Skip to main content
sharethis

'คริษฐ์' สส.พรรคก้าวไกล จ.ตาก อภิปรายงบฯ ปี’67 งบชลประทานไม่ทั่วถึง เกษตรกรนอกพื้นที่เสี่ยงลำบาก สนับสนุนงบฯ ทำ 'cell broadcast' เตือนภัยพิบัติ แนะบูรณาการข้อมูล สร้างความแม่นยำ

 

4 ม.ค. 2566 ยูทูบ ‘TP Channel’ ถ่ายทอดสดออนไลน์วันนี้ (4 ม.ค.) ณ รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 5 สมัยสามัญที่ 2 ประจำวันที่ 4 ม.ค. 2567 วาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปี พ.ศ. 2567 วันที่ 2 โดย คริษฐ์ ปานเนียม สส.พรรคก้าวไกล จ.ตาก อภิปรายงบฯ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการชลประทาน และการขยายเขตชลประทานให้ทั่วถึง ตลอดจนการช่วยเหลือประชาชนนอกเขตชลประทาน รวมถึงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และภัยพิบัติ 

สส.พรรคก้าวไกล ระบุต่อว่า ในฐานะที่เป็นหนึ่งในกรรมาธิการบริหารจัดการน้ำ จึงให้ความสำคัญเรื่องนี้เป็นอย่างมาก และเชื่อว่าประชาชนทั้งประเทศรอคอยสิ่งนี้เช่นกัน “เพราะน้ำคือชีวิต” แต่ตอนนี้เราเผชิญกับการจัดทำงบประมาณที่ล้าหลัง เนื่องจากต้องยึดโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี การบริหารราชการสืบทอดอำนาจด้วยกลไกและกฎหมายอันบิดเบี้ยว ฉุดรั้งประเทศไทยให้เติบโตล่าช้ากว่าที่อื่นๆ ในฐานะที่พรรคเพื่อไทยเคยยืนอยู่ในซีกฝ่ายค้านด้วยกัน เราต่างเห็นพ้องกันว่า การจัดสรรงบประมาณด้านการจัดการทรัพยากรน้ำไม่พอต่อการตอบสนองแก้ไขปัญหา และวันนี้รัฐบาลใหม่ก็เลือกที่จะเดินตามรอยรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา (พ.ศ. 2562-2565)

จัดงบฯ ขยายพื้นที่เขตชลประทานน้อยเกินไป เมื่อไรจะได้ตามเป้า 

สส.พรรคก้าวไกล จ.ตาก กล่าวถึงปัญหาภัยแล้งด้านการเกษตร รัฐบาลทราบว่าภัยแล้งปีนี้จะรุนแรงและรุนแรงต่อเนื่องหลายปี รัฐบาลเดินทางลงพื้นที่ก็พูดตลอดว่าจะแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้ได้ และคนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งมากที่สุดคือเกษตรกร แต่พอมาดูงบฯ ปี 2567 ไม่ได้ดีอะไรไปจากรัฐบาลที่แล้ว และไม่มีอะไรใหม่ ไม่ใช่คำตอบอนาคตของประเทศที่ประชาชนคาดหวัง สวนทางกับการแถลงนโยบายของรัฐบาล 

คริษฐ์ แบ่งปัญหาภาคการเกษตรออกเป็น 2 ส่วน 1. พื้นที่นอกเขตชลประทาน และ 2. กลุ่มพื้นที่นอกเขตชลประทาน เรามีราษฎรทำการเกษตรมากกว่า 150 ล้านไร่ สำหรับพื้นที่เขตชลประทาน และอยู่ในอำนาจของกรมชลประทาน ซึ่งแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ระหว่าง 2561-2580 ระบุว่า เรามีแผนที่จะพัฒนาพื้นที่เขตนอกชลประทานให้ได้ 60 ล้านไร่ ตอนนี้เราทำได้ครึ่งหนึ่ง หรือเท่ากับ 30 ล้านไร่แล้ว 

สส.พรรคก้าวไกล ระบุต่อว่า ปีนี้กรมชลฯ ได้รับงบประมาณ 81,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1 พันล้านบาท แต่พอลองนำงบฯ ออกมาแยกดู โดยตัดงบฯ ซื้ออุปกรณ์และพัสดุออกไป เหลือเป็นงบฯ พัฒนาพื้นที่ชลประทาน 62,000 ล้านบาท แบ่งเป็นงบฯ ปรับปรุงพื้นที่ชลประทานเดิม 53% หรือ 33,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือ 29,000 ล้านบาทนั้นเป็นงบฯ สำหรับพื้นที่ชลประทานใหม่ 

สส.พรรคก้าวไกล กล่าวต่อว่า ผลสัมฤทธิ์ของการพัฒนาพื้นที่ชลประทานที่เพิ่มขึ้นใหม่ จะพบว่างบประมาณ 3 หมื่นล้านบาทที่ใส่ลงไป เพื่อเพิ่มพื้นที่ชลประทานใหม่ให้กับเกษตรกร ได้เพียง 170,000 ไร่เท่านั้น หรือใช้เงินประมาณ 170,000 บาทต่อ 1 ไร่ เปรียบเทียบง่ายๆ ว่า ถ้าเรายังทำโครงการด้วยเม็ดเงินเท่านี้ พอถึงปี 2580 อย่างมากเราจะเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้เพียง 2 ล้านไร่เท่านั้น และเราคงต้องใช้เวลาต่อไปอีก 30 ปี กว่าเราจะพัฒนาพื้นที่ชลประทานให้ได้ถึง 60 ล้านไร่ ตามแผนงานและตามงบฯ ที่จัดสรร ถามง่ายๆ เลยว่า ถ้าเราเป็นเกษตรกรรอกันไหวไหม และเมื่อไรจะครบตามเป้าหมาย

คริษฐ์ ระบุต่อว่า การที่เราเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ปีละไม่ถึง 2 ไร่ เป็นการบอกอะไรกับเกษตรกรที่อยู่นอกพื้นที่เขตชลประทาน ที่มีอยู่ 150 ล้านไร่ จะบอกให้เขาถอดใจ หรือจะบอกให้เขาทำอย่างอื่น หรือบอกให้เขารอและหวังว่าพื้นที่ที่จะเพิ่ม 1 แสน 7 หมื่นไรต่อปี ไปตรงกับเขตไร่เขตนาของเขา  

ต่อมา พื้นที่นอกเขตชลประทานมีหน่วยงานดูแลหลักๆ 3 หน่วย ได้แก่ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมชลประทาน และกรมพัฒนาที่ดิน ถ้าเราดูจากผลสัมฤทธิ์ หรือตัวชี้วัดงบประมาณทั้ง 3 หน่วยงานนี้แล้ว ต้องบอกว่าน่าประทับใจ เพราะงบฯ เพียง 7 พันกว่าล้าน ก็สามารถพัฒนาฟื้นฟูแหล่งน้ำให้มีพื้นที่ได้รับประโยชน์ 2.4 แสนไร่ ได้รับประโยชน์มากกว่ากรมชลประทานครึ่งเท่าตัว และหากผลสัมฤทธิ์ที่กรมฯ ตั้งไว้เป็นจริง หมายความว่าใช้เงินน้อยกว่าชลประทาน 4 เท่าตัว

การตั้งงบประมาณของรัฐบาลนี้ยังเหมือนกับรัฐบาลที่ผ่านมาทั้งในและนอกเขตชลประทาน จัดทำงบประมาณ และโครงการในรูปแบบเดียวกันอยู่ดูแลพี่คนโตที่แข็งแรง และละเลยลูกคนเล็กที่อ่อนแอ

สส.พรรคก้าวไกล เสนอว่า รัฐบาลต้องทบทวนว่าจะเอาอย่างไรกับเกษตรกรนอกพื้นที่ชลประทาน แต่ถ้าไม่มีวิสัยทัศน์การแก้ไขปัญหาเรื่องนี้จริงๆ สิ่งที่อยากเห็นคือการเติมงบประมาณลงไปในส่วนเกี่ยวข้องกับน้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่นอกเขตชลประทาน ให้ประชาชนมีน้ำต้นทุนที่เพียงพอรับมือกับภัยแล้งที่จะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จากนี้ไป

สานต่อโครงการฟลัดเวย์ ไม่สนคนต้นน้ำ 

สำหรับการจัดการน้ำที่ต้นน้ำ คริษฐ์ กล่าวถึงโครงการจัดการน้ำที่ปลายน้ำ หรือโครงการฟลัดเวย์ที่วันนี้เห็นอยู่ในงบประมาณปี 2567 งานนี้จะขนน้ำไปทิ้งอีกแล้ว ที่มาพูดเพราะมองว่าหากเรายังจัดการน้ำที่ต้นน้ำไม่ได้ ก็ไม่ควรไปแก้ไขที่ปลายทางก่อน 

คริษฐ์ ระบุต่อว่า ท่านยังคงสานต่อโครงการเดิมเมื่อรัฐบาลที่แล้ว หรือท่านคิดเห็นตรงกันก็ไม่ทราบ ปัจจุบัน แม่น้ำหลายสาย ทั้งแม่น้ำปิง วัง ยม และน่าน แม่น้ำตื้นเขิน ระบบสูบน้ำมีปัญหาส่งน้ำเข้านาไม่ได้ แม่น้ำหลายสายเส้นทางถูกถมด้วยมูลดิน เกษตรกรยังรอน้ำ แต่รัฐบาลใหม่ไม่มีการตั้งงบฯ ที่ชัดเจนและเพียงพอ เพื่อแก้ไขปัญหา

คริษฐ์ มองว่า เรามีที่ให้น้ำอยู่ แต่ไม่มีที่ให้น้ำไป แม้ว่าจังหวัดลำปาง ลำพูน และตาก ประสบอุทกภัยเมื่อปีที่แล้ว แต่น้ำในเขื่อนหรือในอ่างเก็บน้ำยังไม่เต็ม และเรายังมีพื้นที่ตลอดแม่น้ำปิง และแม่น้ำวัง ซึ่งยังเป็นพื้นที่แล้งซ้ำซาก ไม่มีน้ำใช้เพื่อการเกษตร อยากเสนอว่าเราน่าจะเอางบประมาณจัดสรรการบริหารน้ำส่วนเกินที่เราห่วงว่าจะท่วมเมืองกรุง เอาไปเติมในพื้นที่ที่เขาขาดอยู่  อยากให้นำน้ำในพื้นที่ที่ทำแก้มลิงอย่างนครสวรรค์ อุทัยธานี เพชรบุรี สิงห์บุรี หรือชัยนาถ พวกเขาต้องอดทนใช้พื้นที่ไร่นาตัวเองเป็นพื้นที่แก้มลิงรับน้ำ เพื่อไม่ให้เข้าเมืองหลวง ผันมาให้พื้นที่ที่ประสบภัยแล้ง เอาน้ำไปทิ้งเสียนี่ใช่หรือ

"ทำฟลัดเวย์ด้วยงบประมาณกว่า 2,900 ล้านบาท ท่านกลับไม่แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เอาแต่กรุงเทพรอด ไม่สนคนต้นน้ำว่าต้องเผชิญกับปัญหาอย่างไร สุดท้าย ปล่อยคนต้นน้ำไปตามเวรตามกรรมอย่างนี้ใช้ไม่ได้" คริษฐ์ กล่าว

ฝากการบ้าน 'ระบบเตือนภัย' น้ำท่วม

ต่อมา เรื่องการเติอนภัย และปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วม คริษฐ์ ออกตัวว่าเขาสนับสนุนโครงการ 'cell broadcast' เพื่อแจ้งเตือนปัญหาภัยพิบัติอุทกภัยผ่านมือถือ ซึ่งปีนี้ กพ.ตั้งงบฯ ไว้ 35 ล้านบาท แต่ปัญหาคือข้อมูล เนื่องจากถ้าจะเตือนภัยต้องมีข้อมูลที่ชัดเจนว่าจะท่วมเมื่อไร หรือรุนแรงแค่ไหน 

คริษฐ์ ระบุต่อว่า ปัญหาตอนนี้คือการจัดการและบูรณาการข้อมูลเข้าด้วยกัน ไปจนถึงการพัฒนาระบบกรมอุตุนิยมวิทยาให้มีความแม่นยำ แต่ตอนนี้กรมอุตุฯ ไม่มีงบฯ เพื่อพัฒนาระบบพยากรณ์อากาศ เพราะงบฯ ส่วนใหญ่ไปลงที่การซื้อเครื่องมือตรวจวัดอากาศของสนามบินแทน เมื่อข้อมูลไม่แม่นยำก็ไม่สามารถเตือนภัยได้ แทนที่จะเตือนภัยได้ในระดับหมู่บ้าน กลายเป็นเตือนภัยได้เฉพาะระดับอำเภอ หรือจังหวัด ก็ไม่ได้ช่วยอะไร

สส. จ.ตาก ระบุต่อว่า กรณีศึกษาคือน้ำท่วมปัตตานี ที่ไม่มีการบอกว่าต้องอพยพเมื่อไร ไปที่ไหน ประกาศที่เตือนว่าน้ำจะไหลผ่านก็ไม่เตือน ที่สำคัญขยายวงกว้างไป 5 จังหวัดชายแดนใต้แล้ว เขาคิดว่าต้องทำ แต่ต้องไม่ลืมการบูรณาการข้อมูลต้องเป็นระบบเดียว และเสนอว่าต้องตั้งศูนย์ข้อมูลแบบเบ็ดเสร็จ (single command) ให้ชัดเจน

"ผมอยากให้รัฐมีความกล้าหาญที่จะใช้เงิน ที่จะจัดสรรงบประมาณ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงให้กับอาชีพ ให้กับประชาชน ให้มีน้ำที่เพียงพอกับการทำการเกษตรทั้งปี มีน้ำอุปโภคที่เพียงพอและทั่วถึง มีน้ำประปาที่ดื่มได้ ทรัพย์สินไม่หายนะ ไม่สูญเสียไปกับภัยพิบัติ เปิดกระเป๋าต้องเจอสตางค์ เปิดสมุดบัญชีต้องเจอสตางค์ สิ่งนี้ที่รัฐควรช่วยและจัดสรรงบประมาณเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตราษฎร" คริษฐ์ ทิ้งท้าย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net