Skip to main content
sharethis

iLaw จัดงาน Stand Together ครั้งที่ 4 พูดคุยและส่งกำลังใจให้กับผู้ต้องหาคดี ม.112 ชี้ในเดือนแรกของปี 2567 ที่คดีการเมืองยังคงไม่มีท่าทีจะหยุดลง และมีนัดฟังคำพิพากษาคดี ม.112 มากถึงสิบคดี แม้จะมีรัฐบาลประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งมาได้สักระยะหนึ่งแล้วก็ตาม


ที่มาภาพ: iLaw

เว็บไซต์ iLaw รายงานว่าเมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2567 iLaw จัดงาน Stand Together ครั้งที่ 4 ณ อาคาร ALL RISE รัชดา-ลาดพร้าว ชวนฟัง พูดคุย และส่งกำลังใจให้กับผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 ในเดือนแรกของปี 2567 ที่คดีการเมืองยังคงไม่มีท่าทีจะหยุดลง และมีนัดฟังคำพิพากษาคดีมาตรา 112 มากถึงสิบคดี แม้จะมีรัฐบาลประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งมาได้สักระยะหนึ่งแล้วก็ตาม
 
ในการจัดกิจกรรมวันนี้ เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน ได้แจ้งให้ประชาชนเตรียมตัวเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมการรณรงค์ไปสู่การนิรโทษกรรมประชาชนที่จะเกิดขึ้น และมีกิจกรรมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 1-14 กุมภาพันธ์ 2567 โดยเปิดให้ประชาชนช่วยกันลงชื่อเพื่อเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชนด้วย 

ภัสราวลี: คำปราศรัยล่องหนที่สื่อสารตรงถึงพระมหากษัตริย์

ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ มายด์ ซึ่งมีนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 31 มกราคม 2567 จากกรณีปราศรัยในการชุมนุมที่แยกราชประสงค์เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2564 กล่าวว่า คำปราศรัยในวันที่ 24 มีนาคม 2564 ที่สี่แยกราษฎ์ประสงค์ นั้นเป็น "คำปราศรัยล่องหน" ที่ถูกทำให้หายไปหมดแล้ว เพราะหลายสื่อหลายช่อง เช่น สำนักข่าว Voice TV ได้ลบคลิปการปราศัรยดังกล่าวไปแล้ว โดยในการชุมนุมครั้งนั้นผู้มีส่วนร่วมหลายคนถูกดำเนินคดีฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ขณะที่ภัสราวลีถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เพียงคนเดียว 
 
ภัสราวลียืนยันว่า การปราศรัยครั้งนั้นมีความสุภาพ นอบน้อม และจริงใจในการนำเสนอปัญหาทางสังคมอย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้สถาบันกษัตริย์มองเห็นถึงความสำคัญว่าทำไมประชาชนต้องออกมาชุมนุมในช่วงเวลาดังกล่าว เพราะเชื่อว่าประชาชนสามารถสื่อสารข้อเรียกร้องไปยังพระมหากษัตริย์โดยตรงได้ (สามารถอ่านสรุปคดีนี้ได้ที่นี่)
 
“มายด์ยังจำคำปราศรัยของวันนั้นได้ไม่ลืม.. สิ่งที่สื่อสารในวันนั้นไม่ได้สื่อสารถึงพระมหากษัตริย์อย่างเดียว แต่สื่อสารถึงคนสามกลุ่ม สื่อสารถึงประชาชนว่า ให้เห็นว่าตอนนี้บ้านเมืองเป็นอย่างไร รักได้แต่ต้องรักให้ถูกทาง ถึงกลุ่มอนุรักษ์นิยมว่าเห็นเหมือนกันใช่ไหมว่ามีปัญหา ถ้ายิ่งดึงดันกันต่อไปความล่มสลายคงมาในไม่ช้า และสุดท้ายถึงองค์พระมหากษัตริย์… เป็นคำถามเป็นข้อเสนอแนะที่เราพยายามพูดกับพระองค์ท่านโดยตรงว่ามันเป็นปัญหาจริงๆ อยากให้ท่านเองก็ได้รับรู้ถึงข้อกังวลตรงนี้ด้วย”
 
ภัสราวลีกล่าวว่า ถึงแม้เนื้อหาในวันดังกล่าวจะพูดบนพื้นฐานความเป็นจริง มีการอ้างอิงบทกฎหมาย พระราชบัญญัติ และประกาศที่เผยแพร่ออกสู่สาธารณะทั้งสิ้น อีกทั้งยังไม่มีคำหยาบคาย แต่ก็ยังทำให้ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 ถูกแจ้งร้องทุกข์กล่าวโทษโดยกลุ่ม “ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน” หรือ ศปปส. แต่ก็ไม่ได้โกรธที่พวกเขาพยายามดำเนินคดี เพราะคิดว่าพวกเขายังไม่คุ้นชินนักกับความแตกต่างหลากหลายในสังคมเพียงเท่านั้น 
 
การถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ทำให้เสียเวลาในชีวิตเยอะมากรวมทั้งยังทำให้คนรอบตัวเริ่มเว้นระยะห่างมากขึ้น สิ่งนี้ส่งผลกระทบไปสู่ครอบครัวของเธอด้วย ตัวอย่างสำคัญคือกรณีที่เพื่อนฝูงของแม่ภัสราวลีเริ่มนำครอบครัวของเธอไปนินทาลับหลังจนสภาพจิตใจของครอบครัวย่ำแย่ นอกจากนี้ยังต้องรับมือจากการถูกเจ้าหน้าที่ติดตามไปถึงที่พักอาศัย โดยเฉพาะเมื่อเจ้าหน้าที่พยายามเข้าไปพูดคุยกับพ่อที่เป็นผู้พิการภัสราวลีให้ได้แม้จะรู้ว่าไม่มีใครอยู่ที่บ้านประหนึ่งจงใจ
 
“การโดนมาตรา 112 ทำให้เราถูกตีตราจากสังคมว่าเราเป็นคนล้มเจ้า… กำแพงวาทกรรมแบบนี้ทำให้สิ่งที่เราอยากสื่อสารจริงๆ ถูกกั้นกำแพงจากฝ่ายตรงข้าม” มายด์เล่า

ลลิตา: รับสารภาพด้วยเงื่อนไขชีวิตของตัวเอง

ลลิตา มีสุข ซึ่งมีนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 29 มกราคม 2567 จากกรณีแชร์ Tiktok วิจารณ์การใช้ภาษีของประชาชน เล่าภูมิหลังของเธอว่า เป็นคนที่ใช้ชีวิตทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดมาตั้งแต่เด็กจนทำให้ได้เห็นความเหลื่อมล้ำระหว่างสองแห่ง แม้คนในกรุงเทพฯ จะรู้สึกว่าหลายสิ่งในเมืองมีปัญหาแต่ก็ยังห่างไกลจากความเหลื่อมล้ำที่เธอพบเจอมาจากต่างจังหวัด ความไม่เท่าเทียมเหล่านี้ทำให้ลลิตาพยายามสื่อสารมาตลอดตั้งแต่ยังเรียนอยู่มัธยมศึกษา โดยเฉพาะในช่วงความขัดแย้งระหว่างชุมนุมเสื้อสีในกรุงเทพฯ
 
ขณะนั้นโรงเรียนของลลิตายังเปิดพื้นที่ให้ทหารได้เข้าไปประจำการเพื่อสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดง และการสลายการชุมนุม “ทุกวัน” ด้วยกระสุนและแก๊ซน้ำตาส่งผลกระทบต่อมุมมองทางการเมืองของของลลิตาเป็นอย่างมาก เธอจึงแสดงออกทางการเมืองในพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์เสมอมาจนกระทั่งปี 2564 ที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ท่ามกลางบรรยากาศการเมืองหลังยุคชุมนุมเสื้อสี
 
ต่อมาลลิตาพูดถึงต้นเหตุการถูกคดีครั้งนี้ว่า มาจากการทำคลิปวิจารณ์ตอบโต้ออกนโยบายของพรรคพลังประชารัฐและพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้านประชานิยมในโครงการประชารัฐ โดยในคลิปดังกล่าวมีการใช้คำราชาศัพท์ทั้งสิ้นหนึ่งคำจึงถูกเจ้าหน้าที่ดำเนินคดีมาตรา 112 แม้ว่าเนื้อหาคลิปจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์แต่อย่างใดก็ตาม เรื่องนี้ลลิตามองว่าเป็นความพยายาม “บิด” ให้การกระทำของเธอผิดตามมาตราดังกล่าวให้ได้ ซึ่งยิ่งสะท้อนปัญหาของการบังคับใช้มาตรา 112 (สามารถอ่านสรุปคดีนี้ได้ที่นี่)
 
เมื่อถูกถามว่าทำไมจึงรับสารภาพในคดีนี้ ลลิตากล่าวว่าแต่ละคนมีเงื่อนไขในชีวิตไม่เหมือนกัน การรับสารภาพในคดีมาตรา 112 ไม่ได้เป็นการยอมรับว่ากระทำสิ่งผิดแต่เป็นสภาวะจำยอมที่ต้องทำ อย่างลลิตามองว่าคุณแม่ของเธอกำลังจะหายจากการป่วยอยู่แล้ว หากเธอต้องสู้คดีไปจนสุดทางกระทั่งเข้าเรือนจำนั้นจะเป็นผลเสียมากกว่าดี อีกทั้งการอยู่นอกเรือนจำยังทำให้สามารถส่งเสียงเรียกร้องและต่อสู้ทางการเมืองต่อไปได้เรื่อยๆ อีกด้วย
 
ถึงแม้จะถูกดำเนินคดีแล้วแต่ลลิตาก็ยังจะทำงานสื่อสารในประเด็นทางการเมืองต่อไปเท่าที่ทำได้ เธอเชื่อว่าจะยิ่งน่าเชื่อถือขึ้นเมื่อเธอกลายเป็นผู้ประสบภัยโดยตรง และหากสามารถพูดคุยชี้แจงกับคนได้มากขึ้นก็เชื่อว่าจะสามารถนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงได้ในสักวันหนึ่ง 

อุกฤษฏ์: สองคดี หกข้อความ กำลังรอโอกาสจากศาลอุทธรณ์

อุกฤษฏ์ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง หรือ ก้อง ซึ่งมีนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในวันที่ 30 มกราคม 2567 จากกรณีแชร์ข่าวชุมนุมประท้วงสถาบันกษัตริย์ในประเทศเยอรมนี กล่าวว่าเขาเริ่มสนใจการเมืองอย่างจริงจังในช่วงมัธยมศึกษาตอนปลาย เพราะเขามองว่าสังคมที่มีปัญหาผู้นำประเทศก็ควรที่จะใส่ใจแก้ไขปัญหาให้มากขึ้น ต่อมาจึงเริ่มชุมนุมกับกลุ่ม “ลุกพ่อขุนฯ โค่นล้มเผด็จการ” และกลุ่ม “ทะลุราม” ตามลำดับ เพื่อเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง และการมีรัฐสวัสดิการ
 
ต่อมาอุกฤษฏ์เล่าถึงคดีมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากกรณีเผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ไทยผ่านเพจเฟสบุ๊กส่วนตัว “John New World” ซึ่งทำให้เขาถูกตำรวจเข้าจับกุมที่ในที่พัก พยายามกดดันให้เขารับสารภาพโดยไม่มีทนายความอยู่ด้วย โชคดีที่ต่อมาเขาได้พบกับผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 อีกหนึ่งคนที่สถานีตำรวจทุ่งสองห้องจึงได้บังเอิญพบกับทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และได้รับสิทธิตามกฎหมายอย่างที่ควรจะเป็น
 
ต่อมาอุกฤษฏ์ยังถูกเจ้าหน้าที่จาก สน.บางแก้วเข้าอาญัติตัวด้วยข้อหาแชร์โพสต์จากเพจ John New World ในข้อหามาตรา 112 อีกหนึ่งคดี และยังถูกกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ปอท. แจ้งข้อหาเพิ่มในคดีแรกจากสามกรรมเป็นห้ากรรม แม้ว่าข้อกล่าวหาที่เพิ่มเข้ามานั้นอุกฤษฏ์จะไม่ได้มองว่าจะสามารถเข้าข่ายมาตรา 112 ได้ก็ตาม ทำให้เขามีคดีมาตรา 112 สองคดี โดยคดีแรกศาลอาญาตัดสินลงโทษจำคุกห้าปี 30 เดือน ขณะที่คดีที่สองศาลจังหวัดสมุทรปราการตัดสินลงโทษจำคุกสามปี (สามารถอ่านสรุปคดีได้ที่นี่) และคดีสองนี้เองที่คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์กำลังจะมา
 
อุกฤษฏ์พูดคล้ายกับสิ่งที่ลลิตากล่าวก่อนหน้า คือ การถูกคดีมาตรา 112 ทำให้เขาไม่สามารถวางแผนชีวิตในอนาคตได้ โดยเฉพาะบริษัทเอกชนที่ไม่อยากจะรับพนักงานผู้มีคดีมาตรา 112 ติดตัวจนเขามีปัญหาด้านการเงินในระดับหนึ่ง นอกจากนี้คดีมาตรา 112 ยังทำให้เขามีปัญหาด้านการเรียน เพราะในช่วงของการต่อสู้คดีครั้งแรกเขาสูญเสียเวลาเรียนไปทั้งสิ้นเกือบหนึ่งเทอมจากการไม่ได้ประกันตัวและต้องอยู่ในเรือนจำ จนทำให้หลังประกันตัวต้องไปสอบแต่ละวิชาใหม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net