Skip to main content
sharethis
 
 
(10 มิ.ย. 2552) สมัชชาคนจน เขื่อนหัวนา-ราศีไศล ชุมนุมต่อเป็นวันที่ 7 หลังเปิดโต๊ะเจรจากับกรมชลประทาน นำโดย นายทรรศนันทน์ เถาหมอ ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 8 ได้ข้อตกลงเบื้องต้น กรมชลฯ รับปากจะเร่งแก้ปัญหา หลังละเลยมานาน ด้านกลุ่มผู้ชุมนุมพอใจในข้อตกลงเบื้องต้น พร้อมกับยืนยันจะปักหลักชุมนุมยืดเยื้อจนกว่าปัญหาจะได้รับการแก้ไขเสร็จสิ้น
 
หลังการเจรจานานกว่า 3 ชั่วโมง ระหว่างตัวแทนกลุ่มผู้ชุมนุมกับกรมชลประทานได้มีข้อตกลงร่วมกันดังนี้
 
กรณีโครงการฝายราศีไศล 1) กรมชลประทานจะทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 3 จังหวัด สุรินทร์ ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด เพื่อจัดให้มีการประชุมคณะทำงานชุดต่างๆ ในการหาแนวทางการทำงาน โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน โดยขอให้ดำเนินการจังหวัดศรีสะเกษก่อน
 
2)ให้เจ้าหน้าที่จัดหาที่ดินมารับคำคัดค้าน ณ สถานีกระจายน้ำ RSP 22 และกรณีที่ทางอำเภอประกาศรับรองเนื้อที่ที่ผ่านมาในอดีตแต่ราษฎรไม่ได้ยื่นคำร้องคัดค้าน ขอให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการรับคำคัดค้านด้วย ทั้งนี้ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลล่าง เป็นผู้จัดรถรับส่ง โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันพุธที่ 10 มิถุนายน 2552 เวลา 09.00 น.เป็นต้นไป โดยให้แกนนำเป็นผู้ควบคุมรถ และ 3) ให้แกนนำสามารถรับบัญชีรายชื่อกลุ่มราษฎรที่ไม่มีร่องรอยและไม่คัดค้านได้ที่ สถานีกระจายน้ำ RSP 22 ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
 
ส่วนกรณีโครงการฝายหัวนา 1) ให้คณะทำงานฯจังหวัดศรีสะเกษ ตรวจสอบเอกสารตามแผนที่ ร.ว. 43 ก. ของอำเภอกันทรารมย์ให้แล้วเสร็จภายใน 3 วัน โดยตรวจสอบบัญชีรายชื่อและเนื้อที่ให้ตรงกันเพื่อเสนอระดับจังหวัดต่อไป 2) กรมชลประทานจะทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เพื่อจัดให้มีการประชุมคณะทำงานชุดต่าง ๆ ในการหาแนวทางการทำงาน โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน
 
นายทรรศนันทน์ เถาหมอ กล่าวในการเจรจาว่า การมาพูดคุยวันนี้ก็เพื่อจะแก้ปัญหาในเรื่องที่ล่าช้ามานานที่พอจะทำได้ไปก่อนตามข้อเรียกร้องของผู้ได้รับผลกระทบจากทั้งสองเขื่อน ซึ่งสิ่งที่รับปากในวันนี้คือเรื่องที่ทำได้แน่นอน และจะให้ดำเนินการในวันพรุ่งนี้เลย ทางหน่วยงานจะจัดรถมาให้เพื่อนำผู้เดือดร้อนเข้าไปที่สถานีกระจายน้ำเพื่อตรวจสอบข้อมูลและดำเนินการตามขั้นตอนของการแก้ปัญหาต่อไป เบื้องต้นภายในระยะเวลา 3 วัน คือตั้งแต่วันที่ 10-12 มิถุนายน 2552 แต่ถ้าไม่เสร็จ ก็ได้มีคำสั่งไปยังผู้ใต้บังคับบัญชาว่าให้ดำเนินการให้เสร็จ แม้จะต้องทำเสาร์อาทิตย์ก็ตาม ส่วนเรื่องอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ ก็ให้เป็นไปตามขั้นตอนของการแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่ และระดับนโยบายต่อไป
 
นายไพทูรย์ โถทอง แกนนำชาวบ้านเขื่อนราศีไศล กล่าวว่า วันนี้ราษฎรบางส่วนได้เดินทางโดยรถที่จัดให้ไปที่สถานีกระจายน้ำ RSP 22 เพื่อยื่นคัดค้านประกาศอำเภอ เกี่ยวกับผลพิจารณาระดับตำบลที่มีข้อมูลเนื้อที่การทำประโยชน์ของราษฎรไม่ตรงกัน ขัดกับความเป็นจริงที่ราษฎร์เคยเข้าทำประโยชน์ก่อนการสร้างเขื่อน
 
นายไพฑูรย์ ยังกล่าวอีกว่า ข้อสรุปเบื้องต้นร่วมกันนี้ ก็ทำให้ปัญหามีการคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งที่มีการพูดคุยระหว่างตัวแทนราษฎรกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เป็นการดีที่ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 8 มาเป็นประธานการเจรจา หันหน้าเข้าหากัน แก้ปัญหาแบบเป็นเหตุเป็นผล ซึ่งตนอยากให้แนวทางนี้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ไม่อยากให้คิดว่าต้องรอให้ราษฎรออกมาเคลื่อนไหว ชุมนุมกดดันก่อนค่อยทำงาน
 
ด้านนางสำราญ สุรโคตร แกนนำชาวบ้านเขื่อนหัวนา กล่าวว่า วันนี้ราษฎรที่ได้รับผลกระทบได้ไปตรวจสอบเอกสารรายชื่อและเนื้อที่ตามแผนที่ ร.ว.43 ก. ของอำเภอกันทรารมย์ เมื่อเสร็จแล้วจะรวบรวมทั้ง 3 อำเภอที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนหัวนาให้คณะกรรมการระดับจังหวัดพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป เพื่อยืนยันว่าหากมีการเก็บกักน้ำจริง ราษฎรจะได้มีข้อมูลยืนยันในสิทธิของตนเอง ไม่ให้เกิดความยุ่งยาก ซับซ้อนอย่างกรณีเขื่อนราศีไศลและเขื่อนอื่นๆ ที่สร้างมาแล้ว ซึ่งเขื่อนหัวนามีตั้ง 14 บานประตู ผลกระทบจะมากขนาดไหน แล้วยังจะมีการผันน้ำโขงเข้ามาอีก พื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบต้องมีจำนวนมากกว่าเดิมแน่นอน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net