Skip to main content
sharethis

ภาคประชาชนพม่า "Blood Money Campaign" รณรงค์แคมเปญ #DoMoreSingapore ล่ารายชื่อทั่วโลกตั้งแต่ 25-30 ต.ค. 66 ร้อง รบ.สิงคโปร์ คว่ำบาตรเผด็จการพม่า ไม่ให้เข้าถึงระบบธนาคาร กันซื้ออาวุธ-เชื้อเพลิงเครื่องบินรบไล่ฆ่าพลเรือน พร้อมยื่นหนังสือสถานทูตอีกครั้งครบรอบ 1 พันวันหลัง รปห. หลังมีรายงานเปิดเผยว่า สิงคโปร์ เป็น 1 ใน 5 ประเทศที่ค้าอาวุธกับกองทัพเมียนมามากที่สุด

 

24 ต.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า วันนี้ (24 ต.ค.) กลุ่ม "Blood Money Campaign" หรือ กลุ่มรณรงค์หยุดเงินเปื้อนเลือด ซึ่งเป็นกลุ่มภาคประชาชนชาวเมียนมา ออกมารณรงค์ล่ารายชื่อพร้อมกันทั่วโลกตั้งแต่ 25-31 ต.ค.นี้ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลสิงคโปร์มีมาตรการเด็ดขาดคว่ำบาตรตัดท่อน้ำเลี้ยงสภาบริหารแห่งรัฐ หรือ SAC นำโดย พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการสูงสุดแห่งกองทัพเมียนมา ไม่ให้เข้าถึงระบบธนาคาร เพื่อป้องกันไม่ให้กองทัพพม่านำเงินไปใช้ซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ และเชื้อเพลิงเครื่องบินรบมาใช้เข่นฆ่าประชาชน 

นอกจากนี้ ทาง Blood Money Campaign มีข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลสิงคโปร์ด้วยว่า ขอให้ทางการสิงคโปร์ตรวจสอบบริษัทที่เข้าไปทำธุรกิจหรือมีส่วนพัวพันกับเผด็จการทหารเมียนมา

ทั้งนี้ กลุ่ม Blood Money Campaign ก่อตั้งหลังการทำรัฐประหารล่าสุด โดยเป็นการรวมตัวเฉพาะกิจของภาคประชาสังคมเมียนมา อาทิ นักศึกษา นักวิจัย และ NGO โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญคือการตัดแหล่งทุนหรือบริษัทท่อน้ำเลี้ยงของกองทัพเมียนมา เพื่อไม่ให้เงินพวกนั้นถูกนำมาใช้เพื่อซื้ออาวุธสังหารประชาชน

ก่อนหน้านี้ เมื่อปลายเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา กลุ่ม Blood Money Campaign พร้อมด้วยเครือข่ายภาคประชาชนและภาคประชาสังคมเมียนมาและไทยได้ออกแคมเปญ ร่อนจดหมายเรียกร้องรัฐบาลสิงคโปร์ หยุดคบค้าสมาคมอำนวยความสะดวกด้านการเงินและหยุดบริษัทสิงคโปร์ขายอาวุธให้เผด็จการทหารพม่า

ภายในจดหมายร้องเรียนดังกล่าวในนามแคมเปญ #DoMoreSingapore ระบุว่า คณะเผด็จการทหารเมียนมาต้องพึ่งพาสิงคโปร์ โดยเฉพาะในด้านเงินทุนและการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ เทคโนโลยี และเชื้อเพลิงอากาศยาน ซึ่งส่งผลต่อการเข่นฆ่าประชาชนชาวเมียนมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่มีการทำรัฐประหารเมื่อ 1 ก.พ. 2564  

วิธีการที่คณะเผด็จการทหารพม่าใช้ก่อการร้ายต่อประชาชน มีทั้งการใช้การโจมตีทางอากาศ ยินปืนใหญ่โดยไม่เลือกเป้าหมาย  ฆาตกรรม ทรมาน กักขัง ข่มขืน รวมถึงทำลายบ้านเรือน และเสบียงอาหาร

ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเมียนมา ระบุว่า สิงคโปร์เป็นผู้จัดหาอาวุธและยุทโธปกรณ์รายใหญ่อันดับ 3 ให้กับกองทัพเมียนมา นับตั้งแต่การรัฐประหารครั้งล่าสุด โดยมีมูลค่าการค้า 254 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากบริษัทในสิงคโปร์อย่างน้อย 138 แห่ง

สิงคโปร์ยังคงเป็นศูนย์กลางธุรกิจที่สำคัญสำหรับพวกพ้องของกองทัพพม่าบางรายซึ่งได้รับผลประโยชน์จากการทำลายล้างชีวิตชาวเมียนมา

แม้ก่อนหน้านี้สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ จะมีการประกาศคว่ำบาตรกลุ่มบริษัท ‘Shoon’ ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในสิงคโปร์ ก็ยังคงดำเนินธุรกิจต่อไปในสิงคโปร์โดยทางบริษัทได้จัดหาเชื้อเพลิงเครื่องบินไอพ่นให้กับคณะเผด็จการทหารพม่า ซึ่งถูกนำมาใช้ทำสงครามทางอากาศปราบปรามประชาชนพม่า

สำนักข่าวสัญชาติเมียนมา 'อิรวดี' รายงานว่า เมื่อ 27 มี.ค.ที่ผ่านมา สหราชอาณาจักร ได้ออกมาตรการคว่ำบาตรกลุ่มบริษัท Shoon รวมถึง ด่อเจ้าก์จาฉเว่ (Daw Kyauk Kyar Shwe) เจ้าของ และผู้อำนวยการบริษัท เนื่องจากบริษัทดังกล่าวนำเข้า จัดเก็บ และส่งน้ำมันเครื่องบินรบให้กับกองทัพเผด็จการเมียนมา

ดังนั้น เป็นที่ชัดเจนว่ากลุ่มธุรกิจจากสิงคโปร์กำลังทำธุรกรรมกับกองทัพเมียนมา และกลุ่มบริษัทที่เกี่ยวข้องที่กำลังก่ออาชญากรสงคราม และสนับสนุนอาชญากรรมระหว่างประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม ภาคประชาสังคมมองว่า รัฐบาลสิงคโปร์สามารถหยุดการกระทำเหล่านี้ได้

สิงคโปร์มีความมุ่งมั่นที่จะสอบสวนบริษัทที่จัดหาอาวุธและสินค้าที่ใช้ได้ 2 ทาง (ทั้งจุดประสงค์ในทางพลเรือน และการทหาร) และธนาคารยูโอบี (UOB) ได้กำหนดข้อจำกัดในการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับเมียนมาเมื่อเร็วๆ นี้  ถึงกระนั้นรัฐบาลสิงคโปร์จำเป็นต้องดำเนินการมากกว่านี้เพื่อช่วยหยุดยั้งการรณรงค์ก่อการร้ายของคณะเผด็จการทหารพม่า

โดยทาง Blood Money Campaign และภาคประชาสังคมเมียนมา ไทย และนานาชาติมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลสิงคโปร์ ดังนี้

1. เสนอมาตรการคว่ำบาตรเพื่อหยุดการถ่ายโอนอาวุธ สินค้าที่ใช้ได้สองทาง (ทั้งในทางพบเรือนและการทหาร) เทคโนโลยี น้ำมันเครื่องบิน และธุรกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมกับกองทัพพม่า

2. ปิดกั้นไม่ให้คณะเผด็จการทหารพม่าเข้าถึงระบบการเงินของสิงคโปร์ผ่านการคว่ำบาตรแบบกำหนดเป้าหมาย รวมถึงธนาคารของรัฐบาลทหาร

3. เร่งรัดและดำเนินการสอบสวนต่อสาธารณะเกี่ยวกับบริษัทสิงคโปร์ที่จัดหาอาวุธ สินค้าใช้แล้วทิ้ง และเทคโนโลยีให้กับกองทัพพม่า

หนึ่งในสมาชิก Blood Money Campaign ขออนุญาตไม่เปิดเผยชื่อเนื่องจากความกังวลด้านความปลอดภัย กล่าวว่า พวกเขาตั้งเป้าให้มีกลุ่ม องค์กร และประชาชนทั่วไปให้ได้จำนวนมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยในทางออนไลน์ทางกลุ่มตั้งเป้าไว้ราว 25,600 รายชื่อให้มาเข้าลงนามสนับสนุนในจดหมาย โดยการรวบรวมรายชื่อนี้จะสิ้นสุดภายในวันที่ 29 ต.ค.นี้ ซึ่งเป็นวันครบรอบ 1,000 วัน ของการรัฐประหารในเมียนมาเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 ซึ่งมีการรวบรวมรายชื่อทั้งในะดับพื้นที่ (on ground) และแบบออนไลน์ โดยขณะนี้ในเว็บไซต์ actionnetwork.org ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสำหรับการรณรงค์และรวบรวมรายชื่อได้ระบุว่าขณะนี้มีจำนวนกว่า 23,000 รายชื่อ (ณ วันที่ 23 ต.ค.) รายชื่อแล้วที่ร่วมลงนาม โดยการรวบรวมรายชื่อทั้งออนไลน์และออฟไลน์จะสิ้นสุดลงในเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 26 ต.ค.ที่จะถึงนี้

สมาชิกฝ่ายรณรงค์ของกลุ่ม Blood Money Campaign เปิดเผยว่าการเรียกร้องต่อรัฐบาลสิงคโปร์ผ่านจดหมายร้องเรียนในครั้งนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ก่อนหน้านี้ทางภาคประชาสังคมพม่า และองค์กรนานาชาติกว่า 200 องค์กร ได้มีการยื่นจดหมายร้องเรียนไปแล้ว แต่ไม่มีการตอบกลับและการตอบสนองตามข้อเรียกร้องจากทางรัฐบาลสิงคโปร์อย่างชัดเจนทำให้ทางภาคประชาสังคมพม่าต้องเพิ่มแรงกดดันมากขึ้น เพื่อให้มีการตอบสนองตามข้อเรียกร้องเพราะประเทศเมียนมาในขณะนี้กำลังอยู่ในวิกฤตมนุษยธรรมที่ที่มาของความมั่งคั่งและอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพพม่านั้นส่วนหนึ่งมาจากบริษัทที่ขายอาวุธและสินค้าที่ที่ใช้ได้สองทางซึ่งจดทะเบียนอยู่ในสิงคโปร์และการสามารถเข้าถึงระบบธนาคารและธุรกรรมทางการเงินในสิงคโปร์ของกองทัพพม่าได้ซึ่งถือได้ว่าเป็นแหล่งเก็บเงินที่ปลอดภัยของเผด็จการทหารนำไปสู่การปราบปรามประชาชนในที่สุด

หนึ่งในทีมรณรงค์ของกลุ่ม Blood Money Campaign กล่าวว่าภายในวันที่ 25-31 ตุลาคม นี้จะเป็นสัปดาห์แห่งการรณรงค์ #DoMoreSongapore ทั่วโลก (Global Campaign) ประชาชนและภาคประชาสังคมเมียนมาทั้งที่กระจายตัวอยู่ในเมียนมาและที่อื่นๆ ทั่วโลกจะร่วมกันออกมารณรงค์ทั้งในระดับพื้นที่และบนโลกออนไลน์เกี่ยวกับแคมเปญนี้เพื่อสร้างแรงกดดันอย่างเป็นวงกว้างต่อรัฐบาลสิงคโปร์ให้ทำตามข้อเรียกร้อง และจะมีการนำรายชื่อและจดหมายร้องเรียนไปยื่นที่หน้าสถานเอกอัครราชทูตสิงคโปร์ในประเทศต่าง ๆ ซึ่งแน่นอนจะมีตัวแทนภาคประชาสังคมเมียนมาในไทยไปยื่นจดหมายร้องเรียนที่สถานทูตสิงคโปร์ในประเทศไทยด้วย โดยในเบื้องต้นมีกำหนดการไปยืนจดหมายในวันจันทร์ที่ 30 ต.ค.นี้

ทั้งนี้ เมื่อ 8 มิ.ย.ที่ผ่านมา อิรวดี รายงานว่า เมื่อปีงบประมาณ 2565-2566 เมียนมามีรายได้จากการลงทุนของบรรษัทข้ามชาติ จำนวน 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยนักลงทุนจากประเทศสิงคโปร์ ถือเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของเมียนมา คิดเป็นสัดส่วนมูลค่าการลงทุนราว 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รองลงมาคือประเทศจีน และไทย 

สื่อทางการเมียนมาอย่าง Global New Light of Myanmar รายงานเมื่อ 20 ส.ค. 2566 ตรงกันว่า อ้างอิงข้อมูลจาก DICA ช่วงปีงบประมาณ 2023-2024 (พ.ศ. 2566-2567) โดยในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา (เม.ย.-ก.ค. 2566) รัฐบาลเมียนมามีรายได้จากการลงทุนต่างชาติ คิดเป็นมูลค่าทั้งหมด 467.793 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยสิงคโปร์ยังคงครองแชมป์เข้ามาลงทุนในเมียนมามากที่สุด จำนวนมูลค่าทั้งสิ้น 335 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รองลงมา เป็นประเทศจีน เข้ามาเป็นที่ 2

นอกจากนี้ รายงานจากผู้รายงานพิเศษสถานการณ์สิทธิมนุษยชนเมียนมา สภาสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เปิดเผยด้วยว่า 5 อันดับ ประเทศที่ค้าอาวุธกับกองทัพเมียนมามากที่สุด ได้แก่ อันดับที่ 1 คือ รัสเซีย มูลค่า 406 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อันดับที่ 2 จีน มูลค่า 267 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อันดับ 3 คือประเทศสิงคโปร์ คิดเป็น 254 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อันดับ 4 คืออินเดีย จำนวน 51 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และอันดับที่ 5 คือประเทศไทย 28 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ขณะที่สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเมียนมาล่าสุด รายงานจากสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า หรือ เอเอพีพี ระบุว่า นับตั้งแต่รัฐประหารเมื่อ 1 ก.พ. 2564 จนถึง 24 ต.ค. 2566 หรือนานกว่า 2 ปีแล้ว มีผู้เสียชีวิตด้วยเงื้อมมือของกองทัพเมียนมา อย่างน้อย 4,155 ราย มีผู้ถูกจับกุม อย่างน้อย 25,337 ราย และมีผู้ถูกคุมขังอย่างน้อย 19,616 ราย

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net