Skip to main content
sharethis

'ศศินันท์' พรรคก้าวไกล อภิปรายงบ’67 ต่อการแก้ไขวิกฤตเด็กเกิดต่ำ ถามรัฐอยากให้คนมีลูกเพิ่ม แต่งบฯ ยังต่ำ เงินอุดหนุนถ้วนหน้ายังไม่ทั่วถึง ฝากการบ้าน 4 ข้อ รัฐพัฒนาครบวงจรทั้งสวัสดิการถ้วนหน้า วันลาคลอด จนถึงสภาพแวดล้อม ให้คนคลายกังวลอยากมีลูก


5 ม.ค. 2567 ยูทูบ TP Channel ถ่ายทอดสดออนไลน์ วันนี้ (5 ม.ค.) ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 5 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2) เป็นพิเศษ ประจำวันที่ 5 ม.ค. 2567 ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.พรรคก้าวไกล กรุงเทพฯ เขต 11 อภิปรายพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2567 กล่าวว่า อ้างอิงจากคำสัมภาษณ์ของเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ชี้เป็นการบ้านของรัฐบาล เพิ่มอัตราการเกิดของประชากร หลังพบว่า ประเทศไทยมีอัตราการเกิดต่ำในรอบ 11 ปี 

ศศินันท์ กล่าวว่า การแก้ไขวิกฤตเด็กเกิดต่ำต้องอาศัยความจริงใจของรัฐบาลก่อน แต่งบประมาณในปี 2567 รัฐบาลสร้างความเจริญ ถนน อาคาร และอื่นๆ แต่ขาดงบประมาณในการจัดสรรคุณภาพชีวิตของประชาชน

สส.พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) เคยประกาศปัญหาเด็กเกิดต่ำนี้เป็นวาระแห่งชาติ และออกแคมเปญมากมาย แต่งบประมาณเมื่อปี 2567 แทบไม่ได้ต่างอะไรจากปี 2566 ใส่ใจแก้ไขปัญหาแค่ไหน มองงบประมาณก็พอจะรู้

ปีนี้นอกจากเด็กเกิดต่ำ เรายังเข้าสู่สังคมสูงวัยแบบเต็มรูปแบบ สาเหตุหนึ่งมาจากวิกฤตเด็กเกิดต่ำ ประชาชนต้องการเห็นรัฐบาลใส่ใจงบประมาณมากกว่านี้ ไม่ใช่เพียงแค่ขอร้องให้ประชาชนมีลูกอย่างเดียว

ส่งบทเรียนต่างประเทศ แก้วิกฤตเด็กเกิดต่ำยังไง

ศศินันท์ ยกตัวอย่างในกรณีของต่างประเทศ เกาหลีใต้เพิ่มเงินอุดหนุนให้ประชาชนมีบุตรขึ้น 8 เท่า นอกจากนั้น เพิ่มเงิน 2 เท่าให้คนมีบุตร จาก 7-8 พันบาทต่อเดือน เป็น 2 หมื่นบาทต่อเดือน ขณะที่ประเทศสิงคโปร์ที่มีอัตราเด็กเกิดต่ำ และค่าครองชีพสูง ออกนโยบายเพิ่มเงินเลี้ยงดูเด็ก 30% มี baby bonus ลดแลกแจกแถมให้คนอยากมีบุตรเพิ่มขึ้น 

ขณะที่ประเทศไต้หวัน แก้ไขปัญหาโดยการเพิ่มเงินอุดหนุนเด็ก และเพิ่มงบฯ 15,000 ล้านเหรียญไต้หวัน (16,700 ล้านบาท) เป็น 80,000 ล้านเหรียญไต้หวัน (89,000 ล้านบาท) และยังมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีก เพราะว่าเขารณรงค์เลือกตั้ง 1 ในนโยบายที่เขาหาเสียงคือการเพิ่มเงินอุดหนุนเด็ก เด็กคนแรก 5,000 เหรียญไต้หวันต่อเดือน (5,587 บาทต่อเดือน) คนที่ 2 จำนวน 6,000 เหรียญไต้หวันต่อเดือน (6,704 บาทต่อเดือน) และคนที่ 3 จำนวน 7,000 เหรียญไต้หวันต่อเดือน (7,821 บาทต่อเดือน) นอกจากนั้น วิกฤตเด็กเกิดต่ำในไต้หวัน ยังถูกบรรจุในประเด็นด้านความมั่นคงของชาติ ฉบับที่ 1 ซึ่งสะท้อนถึงการให้ความสำคัญ ขณะที่เศรษฐา เคยแถลงเอาไว้ เมื่อดูในงบประมาณยังไม่เห็นเรื่องของเด็ก หรืองบฯ รับมือวิกฤตเด็กเกิดต่ำ แม้แต่น้อย

"Baby Birth Journey"

ศศินันท์ อภิปรายงบฯ พร้อมเสนอแผนแก้ไขวิกฤตผ่าน "Baby Birth Journey" เริ่มต้นจากการตั้งครรภ์ (0-40 สัปดาห์) พ่อ-แม่ต้องเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพ รับโภชนการที่ดีเพื่อลดค่าใช้จ่าย ถ้ารัฐบาลทำอย่างดี และครอบคลุม ประชาชนจะคลายความกังวลที่จะมีลูก หรือคนที่มีลูกอยู่แล้วเขาก็จะคลายความกังวลใจเหมือนกัน

งบฯ ช่วงตั้งครรภ์ ยังน้อย ไม่มีอะไรใหม่

ศศินันท์ ระบุต่อว่า งบประมาณสนับสนุนแม่และเด็กมีการเตรียมความพร้อมด้านสุขภาพของแม่ช่วงตั้งครรภ์ ในงบฯ เล่ม ‘ขาดคาดแดง’ ระบุว่า มีงบฯ 46 ล้านบาทเท่านั้น เทียบกับกระทรวงอื่นๆ น้อยกว่าค่าอาวุธยุทโธปกรณ์ หรือน้อยกว่าการแก้ไขปัญหานักท่องเที่ยวถูกหลอกลวง เห็นงบฯ กระทรวงกลาโหมแล้วก็อิจฉา

ขณะที่ในหน้า 499 ระบุว่า งบประมาณขับเคลื่อนวาระแห่งชาติส่งเสริมการมีบุตร มีงบฯ 2 ล้านกว่าบาทเท่านั้น ซึ่งน้อยมาก งบฯ สนับสนุนการส่งเสริมการตั้งครรภ์ และการเกิดอย่างมีคุณภาพ แผนของกรมอนามัยไม่มีอะไรใหม่ มีแต่ของเดิมที่มีอยู่แล้ว เอามาใส่ที่เดิม ห่างไกลจากคำว่านโยบายเชิงรุก ห่างไกลจากคำว่าวาระแห่งชาติเหลือเกิน 

ขณะที่นโยบายคัดกรองความพิการนี่สำคัญ เพราะเป็นปัจจัยที่สำคัญที่เราจะตัดสินใจว่ามีลูกรึเปล่า ตั้งแต่เด็กแรกเกิด แผนของกรมอนามัยของปี 2565 งบอยู่ที่ 1 ล้านบาทเท่านั้น เน้นที่คัดกรองอย่างเดียว แต่คัดกรองแล้วยังไม่รู้ว่าจะทำอะไรต่อ การตั้งงบฯ แบบนี้น้อยเกินไป ขนาดระบุว่าเป็นวาระแห่งชาติ และงบประมาณ 66-67 ต่างแค่ 2 แสนบาทเท่านั้น อยากให้เด็กเกิดเยอะ แต่เมื่อเทียบกับประเทศที่ยกตัวอย่าง เขาเพิ่มกัน 2-8 เท่า ของเรา 2 แสนบาท

ศศินันท์ ระบุว่า งบประมาณสิ่งที่ควรทำเป็นนโยบาย Quick win ของกระทรวงสาธารณสุข คือควรนำร่องในการประชาสัมพันธ์เพื่อการลาคลอดลาเลี้ยงดูบุตร 180 วัน การลงทุนห้องให้นม ห้องเปลี่ยนผ้าอ้อม หรือวิกฤตนมแม่ องค์การระหว่างประเทศ 'UNICEF' ระบุว่า ประเทศไทยมีอัตราการให้นมแม่ ร้อยละ 29 แต่เป้าหมายของโลกคือร้อยละ 50 และการแก้ไขระเบียบของโรงพยาบาลควรนำทารกมาวางที่อกแม่ทันทีหลังคลอด แต่ข้อมูลจาก UNICEF ระบุว่ามีเพียง 5% ที่ทำระบบนี้

ช่วงปฐมวัย งบอุดหนุนเด็กยังไม่พอ

ศศินันท์ กล่าวว่า ช่วงทารก 1-6 ขวบ ปีแรกของชีวิตสำคัญมาก เพราะการแก้ไขปัญหาสังคม ทั้งเรื่องความรุนแรงในครอบครัว หรือปัญหายาเสพติด ต้องเริ่มตั้งแต่วัยเด็ก จึงขอชื่นชมทาง สธ.ที่ใส่ใจเพิ่มงบประมาณส่งเสริมและพัฒนาเด็ก นโยบายเรื่องเล่นเปลี่ยนโลก และอยากเสนอว่าให้กระจายไปยังท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น 

ศศินันท์ กล่าวต่อว่า แต่ยังพบปัญหาในงบประมาณ คือเงินอุดหนุนเด็กที่ไม่ทั่วถึง และเพดานเงินที่น้อย ได้เพียงเดือนละ 600 บาท ปัจจุบันงบประมาณอุดหนุนเด็ก อยู่ที่ 1.6 หมื่นล้านบาท โดยมีเด็กลงทะเบียนรับสิทธิ 3.3 ล้านคน แต่เงินอุดหนุนถึงมือเด็กแค่ 2.3 ล้านคนเท่านั้น จึงคาดหวังว่า สธ.จะเพิ่มงบฯ มากขึ้น 

เมื่อดูงบประมาณในปี 2567 อยู่ที่ 1.6 หมื่นล้านบาท เงินเพิ่มมานิดหน่อย ดูแลเด็กได้เพียง 2.5 ล้านคน จากการลงทะเบียนรับสิทธิ์ 4 ล้านคน เด็กตกหล่นทันที 1.5 ล้านคน ถ้าต้องมีงบประมาณถ้วนหน้าจริงๆ ไม่มีคนตกหล่น ต้องใช้งบประมาณ 2.9 หมื่นล้านบาท

“เมื่อเทียบกับงบประมาณรายจ่ายทั้งก้อน 3.48 ล้านล้านบาท งบฯ เงินอุดหนุนเด็กเล็กไม่ถึง 1% น้อยมาก เท่ากับว่าเด็กๆ เหล่านี้ไม่ได้ถูกกรองด้วยตระแกรงเงื่อนไขการเข้าถึงเบี้ยแล้ว ถูกกรองด้วยเอกสารขอลายเซ็นนั่นนี่ ยังต้องถูกกรองด้วยตระแกรงของความคิดของฝ่ายบริหารที่ไม่ได้เห็นความสำคัญเลย และจัดสรรงบประมาณมาอย่างไม่เพียงพอ” ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ กล่าว  และระบุว่าแม้ว่าเงินอุดหนุนเด็กเล็กจะไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มจำนวนเด็ก แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่ามันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรได้รับ

เตรียมอนุบาล : งบพัฒนาศูนย์เด็กเล็ก เพิ่มได้อีก

สส.พรรคก้าวไกล กล่าวว่า การพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ก็สำคัญ เพราะว่าพ่อ-แม่คลอดบุตรมาแล้ว ไม่รู้ว่าจะเอาลูกไปเลี้ยงไปที่ไหน เพราะว่าอะไรศูนย์เด็กเล็กเริ่มที่ 3 ขวบ แต่ลาคลอด เราไม่ได้ลงคลอดถึง 3 ปี บางคนส่งให้ปู่-ย่าช่วยเลี้ยง บางคนลาออกจากงานเพื่อเลี้ยงลูก

ปี’67 งบประมาณศูนย์เด็กเล็ก เพิ่มขึ้นในส่วนเงินเดือนค่าตอบแทน ค่านมเด็ก และอาหารกลางวัน แต่คิดว่าเพิ่มขึ้นได้มากกว่านี้ สัดส่วนอาหารกลางวันเด็กเพิ่มเพียง 30-40 กว่าบาทเท่านั้น ซึ่งเราอยากเห็นศูนย์เด็กเล็กที่มีมาตรฐาน มีโภชนาการครบถ้วน ปลอดภัย และเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ดีในการพัฒนาศักยภาพของเด็ก เพราะเด็กเป็นบุคลากรของประเทศในอนาคต และจะเป็นแรงกระตุ้นชั้นดีในการมีบุตรต่อไป

งบสนับสนุนครอบครัวไม่ได้สัดส่วน ไม่ตอบโจทย์วิกฤตความรุนแรง-พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว

ศศินันท์ ระบุถึงงบประมาณส่งเสริมครอบครัวเข้มแข็ง วง 124 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่กิจกรรมพัฒนาส่งเสริมสัมพันธภาพครอบครัว งบฯ มากถึง 30 ล้านบาท งบพัฒนาชีวิตแม่เลี้ยงเดี่ยวและครอบครัว 3 ล้านบาท งบโรงเรียนพ่อ-แม่ออนไลน์ 4 ล้านบาท และงบป้องกันความรุนแรงในครอบครัว ได้น้อยมาก 1.5 ล้านบาท ทั้งที่สถิติความรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกปี แต่เราจัดงบประมาณแบบนี้ 

"เรื่องนี้ทำให้คำพูดของเศรษฐา ดูไม่น่าเชื่อถือขึ้นมาทันที เนื่องจากความรุนแรงต่อแม่และเด็กต้องหยุด หยุดแน่นอนงบฯ เท่านี้" ศศินันท์ กล่าว และแสดงความกังวลด้วยว่าการจัดงบประมาณที่ไม่ได้สัดส่วนแบบนี้จะทำให้แม่-พ่อเลี้ยงเดี่ยวจะกลายเป็นกลุ่มตกหล่น และจะเผชิญปัญหาไม่กล้าหย่าร้างเมื่อเผชิญกับความรุนแรงทุกรูปแบบ เพราะมองไม่เห็นทางเดินต่อไปในอนาคต 

แก้วิกฤตเด็กเกิดต่ำ ต้องพัฒนาทั้งวงจร

ศศินันท์ มองว่า การแก้ไขวิกฤตเด็กเกิดต่ำไม่ใช่แค่การออกมาพูด แต่เราต้องทั้งหมดครบวงจร เพราะว่าเราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าคนไม่อยากมีบุตรเนื่องจากโครงสร้างของประเทศเราไม่ได้เอื้ออำนวยการมีลูกเลย เด็กรุ่นนี้ใช้ชีวิตกันอย่างน่าสงสารมาก การจัดสวัสดิการที่ดี จะทำให้เขาตัดสินใจมีลูกได้ง่ายขึ้น

ศศินันท์ เสนอให้รัฐบาลคำนึงถึงการจัดเวลาทำงานบุคลากรสาธารณสุขอย่างเหมาะสมเพื่อให้เขาให้การดูแลรักษาผู้ที่อยากมีบุตรได้อย่างเต็มที่ สภาพแวดล้อมอากาศสะอาด ถนนที่ปลอดภัย ทางเท้าที่กว้างให้ใช้รถเข็นเด็ก ระบบขนส่งสาธารณะที่เข้าถึงได้ทุกคน และการศึกษาที่มีศักยภาพ ไม่มีระบบอำนาจนิยมในโรงเรียน

สส.พรรคก้าวไกล เสนอให้รัฐบาลไปทำการบ้านต่อ ผลักดันสิทธิลาคลอด 180 วันทั้งพ่อ-แม่ โดยได้รับเงินเดือนเต็มเวลา เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดถ้วนหน้าตามมติคณะสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า และยกระดับเงินอุดหนุน

ศศินันท์ เสนอส่งเสริมสวัสดิการที่เอื้อต่อการมีบุตร สิ่งแวดล้อม อนามัย ห้องให้นมแม่ และห้องเปลี่ยนผ้าอ้อมในสถานที่ทำงาน และสุดท้าย ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และห้อง "Day Care" ต้องมีมากขึ้น และมีมาตรฐาน 

"หากรัฐบาลยังจัดงบฯ โดยไม่เข้าใจว่า วิกฤตเด็กเกิดต่ำเป็นอนาคตของวิกฤตประเทศ การตัดใจไม่มีลูกของคนวันนี้จะเป็นเหมือนเสียงสะท้อนความไม่พอใจของพวกเขาได้ดีที่สุด รัฐบาลจัดใช้ภาษีอย่างไม่คุ้มค่าเงินของพวกเขา เพราะว่าไม่มีพ่อแม่คนไหนที่อยากให้ลูกอยู่ในประเทศที่ไร้ซึ่งความหวัง" ศศินันท์ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net