Skip to main content
sharethis

คณะรณรงค์แก้ รธน. ม.272 ตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯหอบ 7 หมื่นรายชื่อส่งสภาแล้ว ชี้คืนอำนาจเลือกนายกฯ ให้ส.ส. เชื่อเป็นผลดีกับส.ว. ไม่ถูกสังคมตำหนิอีก ตัวแทนประธานสภาฯ เผย สนง.เลขาฯสภา จะนำรายชื่อทั้งหมดตรวจสอบความถูกต้อง ก่อนเปิดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นและนำเสนอต่อประธานรัฐสภาเพื่อบรรจุในวาระการประชุมต่อไป

22 ก.พ.2565 ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า วันนี้ (22 ก.พ.) เวลา 13.30 น. ที่รัฐสภา คณะรณรงค์แก้รัฐธรรมนูญมาตรา 272 ยกเลิกอำนาจ ส.ว. เลือกนายกรัฐมนตรี นำโดย สมชัย ศรีสุทธิยากร นักวิชาการและอดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) บุญส่ง ชเลธร ผอ.หลักสูตรผู้นำ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต พร้อมแนวร่วม อาทิ ณัฏฐา มหัทธนา นักเคลื่อนไหวทางการเมือง และแสนยากรณ์ สิงห์วีรธรรม โฆษกพรรคกล้า นำรายชื่อประชาชน 70,500 รายชื่อ ที่ร่วมกันลงนามขอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ยื่นต่อ ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยมี ผ่องศรี ธาราภูมิ คณะทำงานทางการเมืองของประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นตัวแทนรับ

สมชัย กล่าวว่า เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2564 คณะผู้ริเริ่ม ได้เริ่มรวบรวมรายชื่อประชาชน เนื่องจากเห็นปัญหาเกี่ยวกับมาตรา 272 ที่ให้อำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย เพราะนายกฯ ต้องมาจากการเลือกของส.ส.ในที่ประชุมสภา ตรงนี้ถือเป็นหลักสากล อีกทั้งเราไม่เห็นถึงความจำเป็นที่ส.ว.ต้องมาโหวตเลือกนายกฯ จึงควรคืนหลักการสากลให้ประชาชนได้แล้ว

อดีต กกต. กล่าวด้วยว่า เราใช้เวลารวบรวมรายชื่อกว่า 2 เดือน ได้รายชื่อแล้ว 8 หมื่นรายชื่อ แต่จะส่งขอส่งรายชื่อขั้นต้นก่อน 70,500 รายชื่อ ซึ่งกรอบเวลาจากนี้คิดว่า สำนักงานเลขาธิการสภา จะใช้เวลาไม่เกิน 45 วัน ในการตรวจสอบรายละเอียด เราหวังว่าจะได้รับการบรรจุระเบียบวาระเพื่อพิจารณาในสมัยประชุมที่ 1 ประจำปี 2565 อย่างไรก็ตาม การลงชื่อยังดำเนินการต่อไปเรื่อยๆ และหวังว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไป หากมีการแก้ไขหลักการข้อนี้แล้ว การเลือกนายกฯ จะได้ดำเนินการในที่ประชุมสภา โดยส.ส.เอง

บุญส่ง กล่าวว่า เราเรียกร้องประเด็นเดียวคือ มาตรา 272 และขอให้แก้ไขเพียงการยกเลิกสิทธิ์ ส.ว.เลือกนายกฯออกเท่านั้น ประเด็นอื่นเราไม่ได้แตะต้อง เราเชื่อมั่นว่าระบอบประชาธิปไตยต้องเชื่อประชาชน การเลือกตั้งครั้งต่อไปขอให้ยุติการให้ส.ว.โหวตเลือกนายกฯ ควรปล่อยให้เป็นเรื่องของประชาชนตัดสินอนาคตเขาเอง ประเด็นนี้พวกท่านต้องให้ผ่าน ขออย่าขัดขวางกระแสธารของประวัติศาสตร์

“ที่ผ่านมาเรามีโอกาสพูดคุยกับ ส.ว.หลายท่าน ผมได้พบกับส.ว. 4 ท่าน เขาเห็นด้วยในประเด็นนี้ ซึ่งส.ว.มีความรู้สึกที่ดี และรับปากจะโหวต แต่เมื่อถึงเวลาไม่รู้จะโหวตหรือไม่ ผมมองว่าการที่ต้องตอบแทนผู้แต่งตั้งเขามานั้น เพียง 1 ครั้งก็เพียงพอแล้ว การเสนอตัดอำนาจ ส.ว.โหวตเลือกนายกฯ น่าจะเป็นผลดีกับ ส.ว. ไม่ต้องถูกตำหนิจากสังคมอีก” บุญส่ง กล่าว

ขณะที่ สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา รายงานด้วยว่า คณะทำงานทางการเมืองของประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้มารับหนังสือฯ กล่าวว่า ประธานสภาผู้แทนราษฎรให้ความสำคัญต่อการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของภาคประชาชนเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นการตื่นตัวของพลเมืองและใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งขณะนี้มีกฎหมายที่ภาคประชาชนร่วมกันเสนอรายชื่อเข้ามาในสมัยของ ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร มีจำนวนมากกว่า 60 ฉบับ โดยในส่วนการขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถือเป็นฉบับที่ 4 ภายหลังจากยื่นเข้ามาแล้ว สํานักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จะนำรายชื่อทั้งหมดตรวจสอบความถูกต้อง ก่อนเปิดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นและนำเสนอต่อประธานรัฐสภาเพื่อบรรจุในวาระการประชุมต่อไป

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net