Skip to main content
sharethis
  • เปิดคลิปสวนกันคนละมุมมอง จากไลฟ์-กล้อง CCTV - กล้องหน้ารถก่อนเหตุมีปากเสียงกับตำรวจ
  • รมช.มหาดไทย อัด 'เนรคุณต่อแผ่นดิน' รอง.หน.ปชป.โยงมีกลุ่มการเมืองอยู่เบื้องหลัง-ชี้ไม่ควรนิรโทษกรรม
  • ศปปส. ยื่นถอนประกัน 'ตะวัน' - 'เค สามถุยส์-แทนคุณ-เพจวันนี้ก้าวไกลโกหกอะไร' จี้สอบ 'พิธา' ในฐานะนายประกัน
  • เผยข้อมูลทะเบียนและข่มขู่กลุ่มตะวัน ขณะที่ 'ตะวัน' นัดทำโพล "คุณคิดว่าขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนหรือไม่?” อีกครั้ง
  • ย้อนดูความพยายามแก้ผลกระทบจาก #ขบวนเสด็จ ปี 44-65

ภาพที่บันทึกจากไลฟ์ของทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวัน นักกิจกรรมเยาวชน และหนึ่งในผู้ต้องหาคดี ม.112 จากกรณีทำโพลขบวนเสด็จ เผยแพร่คลิปถ่ายทอดสดเมื่อวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา เวลา 18.26 น.

เปิดคลิปสวนกันคนละมุมมอง

จากกรณี ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวัน นักกิจกรรมเยาวชน และหนึ่งในผู้ต้องหาคดี ม.112 จากกรณีทำโพลขบวนเสด็จ เผยแพร่คลิปถ่ายทอดสดหรือไลฟ์เมื่อวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา เวลา 18.26 น. ขณะที่ปากเสียงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเรื่องขบวนเสด็จ ซึ่งในไลฟ์ดังกล่าวมีความยาว 2.55 นาที เผยแพร่ช่วงที่ ตะวัน ซึ่งเป็นผู้โดยสารกับรถยนต์ที่กำลังโต้เถียงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเรื่องขบวนเสด็จ พร้อมกับมีการบีบแตรเป็นระยะ อย่างไรก็ตามต่อมาไลฟ์ดังกล่าวถูกนำไปเผยแพร่ต่อจนเกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์วงกว้าง โดยเฉพาะใน x มีแฮชแท็ก #ขบวนเสด็จ กลับมาติดเทรนอีกครั้ง สื่อหลายสำนักหยิบประเด็นนี้ไปรายงาน

ภาพคลิปจาก CCTV เพื่อโต้ว่าช่วงเวลาดังกล่าวไม่มีการปิดถนนระหว่างมีขบวนเสด็จ ซึ่งถูกสื่อหลายสำนักนำไปเผยแพร่

ต่อมามีการเสนอภาพคลิปจาก CCTV เพื่อโต้ว่าช่วงเวลาดังกล่าวไม่มีการปิดถนนระหว่างมีขบวนเสด็จ ซึ่งหลายสื่อนำไปเผยแพร่ต่อ เช่น เรื่องเล่าเช้านี้ และ TOP News จนเป็นเหตุผลสำคัญทำให้ฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์มั่นใจและยกเป็นเหตุผลสำคัญในการนำมาตอบโต้การกระทำของกลุ่มตะวันและพวก

ด้านตะวันเอง ตั้งแต่วันที่ 7 ก.พ. นำคลิปจากกล้องหน้ารถที่เห็นช่วงเหตุการณ์ก่อนมีปากเสียงกับตำรวจและจังหวะที่กล้อง CCTV ข้างต้นมาเผยแพร่เพื่อยืนยันว่ามีการปิดถนนจริงๆ โดยในคลิปจะเห็นช่วงที่รถที่ตะวันโดยสารมานั้นพยายามแทรกรถที่ติดอยู่ขึ้นมาก่อนถูกรถตำรวจสกัด 

ภาพที่บันทึกจากโพสต์ของตะวันที่โพสต์ไว้เมื่อวันที่ 7 ก.พ. ที่ผ่านมา

รมช.มหาดไทย อัด 'เนรคุณต่อแผ่นดิน' รอง.หน.ปชป.โยงมีกลุ่มการเมืองอยู่เบื้องหลัง-ชี้ไม่ควรนิรโทษกรรม

ไม่เพียงแต่กระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียลเน็ตเวิร์คเท่านั้นผู้มีอำนาจและกลุ่มต่างๆ ก็ออกมาต่อว่าการกระทำของกลุ่มตะวัน พร้อมโยงไปกับกลุ่มการเมืองอื่นๆ เช่น ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า ชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ออกมาแสดงความเห็นต่อกรณีนี้ว่า พฤติกรรมของเด็กแบบนี้ไม่ถูกต้อง ถ้ามีอีก ตนไม่ยอม ไม่เอาไว้ อย่าลืมว่าตอนนี้คุณอยู่ระหว่างรอลงอาญา ถ้ามีอะไรขึ้นมาคุณจะติดคุก และข้อเท็จจริงขบวนเสด็จฯ เขาก็หลบให้ ไม่ได้ปิดทั้งถนนตามภาพที่เห็น จากสื่อมวลชนขบวนก็อยู่เลนริม จะไปอีกทางก็ได้ แต่พฤติกรรมที่ทำนี่คือการหาเรื่อง 

"ถือเป็นพฤติกรรมหาเรื่อง ซึ่งเป็นคนที่เนรคุณต่อแผ่นดิน อย่าคิดว่าเป็นเรื่องหล่อเรื่องเก่งนะครับ มันเป็นเรื่องที่ไประคายเคืองสถาบันหลักของประเทศ" รมช.มหาดไทย กล่าว 

วันที่ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา ไทยรัฐออนไลน์ ยังรายงานด้วยว่า ชัยชนะ เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาพูดอ้างว่ามีคนอยู่เบื้องหลัง โดย รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า มีกลุ่มการเมืองอยู่เบื้องหลังและคอยให้ท้ายจนทำให้ผู้ที่เคลื่อนไหวเหิมเกริม เพราะคิดว่า ทำอะไรแล้วจะมีคนมาช่วยเหลือ ที่ผ่านมา การเคลื่อนไหวของคนกลุ่มนี้ มักสร้างความไม่สบายให้กับสังคมไทย ยิ่งไปละเมิดต่อบุคคลที่เป็นที่เคารพสักการะของคนไทยแล้ว ตนยอมไม่ได้ จึงขอให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการตามกฎหมาย และเร่งขยายผลสาวถึงผู้อยู่เบื้องหลังในการสนับสนุนให้กลุ่มคนเหล่านี้ด้วย

ชัยชนะ ยังกล่าวอีกว่ากรณีนี้ตนจะยกขึ้นมาชี้ให้เห็นว่า บุคคลที่เคลื่อนไหวกระทบต่อสถาบันฯ อย่างร้ายแรง ไม่สมควรที่จะได้การนิรโทษกรรม เพราะเป็นการทำลายกระบวนการยุติธรรมและความรู้สึกของประชาชนคนไทยด้วย

ศปปส. ยื่นถอนประกัน 'ตะวัน' - 'เค สามถุยส์-แทนคุณ-เพจวันนี้ก้าวไกลโกหกอะไร' จี้สอบ 'พิธา' ในฐานะนายประกัน

วันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา กลุ่มขวาจัดอย่าง ศปปส. ยื่นถอนประกันตัว ทานตะวัน หลังเหตุดังกล่าว โดยอ้างว่าเสี่ยงผิดเงื่อนไขประกันตัว หากไม่คืบภายใน 15 วัน เตรียมพบอธิบดีศาล และ ผบ.ตร. หามาตรการความปลอดภัย 

มติชนออนไลน์รายงานด้วยว่า วันที่ 9 ก.พ. เวลา 11.30 น. นิยม นพรัตน์ ฉายา “เค สามถุยส์” คนเสื้อแดง กองเชียร์พรรคเพื่อไทย, แทนคุณ จิตต์อิสระ รักษาการประธานคณะกรรมการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและความเสมอภาคระหว่างเพศ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กัลยาณี จูปรางค์ หรือป้าอยุธยา กลุ่มสีดาจะไม่ทน ทันกวินท์ รัฐวัฒก์อังกูร ในฐานะแนวร่วมเพจ ‘วันนี้ก้าวไกลโกหกอะไร‘ เดินทางมายื่นหนังสือร้องเรียน พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 เพื่อสอบจริยธรรมที่มีความร้ายแรงของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล กรณีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนายประกัน และผู้กำกับดูแล ทานตะวัน โดยอ้างว่ามีการการกระทำอันเป็นการแสดงพฤติกรรมมิบังควรต่อขบวนเสด็จ

เผยข้อมูลทะเบียนและข่มขู่

นอกจากนี้ในโซเชียลเน็ตเวิร์คทั้ง Tiktok เฟซบุ๊กและ X มีการนำเสนอข้อมูลส่วนบุคคลของกลุ่มตะวัน เช่น ทะเบียนรถ พร้อมข้อความเชิงข่มขู่ 

'ตะวัน' นัดทำโพล "คุณคิดว่าขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนหรือไม่?” อีกครั้ง

ขณะที่ช่วงเย็นวันที่ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา ตะวัน โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า 10 ก.พ.นี้ เวลา 12.30 น. ณ ลานน้ำพุสยามพารากอน จะไปทำโพล "คุณคิดว่าขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนหรือไม่?” ตะวันระบุด้วยว่า 2 ปีก่อน ประชาชนอย่างเราเคยตั้งคำถามเกี่ยวกับขบวนเสด็จด้วยกระดาษโพลล์หนึ่งแผ่น จนกลายเป็นคดีที่ศาลอาญากรุงเทพใต้และการตั้งคำถามนี้กลับทำให้ประชาชนต้องพบกับความอยุติธรรมในการพิจารณาคดีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการถอนประกัน บุ้งและใบปอจากคดีนี้เมื่อ 2 ปีก่อน และล่าสุดมีการถอนประกันบุ้งอีกครั้งเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา นำไปสู่การอดอาหารและน้ำของบุ้งเพื่อประท้วงต่อกระบวนการยุติธรรม โดยมีสองข้อเรียกร้อง คือ 1. ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม 2. ต้องไม่มีผู้เห็นต่างทางการเมืองถูกนำไปจองจำในคุกอีก

"เราจึงขอนำโพลล์นี้กลับมาอีกครั้ง เพื่อแสดงออกถึงสิทธิและเสรีภาพในการตั้งคำถามของประชาชนต่อขบวนเสด็จ ถึงแม้ตามหลักการแล้วสำนักพระราชวังจะออกกฏเพื่อปรับเปลี่ยนขบวนเสด็จ และต่อให้ปิดถนนเพียงระยะเวลาที่ไม่นานนัก แต่สามารถสร้างผลกระทบเป็นวงกว้างได้เนื่องจากจะทำให้รถติดสะสม และเพื่อยืนยันว่า “ถนนเป็นของประชาชน” แต่ไม่ว่าคุณจะมีความคิดเห็นอย่างไร ไม่ว่าจะคิดเห็นเหมือนกันหรือแตกต่างกัน เชิญชวนทุกคนมาร่วมแสดงความคิดเห็นตามเสรีภาพของตน" ตะวัน โพสต์

ประชาไทเคยนำเสนอบทความของา 'พูติกาล ศายษีมา' บล็อกเกอร์ผู้มักนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับสถาบันและการเมือง โดยครั้งนี้นำข้อมูลซึ่งเป็นโพสต์เก่าของตนเองเกี่ยวกับแนวปฏิบัติขบวนเสด็จมาโพสต์ตั้งแต่ ก.พ.65 พูติกาล ระบุประกอบโพสต์ในครั้งนั้นว่า "ที่บอกว่าขบวนเสด็จส่วนพระองค์ ในคู่มือกำหนดแนวปฏิบัติให้ ไม่ปิดถนนตั้งแต่ปี 63 นั่นไม่ใช่ ที่ถูกคือมีความพยายามทำมาตั้งแต่ปี 44 สมัย ร.9 แล้ว แต่ไม่เคยสำเร็จ" 

โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

ย้อนดูความพยายามแก้ผลกระทบจาก #ขบวนเสด็จ ปี 44-65

ปี 2544 :

ในหนังสือจากสำนักราชเลขาฯ 27 ม.ค. 53 ราชเลขา(อาสา สารสิน) ได้เล่าถึงเรื่องนี้ไว้ว่า ร.9 มีพระราชปรารภให้หาทางแก้ปัญหาปัญหาจราจรเวลามีขบวนเสด็จ ตั้งแต่ปี 2544 ซึ่งก็ได้มีการจัดทำแนวทางคู่มือไว้แล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จมาตลอดเพราะผู้ปฏิบัติหน้างานกลัวถูกตำหนิลงโทษสอดคล้องกับข้อมูลจากวิกิลีกส์ #10BANGKOK192 วันที่ 25 ม.ค.2553 ที่ทูตสหรัฐฯ คุยกับ พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา(อดีตองคมนตรี) ซึ่งสิทธิเล่าว่า ร.9 เห็นด้วยและให้อาสาพูดคุยกับสมาชิกราชวงศ์ กำหนดแนวทางจัดระเบียบขบวนเสด็จ เพื่อลดปัญหาจราจร มาสัก 8 ปีแล้ว แต่ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง โดยสิทธิยังเล่าว่า ตัวเองอาทิตย์ก่อนกลับจากการพบทูตจีนก็ติดบนถนน 45 นาที เพราะขบวนเสด็จ นอกจากเรื่องปิดถนน สิทธิเห็นว่าการที่ขบวนเสด็จของบางท่าน (You Know Who) สั่งให้บ้านเรือนริมถนนต้องปิดหน้าต่าง ชั้นสองด้วยเวลามีการเสด็จนั่นยิ่งไม่ได้อะไรนอกจากความไม่พอใจของประชาชน

ม.ค. 2553 :

ปลายมกราคม 53 ช่วงเวลาที่ สิทธิคุยกับทูตสหรัฐนั้น ก็คือช่วงเวลาเดียวกับที่ อาสา ทำหนังสือเรื่องแนวทางแก้ปัญหาจราจรจากการเสด็จส่วนพระองค์ ถึง กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ฯลฯ โดยบอกว่า ร.9 ได้รับสั่งย้ำเรื่องนี้อีกครั้ง จึงจะขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อวางแนวปฏิบัติ โดยในหนังสือสำนักราชเลขาเรื่องแนวทางแก้ปัญหาจราจรจากขบวนเสด็จส่วนพระองค์ 27 ม.ค. 53 นั้นมีเอกสารแนบเป็น นโยบายและแนวทางปฏิบัติในการจัดการจราจรในการเสด็จส่วนพระองค์ ที่จัดทำโดยคณะกรรมการอำนวยการจราจรในการเสด็จฯ เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 53 แนวทางหลักคือให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

มีการกำหนดแนวปฏิบัติไว้ตามแต่สถานที่ สภาพถนน อย่างละเอียด โดยหลักก็คือปิดถนนให้น้อยที่สุด(เฉพาะช่องทางเสด็จ) ปิดถนนเท่าที่จำเป็น (ถ้ามีทางขนานให้รถวิ่งบนทางขนานได้) ให้ประชาชนใช้ชีวิตตามปกติ (ห้ามสั่งปิดหน้าต่าง ประตู ไม่ต้องปิดถนนทั้งเส้น แค่ในระยะใกล้ให้รถจอดด้านซ้าย) ถ้าดูรายชื่อ คกก.อำนวยการจราจรในการเสด็จฯ จะพบว่าจัดเต็มมาก เพราะไม่ใช่มีแค่ ราชเลขาฯ รองเลขาฯพระราชวัง ตัวแทนกองงานของพระบรมวงศานุวงศ์หลักทั้งหมด แต่ยังมี ปลัดมหาดไทย และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เป็นกรรมการในการกำหนดแนวปฏิบัติฯดังกล่าวด้วย

หลังจากนั้น 4 ก.พ.53 ปลัดมหาดไทยก็ออกหนังสือแจ้งเรื่องดังกล่าวถึงผู้ว่าทุกจังหวัด และย้ำว่าให้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด แต่ไม่แน่ใจว่าจะนำไปใช้จริงได้สำเร็จ หรือล้มเหลวแบบความพยายามในปี 2544

ต้นปี 53 เรื่องนี้ไม่เป็นข่าวตามหน้าสื่อ เพราะข่าวใหญ่ช่วงนั้นคือการชุมนุมเสื้อแดง

ก.ค. 2555 :

กว่าเรื่องนี้ได้ขึ้นหน้าสื่อก็ผ่านไปปีครึ่ง เดือนกรกฎาคม 2555 เมื่อ ผบ.ตร. ขณะนั้น (เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์) มีการสั่งการให้จัดทำ หนังสือคู่มือการปฏิบัติตามนโยบายและแนวทางการปฏิบัติด้านการจราจรในการเสด็จพระราชดำเนิน (เป็นการส่วนพระองค์) ให้ตำรวจทั่วประเทศ

พอปลายเดือน ก.ค. 55 ก็มีข่าวว่า สนช. จัดพิมพ์หนังสือคู่มือดังกล่าวเพิ่มเพื่อแจกประชาชนอีก 25,000 เล่ม โดยเนื้อหาในหนังสือดังกล่าวหลักๆ ก็คือการเอา แนวทางปฏิบัติในการจัดการจราจรในการเสด็จส่วนพระองค์ ที่ราชเลขาฯเป็นประธานจัดทำขึ้นมาอธิบายพร้อมใส่รูปประกอบ

ม.ค. 2563 : 

เรื่องนี้ก็เงียบไปพักใหญ่ จนเปลี่ยนรัชสมัยไปสักพัก เดือน มกราคม 2563 ก็กลับมาเป็นข่าวอีกครั้งเมื่ออยู่ดีๆ สำนักงานตำรวจแห่งชาติก็มีการอัพคลิป "หลักการอำนวยความสะดวก ด้านการจราจรฯ โดย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ" ขึ้น Youtube https://youtube.com/watch?v=b3tYuI4iQDk แต่คลิปต้นฉบับถูกลบไปแล้ว แต่ยังดูได้จากรายการเรื่องเล่าเช้านี้ ซึ่งนำเสนอหลังจากที่ นฤมล โฆษกรัฐบาลขณะนั้นหยิบเรื่องนี้มาแถลงข่าว ซึ่งถ้าดูเนื้อหาของแนวทางจัดการจราจรยามมีขบวนเสด็จส่วนพระองค์ในปี63 ก็เหมือนฉบับย่อของแนวทางในคู่มือปี 55 อาจมีเพิ่มแค่เรื่องการใช้กรวยยาง

มกรา 63 ตอนนั้นก่อนกระแส #ปฏิรูปสถาบัน แต่การแสดงออกว่าไม่พอใจ #ขบวนเสด็จ มีอยู่ประจำบนโซเซียลเน็ตเวิร์กโดยเฉพาะบนทวิตเตอร์ จะเห็น Hashtag #ขบวนเสด็จ ขึ้นติดกระแสอยู่ประจำ ในวันที่มีการปิดถนน ปิดสถานที่ อันทำให้ประชาชนได้รับความเดือนร้อนเป็นจำนวนมาก

ซึ่งเข้าใจว่าที่ตำรวจ/รัฐบาล อยู่ดีๆ ก็กลับมาพูดเรื่อง การจัดระเบียบการจราจร ตอนมี #ขบวนเสด็จ ส่วนพระองค์อีกครั้งในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมกราคม 63 ก็เพื่อโต้กับกระแส #ปิดเกาะ ที่พึ่งเกิดขึ้น ตอนสัปดาห์แรกของ มกราคม 63 จากการเสด็จส่วนตัวของบางพระองค์

ก.พ. 2565 : 

ผ่านไป 2 ปีกว่า จากนั้น ทะลุวัง - ThaluWang ไปทำโพลเรื่องความเดือดร้อนจาก #ขบวนเสด็จ ก็มีเพจเฟซบุ๊กเชียร์ประยุทธ์ นำเรื่องแนวทางจัดจราจรขบวนเสด็จส่วนพระองค์ ที่เคยพูดถึงตอนปี 63 แล้วเงียบไปกลับมาเล่าอีกรอบ พร้อมกับภาพรถ Honda สีเปลือกไข่ที่ติดอยู่บนถนน

"ภาพรถยนต์ Honda สีเปลือกไข่ จอดติดการจราจรอยู่กลางถนนคันเดียวดังกล่าว เป็นภาพเก่าหลายปีแล้ว ที่เคยถูกนำมาใช้ "เล่าเรื่อง" ทำนองนี้มาแล้วหลายครั้ง แต่ก่อนหน้านั้นส่วนใหญ่จะถูกใช้เล่าเรื่องของขบวนเสด็จ "พระเทพฯ" แต่ก็ไม่เคยมีการยืนยันว่าเป็นรถของกองกิจการพระเทพจริงไหม การนำภาพรถที่จอดติดการจราจรแล้วนำมาสร้างเรื่องเล่า อย่างผิดๆ ว่าเป็นรถขบวนเสด็จ จอดติดกลางถนน เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาบ่อยๆ เช่นในปี 2556 ก็เคยมีคนเข้าใจผิดคิดว่าขบวนรถบรรดาห้าเสือ ทบ. ที่ติดการจราจรบนถนนนั้น เป็นรถขบวนเสด็จ Somsak (สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล) ยังเคยเอามาแซวพร้อมกับพยายามอธิบายปรากฎการณ์นี้" พูติกาล โพสต์

ภาพที่มีการพูดถึงขบวนเสด็จจอดติดกลางถนนและมีคนแสดงความเห็นแย้งว่าเป็นขบวนรถบรรดาห้าเสือ ทบ.เมื่อปี 56 ซึ่งสมศักดิ์นำมาโพสต์

พูติกาล ระบุด้วยว่า ช่วงเดือนพฤษจิกายน 63 ตอน ร.10 เสด็จนครสวรรค์ มีการนำภาพขบวนรถพระที่นั่งที่วิ่งอยู่เลนขวาบนทางด่วน ในขณะที่รถประชาชนวิ่งอยู่เลนซ้าย มาประกอบเรื่องเล่า ว่าเดี่ยวนี้ขบวนเสด็จไม่ได้ปิดจราจร "อย่างที่ม็อบเค้ากล่าวอ้าง" ทั้งที่วันนั้นเสด็จด้วยเครื่องบินพระที่นั่ง

ภาพที่พูติกาลเคยโพสต์เทียบเรื่องเล่ากับข่าวที่ปรากฏจริงว่าเสด็จด้วยเครื่องบินพระที่นั่ง 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net