Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ข้อมูลบางส่วนมาจาก สารนิพนธ์เรื่อง "ความรุนแรงเชิงโครงสร้างในการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112: กรณีศึกษาผู้ต้องหาที่ถูกล่าแม่มดออนไลน์" โดย กลุ่มนักศึกษาจำนวน 5 คนที่ไม่ประสงค์เปิดเผยชื่อ จากภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีการศึกษา 2566 (สารนิพนธ์ฉบับนี้ไม่ได้รับการสนับสนุนทุนจากคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และหน่วยงานอื่นใดทั้งสิ้น)

 

ในช่วงนี้ศาลหลายแห่งทยอยนัดอ่านคำพิพากษาคดี 112 ส่วนใหญ่วินิจฉัยว่าจำเลยกระทำความผิดและสั่งจำคุกเป็นเวลาหลายปี  กรณีที่เป็นประชาชนธรรมดาซึ่งไม่ใช่แกนนำในการชุมนุมเคลื่อนไหว มีข้อสังเกตว่าศาลชั้นต้นมักอนุญาตให้ประกันตัวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์คดี 

ครั้นถึงชั้นศาลอุทธรณ์ คำพิพากษาที่ออกมาส่วนใหญ่มักยืนตามศาลชั้นต้นคือสั่งจำคุกตามอัตราโทษ 3-15 ปี ต่อการกระทำผิดหนึ่งกรรม หลังการตัดสินในชั้นนี้ศาลไม่ค่อยอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย ศาลอ้างเหตุผลว่าเป็นคดีที่มีโทษร้ายแรง เกรงว่าจำเลยจะหลบหนี  ทั้งที่คดียังไม่สิ้นสุดและจำเลยมีสิทธิฎีกาคดีได้ แต่ตามข้อเท็จจริงก็มีจำเลยคดี 112 ลี้ภัยการเมืองไปอยู่ประเทศอื่นจำนวนไม่น้อยในระหว่างที่คดียังไม่สิ้นสุด ไม่ใช่เพราะกลัวความผิด แต่เป็นเพราะ เชื่อว่าตนเองไม่ได้กระทำผิด และแน่ใจว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรมของไทย

 

"พรชัย" ผู้สำนึกผิด

"กระแสเงียบมาก ไม่มีแล้วบรรยากาศที่เคยมีผู้คนมายืนชูสามนิ้วให้กำลังใจเหมือนครั้งก่อนๆ" นายประกันของพรชัยเล่าสถานการณ์ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่เมื่อวันที่ 4 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันที่ศาลอุทธรณ์อ่านคำพิพากษา สั่งจำคุก "พรชัย" 12 ปี สำหรับการกระทำผิด 4 กรรม [1] 

ในวัย 40 ต้นๆ พรชัยถูกควบคุมตัวเข้าเรือนจำกลางจังหวัดเชียงใหม่แบบคนไร้ญาติขาดมิตร นายประกันแจ้งว่าอีกไม่กี่วันต่อมาศาลฎีกายกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวที่ทนายความยื่นขอต่อศาล 

พี่น้องร่วมสายเลือดและคนในหมู่บ้านเดียวกันปฏิเสธที่จะข้องเกี่ยวกับพรชัย ตั้งแต่เมื่อครั้งนายประกันติดต่อไปคราวแรกเพื่อแจ้งว่าพรชัยตกเป็นผู้ต้องหาในคดี 112 นายประกันจาก "กองทุนดาตอร์ปิโด" จึงทำหน้าที่เสมือนญาติเพียงคนเดียวของเขา แต่ก็มีเจ้าหน้าที่และทนายความจาก "ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน" คอยดูแลช่วยเหลืออยู่ไม่ห่างเช่นกัน

นอกจากที่ จ.เชียงใหม่แล้ว พรชัยยังถูกฟ้องคดี 112 ที่ศาลจังหวัดยะลา เพราะมีผู้ไปแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษเขาที่ สภ.บันนังสะตา เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2566 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น สั่งจำคุกพรชัยเป็นเวลา 3 ปี แต่ศาลเห็นว่าพรชัยให้การเป็นประโยชน์จึงลดโทษเหลือจำคุก 2 ปีโดยไม่รอลงอาญา แต่คดีนั้น  ศาลอนุญาตให้ประกันตัวได้ในระหว่างฎีกาคดี โดยต้องเพิ่มหลักประกันอีกครึ่งหนึ่งจากที่เคยวางไว้ในระหว่างอุทธรณ์คดี พรชัยได้รับความช่วยเหลือเรื่องเงินประกันจาก "กองทุนราษฎรประสงค์"  

มีข้อสังเกตว่านับตั้งแต่ปลายเดือน ก.ย. 2566 หรือก่อนนัดอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ที่ จ.ยะลา เพียงไม่กี่วัน พรชัยโพสต์สื่อสังคมออนไลน์แสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณกษัตริย์รัชกาลที่ 10 อย่างต่อเนื่อง และตั้งค่าให้สาธารณชนมองเห็นได้  เช่น 

วันที่ 3 ต.ค. 2566 มีข้อความว่า ".....ขอกลับตัวกลับใจสำนึกในพระกรุณาธิคุณในหลวงรัชการที่ 10 และผมจะจดจำเอาไว้ที่พระองค์ท่านตรัสว่า ให้เชื่อในความจริง คนจริงต้องพูดจริงทำจริงเสียสละจริงแล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท่านย้ำด้วยว่าอย่าเชื่อในสิ่งที่ได้ยิน ต้องเชื่อมั่นในตัวเอง และอดทนอดกลั้น (ความดีเอาชนะทุกอย่าง"   (สะกดตามต้นฉบับ-ผู้เขียน) 

วันที่ 4 ต.ค. 2566 มีข้อความว่า "...ถ้ายกฟ้องผมจะเดินทางไปยังสำนักพระราชวังกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่วชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวในหลวงรัชการที่ 10 และจะดำเนินชีวิตตามรอยพระบาทเศรษฐกิจพอเพียงสร้างสรรค์พร้องยกเป็นsoftpower ต่อยอดสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์" (สะกดตามต้นฉบับ-ผู้เขียน) 

ล่าสุด วันที่ 4 เม.ย. 2566 ซึ่งเป็นวันที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ที่ จ.เชียงใหม่ นัดอ่านคำพิพากษา พรชัยโพสต์ภาพถ่ายของตนเอง ที่มีข้อความว่า "สามัญสำนึกขอผมจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์" (สะกดตามต้นฉบับ-ผู้เขียน)

ก่อนหน้านี้พรชัยนับเป็น "ตัวตึง" คนหนึ่งในการเคลื่อนไหวทางการเมือง เขาไม่ได้เป็นแกนนำการชุมนุมหรือเป็นผู้มีชื่อเสียงในทางสาธารณะ แต่ผู้ติดตามข่าวการเมืองก็พอทราบกันว่าพรชัยเคลื่อนไหวทางการเมืองมาโดยตลอดในหลากหลายรูปแบบ เขาเคยเข้าร่วมชุมนุมในขบวนที่เรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เขาเคยถูกศาลสั่งฝากขังในเรือนจำเป็นเวลาหลายวัน เขาประสบความยากลำบากมากมายในการเดินทางจาก กทม. ไปต่อสู้คดีที่ จ.เชียงใหม่ และ จ.ยะลา ในช่วงหลายปีที่ถูกดำเนินคดีคล้ายกับว่าพรชัยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยหรือเข็ดหลาบกับความยากลำบากต่างๆ ที่ต้องเผชิญ 

จนกระทั่งคดีของเขาใกล้จะตัดสินในชั้นศาลอุทธรณ์ พรชัยจึงแสดงจุดยืนในทิศทางตรงกันข้ามกับที่เคยเป็นมา ส่งผลให้กระแสความเชื่อถือและเห็นใจพรชัยตกวูบลงอย่างเห็นได้ชัด คนที่เคยติดตามข่าวเกิดอาการชะงักงันและกระอักกระอ่วนใจที่จะเห็นใจและให้การสนับสนุนเขา พรชัยถูกผู้คนทั้งที่เคยอยู่ฝ่ายเดียวกันและฝ่ายตรงกันข้ามเยาะเย้ยถากถาง แต่เราก็ไม่เคยได้ยินคำอธิบายที่ชัดเจนและไม่ล่วงรู้ถึงที่มาที่ไปการเปลี่ยนจุดยืนทางการเมืองของเขา

"พรชัย" ไม่ใช่คนแรกที่แสดงออกว่าสำนึกผิดและต้องการกลับตัวกลับใจ เท่าที่เป็นกระแสข่าว "ไบรท์ ชินวัตร" เป็นอีกคนหนึ่งที่แสดงออกผ่านสื่อสาธารณะว่าได้เปลี่ยนจุดยืนทางการเมืองจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากผู้ที่เคยเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ กลายเป็นผู้มีความจงรักภักดีและออกมาเคลื่อนไหวปกป้องสถาบันกษัตริย์ 

ตามสถิติที่ทราบโดยทั่วกัน ผู้ถูกฟ้องในคดี 112 นั้นมีโอกาสแพ้มากกว่าชนะคดี โทษที่ได้รับและโอกาสการลดหย่อนโทษแตกต่างกันไปแล้วแต่พฤติการณ์ของคดีและพฤติกรรมของจำเลย  

 

ระหว่างความถูกต้อง กับการอยู่รอด

กระบวนการยุติธรรมของไทยวางอยู่บนหลักปฏิฐานนิยม (positivism) ให้ความสำคัญกับข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานซึ่งเป็นที่ประจักษ์และพิสูจน์ได้ กระนั้นก็ตาม กฎหมายได้ให้อำนาจผู้บังคับใช้กฎหมายในการใช้ "ดุลยพินิจ" ในดำเนินการด้วยเช่นกัน เช่น คดี 112 กฎหมายกำหนดอัตราโทษจำคุกอยู่ในช่วง 3 - 15 ปี ต่อการกระทำผิดหนึ่งกรรม โดยไม่ได้มีเกณฑ์ที่ชัดเจนว่ากระทำผิดอย่างไรจึงจะได้รับโทษขั้นต่ำสุดคือจำคุก 3 ปี หรือรุนแรงแค่ไหนจึงจะถูกจำคุก 15 ปี   ต่อความผิดหนึ่งกรรม

กรณีพรชัย เห็นได้ชัดเจนว่าจำเลยคนเดียวกัน ถูกพิพากษาว่ากระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ทั้ง 2 คดี แต่ ศาลแห่งหนึ่งเห็นว่าให้ประกันตัวได้ ขณะที่ศาลอีกแห่งหนึ่งไม่ให้ประกันตัว  อาจเป็นด้วยอัตราโทษที่ต่างกัน คดีที่ให้ประกันตัวได้นั้นศาลสั่งจำคุก 2 ปี แต่คดีที่ไม่ให้ประกันตัวศาลสั่งจำคุกถึง 12 ปี  

หากเทียบกันในทางตัวเลข "บุญลือ" (นามสมมติ)  ชายวัย 27 ปี ถูกศาลพิพากษาว่าทำผิดในคดี 112 [2] สั่งให้จำคุก 3 ปี ซึ่งเท่ากับอัตราโทษที่ "พรชัย" ได้รับ แต่ศาลลดโทษให้บุญลือกึ่งหนึ่ง #เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพ เหลือโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน แล้วให้รอลงอาญาเป็นเวลา 2 ปี โดยคุมประพฤติไว้หนึ่งปีและให้ทำกิจกรรมบริการสังคมอีก 12 ชั่วโมง ทั้งนี้ คดีของบุญลือพิจารณาที่ศาลจังหวัดพังงา และศาลอ่านคำพิพากษาคดีเมื่อวันที่  22 ก.ย. 2565  

อีกกรณีหนึ่ง "อุกฤษฎ์" (นามสมมติ) นักศึกษาอายุ 25 ปี ต้องโทษในคดี 112 [3] เล่าว่าในวันแรกของการสืบพยาน ผู้พิพากษาเกลี้ยกล่อมให้เขารับสารภาพ และเสนอให้อุกฤษฏ์โพสต์ในบัญชีโซเชียลมีเดียส่วนตัวเพื่อ #แสดงความสำนึกผิดและขออภัยโทษ หรือหรือ #ให้ไปบวช เพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่ศาลจะลดหย่อนโทษให้ หรือพิพากษาโดยให้รอลงอาญาแทนการสั่งจำคุกในทันที อุกฤษฎ์ยอมรับสารภาพตามข้อเสนอ แต่ปรากฏว่าเขายังคงถูกสั่งจำคุกเป็นเวลา 5 ปี 30 เดือน โดยไม่รอลงอาญา (อุกฤษฎ์, สัมภาษณ์ 11 ม.ค. 2567)  

การลดหย่อนผ่อนโทษ เป็นข้อเสนอแรกๆ ที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้เป็นข้ออ้างในการโน้มน้าวผู้ต้องหาให้ยอมรับสารภาพว่ากระทำผิด โดยมักแจ้งว่าจะเป็นผลดีต่อตัวผู้ต้องหาเองที่ "โทษหนักจะได้กลายเป็นเบา" และไม่เสียเวลา เสียเงินทองในการต่อสู้คดี 

บุญลือเล่าว่าตำรวจเกลี้ยกล่อมให้เขารับสารภาพตั้งแต่ในชั้นสอบสวนแต่เขาปฏิเสธ เมื่อไปถึงศาลเขายืนยันเช่นเดิมที่จะต่อสู้คดีผู้พิพากษาก็โน้มน้าวหลายครั้งหลายหนให้เขารับสารภาพเพื่อ "อนาคตของตนเอง" ทั้งยังพูดในเชิงกดดันด้วยว่า หากส่งคดีต่อไปยังชั้นอุทธรณ์เขาจะพบผู้พิพากษาที่อาวุโสกว่า "คุณติดคุกได้เลยนะ" (บุญลือ, สัมภาษณ์ 4 ธ.ค. 2566) ทนายความอธิบายว่าไม่สามารรับรองหรือคาดเดาผลที่แน่นอนของคดีความได้ หากต่อสู้แล้วแพ้คดีก็ย่อมต้องติดคุกและอาจไม่ได้รับการลดหย่อนโทษ ในที่สุดบุญลือจึงเลือกรับสารภาพ ซึ่งเขาบอกว่าการตัดสินใจทำไปแบบนั้นไม่ใช่เพื่อความเป็นธรรม แต่ เพื่อแลกกับโอกาสที่จะได้ใช้ชีวิตต่อไปได้ง่ายขึ้น 

เงื่อนไขความยาก-ง่ายในชีวิตของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ข้าพเจ้าออกจะเห็นใจผู้ต้องหาคดี 112 ที่จำยอมรับสารภาพผิด และจำต้องแสดงให้ปรากฏในทางสาธารณะด้วยว่าตนสำนึกเสียใจกับการกระทำที่ผ่านมา ทำไปเพราะความหลงผิด ความเข้าใจผิด หรือการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ 

ในคดีหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา กรณีโจทก์เป็นนักแสดงหรือบุคคลมีชื่อเสียง บ่อยครั้งเมื่อมีการเจรจาไกล่เกลี่ยกัน ฝ่ายโจทก์จะยอมลดหย่อนค่าเสียหายที่เรียกร้องไป หากจำเลยยอมประกาศคำขอโทษและสำนึกผิดให้ปรากฏในทางสาธารณะทุกวันและเป็นเวลาหลายวันหรือนานนับปีตามที่ตนต้องการ  

ประชาชนทั่วไปไม่ค่อยมีโอกาสทราบว่าผู้พิพากษากับจำเลยคดี 112 ก็มีการเจรจาต่อรองและสร้างเงื่อนไขทำนองนั้นเช่นกัน เท่าที่ข้าพเจ้าทราบจากปากคำของอดีตผู้ต้องหา (ซึ่งไม่อาจเปิดเผยหลักฐานที่ชัดเจนไปกว่านี้ได้) มีจำเลย 1 รายที่สร้างบัญชีโซเชียลมีเดียขึ้นมาใหม่ โดยใช้ชื่อ-สกุลจริงของตน เพื่อประกาศความสำนึกผิดและแสดงออกต่อสาธารณะว่าตนมีความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ อีกกรณีเมื่อหลายปีมาแล้วผู้ต้องหากลุ่มหนึ่งถูกพาตัวไปหมอบคลานต่อหน้าบุคคลสำคัญเพื่อรับความเมตตาและแสดงออกว่าพวกตนสำนึกผิด แลกกับการที่อัยการจะสั่งไม่ฟ้องคดี นอกจากนั้นพวกเขาถูกกำหนดให้ไปเป็น "จิตอาสา" ในพระราชพิธีสำคัญ สวมเสื้อยืดและผ้าพันคอตามสีที่กำหนด โดยมีเจ้าหน้าที่คอยบันทึกภาพส่งไปให้ "เบื้องบน" 

แม้ว่าผู้ต้องหาเหล่านั้นจะพ้นโทษมาแล้ว  แต่ข้อเท็จจริงเบื้องหลังการแสดงออกต่างๆ ดังกล่าวก็ไม่สามารถเปิดเผยออกมาให้กระจ่างแจ้ง นอกจากกฎหมายจะกำหนดโทษของการ "หมิ่นศาล" และ "ละเมิดอำนาจศาล" เอาไว้แล้ว การแข็งข้อต่อสู้ก็ทำให้เกิดเหตุอันไม่คาดคิดขึ้นมาได้ อาจรุนแรงถึงขั้น ถูก "อุ้มหาย" หรือตายโดยไม่ทราบสาเหตุดังที่ปรากฏเป็นข่าวในสังคมไทยอยู่เนืองๆ 

หากมี "การดีล" เกิดขึ้นจริง และสมมติว่า "พรชัย" กับ "ไบรท์-ชินวัตร" ยอมแสดงออกว่าย้ายข้างเพื่อแลกเปลี่ยนกับการลดหย่อนผ่อนโทษ ก็นับว่าเป็นตัดสินใจผิดพลาดอย่างมหันต์ เพราะในที่สุดทั้งสองคนก็ถูกจำคุกไปเสียแล้ว  

อีกฝ่ายหนึ่งของการดีลซึ่งเรามองไม่เห็นแต่คาดเดาได้ว่ามีอำนาจเหนือกว่ากลับเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ เพราะสามารถ "แบ่งแยกและทำลาย" มวลชนได้สำเร็จ ไม่เพียงกระแสความนิยม ความเชื่อมั่น รวมทั้งแรงเชียร์และแรงสนับสนุนต่างๆ ที่พรชัยและไบรท์เคยได้รับเท่านั้นที่หดหายไปอย่างฉับพลัน แต่ตัวตน ศักดิ์ศรี และการยอมรับนับถือตัวเองของทั้งคู่ก็ถูกบั่นทอนลงด้วยเช่นกัน 

"พรชัย" ในวันที่เคลื่อนไหวทางการเมืองก่อนถูกดำเนินคดี ไม่ใช่คนเดียวกันกับ "พรชัย" ในวันที่รับดีล (หากว่า "การดีล" เกิดขึ้นจริง) และย่อมไม่ใช่ "พรชัย" ในอีก 10 กว่าปีข้างหน้าที่จะพ้นโทษและกลายเป็นอดีตคนคุกที่ดิ้นรนหาหนทางตั้งหลักชีวิตใหม่ 

 

การดีลก็เหมือนผี มีแต่มองไม่เห็น 

มนุษย์ไม่ได้เกิดมาเพื่อยอมจำนน เราต่อสู้ต่อรองอยู่ตลอดเวลากับ โชคชะตา เทพเจ้า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ พระ ผี ฯลฯ  ที่มองไม่เห็นและไม่เคยรู้ชัดว่ามีอยู่จริงหรือเปล่า เราล้วนถูกสาปให้มีเสรีภาพ [4] ไม่มีใครปรารถนาการถูกกีดกัน หรือกักขัง  หรือกดกำราบ เราจึงยอมทำทุกอย่างเพื่อต่อสู้ต่อรอง 

แม้ไม่มีพยานประจักษ์พยานหลักฐานกระจ่างชัด แต่หลายคนย่อมรู้อยู่แก่ใจว่า "การดีล" เกิดขึ้นจริง เมื่อผู้ลี้ภัยทางการเมืองคนสำคัญได้กลับบ้าน แม้จะมาในฐานะ "นักโทษ" แต่ก็มีคนต้อนรับอย่างคับคั่ง อบอุ่น และอ่อนโยน เขาเป็นนักโทษที่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างอิสระ มีความเป็นอยู่สุขสบาย และยังคงมีมวลชนห้อมล้อมและนับหน้าถือตา 

ความรักและความศรัทธาที่คนเคยมอบให้เขาอาจถูกแบ่งปันไปทางอื่นบ้าง แต่ก็ไม่ได้ขาดพร่องลงอย่างมีนัยยะสำคัญ คนที่จงรักและภักดีต่อเขาไม่มีใครกล้าปฏิเสธว่ามีการดีลเกิดขึ้น และตระหนักรู้กันอยู่ทุกลมหายใจเข้าออกด้วยว่ามีผู้ลี้ภัยทางการเมืองอีกนับสิบนับร้อยคนที่ไม่สามารถกลับบ้านได้เหมือนเขา  หลายคนไม่มีโอกาสได้กลับมาแล้ว และอีกหลายร้อยคนติดคุกหรือตายไปเพราะต่อสู้เพื่อเขา หรือร่วมต่อสู้ในประเด็นเดียวกันในขณะที่เขาไปใช้ชีวิตอย่างสุขสบายในแผ่นดินอื่น 

เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าอะไรคือข้อแลกเปลี่ยนระหว่างหลายฝ่ายที่มีส่วนร่วมกับ "การดีล" สำคัญครั้งนี้นี้ 

แต่เมื่อหันกลับมามอง "พรชัย" หรือ  "ไบรท์ ชินวัตร" สามัญคนธรรมดาแบบนี้จะมีอะไรไป "เสนอดีล" แบบเขาได้ นอกจากการคุกเข่า หมอบคลาน และกราบกรานลงไปจนหน้าแทบจะแนบธุลีดิน ซ้ำร้ายไปกว่านั้นก็คือผู้ต้องหาคดี 112 หลายคน "ยอม" ทำหลายสิ่งหลายอย่างไปแล้วตามข้อเสนอที่ดีลกันไว้ แต่ แล้ว พวกเขาก็ถูกล้มดีลเอาเสียดื้อๆ จะตีฆ้องร้องป่าวออกไปก็ไม่ได้อีก เพราะมันเป็น ดีลลับ

จนถึงวันนี้น่าจะพอคาดเดาได้แล้วว่าการดีลระหว่างผู้มีอำนาจบารมีเหนือกฎหมายประสบความสำเร็จแอย่างสวยงามแบบ "วิน-วิน"  กันทุกฝ่าย แต่ก็โปรดอย่าลืมกันว่าการประสานประโยชน์ของชนชั้นนำเหล่านั้น เกิดขึ้นบนซากศพ วิญญาณ และชีวิตของนักต่อสู้มากมาย ทั้งผู้ที่เรียกตนเองว่า "คนเสื้อแดง" และคนอื่นๆ ซึ่งไม่อาจกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขอีกต่อไป คนเสื้อแดงถูกสังหาร อุ้มหาย บาดเจ็บและล้มตายไปนับสิบนับร้อย โดยยังไม่ได้รับการชดใช้หรือแม้แต่นำความยุติธรรมกลับคืนมาสู่วิญญาณของพวกเขา ผู้ลี้ภัยการเมือง ผู้ต้องโทษจำคุกจากการชุมนุม และจากคดี 112 อีกมากมายเท่าไหร่ คนเหล่านี้ได้รับประโยชน์โพดผลอันใดบ้างจากการดีลระหว่างผู้มีอำนาจบาตรใหญ่และมั่งคั่งร่ำรวยเหล่านั้น

คนเราเท่ากันก็จริง แต่ความเป็นคนของเราก็ถูกทำให้ไม่เท่ากับความเป็นคนของพวกเขาอยู่นั่นเอง  

0000


เชิงอรรถ

[1] "พรชัย" ในวัย 38 ปี ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายนายบุกเข้าควบคุมตัวเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2564  ตามหมายจับลงวันที่ 8 มี.ค. ปีเดียวกัน เขาถูกจับกุมบริเวณหน้าอาคารที่อยู่อาศัยในกรุงเทพมหานคร ถูกนำตัวไปที่ ตชด.ภาค 1 แล้วนำส่งไปยัง จ.เชียงใหม่ เนื่องจากมีผู้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษเขาที่สถานีตำรวจภูธรแม่โจ้  ศาลสั่งฝากขังตามคำร้องของพนักงานสอบสวน เขาต้องอยู่ในเรือนจำกลางจังหวัดเชียงใหม่  ระหว่างวันที่ 11 มี.ค. - 23 เม.ย.2564 ซึ่งเป็นช่วงที่โควิด19 ระบาดในประเทศไทยและยังไม่มีคนไทยได้รับวัคซีน เขาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวและตรวจพบว่าได้ติดโควิด 19 มาจากในเรือนจำ หลังได้รับอิสรภาพเขาได้รับหมายเรียกจาก สภ.บันนังสะตา จ.ยะลา เพราะถูกแจ้งความคดี 112 อีกคดีหนึ่ง
 
[2] "บุญลือ" อาศัยอยู่ใน จ.สุโขทัย ขณะอายุ 24 ปี เขาได้รับหมายเรียกจาก มื่อวันที่ 19 ม.ค. 2564  จากการแสดงความคิดเห็นในโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2563 และตั้งคำถามว่าเหตุใดจึงเกิดกระแสการเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ มีผู้ใช้โซเชียลมีเดียคนหนึ่งที่ไม่เคยรู้จักกับเขามาก่อนเป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษที่  สภ.ทุ่งคาโงก จ.พังงา
 
[3] "อุกฤษฎ์" ถูกดำเนินคดีขณะอายุ 23 ปี โดยถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ 7 นายพร้อมตำรวจรักษาพระองค์อีก 2 นายเข้าจับกุมในห้องพักเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2564 ตามหมายจับ เขาถูกฟ้องคดี 112 ทั้งสิ้น 2 คดี  เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2567 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 อ่านคำพิพากษาคดีที่ฟ้องที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นที่สั่งลงโทษจำคุก 4 ปี แล้วลดโทษเหลือจำคุก 2 ปี เนื่องจากจำเลยรับสารภาพ  ต่อมาเมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2567  ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลอาญารัชดา สั่งจำคุก 5 ปี 30 เดือนโดยไม่รอลงอาญา จากการโพสต์ 5 ข้อความในสื่อสังคมออนไลน์ และต่อมาศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวตามคำร้องที่ทนายความยื่นไป
 
[4] "มนุษย์ถูกสาปให้มีเสรีภาพ"  (Man is condemned to be free) คำกล่าวของ ฌอง ปอล ซาร์ตร์ (Jean-Paul Sartre)
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net