Skip to main content
sharethis

ไข่นกที่ถูกน้ำท่วมในปี 2558 ภาพจากบึงกาฬรักนก

ภาพของไข่นกที่ลอยน้ำ อยู่บนหาดทรายในเมืองบึงกาฬ แสดงให้เห็นถึงกระแสน้ำที่ผันผวน ไม่เป็นไปตามฤดูกาล จากการสร้างเขื่อนจำนวนมากในแม่น้ำโขง ส่งผลกระทบต่อชีวิตของนกสายพันธุ์ต่าง ๆที่อพยพมาอาศัยและทำรังวางไข่ตามพื้นที่ริมแม่น้ำ นอกจากนั้นยังมีกระแสของการท่องเที่ยง และการพัฒนาริมฝังแม่น้ำ ที่ไหลเข้ามา ที่ไม่ใช่เพียงแค่นกที่อาจหายไป แต่ยังส่งผลถึงธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของผู้คนท้องถิ่นในจังหวัดเกิดใหม่แห่งนี้ ให้เปลี่ยนแปลงไปอีกด้วย

ฤดูแล้งในราวปี 2556 ระหว่างที่รัชนีกร บัวโรย จาก “กลุ่มบึงกาฬรักนก” กำลังพากลุ่มเด็ก ๆตะเวนเดินดูนกอยู่ริมหาดทรายที่เรียงตัวยาวตามแนวแม่น้ำโขงในตัวเมืองบึงกาฬ มีเด็กคนหนึ่งทักให้รัชนีกรดูไข่นกที่ลอยไปตามน้ำ เมื่อพินิจดูด้วยตัวเองก็ได้รู้ว่าเป็นไข่ของนกแอ่นทุ่งเล็ก ที่อพยพมาทำรังตามชายหาดในช่วงหน้าแล้ง เมื่อต่อมาได้ลงเดินสำรวจไปทั่ว ๆหาดได้กับพบรังนกอีกจำนวนมากที่เสียหายจากการถูกน้ำท่วม

รัชนีกรเติบโตขึ้นมาในพื้นที่แถบนี้ตั้งแต่บึงกาฬยังเป็นอำเภอ จนถูกยกฐานะเป็นจังหวัดในภายหลัง ความเป็นไปต่าง ๆของบึงกาฬจึงผ่านการรับรู้ของเธอมาโดยตลอด แต่การหยิบกล้องขึ้นมาตะเวนส่องนกไปทั่วจังหวัด ทำให้รัชนีกรสามารถสังเกตความเปลี่ยนแปลงของบึงกาฬได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ปรากฏการณ์ที่รังนกริมหาดถูกน้ำท่วมเสียหาย แสดงให้รัชนีกรเห็นถึงการผันผวนเปลี่ยนไปของกระแสน้ำ พร้อมกันกับกระแสการพัฒนาที่ไหลเข้ามายังจังหวัดเกิดใหม่แห่งนี้ ซึ่งอาจพัดเอาคุณค่าบางอย่างพลัดจมหายไป

นก หาดทราย และผู้คนท้องถิ่น

รัชนีกร เล่าย้อนให้ฟังว่าในอดีตพื้นที่บึงกาฬและอำเภอรอบๆ นั้นเงียบสงบ ตั้งอยู่ห่างจากตัวจังหวัดหนองคายกว่า 100 กิโลเมตร บ้านเรือนของผู้คนท้องถิ่นมีอยู่อย่างเบาบาง ส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ริมฝั่งถนนสองช่องจราจรหมายเลข 212 ที่ยาวเรียบขนานไปกับแม่น้ำโขง รัชนีกรเกิดในครอบครัวข้าราชการ แต่บรรยากาศที่รอบไปด้วยท้องทุ่งและแม่น้ำ หล่อหลอมให้เธอสนใจในเรื่องของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หลังเรียนจบในชั้นมัธยม รัชนีกรเข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม การได้ร่วมกิจกรรมออกค่ายตามชนบทของนิสิต ทำให้เธอมีโอกาสได้เริ่มเดินป่าศึกษาธรรมชาติอย่างจริงจัง ที่หลังเรียนจบการออกทริปเดินป่า ได้กลายมาเป็นกิจกรรมที่ประจำเมื่อมีวันหยุด และทำให้ได้เจอกับนพดล บัวโรย เจ้าหน้าอนุรักษ์พันธ์สัตว์ป่า ที่อำเภอภูเขียว ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นคู่ชีวิตและคู่หูดูนกของเธอ 

รัชนีกร และนพดล บัวโรย ผู้ก่อตั้งกลุ่มบึงกาฬรักนก ภาพโดย ดลวรรฒ สุนสุข

“ตอนแรกเราก็แค่อยากไปเที่ยวหาด ไปดูวิธีชีวิตชาวบ้าน แล้วถ่ายภาพเก็บไว้  จนมารู้ที่หลังว่ามีนกอาศัยอยู่ตามชายหาด แต่ก็ไม่เหมือนกันนกป่าที่เราเคยเห็นดู” รัชนีกรเล่าว่าหลังจากผ่านการทำงานในสำนักพิมพ์หลายแห่งในกรุงเทพ ปี 2549 จึงตั้งใจจะกลับมาอยู่ปักหลักใช้ชีวิตอยู่ที่บ้าน

พื้นที่ริมฝั่งของจังหวัดบึงกาฬ เต็มไปด้วยหาดทรายหลายแห่งตลอดแนวแม่น้ำโขง ที่ถูกคนในท้องถิ่นใช้ประโยชน์ ทั้งเป็นพื้นที่ทำการประมงพื้นบ้าน พักผ่อนหยอนใจ และทำเกษตรริมแม่น้ำ รัชนีกรและครอบครัวชอบที่จะไปเที่ยวตามหาดในตัวอำเภอบึงกาฬ จนเริ่มสังเกตเห็นนกหลายสายพันธุ์ที่อยู่รอบ ๆพื้นที่หาด จากที่ชอบการดูนกเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว รัชนีกรและนพดล จึงเริ่มหยิบกล้องส่องนกตระเวนดูตามหาดและทั่วบึงกาฬ 

 

นกแอ่นทุ่งเล็ก นกสายพันธุ์หลักที่วางไข่ทำรังบนชายหาดแม่น้ำโขง จังหวัดบึงกาฬ ภาพโดยบึงกาฬรักนก

“เราไม่ได้บันทึกเพราะคิดว่ามันจะถูกผลกระทบหรอกเรายังไม่รู้ แค่อยากรู้ว่ามันมีประชากรเท่าไหร่ บึงกาฬมีนกชนิดไหนบ้าง” นพดล บัวโรย กล่าว ด้วยความที่เป็นนักอนุรักษ์จึงเริ่มสำรวจ เพื่อจดบันทึกข้อมูลต่าง ๆของนก ทำให้พบว่าสามารถจำแนกประเภทของนกในบึงกาฬได้  47 ชนิด นับรวมทั้งนกหาด นกชายเลน นกทั่วไปที่เป็นนกอพยพ และพบว่ามีนกแอ่นทุ่งเล็ก กับนกหัวโตเล็กขาเหลือง ที่มาทำรังบนชายหาด ซึ่งนพดล อธิบายว่านกสายพันธุ์ต่าง ๆอาศัยเชื่อมโยงไปกับระบบนิเวศน์และวิถีผู้คนริมฝั่งแม่น้ำ ใช้ความอุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งอาหารธรรมชาติ และคอยกินแมลงตามแปลงพืชผักที่ชาวบ้านปลูกไว้ริมน้ำ รวมไปถึงการอาศัยวางไข่บนชาดหาย จึงสังเกตได้ว่านกในบึงกาฬจะคุ้นเคยกับคนมากกว่านกในป่าที่นพดลเคยเห็นดูมาก่อน 

พร้อมกันนั้นทั้งสองคนได้ตั้งกลุ่ม “บึงกาฬรักนก” ขึ้นมา ชวนผู้คนต่างๆในเมืองมาเรียนรู้การดูนก บ่อยครั้งจัดทริปร่วมกับโรงเรียนพาเยาวชนลงพื้นที่ดูนก เพราะรัชนีกรเชื่อว่าการหยิบกล้องขึ้นมาดูนกนั้น จะไม่ได้ทำเราเห็นเพียงแค่นกชนิดต่าง ๆ แต่ยังได้เห็นถึงธรรมชาติสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบๆตัว เป็นการปลูกฝั่งแนวคิดการอนุรักษ์ให้กับคนในชุมชนโดยเฉพาะกับกลุ่มเยาวชน รวมถึงทำให้รัชนีกรกับนพดล ได้ส่องขยายเห็นบางสิ่งที่ถูกหลงลืมท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เข้ามาในบึงกาฬ

สายน้ำและเมืองที่เปลี่ยนไป

บึงกาฬถูกยกสถานะจากอำเภอในจังหวัดหนองคาย มาเป็นจังหวัดแห่งใหม่ของประเทศ ในปี 2554 พร้อมกับการพัฒนาต่าง ๆที่เข้ามาอย่างรวดเร็ว “เราก็ตื่นเต้นจะได้กลายเป็นจังหวัด มีคนรู้จักมากขึ้น พอเปลี่ยนมาเป็นจังหวัดก็เห็นความเปลี่ยนแปลงจากในเมืองที่มีแต่บ้านชาวบ้านก็เริ่มมีตึกมากขึ้น นักท่องเที่ยวก็เริ่มเข้ามา เราดีใจนะ แต่ไม่รู้ว่าจะมีผลกระทบที่ตามมา” รัชนีกรกล่าว

เหมือนเป็นนาฬิกาบอกฤดูกาลตามธรรมชาติ เมื่อเริ่มเห็นไข่นกอยู่ตามผืนหาด ถือเป็นสัญญาณเฉลยการมาถึงของฤดูแล้ง ตั้งแต่ช่วงปลายของปี ข้ามมาถึงช่วงต้นของอีกปี เป็นช่วงเวลาทองของการดูนก ที่หาดจะขยายตัวยาวลงไปในแม่น้ำ นกที่เข้าอาศัยและทำรังตามพื้นที่ส่วนต่างๆ มีให้เห็นได้มาก แต่เป็นฤดูแล้งของปี 2556 ที่รัชนีและนพดลเริ่มสังเกตเห็น รังนกที่ถูกท่วมจากระดับน้ำที่สูงผิดปกติจากที่เป็นในฤดูแล้งปีอื่น จึงเริ่มหาข้อมูลพบว่าการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำอย่างกะทันหันนี้ เป็นผลมาจากการปล่อยน้ำของเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง 11 แห่งในจีน

นพดล จดบันทึกพิกัดจีพีเอสเพื่อใช้ติดตามความเปลี่ยนแปลงของรังนก ภาพโดย ดลวรรฒ สุนสุข

รัชนีกรและนพดลจึงมีงานที่ต้องทำเพิ่มขึ้นมาเป็นการสำรวจเก็บข้อมูลรังนกที่เสียหาย โดยการใช้พิกัดจีพีเอสบันทึกตำแหน่งของรังนกแต่ละรัง เพื่อเปรียบเทียบหาการเปลี่ยนแปลง จากข้อมูลที่เก็บของพวกเขาระหว่างปี 2557-2562 พบว่าในช่วง 3 ปี 2557-2559 เป็นช่วงที่ นกแอ่นทุ่งเล็ก และนกหัวโตเล็กขาเหลือง ที่เป็นนก 2 ชนิดหลักที่วางไข่ตามชายหาดมีอัตราการรอดของไข่นกต่ำกว่า 50% ซึ่งเป็นช่วง 3 ปีที่ประเทศจีนมีการเปิด-ปิดเขื่อนถี่ขึ้น เพื่อควบคุมกระแสน้ำ ระหว่างการระเบิดแก่งและปรับปรุงร่องน้ำ

 “นกก็เริ่มเรียนรู้ได้เหมือนกันว่าน้ำจะท่วม มันก็พยายามปรับตัวไปกับเรา” นพดลกล่าวถึง การเปรียบเทียบข้อมูลที่เพิ่มพูนขึ้นทุกปีทำให้พบรูปแบบการปรับตัวของนก ที่เริ่มจะวางไข่ทำรังในหาดบริเวณที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ อัตราการรอดของไข่นกจึงมีเพิ่มขึ้นมาบ้าง

การยกสถานะขึ้นเป็นจังหวัดของบึงกาฬมาพร้อมพัฒนาด้านต่าง ๆ ถนนริมฝั่งแม่น้ำถูกขยายเพิ่มช่องจราจร พร้อมกระแสการท่องเที่ยวในจังหวัดที่เข้ามา บึงกาฬเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีอัตราการเติบโตของรายได้จากท่องเที่ยวมากที่สุดในอีสาน พื้นที่หาดจึงไม่ได้มีแค่คนท้องถิ่นลงไปใช้ประโยชน์อีกต่อไป ยังถูกใช้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัด มีกิจกรรมต่างๆ ถูกจัดขึ้นเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างถิ่น

 ไข่นกนกแอ่นทุ่งเล็ก บนหาดในอำเภอเมืองบึงกาฬ ภาพโดยบึงกาฬรักนก

“ช่วงปีไหนที่การท่องเที่ยวหาดบูม ก็จะเจอรังนกที่เสียหายเยอะ ” นพดลกล่าว ไม่ต่างกับกระแสน้ำ การเข้ามาของกระแสการท่องเที่ยวที่เข้ามารวดเร็ว ก็ทำให้นกตามชายหาดไม่สามารปรับตัวได้ทัน “ถ้าชาวบ้านใช้ประโยชน์ปกติมันไม่มีปัญหา หาปลา วิ่งเล่น ตักน้ำรดผัก  แต่ทุกวันนี้มีทั้งการจัดงาน มีการเอารถลงมาวิ่ง ” นพดลกล่าว ไม่ใช่แค่ผู้คนที่ลงมาที่หาดเพิ่มขึ้นจากการท่องเที่ยว แต่ยังมีเวทีจัดงาน และรถยนต์ที่ลงมาในหาดที่สร้างความเสียหายให้กับรังนกอีกด้วย ทั้งนี้ปัจจุบันกำลังมีการก่อสร้าง สะพานมิตรภาพแห่งที่ 5 บึงกาฬ-บอลิคำไซ สะพานข้ามแม่น้ำโขง ที่ถูกคาดว่าจะเป็นตัวเชื่อมโยงเศรษฐกิจระหว่างประเทศในภูมิภาค ดึงดูดความเจริญเข้ามาในพื้นที่บึงกาฬ  

“เราต้องประกาศพื้นที่คุ้มครองให้นก ระบุไปเลยว่าจะใช้ประโยชน์พื้นที่หาดไปจัดงานท่องเที่ยวเท่าไหร่ ส่วนไหนที่เป็นพื้นที่อนุรักษ์ไว้ แล้วนกก็จะปรับตัวของมันเอง” นพดล ยินดีและเข้าใจ ที่บึงกาฬจะได้รับการพัฒนาอย่างที่ควรจะเป็น ในส่วนที่เขาเองเป็นนักอนุรักษ์จึงอยากเสนอให้มีการบริหารจัดการชายหาด แบ่งโซนให้ชัดเจน ว่าส่วนไหนสามารถนำไปจัดกิจกรรมท่องเที่ยว สามารถก่อสร้างหรือนำรถลงมาได้ กับส่วนที่ปล่อยให้เป็นพื้นที่ตามธรรมชาติสามารถเดินเท้าลงมาที่หาดได้เท่านั้นเป็นต้น ซึ่งเชื่อว่านกก็จะสามารถปรับตัวหาพื้นที่ไม่มีการรบกวนเพื่ออาศัยและวางไข่ได้เอง แลพไม่ใช่เพียงแค่นกที่จะถูกอนุรักษ์ยังรวมไปวิถีผู้คนท้องถิ่น อย่างการประมงชายฝั่ง และการเกษตรริมหาด ที่ใช้ประโยชน์อยู่ร่วมด้วย

เขื่อนกันตลิ่งการพัฒนาริมชายฝั่งโขงที่อาจไปผิดทาง

เป็นกระบวนการตามธรรมชาติที่ผืนดินบริเวณริมตลิ่งจะถูกกระแสน้ำกัดเสาะ ทำให้มีพื้นที่ดินที่ร่นหายไป กลับกันก็มีปรากฎการณ์ที่กระแสน้ำผลัดพาเอาตะกอนดินไปทับถมให้ตลิ่งอีกแห่งมีพื้นที่ดินเพิ่มขึ้น รายงานการศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงของตลิ่งและการพัดพาตะกอนของแม่น้ำโขงสายประธาน ชี้ให้เห็นว่า จากการใช้ทรัพยากรชายฝั่งอย่างเกินขีดจำกัด อย่างเช่นการดูดทราย และกระแสน้ำที่ผันผวนกระทันหันจากเขื่อนในเมืองน้ำโขง ทำให้การกัดเซาะชายฝั่งรุนแรงขึ้นกว่าในอดีต

เหตุการณ์ตลิ่งแม่น้ำโขงพังทลายจึงเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ตามแนวแม่น้ำโขง โดยรายงานดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่าในปี 2563 คือ 1 ปีหลังเขื่อนไซยะบุรีในประเทศลาว ซึ่งเป็นเขื่อนที่ 12 ในแม่น้ำโขงสร้างแล้วเร็จ เป็นปีที่มีพื้นที่ตลิ่งหายไปมากที่สุด การสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง ถูกทางการใช้เป็นวิธีแก้ปัญหาการกัดเซาะตลิ่ง ที่มักพบเห็นได้ในหลายพื้นที่ทั่ว 28 อำเภอริมฝั่งแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกมองว่าจะสร้าง ผลกระทบทั้งทางสังคมและระบบนิเวศ ตัดขาดความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่บนฝั่งกับแม่น้ำ

“การทรุดของตลิ่งชายฝั่ง และการทับถมของตะกอน เป็นวัฏจักรปกติของแม่น้ำ การสร้างเขื่อนกันตลิ่งมันเป็นทำลายกระบวนการธรรมชาตินี้” วีรชาติ  ริมสกุล จากอำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม เครือข่ายรักษ์แม่น้ำโขงกล่าว ว่าถึงแม้การกัดเซาะตลิ่งนั้นรุนแรงขึ้น แต่การสร้างเขื่อนกันตลิ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ส่งผลต่อระบบนิเวศน์ ทำให้การไหลของตะกอนไม่เกิดขึ้นตามเดิม และเป็นสิ่งแปดปลอมที่ทำลายระบบนิเวศน์ริมชายฝั่งที่อุดมสมบูรณ์

โครงการสร้างเขื่อนกันตลิ่ง บนพื้นที่หาดในบึงกาฬขนาด 500 ไร่ ที่มีบางส่วนยื่นลงไปในแม่น้ำโขง ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง ภาพโดย ดลวรรฒ สุนสุข

พื้นที่หาดในเมืองบึงกาฬเป็นเหมือนกับพื้นที่ชายฝั่งแม่น้ำโขงอื่นๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปตามจังหวะของแม่น้ำ รูปร่างสัณฐานของหาดจะเปลี่ยนไปตามฤดูกาล ช่วงแล้งหาดจะมีพื้นที่กว้างยื่นเข้าไปในแม่น้ำ ช่วงฤดูฝนหาดจะหดเล็กลง มีร่องน้ำไหลเข้าผ่านกลางหาด

ในปี 2563 ได้มีการอนุมัติโครงการสร้างเขื่อนกันตลิ่งขนาด 500 ไร่ ในรูปแบบแนวกำแพงยื่นลงไปในแม่น้ำโขง ล้อมป้องกันชายหาดบางส่วนไว้ โดยภายในวงล้อมมีการถมที่ดิน ปรับพื้นทีให้เป็นสวนสาธารณะ เพื่อทำเป็นแลนมาร์คแห่งใหม่ของเมือง ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง

“โครงการเหล่านี้ไม่มีการตรวจสอบ เมื่อหน่วยงานคิดโครงการได้ ก็เสนอแผนของบประมาณได้เลย ไม่ต้องทำผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือรับฟังความคิดเห็น” มนตรี จันทวงศ์ นักวิจัยอิสระจากกลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง (The Mekong Butterfly) กล่าว โดยอธิบายว่า การสร้างเขื่อนกันตลิ่ง ไม่มีข้อบังคับให้ต้องมีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ที่มีขั้นตอนอันยุ่งยาก ภาครัฐจึงนิยมสร้างกันทั่วไปตลอดแนวแม่น้ำ แม้แต่ในกรณีของเขื่อนกันตลิ่งในบึงกาฬ ที่มีการถมดินลงไปในแม่น้ำโขงเป็นกินพื้นที่มากกว่าปกติ ก็ยังไม่มีการศึกษาผลกระทบอย่างจริงจัง 

พื้นที่เกษตรริมฝั่งที่กำลังจะหายไป จากเขื่อนกันตลิ่งที่กำลังก่อสร้าง ภาพโดย ดลวรรฒ สุนสุข

“นกได้รับผลกระทบสองต่อทั้งจากเขื่อนในจีน และการพัฒนาของบึงกาฬ” รัชนีกรกล่าว การก่อสร้างเขื่อนกันตลิ่งในบึงกาฬทำลายที่อยู่อาศัยของนก ในปัจจุบันทางรัชนีและกลุ่มยังไม่ได้ลงพื้นที่สำรวจว่าหลังการสร้างโครงการนี้ ประชากรของนกที่อาศัยและทำรังวางไข่มีจำนวนลดลงอีกเท่าใด หรือการปรับตัวของนกเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นงานที่กลุ่มบึงกาฬรักนกกำลังมีแผนจะทำ

“การพัฒนามันทำได้ แต่ต้องดูด้วยว่าพื้นที่ซึ่งจะพัฒนามีทรัพยากรอะไรอยู่บ้าง และต้องศึกษาผลกระทบอย่างจริงจังกว่านี้”นพดลกล่าว ซึ่งไม่ใช่กระทบแค่เรื่องของนก ยังรวมไปการไหลของน้ำ ระบบนิเวศน์อื่น ๆไม่ว่าจะเป็นสัตว์และพืช วิถีชีวิตท้องถิ่นอย่างการทำเกษตรริมตลิ่ง หรือประมงท้องถิ่น ซึ่งล้วนจะได้รับผลกระทบโครงการพัฒนาริมฝั่งโงขนาดใหญ่นี้ด้วย “เราได้มูลค่ามา แต่เราเสียคุณค่าไป มีเม็ดเงินเข้ามามากขึ้น มีการท่องเที่ยว มีสถานที่สวย ๆ แต่บึงกาฬอาจไม่มีเกษตรริมโขงที่สวยงาม ไม่มีนกตามหาดให้ดูอีกแล้ว”

 

รายงานชิ้นนี้ได้รับการสนับสนุนจาก Internews’ Earth Journalism Network

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net