Skip to main content
sharethis

28 ส.ค.ที่ผ่านมา สืบพยานจำเลย 4 ปาก คดีอุ้มฆ่า 'บิลลี่' พอละจี รักจงเจริญ นักกิจกรรมชาวบางกลอย แต่ไม่มีอัยการเข้าร่วม เหตุติดนัดคดีอื่น ทนายโจทก์ร่วม คาดอาจไม่ส่งผลต่อรูปคดีมากนัก เนื่องจากศาลพิเคราะห์คำให้การและสำนวนเป็นหลัก ส่วนคำพิพากษาเสร็จสิ้นภายในปลายเดือน ก.ย. 66

 

สืบเนื่องจากเมื่อ 28 ส.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) ระหว่าง 28, 30-31 ส.ค. 2566 ศาลคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลางมีการสืบพยานฝ่ายจำเลย ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี และพวก รวม 4 ปาก ข้อหาร่วมกันฆ่าคนอื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน จากกรณีอุ้มฆ่า 'บิลลี่' พอละจี รักจงเจริญ นักกิจกรรมชาวกะเหรี่ยงปกาเกอะญอ บ้านบางกลอย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

29 ส.ค. 2566 พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ทนายความจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และในฐานะทนายความร่วมฝั่งโจทก์ ให้สัมภาษณ์ระบุว่า การสืบพยานโจทก์ครั้งนี้มีความสำคัญ เนื่องจากเป็นการซักถามพยานฝ่ายจำเลยทั้ง 4 คนที่อยู่กับบิลลี เป็นกลุ่มสุดท้าย ก่อนที่บิลลี จะหายตัวไป อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นในการสืบพยานวานนี้คือ ไม่มีอัยการซึ่งเป็นโจทก์ฟ้องจำเลย เข้าร่วมกับการสืบพยานดังกล่าว ซึ่งพรเพ็ญ สำทับว่า เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจ

ทนายความจาก 'CrCF' ระบุว่า เรื่องนี้ทราบเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยทางอัยการแจ้งศาลว่าติดนัดคดีอื่น จึงไม่สามารถมาร่วมสืบพยานคดีบิลลี่ได้ ซึ่งทางเราก็ไม่ได้ค้านอะไร เพราะว่าทางอัยการที่มาร่วมไต่สวนจำเลยอาจจะไม่ถามพยานเลยก็ได้ จึงผ่านกระบวนการพิจารณาไปได้โดยการถามคำถามโดยศาลเป็นหลัก เพราะว่าเป็นระบบไต่สวน

ขณะที่ตัวแทนโจทก์อื่นๆ ที่ต้องการซักถามพยาน ต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อน ในส่วนของ 'มึนอ' พิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาของบิลลี่ ในฐานะตัวแทนโจทก์ร่วม และได้เข้าฟังการสืบพยาน มีข้อซักถามในหลายประเด็น อาทิ ถึงแรงจูงใจของฆาตกรรมบิลลี และข้อพิรุธในคำให้การของจำเลยทั้ง 4 ทั้งเรื่องสัญญาณโทรศัพท์ ระยะเวลาที่ปล่อยตัวบิลลี่ หรือแม้กระทั่งทำไมเจ้าหน้าที่อุทยานที่ควบคุมตัวบิลลี่ และปล่อยตัวแล้ว ทำไมไม่บันทึก ไปจนถึงการเผาบ้านเรือนของชาวบ้าน และความเชื่อมโยงของคดีสังหาร ทนายความทัศน์กมล โอบอ้อม ที่เคยออกมาเรียกร้องความยุติธรรมให้ชาวบ้านบางกลอย

สำหรับการไม่เข้าร่วมสืบพยานของอัยการนั้นจะส่งผลกระทบต่อคดีหรือไม่นั้น ทนายความจากมูลนิธิ CrCF กล่าวว่า อาจไม่มีผลมากนัก เนื่องจากคดีนี้เป็นระบบไต่สวน โดยการพิจารณาคดีจะยึดเอาตามคำให้การที่ดำเนินการมาแล้วทุกขั้นตอน ทั้งในชั้นฝ่ายสืบสวนคดีพิเศษ (DSI) และสำนวนต่างๆ ที่ได้ดำเนินการมาก่อนหน้านี้ ถ้ามีอะไรที่ศาลสงสัย ศาลจะสอบถามเพิ่มเติม ดังนั้น บทบาทของทนายความทั้งหมด อัยการทนายของรัฐ ทนายโจทก์ร่วม หรือทนายจำเลย จึงมีน้อยมาก อย่างไรก็ตาม การไม่เข้าร่วมสืบพยานของอัยการ อาจจะเป็นเชิงสัญลักษณ์ในทางหนึ่งว่า ไม่ได้ติดใจคำให้การของจำเลยทั้ง 4 คน หรือไม่ อันนี้ประเมินไม่ถูกเหมือนกัน

พรเพ็ญ กล่าวว่า การสืบพยานครั้งนี้ถือเป็น 3 นัดสุดท้ายก่อนนัดฟังคำพิพากษา หลังจากนี้ศาลจะอนุญาตใหั้จำเลย และโจทก์ ส่งแถลงการปิดคดีภายใน 10 วัน หรือประมาณ 10-11 ก.ย. 2566 และคาดว่าคำพิพากษาจะเสร็จสิ้นภายในสิ้นเดือน ก.ย. 2566 เนื่องจากต้องมีคำพิพากษาก่อนการโยกย้ายผู้พิพากษาภายใน 1 ต.ค. 2566 ส่วนกำหนดอ่านคำพิพากษานั้นยังไม่ทราบว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร 

ผู้สื่อข่าว The Reporters รายงานว่า 'มึนอ' พิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาของบิลลี่ ให้สัมภาษณ์ถึงความรู้สึกหลังเข้าฟังการสืบพยาน ระบุว่า จริงๆ เธอไม่ว่าง แต่ก็จะมาฟังสืบพยาน เพราะว่าอยากเป็นตัวแทนครอบครัว วันนี้เธอสวมเสื้อกะเหรี่ยงที่มีภาพปู่คออี้ และบิลลี่ มาฟังด้วยว่าศาลว่าอย่างไรบ้าง ใครพูดจริงเท็จแค่ไหน ตอนนี้ฟังแล้วรู้สึกว่าพยานทุกคนยังพูดไม่ชัดเจน อยากฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากไม่ได้รับความเป็นธรรม อยากให้เข้ามารับผิดชอบต่อเรื่องที่เกิดขึ้น 

สุดท้ายนี้ มึนอ ขอฝากคำถามให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ชี้แจงข้อสงสัยและให้คำตอบกับคำถามเหล่านี้ ได้แก่ 1.เวลาเจ้าหน้าที่รัฐจับกุมตัวแล้วใช้อำนาจใดหรือกฎหมายใดปล่อยตัวผู้กระทำผิด 2.เหตุใดผู้กระทำผิดได้รับการปล่อยตัวจึงไม่แจ้งให้ญาติหรือครอบครัวได้รับทราบ และ 3.ในกรณีของบิลลี่ พอละจี จะมีใครหรือหน่วยงานใดเข้ามารับผิดชอบหรือไม่

ท้ายที่สุด พรเพ็ญ มองว่า คดีของบิลลี่ จะเป็นหมุดหมายที่สำคัญต่อสังคม เนื่องจากคดีนี้เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง และเคยถูกดำเนินคดีมาหลายต่อหลายครั้ง ซึ่งตลอดมากระบวนการยุติธรรมไทยไม่เคยสร้างความกระจ่างว่าใครคือผู้กระทำผิดคดีอุ้มหายของบิลลี่ และแม้ว่าจะมีการออกกฎหมายเพิ่มเติม ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการบังคับสูญหายและซ้อมทรมาน แต่ฟันเฟืองยุติธรรมยังไปต่อไม่ได้ ถ้าหากกระบวนการยุติธรรมยังไม่เอื้อให้สังคมนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ

การปล่อยให้ผู้กระทำผิดลอยนวลทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง ถ้าเมื่อมันหยุดไม่ได้ ก็จะมีความรุนแรงเกิดขึ้นอีก ตัวอย่างของการกระทำของเจ้าหน้าที่อุทยาน 1 กลุ่ม ที่ทำแล้วรอดความผิดถ้าเขากระทำผิดจริง มันจะก็เป็นตัวอบ่างให้กลุ่มชาติพันธุ์ในสังคมไทยมีบางส่วนจำยอม และไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ทำให้ความขัดแย้งบนพื้นฐานของทรัพยากรมันก็ยังดำรงอยู่โดยอำนาจรัฐ และไม่มีอะไรทัดทานได้ 

คดีนี้สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2557 พอละจี รักจงเจริญ ได้ถูก ชัยวัฒน์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ในเวลานั้น กับพวกจับกุม และถูกเอาตัวไป หลังจากนั้นไม่มีใครทราบชะตากรรมของบิลลี่อีกเลย จนกระทั่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และอัยการ ได้ร่วมกันติดตามสอบสวนคดีดังกล่าวจนได้พยานหลักฐานเพิ่มเติมอันควรเชื่อได้ว่า กลุ่มเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ที่จับกุมบิลลี่ในวันนั้น ได้ร่วมกันกระทำผิดต่อบิลลี่ ในคดีร่วมกันฆาตกรรมอำพรางโดยไตร่ตรองไว้ก่อน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net