Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เเม้สงกรานต์จะมาจากวัฒนธรรมอินเดียหรือศาสนาพราหมณ์ที่ปะทะกับความเชื่อท้องถิ่น แต่ในมิติศาสนาปัจจุบันแทบจะกลายเป็นอัตลักษณ์ของพุทธ กล่าวได้ว่า พุทธศาสนาแบบชาวบ้าน (popular Buddhism) ประสบความสำเร็จในการปรับตัวอย่างมาก แต่ในบริบทที่สงกรานต์เป็นประเพณีไทยที่ทุกคนเข้าถึงได้ รูปแบบกิจกรรมประดิษฐ์ที่หลากหลายนั้นจึงสะท้อนการต้องเเย่งชิงและเปิดพื้นที่ให้กับการฉลองในทางโลกด้วย
 

1. พัฒนาการของสงกรานต์ในฐานะประเพณีประดิษฐ์

สงกรานต์เป็นวัฒนธรรมร่วมของอาเซียน (และจีนบางส่วน) คือเเชร์วิถีปฏิบัติกัน ไม่ได้มีประเทศใดเป็นเจ้าของ ที่มาของสงกรานต์ตามศัพท์ก็ชัดว่ารับมาจากอินเดีย (แปลว่า เคลื่อน หมายถึงย้ายจากราศีจากมีนสู่ราศีเมษ) สุจิตต์ วงษ์เทศ เสนอว่า ช่วง 13-15 เมษานั้นเป็นปีใหม่ของอินเดีย ในราชสำนักอยุธยาก็ทำพิธีกรรมสงกรานต์แบบพราหมณ์ ซึ่งตามบันทึกของ ลาลูแบร์ (ทูตฝรั่งเศส) ประชาชนยังไม่รู้จักสงกรานต์ ปีใหม่ของชาวบ้านคือเดือนอ้ายหรือราวธันวาคม (วจนา วรรลยางกูร, 2559)

สงกรานต์เริ่มออกสู่สาธารณชนช่วงรัชกาลที่ 3 แต่ก็อยู่ในเมืองหลวง มีการเปลี่ยนมาใช้พระทำพิธีอุทิศบุญ และไม่มีการสาดน้ำ (มูลนิธิเล็ก-ประไพ, 2559) สุจิตต์เชื่อว่า การสาดน้ำเกิดหลัง 14 ตุลา (2516) ซึ่งรัฐบาลหันมาโปรโมทเรื่องเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว สำหรับวันปีใหม่ไทย รัชกาลที่ 5 ประกาศให้วันที่ 1 เมษายนเป็นวันปีใหม่ในปี 2432 และถูกเปลี่ยนอีกครั้งให้เป็น 1 มกราคม โดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในปี 2484 โดยสรุปคือ 13-15 เมษายน ไม่ได้เป็นปีใหม่ไทยแบบที่เชื่อกัน

ตามแนวคิดประเพณีประดิษฐ์ วัฒนธรรมหรือพิธีกรรมที่ถูกนำเสนอว่ามีมาช้านานหรือเป็นของดั้งเดิม แท้จริงแล้วถูกประดิษฐ์หรือเพิ่มเติมขึ้นตามช่วงเวลา สำหรับสงกรานต์ไทยอาจเป็นเพราะอยากอ้างว่านี่เป็นประเพณีดั้งเดิมเพื่อจะยืนยันอารยธรรมที่มีมายาวนานและสร้างอัตลักษณ์ของตน

โดยปกติแล้วประเพณีก็ถูกประดิษฐ์ทั้งนั้นรวมถึงวิสาขบูชาด้วย พระพุทธเจ้าไม่ได้สร้างหรือเคยอยู่ร่วมงานนี้ เพราะเป็นการจัดฉลอง/ระลึกถึงการเกิด การบรรลุธรรมและการตายของท่าน งานนี้เกิดในยุคหลังและพัฒนามาเรื่อยๆ จากการจัดกันเองในวัดเล็กๆ มาเป็นงานใหญ่ระดับชาติ เพื่อสร้างสำนึกความเป็นพุทธของชาวพุทธทั่วโลก เพื่อสื่อว่าศาสนาพุทธยิ่งใหญ่เป็นศาสนาโลกอันหนึ่ง แบบเดียวกับที่คริสต์มีงานคริสต์มาสเป็นต้น (เจษฎา บัวบาล, 2567, น. 70)

แต่สงกรานต์ประสบความสำเร็จในการตอบสนองคนทั้งทางโลกและทางศาสนา เช่นเดียวกับคริสต์มาสที่คนทั่วโลกร่วมฉลองได้โดยไม่ต้องรู้สึกผิดว่าตนออกนอกศาสนา ตามห้างก็มีการเเต่งชุดสีเเดง ติดที่คาดผมทรงเขากวาง หรือสวมชุดลุงซานต้า เช่นเดียวกับสงกรานต์ที่เต็มไปด้วยเสื้อลายดอก คือแม้จะเป็นคริสต์หรือมุสลิมก็ร่วมสนุกกับประเพณีนี้ได้ ใครสนใจกิจกรรมแบบทางโลกก็เล่นสาดน้ำ เดินทางท่องเที่ยว/เลี้ยงฉลองกัน ส่วนใครอยากเข้าหาศาสนา วัดก็เตรียมกิจกรรมแบบพุทธไว้ให้

2. สงกรานต์ในพื้นที่ทางโลกและพื้นที่ศาสนา

จากที่เเต่เดิมเป็นแบบพราหมณ์และจัดในราชสำนัก สงกรานต์ในช่วง ร.3 ก็กลายเป็นแบบพุทธมากขึ้น เราอาจเรียกสิ่งนี้ว่า Buddha-ization สุจิตต์ วงษ์เทศ (2556) มองว่าการใช้พระทำพิธีกรรมอุทิศบุญให้บรรพบุรุษในช่วงนี้ยังสะท้อนถึงการต้องปะทะกับความเชื่อท้องถิ่นที่นับถือผีด้วย จากเดิมที่ทำพิธีไหว้ผีบรรพบุรุษ ศาสนาพุทธก็มีพิธีกรรมที่สมบูรณ์แบบให้ คือทำความสะอาดที่เก็บกระดูก นิมนต์พระไปสวดบังสุกุล ถวายอาหารพระและกรวดน้ำให้ผู้ตาย และมีพิธีสรงน้ำพระเป็นต้น    

ช่วงที่ผมเป็นเณร ปี 2543 วันที่ 13 เมษายน ที่ป่าช้าควนลัง (สงขลา) มีการนิมนต์พระเณรจากวัดต่างๆ ไปทำพิธีบังสุกุลที่เก็บกระดูก (บัว) พระเเบ่งเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 4 รูป เดินสวดบทอนิจจา วะตะ สังขารา ฯ สั้นๆ จบเเล้วก็หยิบซองที่ใส่เงินนั้นแล้วเดินไปอีกบัวหนึ่ง ซึ่งวันนั้นเราจะได้ซองเยอะมาก ในราวครึ่ง ชม. ผมน่าจะได้เงินราว 3,000 บาท จำนวนเงินที่ได้ขึ้นอยู่กับว่าพระกลุ่มไหนสวดได้เร็วเเละเดินเร็วกว่ากัน ซึ่งปัจจุบันนี้ในภาคใต้ก็มักเอาวันที่ 13 นี้เป็นวันอุทิศบุญให้บรรพบุรุษอยู่

เพราะเมษายนเป็นช่วงเวลาปิดเทอม และกลัวว่าเด็กๆ จะเสเพลหรือไปฉลองสงกรานต์กันแบบโลกๆ พระไทยมีวิธีดึงคนเข้าสู่พื้นที่ศาสนาด้วย พระพยอม กัลยาโณ ได้จัดโครงการบวชเณรภาคฤดูร้อนขึ้นครั้งแรกในปี 2521 (มูลนิิธิสวนเเก้ว, 2567) และมหาวิทยาลัยสงฆ์ มจร. ได้จัดตามในปี 2523 เป็นต้นมา มจร. พัฒนาโครงการนี้อย่างเป็นระบบ (พระศักดิ์จรินทร์ ฐิตสํวโร, 2566, น. 221) พวกเขามีการส่งพระนิสิตไปปฏิบัติงานอยู่ก่อนแล้ว จึงใช้ช่วงโอกาสนั้นให้ช่วยอบรมเณรที่บวชภาคฤดูร้อนไปเลย และช่วงหลังยังมีหนังสือคู่มือ สื่อวีดีโอ เพลงธรรมะประกอบการบรรยายและใช้กันทั่วประเทศด้วย

ความเป็นพุทธที่เข้มขึ้นก็พบได้ในกลุ่มชาวพุทธเช่น สวนโมกข์ ที่พุทธทาสเองเทศน์โจมตีการฉลองสงกรานต์แบบโลกๆ ว่า “การที่จะไปเล่นสาดน้ำกัน .. มันเป็นสงกรานต์ของคนโง่ .. เป็นสงกรานต์ของเด็กอมมือหรือเด็กเล็กๆ ที่ยังไม่รู้อะไร” สงกรานต์แบบพุทธที่พุทธทาสเสนอคือ ตระหนักถึงวันเวลาที่ล่วงไปทุกขณะ (ตามศัพท์ของสงกรานต์คือ เคลื่อน/ย้าย) ใช้ชีวิตไม่ประมาท “มีความเศร้าสลดใจในความผิดพลาดที่แล้วมาแต่หนหลัง แล้วก็มีความตั้งใจที่จะทำเสียใหม่ให้ถูกต้องต่อไปข้างหน้า” (ฐานเศรษฐกิจ, 2566)

อาจเพราะต้องโปรโมทการท่องเที่ยวเเละทำให้สงกรานต์เป็นประเพณีไทยที่คนทุกศาสนาเข้าร่วมได้ สงกรานต์จึงมีมิติทางโลกที่คนสาดน้ำกันตามท้องถนน เปิดโอกาสให้ปะแป้งสัมผัสตัวกัน หรืออาจมีบางพื้นที่ที่ทั้งทางโลกและศาสนาใช้ร่วมกันเลย คือมีการวางพระพุทธรูปไว้ให้รดน้ำในบริเวณที่เล่นสงกรานต์ตามท้องถนนด้วย ความสำเร็จหนึ่งของการที่รัฐไม่ยอมให้ศาสนาเข้าไปยึดครองพื้นที่คือ ไม่ประกาศห้ามขายเหล้าโดยอิงกับศีล 5 แบบที่อ้างได้ในช่วงวิสาขะหรือเข้าพรรษาซึ่งเชื่อมโยงกับศาสนาได้โดยตรง (แม้จะเป็นประเพณีประดิษฐ์เหมือนกันก็ตาม)

สงกรานต์จึงถูกใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทั้งสองแบบ ที่ยิ่งกว่านั้นคือ แม้องค์กรศาสนาจะไม่เห็นด้วย ก็ทำได้เเค่รณรงค์ให้มาฉลองแบบตัวเอง เช่น การก่อเจดีย์ทราย รดน้ำพระ อุทิศบุญให้ผู้ตาย ถวายอาหารให้พระ หรืออิสลามเองก็จัดอบรมจริยธรรมภาคฤดูร้อนตามแบบพุทธไปด้วย (มัสยิดฮิดายาตุดดีนียะฮ์, 2553)

สงกรานต์เป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนว่า ศาสนาพุทธปรับตัวได้ดีมาตลอด คือประดิษฐ์กิจกรรมต่างๆ ขึ้นมาเพื่อดึงคนเข้าวัด หลายที่จัดงานวัด อุทิศบุญให้อดีตเจ้าอาวาสในช่วงสงกรานต์ไปเลย ที่เกาะยอ (สงขลา) มีการจัดแห่เรือพระทางน้ำ ซึ่งชาวพุทธมักจะเข้าร่วมกิจกรรมทั้งสองพื้นที่ คือเมื่อออกจากวัดก็ไปฉลองแบบทางโลกต่อ แต่ทั้งนี้ โลกโซเชี่ยลที่เอื้อให้อำนาจรัฐส่วนกลางเข้าควบคุม/รู้เห็นได้ง่ายขึ้นก็ทำลายกิจกรรมบางอย่างไปด้วย ดังกรณีของการเปิดโอกาสให้พระเณรเล่นสงกรานต์กับฆราวาส/ผู้หญิง แบบที่พบในต่างจังหวัดเมื่อ 30 ปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม สงกรานต์ยังเป็นประเพณีที่ไม่มีใครเข้าไปผูกขาดได้ว่าต้องจัดแบบนี้เท่านั้น แต่มีตัวอย่างกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น ในปี 2558 กลุ่มพลเมืองโต้กลับจัดพิธี “รดน้ำดำหัวคนเฒ่า เยาวชนก็เช่นกัน” เพื่อขอขมาเด็กรุ่นใหม่ ที่ไม่อาจทำให้ประชาธิปไตยเกิดขึ้นได้ (MGR ONLINE, 2558) เป็นต้นด้วย สงกรานต์จึงเป็นตัวอย่าง Pop Culture ของไทย ที่เปิดโอกาสให้คนหยิบใช้และเเย่งชิงพื้นที่กิจกรรมกันอย่างหลากหลาย    

 

อ้างอิง

เจษฎา บัวบาล. (2567). พุทธแบบไทยในอินโดนีเซีย. เข้าถึงจาก https://dukuntee.blogspot.com/2024/03/blog-post.html.

ฐานเศรษฐกิจ. (2566). "สงกรานต์" ในความหมาย พุทธทาสภิกขุ. เข้าถึงจาก https://www.thansettakij.com/blogs/lifestyle/561935.

พระศักดิ์จรินทร์ ฐิตสํวโร. (2566). การสร้างศาสนทายาทผ่านการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน. วารสารพุทธนวัตกรรมและการจัดการ 6 (6), 213-226. เข้าถึงจาก https://t.ly/Xwkbq.

มัสยิดฮิดายาตุดดีนียะฮ์. (2553). โครงการอบรมจริยธรรม ภาคฤดูร้อน. เข้าถึงจาก https://t.ly/USVBZ.

มูลนิธิเล็ก-ประไพ. (2559). พระราชพิธีสิบสองเดือนในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์. เข้าถึงจาก 
https://t.ly/Bf-Q_.

มูลนิธิสวนเเก้ว. (2567). โครงการที่ 1 : บวชเณรภาคฤดูร้อน ปี 2521. เข้าถึงจาก https://www.kanlayano.org/home/projects/projects_01.php.

วจนา วรรลยางกูร. (2559). สงกรานต์ไม่ใช่ปีใหม่ไทย สาดน้ำไม่ได้มาจากอินเดีย. เข้าถึงจาก
https://www.matichon.co.th/prachachuen/news_104808.

สุจิตต์ วงษ์เทศ. (2556). สงกรานต์ เป็นวัฒนธรรมร่วมอุษาคเนย์. เข้าถึงจาก https://www.silpa-mag.com/culture/article_106140.

MGR ONLINE (2558). กลุ่มพลเมืองโต้กลับรดน้ำดำหัวขอโทษเด็กกลางวัดอุโมงค์ สะพัด “ยิ่งลักษณ์” ขึ้นเชียงใหม่. เข้าถึงจาก https://t.ly/fasGM.

 

ที่มาภาพ: https://pixabay.com/th/
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net