Skip to main content
sharethis

ปีกแรงงาน ‘ก้าวไกล’ ชวนจับตาท่าทีรัฐบาล หลังสมาคมการค้า-หอการค้า 54 สมาคม เตรียมยื่นหนังสือค้านขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 เท่ากันทั่วไทย ด้าน สสรท. และ สรส. ออกแถลงการณ์หนุนจุดยืนขึ้นค่าแรงเท่ากันทั่วไทย และเป็นธรรม ครอบคลุมแรงงานทุกกลุ่ม เชื่อทุกฝ่ายได้ประโยชน์

 

9 พ.ค. 2567 เพจเฟซบุ๊ก เซีย จำปาทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคก้าวไกล ปีกแรงงาน ได้โพสต์ข้อความวานนี้ (8 พ.ค.) หลังเมื่อ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา สมาคมการค้าและหอการค้า อย่างน้อย 54 สมาคม จัดงานแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน เตรียมยื่นหนังสือคัดค้านการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ อ้างเป็นการปรับค่าจ้างที่สูงเกินกว่าความเป็นจริง ไม่เป็นไปตามหลักกฎหมาย และมีข้อกังวลว่าต้นทุนการผลิตจะสูงขึ้น และภาคธุรกิจอาจปรับตัวไม่ทัน เป็นเหตุให้ต้องยุติกิจการ ลดขนาดกิจการ และต้องเลิกจ้างลูกจ้าง

โพสต์ได้กล่าวถึงหอการค้า และสมาคมการค้า 54 สมาคมที่ได้ออกมาคัดค้านการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ว่าเขาเข้าใจว่าเจ้าของกิจการทำธุรกิจต้องคำนึงถึงผลกำไรเป็นหลัก แต่ค่าจ้างขั้นต่ำที่ผ่านมาไม่ได้มีการปรับ หรือปรับขึ้นน้อยมาก นอกจากนี้ การปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทเมื่อปี 2554 พิสูจน์แล้วว่าไม่มีใครเจ๊งจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งนั้น แรงงานควรได้รับค่าแรงที่ยุติธรรมและเหมาะสม (ในขณะนั้น) มีกำลังมาบริโภคจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น เศรษฐกิจหมุนเวียนตามที่มันควรจะเป็น

เซีย ระบุด้วยว่าเขาจะขอจับตาท่าทีของรัฐบาล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน หลังสมาคมการค้า และสภาหอการค้า 54 สมาคม ยื่นหนังสือ เนื่องจากรัฐบาลและกระทรวงมีจุดยืนมาตลอดเสมอว่าต้องมีการปรับขึ้นค่าแรงมาโดยตลอด

"ผมหวังว่าไม่ใช่จะประกาศให้ความหวังลมๆ แล้งๆ อย่างที่ผ่านมา และประกาศเพียงเพราะว่าเป็นวันแรงงานสากล ดังนั้น ผมจะคอยติดตามผลลัพธ์และข้อสรุปสุดท้ายว่ารัฐบาลจะสามารถปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศได้หรือไม่" โพสต์ระบุ

ทั้งนี้ เมื่อ 7 พ.ค. 2567 เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ รายงานว่า สภาหอการค้าอย่างน้อย 54 สมาคม เตรียมยื่นเอกสารถึงกระทรวงแรงงาน คัดค้านการขึ้นค่าแรง 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ โดยให้เหตุผลว่าเป็นการปรับอัตราค่าจ้างที่สูงเกินความเป็นจริง และจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต การบริการ และการจ้างงานในห่วงโซ่อุปทานที่สูงขึ้น โดยเฉพาะภาคเกษตร  ภาคการค้าและบริการ ภาคท่องเที่ยว และผู้ประกอบการ SMEs เนื่องจากผู้ประกอบการจะไม่สามารถปรับตัวได้ทัน การปรับค่าจ้างไม่เป็นตามที่กฎหมายกำหนดอาจทำให้เจ้าของกิจการต้องยุติกิจการ ลดขนาดกิจการ และปรับลดลูกจ้างตามมา

นอกจากนี้ ทางสภาหอการค้า ได้เสนอแนวคิดการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั้งหมด 4 ข้อบนฐานการรับฟังความคิดเห็น การขึ้นค่าแรงตามทักษะวิชาชีพ และเป็นไปตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ประกอบด้วย

  1. หอการค้าทั่วประเทศ และสมาคมการค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้น เห็นด้วยการยกระดับรายได้ให้แรงงานประเทสไทย และชีวิตประชาชนให้ดีขึ้น แต่การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปีควรปรับตามกฎหมายกำหนด มาตรา 87 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ส่วนการยกระดับรายได้ลูกจ้างให้สูงขึ้น สามารถทำได้โดยกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน ซึ่งกฎหมายบัญญัติกำหนดไว้แล้วเช่นกัน
  2. ไม่เห็นด้วยกับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ โดยไม่คำนึงถึงผลการศึกษาและการรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแนะจากคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด และคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) และมองว่าปัจจุบัน รัฐบาลได้ดำเนินการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2567 ไปแล้ว 2 ครั้ง จึงไม่ควรมีการปรับเป็นครั้งที่ 3
  3. อัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเพียงอัตราค่าจ้างของแรงงานแรกเข้าที่ยังไม่มีฝีมือ แต่การปรับอัตราจ้างควรพิจารณาจากทักษะฝีมือแรงงาน ตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน ดังนั้น รัฐบาลควรเร่งส่งเสริมมาตรการทางภาษี ลดอุปสรรคต่อการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการและแรงงาน ให้ความสำคัญกับการ UP-Skill & Re-Skill และ New Skill เพื่อสร้างแรงงานที่มีทักษะฝีมือให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และเพิ่มผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity)
  4. การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเฉพาะพื้นที่จังหวัดและประเภทธุรกิจ ควรให้มีการรับฟังความคิดเห็น และศึกษาถึงความพร้อมของแต่ละพื้นที่จังหวัดและประเภทธุรกิจ รวมทั้งควรให้มีการหารือร่วมกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำความเข้าใจก่อนปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเฉพาะพื้นที่จังหวัดและประเภทธุรกิจ ดังกล่าว

ทั้งนี้ หอการค้า และสมาคมการค้า จะมีกำหนดยื่นหนังสือถึงกระทรวงแรงงานในวันที่ 13 พ.ค. 2567 ก่อนวันประชุมระหว่างกระทรวงแรงงาน และคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) วันที่ 14 พ.ค. 2567 

สสรท. ออกแถลงหนุนค่าแรงขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ

สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ออกแถลงการณ์วานนี้ (8 พ.ค.) บนเพจเฟซบุ๊ก ได้ระบุถึงที่มาที่ไปในการออกแถลงการณ์ว่า ขบวนการแรงงานมีการเรียกร้องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเท่ากัน และเป็นธรรม เป็นข้อเรียกร้องที่มีมาอย่างยาวนาน ประชาชนทั่วไปและพรรคการเมืองนำไปทำเป็นนโยบายหาเสียง นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศที่ระบุว่าการขึ้นค่าแรงจะทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน 

แถลงการณ์ระบุว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนี้จะถูกการต่อต้านจากฝั่งนายทุนที่หาประโยชน์ให้เฉพาะตัวเอง ไม่เคารพสิทธิแรงงาน และหาเหตุผลเพียงแค่เพื่อธุรกิจของตัวเอง แต่สิ่งสำคัญคือกลไกของภาครัฐ และกลไกคณะกรรมการค่าจ้างไตรภาคี จะอยู่ข้างใด คนส่วนน้อย หรือคนส่วนมาก 

แถลงการณ์ระบุต่อว่า สสรท. และ สรส. ได้มีการจัดทำข้อมูล วิจัย จัดเวทีเสวนา ไปจนถึงยื่นหนังสือเรียกร้องไปภาครัฐอย่างต่อเนื่อง และเมื่อวันที่ 1 พ.ค. วันกรรมกรสากล มีการจัดเวทีแสดงความเห็น พบว่าในต่างจังหวัดต่างสะท้อนเป็นเสียงเดียวกันว่าต้องมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ และชี้ว่าราคาสินค้าแต่ละจังหวัดนั้นจริงๆ ราคาไม่ต่างกันมาก บางจังหวัดยังมีราคาแพงกว่าด้วยซ้ำ พร้อมเสนอให้ค่าจ้างขั้นต่ำกำหนดให้เป็นค่าจ้างแรกเข้า  

แถลงการณ์ระบุต่อว่า สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และองค์กรสมาชิกทั้งที่เป็นแรงงานภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ สหภาพลูกจ้างภาครัฐ มีจุดยืนเรียกร้องสนับสนุนการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ และเป็นค่าจ้างที่เป็นธรรม มีการจัดโครงสร้างค่าจ้าง ต้องครอบคลุมแรงงานทุกกลุ่ม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงาน

แถลงการณ์ระบุด้วยว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศจะส่งผลประโยชน์ให้ทุกกลุ่มไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ นายทุน และประชาชนแรงงาน เพราะประชาชนมีอาชีพ มีงานทำ มีรายได้ ก็จะเกิดการผลิต การจำหน่าย ผู้ประกอบการขายสินค้าได้ รัฐก็สามารถเก็บภาษีได้ ถือเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจให้มั่นคงยั่งยืน นอกจากนี้ แถลงการณ์เสนอให้รัฐบาลมีมาตรการควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ราคาพลังงาน ค่าบริการ ไม่ให้แพงเกินไป ป้องกันการผูกขาด และปกป้องกิจการของรัฐคือรัฐวิสาหกิจไม่ให้ตกไปอยู่ในมือของกลุ่มทุนที่จ้องเอาเปรียบ ขูดรีดประชาชน และผู้ใช้แรงงาน ซึ่งหากทำได้จริงก็จะเกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่ายทั้งผู้ประกอบการ ผู้ใช้แรงงานและประชาชนทั่วไป

รายละเอียดแถลงการณ์

การปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานซึ่งถือเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งทุกภาคส่วนต่างทราบกันดีว่า เศรษฐกิจของประเทศไทยที่มีปัญหาต้องพึ่งพาต่างประเทศเป็นด้านหลักทั้งเรื่องการค้า การส่งออก การลงทุน การท่องเที่ยว เหตุเพราะคนส่วนใหญ่ในประเทศขาดรายได้ ไร้อาชีพ ขาดหลักประกันในการดำเนินชีวิต ยากจน มีหนี้สินครัวเรือนสูงถึงร้อยละ 93 ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ขบวนการแรงงานก็พยายามเรียกร้องเพื่อให้รัฐบาล หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องพิจารณาถึงเหตุผล ความจำเป็นในการปรับขึ้นค่าจ้างให้ไปไกลกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ คือค่าจ้างที่เป็นธรรม และเท่ากันทั้งประเทศในท่ามกลางข้อถกเถียงที่ยาวนาน และสังคมส่วนใหญ่ทั้งประชาชนทั่วไป พี่น้องสื่อมวลชน แม้กระทั่งพรรคการเมืองเกือบทุกพรรคก็เห็นด้วยจึงนำไปกำหนดเป็นนโยบายในการหาเสียง อีกทั้งงานวิจัยจำนวนมาก ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศก็สนับสนุนการปรับเพิ่มขึ้นค่าจ้างนั้นเป็นการสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

สำหรับประเทศไทยการปรับขึ้นค่าจ้างเป็นเรื่องที่ยากยิ่งของพวกกลุ่มทุนที่เห็นเพียงแค่ประโยชน์เฉพาะตน เฉพาะกลุ่มที่มองผู้ใช้แรงงานเยี่ยงทาส แม้กระทั่งคนงานในสังกัดของตนเอง ไม่มีศีลธรรม จริยธรรม ไม่เคารพในสิทธิแรงงานซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชน ไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ได้มองภาพใหญ่ทางเศรษฐกิจ แต่สรรหาคำพูด หาเหตุผลอ้างอิง เพียงเพื่อธุรกิจของตนเอง แต่หากมองในมิติของการกดขี่ขูดรีดแล้ว การสูบกินมูลค่าส่วนเกินของคนงาน ก็เป็นเรื่องปกติที่นายทุนเห็นแก่ตัวเหล่านั้น จะต้องทำหน้าที่อย่างเต็มที่เพื่อประโยชน์ของเขา เพียงแต่ว่ารัฐบาล กลไกรัฐ กลไกไตรภาคีจะยืนอยู่กับคนส่วนไหน คนส่วนน้อย หรือคนส่วนมาก นายทุน หรือผู้ใช้แรงงาน

สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้มีการจัดทำข้อมูล จัดทำงานวิจัย จัดเวทีเสวนา ออกแถลงการณ์ ยื่นหนังสือต่อรัฐบาลหลายครั้งในห้วงเวลาที่ผ่านมา และล่าสุดในวันกรรมกรสากลที่ สสรท. และ สรส. จัดขึ้น หรือแม้กระทั่งเวทีที่สภาแรงงานทั้งหลายจัดขึ้นภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลและงบประมาณแผ่นดิน รวมทั้งในเวทีต่างจังหวัดเกือบทุกจังหวัดก็มีข้อเสนอให้มีการปรับขึ้นค่าจ้าง โดยให้มีค่าจ้างราคาเดียวเท่ากันทั้งประเทศ เพราะราคาสินค้าราคาไม่ได้แตกต่างกัน ต่างจังหวัดยังมีราคาแพงกว่าด้วยซ้ำ และเสนอให้ค่าจ้างขั้นต่ำกำหนดให้เป็นค่าจ้างแรกเข้า และให้ทุกสถานประกอบการจัดทำโครงสร้างค่าจ้าง เพื่ออนาคตของคนทำงาน ครอบคลุมทั้งลูกจ้างภาครัฐ และเอกชน แรงงานภาคบริการ

สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และองค์กรสมาชิกทั้งที่เป็นแรงงานภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ สหภาพลูกจ้างภาครัฐ “ขอสนับสนุนการปรับขึ้นค่าจ้างในอัตราเดียวกันทั้งประเทศ และเป็นธรรมแก่ผู้ใช้แรงงาน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต” และเสนอให้ค่าจ้างขั้นต่ำกำหนดให้เป็นค่าจ้างแรกเข้า และให้ทุกสถานประกอบการจัดทำโครงสร้างค่าจ้าง เพื่ออนาคตของคนทำงาน ครอบคลุมทั้งลูกจ้างภาครัฐ และเอกชน คนทำงานภาคบริการ เพื่อความเป็นธรรมทางสังคมควบคู่กับการสร้างรายได้ สร้างอาชีพ สร้างหลักประกันการทำงาน การจ้างงาน เพื่ออนาคต และสังคมที่ดี เพราะเมื่อประชาชนมีอาชีพ มีงานทำ มีรายได้ ก็จะเกิดการผลิต การจำหน่าย ผู้ประกอบการขายสินค้าได้ รัฐก็สามารถเก็บภาษีได้ ถือเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจให้มั่นคง ยั่งยืน ต้องเข้าใจว่าคนที่อยู่ในวัยทำงานในปัจจุบันกว่า 41 ล้านคน คือคนส่วนใหญ่ของประเทศ หากไม่สามารถแก้ปัญหาของคนส่วนใหญ่ได้ก็อย่าไปคาดหวังว่าจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ความยากจน ความเหลื่อมล้ำได้

การปรับขึ้นค่าจ้างก็เป็นเพียงมาตรการหนึ่งที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของคนทำงาน ซึ่งรัฐบาลต้องทำควบคู่กับการควบคุมราคาสินค้า ค่าพลังงาน น้ำมัน ไฟฟ้า ก๊าซ ค่าโทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต ค่าเดินทาง และการขนส่ง เป็นต้น ให้อยู่ในระดับที่ไม่แพงเกินไป ป้องกันการผูกขาด และปกป้องกิจการของรัฐคือรัฐวิสาหกิจไม่ให้ตกไปอยู่ในมือของกลุ่มทุนที่จ้องเอาเปรียบ ขูดรีดประชาชน และผู้ใช้แรงงาน ซึ่งหากทำได้จริงก็จะเกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่ายทั้งผู้ประกอบการ ผู้ใช้แรงงานและประชาชนทั่วไป สสรท. และ สรส. จะได้นัดหมายเพื่อสนับสนุนให้กำลังใจต่อผู้เกี่ยวข้องในเร็วๆ นี้
 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net