Skip to main content
sharethis

Blood Money Campaign (BMC) ออกแถลงการณ์ครบรอบ 1 ปี เหตุการณ์กองทัพพม่าใช้เครื่องบินรบสังหารประชาชนที่ ‘ปาซิจี’ ภูมิภาคสะกาย จนมีผู้เสียชีวิตราว 210 ราย พร้อมรณรงค์เรียกร้องนานาชาติแบนขายอาวุธ เชื้อเพลิง และยุทโธปกรณ์ให้เผด็จการ

 

12 เม.ย. 2567 เพจเฟซบุ๊ก ETOs Watch Coalition เครือข่ายติดตามการลงทุนไทยและความรับผิดชอบข้ามพรมแดน โพสต์ข้อความเมื่อวานนี้ (11 เม.ย.) Blood Money Campaign (BMC) หรือกลุ่มรณรงค์หยุดเงินเปื้อนเลือด ออกแถลงการณ์ ‘ในวันครบรอบ 1 ปี เหตุการณ์ ‘ปาซิจี’ ภูมิภาคสะกาย แต่ประชาคมโลกทำเพียงการประณาม และล้มเหลวในการบังคับใช้มาตรการเพื่อยับยั้งกองทัพพม่า’ มองว่ามติ คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) ให้รัฐสมาชิกงดเว้นการส่งออกอาวุธและเชื้อเพลิงให้กองทัพพม่าอาจยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ และทางกลุ่มได้เน้นย้ำ และยืนยันว่าจะมีการรณรงค์การแบนขายอาวุธ ยุทโธปกรณ์ และเชื้อเพลิงให้กองทัพพม่า ต่อไป

สำหรับกลุ่ม Blood Money Campaign (BMC) ระบุว่ากลุ่มตนเองเป็นการรวมตัวของประชาชนชาวเมียนมาหลังรัฐประหาร โดยมีที่มาจากหลากหลายกลุ่มอาชีพ มีจุดประสงค์เพื่อหยุดยั้งความมั่งคั่งของการดำเนินธุรกิจของกองทัพที่ส่งผลต่อมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชน ก่อนหน้านี้ BMC เคยเรียกร้องให้นานาชาติ และต่างประเทศ คว่ำบาตรธุรกิจของกองทัพพม่า และเครือข่ายธุรกิจของพวกเขา และเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ อย่างประเทศสิงคโปร์ หยุดค้าขายอาวุธและน้ำมันเชื้อเพลิงยานรบให้กองทัพพม่า 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

รายละเอียดแถลงการณ์ระบุว่า เนื่องด้วยวันที่ 11 เม.ย. 2566 ปฏิบัติการกองทัพเมียนมา ได้ใช้เครื่องบินรบโจมตีใส่ประชาชนหมู่บ้านปาซิจี (Pazigyi) เขตเมืองกันบาลู ภูมิภาคสะกาย ซึ่งอยู่ทางตอนกลางค่อนบนของประเทศเมียนมา จนทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนกว่า 210 ราย โดยเป็นเด็กจำนวน 40 ราย และประชาชนทั่วไปอีก 170 ราย นอกจากนี้ ระหว่างเดือน ก.พ. 2564 - ธ.ค. 2566 หรือกว่า 2 ปีที่ผ่านมา มีการโจมตีทางอากาศมากกว่า 1,650 ครั้ง ส่งผลให้เด็กจำนวนมากและพลเรือนเสียชีวิตไปกว่า 950 ราย  

แถลงการณ์ของ BMC ได้เน้นย้ำว่า น้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินเป็นยุทธปัจจัยสำคัญที่ทำให้เครื่องบินรบสามารถขึ้นบินและทิ้งระเบิดใส่ประชาชนได้ ดังนั้น การแบนการส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินไปยังคณะเผด็จหารทหารพม่าจึงมีส่วนสำคัญอย่างมาก

แม้ว่าเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) จะมีการออกมติเรียกร้องให้รัฐสมาชิกงดเว้นจากการส่งออก ขาย หรือโอนเชื้อเพลิงเครื่องบินไปยังประเทศเมียนมาแล้ว แตข้อมติดังกล่าวก็ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอต่อการหยุดการก่ออาชญากรรมต่อประชาชนโดยกองทัพเผด็จการทหารพม่าได้ แสดงให้เห็นว่าภาคธุรกิจและรัฐบาลที่เกี่ยวข้องยังคงมีส่วนเกี่ยวข้องในการสนับสนุนอาชญากรรมสงครามที่เกิดขึ้นในเมียนมา

"...พวกเรา กลุ่มรณรงค์หยุดเงินเปื้อนเลือดจะยังคงรณรงค์ต่อไปเพื่อให้มีการห้ามเคลื่อนย้ายเชื้อเพลิงเครื่องบิน ควบคู่ไปกับองค์กรปฏิวัติในระดับท้องถิ่นและระดับนานาชาติที่มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน" แถลงการณ์ทิ้งท้าย

ทั้งนี้ สำนักข่าวนิวยอร์กไทม์ รายงานเมื่อ 11 เม.ย. 2566 ระบุว่า เหตุการณ์โจมตีหมู่บ้าน ‘ปาซิจี’ ถือเป็นการโจมตีประชาชนที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่มีการทำรัฐประหารเมื่อปี 2564 เป็นต้นมา ขณะที่ภาพที่เผยแพร่บนสื่อโซเชียลมีเดียในเวลานั้นแสดงให้เห็นร่างกายของประชาชนถูกเผา และชิ้นส่วนร่างกายกระจัดกระจายทั่วพื้นที่ นอกจากนี้ ฟุตเทจจากวิดีโอปรากฏภาพอาคารบ้านเรือนที่ถูกทำลาย มอเตอร์ไซค์ที่ถูกเผา และเศษซากปรักหักพังกระจายไปตามจุดต่างๆ ซึ่งทางนิวยอร์กไทม์ ได้รับการยืนยันจากหน่วยกู้ภัยว่าเป็นภาพจากเหตุการณ์จริง

ภาพเหตุการณ์ที่ปาซิจี ที่มีการเผยแพร่บนโซเชียลเน็ตเวิร์ก

ทั้งนี้ ข้อมูลจากสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า หรือเอเอพีพี ได้เผยแพร่สถิติผู้เสียชีวิต และถูกจับกุม นับตั้งแต่มีการทำรัฐประหารเมื่อ 1 ก.พ. 2564 จนถึง 11 เม.ย. 2567 มีผู้เสียชีวิตจากเงื้อมมือกองกำลังความมั่นคงแล้ว 4,882 ราย หรือเกือบ 5,000 รายแล้ว มีการจับกุมประชาชนผู้เห็นต่าง 26,510 คน และยังอยู่ในการควบคุมตัว 20,337 คน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net