Skip to main content
sharethis

'แคทเธอริน' เจ้าของ ร.ร. Bamboo school อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี เผยรู้สึกกังวลหลังทราบข่าวทางการไทยพยายามผลักดันผู้ลี้ภัยบริเวณชายแดน ต.บ้องตี้ กลับประเทศต้นทางพม่า ทั้งที่มีภาวะสงคราม พร้อมเรียกร้องรัฐไทยมีนโยบายไม่ผลักดันเด็กไร้สัญชาติ 

 

10 พ.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งวานนี้ (9 พ.ค.) ที่อำเภอไทรโยค จ.กาญจนบุรี ชายแดนไทย-พม่า แคทเธอริน รูธ ไรลี่ ไบรอัน  (Catherine Ruth Riley-Bryan) ชาวนิวซีแลนด์ ผู้ก่อตั้งโรงเรียน "Bamboo School" เรียกร้องทางการไทยไม่ผลักดันผู้ลี้ภัยกลับไปเผชิญอันตรายที่ประเทศต้นทาง หลังช่วงที่ผ่านมา มีผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงจำนวนมากลี้ภัยเข้ามาฝั่งไทย เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสงครามกลางเมืองพม่า

แคทเธอริน รูธ ไรลี่ ไบรอัน

ผู้ก่อตั้งโรงเรียนชายแดน ‘Bamboo school’ ระบุว่า ตลอดช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา มีผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงจำนวนมากหนีภัยสงคราม เพื่อเข้ามาแสวงหาและพักพิงที่ปลอดภัยใน ต.บ้องตี้ อ.ไทรโยค และเมื่อ 28 เม.ย.ที่ผ่านมา สื่อท้องถิ่น ‘กาญจนบุรีนิวส์’ (Kanchanaburi News) ได้รายงานว่า กองกำลังชาติพันธุ์พยายามบุกโจมตีค่ายทหารพม่าตรงบริเวณชายแดนบ้องตี้เช่นกัน

ทั้งนี้ ข้อมูลจากประชาชนในพื้นที่ ต.บ้องตี้ อ.ไทรโยค ให้ข้อมูลกับสื่อว่า ที่ผ่านมามีผู้ลี้ภัยอพยพเข้ามาในพื้นที่หลักพันคนในหลายๆ ระลอก โดยคนที่เข้ามาส่วนใหญ่ล้วนได้รับผลกระทบจากสงครามจากการถูกเครื่องบินทิ้งระเบิดฝั่งพม่าของกองทัพทหารพม่า จนต้องหนีตายมาฝั่งไทย  

แคทเธอริน เผยว่า ในพื้นที่ชายแดนกาญจนบุรี มีค่ายผู้ลี้ภัยขนาดเล็กประมาณ 10 แห่ง แต่เมื่อวันที่ 6-7 พ.ค.ที่ผ่านมา เธอทราบมาว่ารัฐไทยกวาดต้อนผู้ลี้ภัยกลับไปฝั่งพม่า ซึ่งเรื่องนี้ทำให้เธอรู้สึกกังวลใจ เพราะช่วงที่ผ่านมาเธอได้เข้าช่วยรักษาผู้ป่วย และพบว่ามีเด็ก คนชรา และคนป่วย จำนวนมากที่กำลังถูกผลักดันกลับประเทศ และต้องเผชิญกับภัยสงครามที่ยังไม่สงบ

“คนไข้หญิงคนหนึ่งบอกฉันว่า ทหารพม่าดักรออยู่บนถนนอีกฟากหนึ่งของเนินเขา เราได้ยินเสียงปืน เสียงระเบิด และเครื่องบินอยู่รอบตัวเราตลอด” แคทเธอริน กล่าว

แคทเธอริน ระบุว่า สถานการณ์ผู้ลี้ภัยขณะนี้ประสบปัญหาโรคระบาด โดยเฉพาะวัณโรค และโรคมาลาเรีย โดยเธอพยายามจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ และมุ้ง สำหรับผู้ลี้ภัย

ภาพการใช้รถแทรกเตอร์พาผู้ลี้ภัยไปยังชายแดน วันที่ 10 พ.ค. 2567

เด็กไร้สัญชาติกังวล ถูกผลักดันกลับประเทศพม่า

ผู้ก่อตั้งโรงเรียนชายแดน ‘Bamboo school’ ระบุว่า หลังมีข่าวว่าเจ้าหน้าที่พยายามกวาดต้อนผู้ลี้ภัยกลับประเทศต้นทาง ทำให้นักเรียนในโรงเรียนของเธอรู้สึกวิตกกังวลอย่างมากว่า พวกเขากลัวเจ้าหน้าที่กวาดต้อนเด็กที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนกลับไปที่ประเทศพม่า

“เด็กชายคนหนึ่งที่เขาเคยอาศัยอยู่กับเรา และภรรยาของเขา ถูกเจ้าหน้าที่บอกว่าเขาไม่สามารถอาศัยอยู่ในพื้นที่ต่อไปได้ เพราะไม่มีสถานะยืนยันทางทะเบียน

“หากเป็นเด็กกำพร้า เด็กที่เกิดในประเทศไทยหรือรับเข้าเรียนในโรงเรียนไทย หรืออยู่ระหว่างการรักษาพยาบาล หรือผู้สูงอายุ ขออย่าได้ผลักดันพวกเขากลับประเทศเมียนมา” แคทเธอริน ส่งข้อเรียกร้องถึงรัฐบาล

สำหรับโรงเรียน Bamboo school มีนักเรียนอยู่ในความดูแลของแคทเธอริน ประมาณ 80 คน ส่วนใหญ่ เป็นเด็กกำพร้า ไร้สัญชาติ และพิการ

เจ้าของโรงเรียน Bamboo school ให้สัมภาษณ์ว่า เธอไม่ได้รับความชัดเจนจากนโยบายของรัฐเพราะระบุไม่ตรงกัน บางพื้นที่ก็มีการอนุโลมให้ผู้ลี้ภัยสามารถอาศัยอยู่ได้ชั่วคราว แต่ในขณะที่บางพื้นที่มีความเข้มงวด และผลักดันผู้ลี้ภัยกลับไปยังประเทศพม่า

ทั้งนี้ ข้อมูลจากนิทรรศการ ‘In Between’ หรือชีวิตติดกับ จัดโดยมูลนิธิเสมสิกขาลัย เผยว่า นับตั้งแต่มีการทำรัฐประหารเมื่อ 1 ก.พ. 2564 ได้พาประเทศพม่าเข้าสู่วิกฤตทางการเมือง และสงครามกลางเมืองกลับมาปะทุอีกครั้ง กองทัพพม่ามีใช้ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศโดยไม่เลือกเป้าหมาย ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ประชาชนต้องอพยพหนีภัยสงครามข้ามมาฝั่งไทย

สถิติตลอดระยะเวลา 3 ปี ระหว่าง 1 ก.พ. 2564 จนถึง 1 ม.ค. 2567 กองทัพพม่ามีการใช้เครื่องบินโจมตีรวมกว่า 1,717 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 940 คน และได้รับบาดเจ็บ 900 คน และหลังทำรัฐประหารปี 2564 เป็นต้นมา มีรายงานว่าชาวพม่ากลายเป็นผู้พลัดถิ่นภายใน หรือ IDP แล้ว จำนวนกว่า 2,280,900 คน

สำหรับกรณีที่รัฐไทยผลักดันผู้ลี้ภัยจากพม่ากลับไปเผชิญอันตรายประเทศต้นทางไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก แต่ถูกภาคประชาสังคมวิจารณ์อย่างหนาหูนับตั้งแต่สงครามกลางเมืองพม่ากลับมาปะทุหลังรัฐประหารปี 2564  

โดยภาคประชาสังคมเคยมีข้อเรียกร้องให้ไทยเข้มงวดกับหลักการ Non-Refoulement หรือไม่ผลักดันบุคคลใดก็ตามกลับไปเผชิญอันตรายหรือการประหัตประหารที่ประเทศต้นทาง เพราะประเทศไทยมีข้อผูกพันจากการเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศ เช่น กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 7 อนุสัญญาต่อต้านการทรมาน การปฏิบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) ข้อ 3 และยังมีกฎหมายในประเทศอย่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย มาตรา 13 โดยทั้งหมดนี้ระบุว่ารัฐไทยต้องไม่ผลักดันประชาชน หรือใครก็ตาม กลับไปเผชิญอันตราย หรือการประหัตประหารที่ประเทศต้นทาง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net