มีนักข่าวตามเข้าไปด้วย แต่เจ้าหน้าที่ให้ออกไป ไม่ให้ทำข่าว ก็มีการเก็บดีเอ็นเอไว้ จากนั้นทนายก็พาไปยื่น ม.90 ว่าด้วยการคุมขังบุคคลโดยมิชอบที่ศาล ศาลชั้นต้นยกคำร้อง ศาลอุทธรณ์ยกคำร้อง ต่อมาศาลฎีกาก็ยกคำร้องเหมือนกันระบุว่าไม่มีหลักฐานเพียงพอ ปัจจุบันคดีบิลลี่ก็ยังอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ปปท.) กับกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือ DSI รับเป็นคดีพิเศษ แต่ยังไม่มีความคืบหน้าทั้งสำนักงาน ปปท. และ DSI เมื่อวาน DSI โทรมาถามว่าคอมพิวเตอร์บิลลี่มีอะไรเป็นหลักฐานไหม อย่างคลิปวิดีโอที่เผาบ้านปู่คออี้ หรือตอนเจ้าหน้าที่ใช้เลื่อยตัดไม้อยู่ เธอบอกว่าลบไปแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ก็บอกว่าวันศุกร์จะไปที่บ้านเธอเพื่อเอาไปตรวจ เธอก็บอกว่าไม่ให้คอมพิวเตอร์ จะตรวจก็ได้แต่จะขอเก็บไว้เป็นที่ระลึก

อดิศร โพธิ์อ่าน

อดิศร โพธิ์อ่าน

อดิศรกล่าวว่า ทนง โพธิ์อ่าน พ่อของเขาเป็นอดีตสมาชิกสภาแรงงานที่ผลักดันกฎหมายหลายอย่าง เช่น ค่าจ้างขั้นต่ำ ประกันสังคม จนรัฐบาลชาติชาย ชุณหะวันผลักดันให้เป็นกฎหมายในปี 2533 ทนงผลักดันให้กระทรวงแรงงานแยกตัวออกจากมหาดไทย เนื่องจากมองว่ากระทรวงแรงงานดูแลคนส่วนใหญ่ของประเทศ ในช่วงนั้นทนงมีอำนาจการต่อรองสูงและมีบทบาทมาก พอมีการรัฐประหารในปี 2534 คณะรัฐประหารเห็นแล้วว่าทนงมีบทบาทมากก็เลยยุบเลิกสหภาพแรงงานและรัฐวิสาหกิจ ออกกฎหมาย รสช. ฉบับ 54 ที่ลิดรอนสิทธิสหภาพแรงงาน เพื่อไม่ให้มีอำนาจการต่อรองกับรัฐบาล ทำไมทนงต้องค้านเต็มที่ เพราะขณะนั้นรัฐบาลต้องเกรงใจผู้นำแรงงาน เนื่องจากว่าสหภาพแรงงานและรัฐวิสาหกิจนั้นเป็นฐานที่เข้มแข็งที่สุด การหายไปก็เหมือนทนงถูกตัดขา ไม่สามารถต่อรองให้แรงงานได้ ทนงจึงต้องทุ่มสุดตัว

23 ปี ทนง โพธิ์อ่าน ผู้นำแรงงาน ที่หายไป หลังต้านรัฐประหาร รสช.

จนมาวันหนึ่ง หลังโดนเตือนแล้วเตือนอีก โดนตามประกบที่บ้าน ตอนนั้นอดิศรอายุ 17 ปี ก็มีคนมาดักรอหน้าบ้านตั้งแต่เช้าจนถึงตอนทนงออกจากบ้าน เพื่อดูว่าทนงจะขับรถคันไหนออกจากบ้าน จนบางครั้งเขาไปถามว่ามารออะไร ซึ่งพ่อก็รู้อยู่แล้วว่าเขารอมาอุ้ม

มีวันหนึ่ง อดิศรขับรถพาพ่อไปเยี่ยมแรงงาน ก็บอกพ่อว่ามีรถตามมาสองคัน ก็รู้ว่ารัฐบาลทหารทำอะไร และเคยแจ้งความไปแล้ว พ่อก็บอกว่าเปลี่ยนเส้นทางไปรัฐสภา แต่ก็โดนดัก ก็เลยบอกว่าเข้าไปสหภาพแรงงาน แล้วติดต่อแรงงานให้ไปปิดถนน หลังแรงงานปิดถนนล้อมรถเอาไว้ อดิศรก็ลงไปคุยกับคนที่อยู่ในรถทั้งสองคัน ในตอนนั้นยังเป็นวัยรุ่นก็กะจะชกหน้าแล้ว และมาพบว่าคนเหล่านั้นเป็นทหาร ซึ่งก็แก้ตัวไปว่าจะมาหาเพื่อนเฉยๆ

ในวันที่ 19 มิ.ย. ก่อนการประชุม ILO ทนงต้องไป แต่รัฐบาลขณะนั้นไม่ให้ไป ทางองค์กรแรงงานสากลก็ไม่ยอม ส่งตั๋วเครื่องบินมาให้ทนงไป แต่ในวันเดียวกันนั้นทนงก็ถูกอุ้มหายไป จากนั้นครอบครัวก็เหมือนตกนรก จากชีวิตที่ดี เคยใช้ชีวิตสบายก็พังทุกอย่างเพราะหัวหลักไม่อยู่ เขาไม่ได้เรียน น้องเป็นเนื้องอกในสมอง แม่ที่ทำอาชีพพยาบาลมีรายได้ 8,000 บาทย่อมไม่เพียงพอ เขากับน้องคนกลางไม่เรียนหนังสือ มีเพียงน้องคนเล็กได้เรียนหนังสือ และรัฐบาลในตอนนั้นไม่ได้ช่วยเหลือเยียวยาอะไรเลย  ล่าสุดมีกระทรวงยุติธรรรมติดต่อมาบอกว่ามีมติ ครม. จะช่วยเหลือ เขาก็เลยโวยไปเมื่อเดือนที่แล้วว่าไม่ต้องช่วยหรอก วันที่เขาลำบาก หิวข้าว ก็ควรเอาข้าวมาให้เขากิน ในวันนี้เอาข้าวมาให้ทำไม ที่เขาต้องการคือเอาคนผิดมาลงโทษ เอากระดูกพ่อมาฝัง

อดิศรระบุว่า คดีความของพ่อเขาไม่มีความคืบหน้า รัฐบาลเองก็ไม่ใส่ใจ ไม่ได้เยียวยา นี่แหละคือความชั่วร้ายของรัฐบาลไทยที่พยายามเบี่ยงเบนประเด็นตลอด นี่หรือลูกผู้ชาย ฆ่าประชาชนด้วยภาษีประชาชน ลูกผู้ชายแท้ๆ มันต้องตัวต่อตัว สุดท้ายนี้ อยากจะฝากครอบครัวนีละไพจิตรว่าตอนนี้เขาลงสมัคร ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ที่เขตดินแดง ห้วยขวาง ถ้าได้รับเลือกตั้งจะผลักดันกฎหมายต่อต้านการซ้อมทรมานและบังคับสูญหาย

ซุยเม็ง เอิง

ซุยเม็ง เอิง

ซุยเม็งกล่าวว่า เธอขอยืนหยัดกับอังคณาที่ตามหาความยุติธรรมและความจริงจากกระบวนการยุติธรรมไทย ขอยืนหยัดกับความเจ็บปวดของเธอที่ไม่ควรมีภรรยาหรือบุตรคนไหนต้องแบกรับการคนที่รักถูกทำให้หายไป และยืนหยัดให้กับความโกรธของการลอยนวลพ้นผิดที่ปฏิเสธความยุติธรรมให้กับเหยื่อด้วยช่องโหว่ของกฎหมาย ไม่ว่าจะมีพยาน หลักฐานหลายส่วน ในฐานะภรรยาของเหยื่อการถูกบังคับสูญหายแค่ไหนก็ตาม เธอเข้าใจว่าที่ผ่านมาครอบครัวมีความรู้สึกอย่างไรเพราะเธอเองก็มีความเจ็บปวดเช่นนั้นเช่นกัน  แต่ในเวลานั้น อังคณาได้แสดงให้คนไทยเห็นแล้วว่าไม่ได้ยอมแพ้และกลายเป็นเครื่องหมายของการต่อสู้กับการบังคับสูญหาย

ครบรอบ 5 ปี การหายตัวไปของ 'สมบัด สมพอน'

เมื่อสมบัดหายไปเมื่อ 7 ปีก่อน 15 ธ.ค. 2555 อังคณาได้ติดต่อเธอขณะที่กำลังสับสน เศร้าโศก ไม่รู้จะทำอย่างไร แต่การที่อังคณามานั่งจับมือก็ทำให้รู้สึกปลอดภัยขึ้น เมื่อวันนี้เธอมองเห็นสมาชิกครอบครัวอื่นๆ ที่เป็นเหยื่อของการบังคับสูญหายก็รู้สึกโกรธที่ความลอยนวลพ้นผิดต่ออาชญากรรมเช่นนี้ยังคงเกิดขึ้นในประเทศของพวกเราอย่างไม่ได้รับความใส่ใจใดๆ ในฐานะคนธรรมดา เราคาดหวังให้สถาบันรัฐปกป้องพวกเรา ไม่ใช่ทำอันตรายกับเรา ไม่ใช่ทำตัวเหมือนกับการหายตัวไปของคนที่เรารักเป็นเรื่องที่อยู่ตรงข้ามกับกฎหมาย ก็ต้องลองดูว่าคนที่พวกเรารักที่หายตัวไปได้ทำอะไร เขาละเมิดกฎหมายอะไร ทนายสมชาย สมบัด บิลลี่ และเหยื่อคนอื่นๆ เป็นใคร

ซุยเม็งระบุว่า สมชายเป็นทนายความมุสลิมและทนายสิทธิชื่อดัง และยังเป็นนักปกป้องสิทธิด้วย เขาสนับสนุนสิทธิทางกฎหมายกับประชาชนมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และรณรงค์ให้ยุติการทรมาน ก่อนถูกบังคับให้สูญหายไป สมบัดเป็นผู้นำชุมชนที่ได้รับการนับถือมาก เป็นคนรณรงค์อย่างแข็งขันเพื่อการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสิทธิที่ดินในประเทศลาว บิลลี่เป็นนักกิจกรรมกะเหรี่ยงชื่อดัง ต่อสู้เพื่อสิทธิของกะเหรี่ยงเพื่อให้พวกเขาสามารถเข้าถึงสิทธิที่ดินและทรัพยากรในแผ่นดินของบรรพบุรุษเคยอยู่มา แล้วคนเหล่านี้เป็นอาชญากรอย่างไรหรือ พวกเขาเป็นเพียงคนที่มีมโนธรรม ยืนหยัดต่อสู้เพื่อสิทธิของคนที่ไม่มีเสียงในสังคม นั่นคืออาชญากรรมของการบังคับสูญหาย นั่นคือเหตุผลที่เธอ ในฐานะผู้สูญเสียต้องออกมาส่งเสียงต่อไป เพื่อที่จะให้ความจริงและความยุติธรรม และสิ่งที่เกิดขึ้นกับครอบครัวของเราและเหยื่อได้รับการแก้ไข

งาน 15 ปีสมชายและเสียงจากผู้สูญหาย เป็นการร่วมจัดของคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) สถานทูตเนเธอร์แลนด์ และสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net