Skip to main content
sharethis

กลุ่มสิทธิมนุษยชนกะเหรี่ยง (Karen Humen Rights Group หรือ KHRG) เผยแพร่รายงานระบุว่า หลังจากที่เกิดการรัฐประหารในพม่าเมื่อปี 2564 เป็นต้นมา มีผู้คนเผชิญการใช้กำลังลักพาตัวในช่วงที่มีปฏิบัติการทางทหารโดยกองทัพเผด็จการทหารในพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของพม่า และมีผู้คนสูญหายมากขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่มีใครทราบข่าวว่าพวกเขาไปอยู่ที่ไหน

รายงานของกลุ่มสิทธิมนุษยชนกะเหรี่ยง (KHRG) ที่ชื่อว่า "อาชญากรรมการบังคับให้สูญหายและผลกระทบของมันต่อชุมชนชนบทของภาคพื้นตะวันออกเฉียงใต้ของพม่า นับตั้งแต่มีการรัฐประหารปี 2564" เน้นนำเสนอคำให้การจากเหยื่อและครอบครัวของพวกเขาที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับให้สูญหายในรัฐกะเหรี่ยง เป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงผลกระทบทางลบที่เกิดขึ้นภายในชุมชน

Saw Nanda Hsue ผู้ประสานงานฝ่ายรณรงค์ของ KHRG กล่าวว่า "การบังคับให้บุคคลสูญหายในหมู่ประชากรท้องถิ่นนั้นถูกจัดประเภทออกเป็นสองประเภท ประเภทแรก คือ บุคคลจากชุมชนท้องถิ่นผู้ที่สนับสนุนทางการเมืองต่อกลุ่มติดอาวุธในการต่อต้านสภากองทัพพม่า พวกเขาถูกจับกุมตัวและทำให้สาบสูญโดยไม่มีข้อมูลใดๆ ครอบครัวของพวกเขาไม่ทราบว่าพวกเขายังคงมีชีวิตอยู่หรือเสียชีวิตไปแล้ว"

Saw Nanda Hsue อธิบายต่ออีกว่า "ในประเภทที่สองนั้น เกิดขึ้นในช่วงปฏิบัติการทางทหารจากสภากองทัพพม่า มีการลักพาตัวพลเรือนไปเป็นโล่มนุษย์ และในบางครั้งพวกเขาก็ถูกสังหาร ในบางกรณีพวกเขาก็ได้รับการปล่อยตัว ตัวการที่ก่อเหตุหลักๆ ในการละเมิดสิทธิมนุษยชนเช่นนี้คือทหารของสภากองทัพพม่า"

KHRG ยืนยันว่าการบังคับให้สูญหายที่กระทำโดยสภากองทัพพม่าเทียบได้กับเป็นอาชญากรรมสงคราม อาชญากรรมเช่นนี้จะเกิดขึ้นต่อไปถ้าหากยังมีการลอยนวลไม่ต้องรับผิด จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องมีปฏิบัติการจากชุมชนในระดับท้องถิ่น, ภูมิภาค และระดับนานาชาติ ทาง KHRG ระบุเรียกร้องให้หน่วยงานเหล่านี้ทำความเข้าใจกับสถานการณ์และแสวงหามาตรการที่จะทำให้ผู้ก่อเหตุต้องรับผิดชอบ

Saw Nanda Hsue ระบุว่า พวกเขาได้รายงานสถานการณ์เรื่องการอุ้มหายในพื้นที่กะเหรี่ยงนับตั้งแต่ที่มีการรัฐประหารครั้งล่าสุด เพื่อให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ต่อประชาคมโลก และบุคคลอื่นๆ ได้รับรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อที่จะทำให้คนหันมาสนใจเรื่องสถานการณ์ที่เลวร้ายของผู้ที่ถูกบังคับให้สูญหาย

มีการตั้งข้อสังเกตจาก Saw Nanda Hsue อีกว่าบุคคลที่ถูกใช้กำลังจับกุมและสังหารมักจะเป็นคนอายุยังน้อย โดยมีผู้ก่อเหตุหลักๆ คือ สภากองทัพพม่า แต่ก็มีรายงานจากพื้นที่ๆ มีการปกครองแบบผสมทั้งจากฝ่ายกองทัพเผด็จการและฝ่ายกองกำลังต่อต้าน ว่ามีบางเหตุการณ์ที่กลุ่มติดอาวุธอื่นๆ รวมถึงกลุ่มติดอาวุธฝ่ายต่อต้านเผด็จการ มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย

KHRG รายงานว่า มีประชาชนรวม 159 ราย ถูกบังคับคุมขัง, ทารุณกรรม และสังหาร โดยที่พวกเขาถูกลักพาตัวจาก กองกำลังติดอาวุธสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ เคเอ็นยู (KNU) ในทางตะวันออกเฉียงใต้ของพม่า ซึ่งตัวเลขจริงของเหยื่อการอุ้มหายในระดับภาคพื้นดินน่าจะมีมากกว่านี้ โดยที่องค์กรสิทธิมนุษยชนต้องเผชิญกับปัญหาในการสำรวจและการเก็บข้อมูลเนื่องจากข้อกังวลด้านความมั่นคงในพื้นที่เหล่านั้น

จากสถานการณ์เช่นนี้ทำให้ทาง KHRG เรียกร้องให้ประชาคมนานาชาติ เอ็นจีโอ รัฐบาลในระดับภูมิภาค และรัฐบาลต่างชาติ เลิกให้ความชอบธรรมแก่เผด็จการทหารพม่า พวกเขาเรียกร้องให้นานาชาติประสานงานร่วมกันในการต่อต้านอาชญากรรมที่ก่อโดยสภากองทัพพม่าและกลุ่มติดอาวุธ

KHRG ยังได้เรียกร้องให้มีการประสานงานและร่วมมือกันกับภาคประชาสังคมและองค์กรชุมชนในการให้บริการที่เข้าถึงได้สำหรับเหยื่อที่ถูกบังคับให้สูญหายและครอบครัวของพวกเขาในพื้นที่ชนบท รวมถึงการเจรจาต่อรองกับผู้ก่อเหตุเพื่อให้มีการปล่อยตัวเหยื่อ นอกจากนี้แล้วทาง KHRG ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของมาตรการด้านการทูต, การเมือง และมาตรการในทางเทคนิคเพื่อที่จะคุ้มครองผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชนไม่ให้ถูกโจมตี

จากบัญชีรายชื่อที่ KHRG รวบรวมไว้แสดงให้เห็นว่า บุคคลที่ถูกบังคับจับกุม, ถูกสังหาร และถูกทำให้สูญหาย ในพื้นที่ๆ KNU ปกครองอยู่นั้นมาจาก Dooplaya เป็นส่วนใหญ่คือ 52 ราย รองลงมาคือ Myeik-Dawei อยู่ที่ 46 ราย และเขตพื้นที่อื่นๆ เช่น Nyaunglebin 33 ราย, Doo Tha Htoo 10 ราย, Mutraw 10 ราย และ Taungoo 8 ราย

องค์กรสิทธิมนุษยชนกะเหรี่ยง (KHRG) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2535 เน้นทำงานในเรื่องการสอดส่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ของพม่า องค์กรนี้ทำงานเพื่อผลักดันให้หน่วยงานทั้งในประเทศและหน่วยงานระดับนานาติเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับผู้ที่เผชิญกับการละเมิดสิทธิ


เรียบเรียงจาก
Karen Human Rights Reports Increasing Cases of “Disappeared” while in Custody Southeastern Myanmar, BNI Online, 10-11-2023

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net