Skip to main content
sharethis

ติดตามเสียงสัมภาษณ์ได้ที่ ประชาไทใส่เสียงรายวัน ตอน สัมภาษณ์ โซรยา จามจุรี: เสียงผู้หญิงชายแดนใต้ บทบาทที่เพิ่มขึ้นในการเยียวยา และฟื้นฟูชุมชน (2 มีนาคม 2553) 

สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนใต้นั้น ถึงวันนี้ก็นับได้ว่ายืดเยื้อเรื้อรังมาเป็นเวลา 7 ปีแล้ว ผู้เสียชีวิตไปแล้วหลายพันคน ยังไม่นับผู้บาดเจ็บและสูญเสียอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสูญเสียกำลังหลักในบ้าน ซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัว พ่อ ลูกชาย หรือพี่ชาย และจากความสูญเสียนี้เอง ทำให้คนที่อยู่ข้างหลังซึ่งเป็นผู้หญิงเริ่มมีบทบาทในบ้านและในชุมชนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทในการเยียวยาและฟื้นฟูชุมชน

ประชาไทใส่เสียงสัมภาษณ์โซรยา จามจุรี นักวิชาการสำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งเริ่มทำงานกับกลุ่มผู้หญิงในพื้นที่ชายแดนใต้มาตั้งแต่ 2547 นอกจากจะเป็นนักวิชาการแล้ว โซรยาก็ยังทำหน้าที่ ผู้ประสานงานในโครงการเยียวยาครอบครัวผู้สูญเสียชีวิตและบาดเจ็บจากกรณีความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ศูนย์การศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล  ผู้ประสานงานกลุ่มเพื่อนครอบครัวผู้สูญเสีย นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยเชิงปฏิบัติการ ซึ่งนำเสนอวิถีชีวิตและมุมมองในชายแดนใต้ผ่านรายการวิทยุที่เรียกว่า เสียงจากผู้หญิงชายแดนใต้ เป็นการสะท้อนแง่มุมอื่นๆ ที่อยู่ในวิถีชีวิตของคนชายแดนใต้ ซึ่งไม่ได้มีแค่เรื่องความรุนแรงหรือการสูญเสียเท่านั้น

โซรายาบอกว่า แต่เดิมนั้นผู้หญิงก็มีบทบาทอยู่แล้วในครบครัวหรือในชุมชน แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้น ผู้หญิงก็ต้องขยับบทบาทออกมาทำงานในสังคมที่กว้างมากขึ้น เนื่องจากผู้หญิงไม่ได้เป็นเป้าโดยตรงของสถานการณ์ความรุนแรง


โซรยา จามจุรี
ภาพจาก http://www.deepsouthwatch.org

“ก็คือว่าผู้หญิงรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้เป็นเป้าโดยตรงของสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่และมีความรู้สึกว่าตนเองนั้นมีความปลอดภัยมากกว่าผู้ชาย เทียบกับผู้ชายดังนั้นพอเรารู้สึกอย่างนี้เราก็เลยคิดว่าเรามีที่ทางที่จะขยับงานทางสังคมหรือแม่แต่งานการสื่อสารการส่งเสียงสู่สาธารณะได้ดีและอาจจะได้มากกว่าผู้ชาย เพราะว่าผู้ชายเขารู้สึกว่าไม่ปลอดภัยถ้าจะทำอย่างนั้น และอีกอย่างหนึ่งก็คือว่าผู้หญิงมีเรื่องราวที่จะสื่อสารเยอะแยะเต็มไปหมด โดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งเขาจะมีความชอบธรรมมากที่จะสื่อสารถึงปัญหาที่เป้นความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับชีวิตของเขาและผลกระทบที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับบอกว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นต้องหยุดแล้ว และก็มุมมองเรื่องอื่น ๆ โดยเฉพาะความมั่นคงของชีวิตด้วยโดยเฉพาะเรื่องของสันติภาพ อันนี้จะมีความชอบธรรม มากกว่าผู้หญิงผู้ชายทั่วไปเพราว่าเขาโดนกระทำโดยตรงเพราะฉะนั้นเขามีความชอบธรรมมากมีน้ำหนักที่จะบอกว่าหยุดได้แล้วความรุนแรง”

จากการตั้งข้อสังเกตของโซรยา ผู้หญิงที่ทำงานในชุมชนที่มีบทบาทมากขึ้นนั้นเป็นงานที่เปิดพื้นที่ใหม่ๆ ภายหลังสถานการณ์ความรุนแรงปะทุขึ้นอีกรอบนักจากปี 2547 เป็นต้นมา

“ถ้าเป็นประเด็นก่อนสถานการณ์ผู้หญิงจะมีบทบาทในเรื่องกลุ่มอาชีพ การศึกษา สุขภาพอนามัย เรื่องของงานพัฒนาทั่วไป แต่พอเกิดสถานการณ์บทบาทของผู้หญิงเหล่านี้ก็ยังทำอยู่ แต่ว่าก็มีพื้นที่ใหม่ๆ มีมิติใหม่ๆ ที่ผู้หญิงเข้ามาเกี่ยวข้องและมีบทบาทมากขึ้นอาจจะมากกว่าผู้ชายด้วยซ้ำไป อย่างที่บอกว่าผู้ชายรู้สึกไม่ปลอดภัยเช่น เรื่องของสิทธิมนุษยชน งานสันติวิธี ซึ่งเป็นพื้นที่ใหม่ๆ ที่มีขึ้นหลังเกิดสถานการณ์ หรืออย่างเช่นงานการเยียวยาผู้ประสบเหตุรุนแรงจากสถานการณ์ นี่เป็นพื้นที่ใหม่ๆ ที่ผู้หญิงมามีบทบาทในการขับเคลื่อนซึ่งจะมีผู้หญิงกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยที่เข้ามามีบทบาทขับเคลื่อนงานเหล่านี้ประมาณมากกว่า 20 กลุ่ม ซึ่งเมื่อก่อนไม่เคยมีกลุ่มผู้หญิงที่ทำงานด้านนี้”

โซรยากล่าวว่ามีตัวอย่างกลุ่มผู้หญิงหลากหลายกลุ่มที่พัฒนาบทบาทของตัวเองขึ้น หลังจากเยียวยาและฟื้นฟูตนเองจากผลกระทบของความรุนแรงแล้ว จึงผันตัวเองออกสู่การเยียวยาชุมชน

“มีหลายกลุ่มค่ะ เช่นกลุ่มผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบที่เราเองมีส่วนเข้าไปเยียวยา ฟื้นฟูและส่งเสริมศักยภาพของเขาเพื่อให้เขามีการจัดตั้งกลุ่มและช่วยเหลือเยียวยากันเองภายในกลุ่ม และใช้กลุ่มเป็นตัวในการขยับงานด้านอื่นๆ เช่นการพัฒนา การส่งเสริมอาชีพ รายได้ งานการเรียกร้องสิทธิต่างๆ ที่ผู้ได้รับผลกระทบพึงจะได้ และงานการสื่อสารด้วย เหมือนโครงการเสียงจากผู้หญิงชายแดนใต้ที่สืบเนื่องมาจากการที่เราทำงานกับผู้หญิงทีได้รับผลกระทบมาตั้งแต่ปี 2547 และเรารู้สึกว่าเขาเข้มแข็งแรงพอผ่านกระทวนการฟื้นฟูเยียวยารู้สึกปลอดภัยเพียงพอ รู้สึกมั่นคงเพียงพอที่จะบอกกล่าวสื่อสารสู่สาธารณะ นี่ก็เป็นพัฒนาการที่เราทำงานอยู่"

จากทิศทางบทบาทของผู้หญิงในพื้นที่ชายแดนใต้ผ่านการบอกเล่าของโซรยา แนวโน้มการทำงานของผู้หญิงชายแดนใต้พูดง่ายๆ คือมีจุดเปลี่ยนจากความรุนแรง เมื่อปี 2547 นั่นเอง

“อย่างที่บอกว่าผู้หญิงเดิมก็มีบทบาทอยู่แล้ว แต่พอเกิดสถานการณ์จะถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนก็ได้ เพราะว่ามันมีงานใหม่ๆ ที่ผู้ชายเขาไม่กล้าจับ แล้วผู้หญิงมาจับมาขยับอยู่หลายงาน และมีโครงการหลังสถานการณ์ที่เป็นโครงการกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมศักยภาพผู้หญิงมาก ทั้งจากกลุ่มองค์กรภายนอก นี่ก็มีส่วนช่วยอย่างมากในการส่งเสริม สร้างศักยภาพความรู้ความสามารรถให้กับผู้หญิงในพื้นที่”

อย่างไรก็ตาม การทำงานโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ที่ค่อนข้าละเอียดอ่อน ย่อมมีอุปสรรคเช่นกัน และโซรยาบอกว่าอุปสรรคที่สำคัญก็คือการรักษาความปลอดภัยและรักษาความสมดุลของตัวเองท่ามกลางสถานการณ์ขัดแย้งที่มีฝักฝ่ายนั่นเอง

“หนึ่งคือผู้หญิงก็ต้องระมัดระวังตัวเพราะเราอยู่ท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรงความหวาดระแวง และอยู่ตรงกลางเขาควาย เราต้องระวังเรื่องความปลอดภัยและก็ต้องรักษาความเป็นกลาง ความสมดุลของตัวเอง ของงานที่ตัวเองทำอยู่เพราะไม่เช่นนั้นเราจะเสี่ยงเราจะอันตรายและราไม่ปลอดภัย เคยมีเหตุที่รักษาดุลไม่ได้ถูกมองว่าเป็นฟากใดฟากหนึ่งและเป็นอันตรายถึงชีวิตบางทีโดนยิงก็มี ต้องรักษาความเป็นกลางของตัวเองและงานของตัวเอง แต่เป้าก็คือต้องเพื่อประโยชน์ของพี่น้องให้ได้ อันนี้จะยากลำบากกว่าสถานการณ์ปกติที่เราอาจจะไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องนี้มากนัก

“และเรื่องที่สองก็คือเนื่องจากสถานการณ์นั้นมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นรายวันทุกวันผู้เสียชีวิตมากกว่าสี่พันราย บาดเจ็บแล้วเป็นหมื่น ดังนั้นเหมือนกับเราอยู่กับเรื่องที่เป็นเฉพาะหน้า เราตะลุมบอนอยู่กับปัญหาเฉพาะหน้าจนบางทีเราไม่ได้มีโอกาสเงยหัว เงยหน้าเงยตาออกไปมองว่าเราจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร เราจะขับเคลื่อนงานในอนาคตเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงของการมีชีวิตที่ดีกว่า ของผู้คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร อันนี้คือข้อจำกัดเป็นอย่างมาก

“แต่ถามว่างานที่ทำอยู่สำคัญไหม ก็สำคัญนะคะ เพราะเป็นงานที่พยายามทำให้ตัวเอง ลูกหลานผู้หญิงดูแลอยู่เข้มแข็งแข็งแรงกับการศึกษา กับเรื่องของอาหาร เรื่องสุขภาพอนามัยที่เป็นงานพื้นฐานเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานที่ผู้หญิงต้องทำ เวลาที่สามีตาย ชีวิตที่เหลือผู้หญิงกับเด็กผู้หญิงที่เป็นแม่ก็ต้องดูแลลูกเรื่องการศึกษา เรื่องสุขภาพอนามัย ต้องดูแลเรื่องหลายอย่าง แต่ที่สำคัญคือเรื่องการศึกษาอย่างที่บอกเพื่ออนาคตที่ดีกว่าของลูกและของตัวเอง นี่เป็นงานสำคัญของผู้หญิงที่ทำอยู่ต้องทำตรงนี้ให้แข็งแรงมากที่สุดเพื่ออนาคต

“และก็อีกเรื่องคือเรื่องอาชีพ รายได้ นี่เป็นงานที่ผู้หญิงต้องแบกรับโดยเฉพาะถ้าเกิดว่าสามีตายไปแล้วผู้หญิงต้องดูแลคนเดียวก็ต้องหาอาชีพ หารายได้ ทั้งอาชีพหลักที่ตัวเองมีอยู่และอาชีพเสริม ผู้หญิงบางคนก็ตอนเช้ากรีดยาง พอกลับมาบ้านก็ดูแลลูกทุกอย่างเสร็จแล้วมีเวลาก็ต้องหาอาชีพเสริม ปักผ้าบ้าง ปักผ้าคลุมผม เย็บผ้าบ้าง หรือทำอาชีพอย่างอื่นบ้าง นี่คืองานของผู้หญิงที่จะต้องเสริมสร้างความเข้มแข็ง ต้องรักษาชีวิตของตัวเองรักษาชีวิตของครอบครัวลูกหลานตัวเองให้อยู่รอดปลอดภัยภายใต้สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น”

เมื่อถามว่าอะไรที่จะเป็นตัวที่แก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน หรือทำให้ชุมชนเกิดสันติภาพได้อย่างยั่งยืน โซรยาเชื่อว่าสันติภาพนั้นมีหลากหลายมิติ และสิ่งที่ผู้หญิงหลายกลุ่มในจังหวัดชายแดนใต้ทำอยู่ขณะนี้นั้น คือการสร้างสันติภาพในระยะยาวให้แก่พื้นที่ซึ่งเป็นบ้านเกิดเรือนนอนของพวกเธอนั่นเอง

“คือถ้าพูดถึงสันติภาพในทัศนะของตัวเองแล้วไม่ได้มองว่าสันติภาพมันหมายถึงแค่หยุดยิงหยุดระเบิดหรือหยุดเหตุรุนแรงรายวัน แต่ความหมายมันต้องมากกว่านั้น สันติภาพหรือความมั่นคงที่จะเกิดขึ้นในชีวิตในครอบครัวหรือในชุมชนในสังคมต้องหมายรวมถึงงานที่ผู้หญิงทำอยู่แล้วด้วยและทำได้อย่างเข้มแข็งเช่น มันต้องหมายถึงความมั่นคงในเรื่องอาชีพ รายได้ ปากท้อง เรื่องอาหาร เรื่องสุขภาพอนามัย และอัตลักษณ์ด้วย ที่จะต้องยอมรับในอัตลักษณ์ของคนในพื้นที่ที่มีลักษณะที่เฉพาะแตกต่างจากอัตลักษณ์ของคนในสังคมไทยโดยทั่วไป นี่เป็นงานที่ต้องสร้างความเข้าใจและยอมรับในความหลากหลาย รวมถึงเรื่องความเป็นธรรมที่จะต้องเกิดขึ้น จริงๆ แล้วงานเยียวยาที่ผู้หญิงทำอยู่ก็เป็นส่วนหนึ่งของงานสันติภาพสันติวิธีเหมือนกันแต่มันไม่เห็นผลทันทีทันใด แต่ถ้าเราสามารถที่จะเยียวยาแล้วไปคลายความทุกข์เศร้าความคับแค้นขมขื่นของคนที่เขาถูกกระทำจากคนที่ใช้ความรุนแรงกับเขาแล้วทำให้เขายับยั้งการใช้ความรุนแรงตอบโต้กลับ อันนี้ก็คืองานสันติภาพสันติวิธี ซึ่งแน่นอนมันจะไม่เห็นผลเดี๋ยวนี้แต่มันจะเห็นผลในอนาคต เพราะว่าตัวเองมีความเชื่อว่าลึกๆ การประทุของความรุนแรงระลอกใหม่ตั้งแต่ปี 2547 แล้วมันยังไม่จบก็เพราะมันก็สืบเนื่องมาจากความคับแค้นขมขื่นที่เกิดขึ้นในอดีตซึ่งมันไม่ได้รับการเยียวยา ซึ่งมันก็มีการปะทุกันขึ้นมาตลอด แต่ว่าระลอก 2547 มันรุนแรง ฉะนั้นเรากำลังทำงานที่จะยับยั้งความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต กับเด็กๆ กับเยาวชนลูกหลานของผู้ที่เป็นเหยื่อที่ถูกใช้ความรุนแรง และจะทำอย่างไรให้เขาคลี่คลายและไม่ใช้ความรุนแรงตอบโต้กลับมา นี่ก็เป็นงานสันติวิธีที่จะสร้างสันติภาพในอนาคต

“และอีกอย่างที่เป็นงานที่แม้ผู้หญิงจะไม่มีบทบาทมากนักในขณะนี้แต่เป็นงานที่ผู้ชายในภาคประชาสังคม ปัญญาชนในพื้นที่มีบทบาทค่อนข้างจะมากเช่น งานที่พยายามจะเปิดพื้นที่ทางการเมืองทีเป็นการเมืองซึ่งสอดรับกับอัตลักษณ์ของพื้นที่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญที่พูดถึงเขตปกครองพิเศษนี่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ผู้หญิงสามารถเข้าไปหนุนเสริมได้แม้จะไม่ได้เป็นแกนหลัก หรือเป็นคนขับเคลื่อนหลักก็ตาม นโยบายทางสาธารณะบางอย่างที่เราจะต้องช่วยกับผลักดันขับเคลื่อนหรือสื่อสารออกไปให้สาธารณะเข้าใจก็เป็นสิ่งที่ผู้หญิงเองควรมีส่วนร่วมในขบวนนั้นเหมือนกันจะมากจะน้อยก็ตามแต่ เพราะงานพื้นฐานนั้นเราก็ทิ้งไม่ได้และเราก็เชื่อว่างานพื้นฐานก็เป็นส่วนหนึ่งของคำตอบเพื่อจะสร้างสันติภาพในอนาคตเช่นกัน”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net