Skip to main content
sharethis

'ณัฐพงษ์' สส.ก้าวไกล ปิดท้ายอภิปรายพิจารณาร่างงบ 67 มองปัญหา 'เพื่อไทย' ใช้ระบบกึ่งการคลังไม่ได้ ติด พ.ร.บ.วินัยการคลัง ทำให้การทำงบสำคัญมาก พร้อมเสนอ 5 ก้าวปฏิรูปงบประมาณระยะสั้น กลาง และยาว


6 ม.ค. 2566 ยูทูบ TPchannel ถ่ายทอดสดออนไลน์ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 5 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2) เป็นพิเศษ วานนี้ (5 ม.ค.) วาระการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สรุปการอภิปรายของฝ่ายค้าน และข้อเสนอ 5 ข้อในการผลักดันภารกิจของรัฐบาล

 

เครื่องมือ 'กึ่งการคลัง' ติดตอ 

ณัฐพงษ์ กล่าวถึงปัญหาของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน และเรื่องการจัดการงบประมาณ ซึ่งยังคงใช้วิธีการจัดงบประมาณเช่นเดียวกับสมัยรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร คือการใช้เครื่องมือระบบกึ่งการคลัง ร่วมกับเครื่องมืออื่นๆ ในการจัดการงบฯ จนสามารถผลักดันนโยบายครองใจประชาชน อย่าง 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน จำนำข้าว หรืออื่นๆ แต่ว่าตอนนี้พรรคเพื่อไทยจะไม่สามารถใช้ระบบกึ่งการคลังได้แล้ว เนื่องจากติด พ.ร.บ.วินัยทางการคลัง มาตรา 28 ซึ่งอาจทำให้นโยบายดิจิทัลวอลเลต ซึ่งกำลังรอคำตอบจากกฤษฎีกาว่า สามารถออก พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านได้หรือไม่นั้น ถ้าคำตอบว่าไม่ได้ พรรคเพื่อไทยจะไม่สามารถใช้วิธีการเดียวกับสมัยทักษิณได้แล้ว และนั่นทำให้การจัดทำงบประมาณรายจ่ายมีความสำคัญอย่างมาก

ต่อมา ณัฐพงษ์ ได้สรุปการอภิปรายของ สส.พรรคก้าวไกล เมื่อ 3 วันที่ผ่านมา พร้อมกับสะท้อนปัญหาการจัดการงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลใหม่ โดยตั้งข้อสังเกตว่าไม่ตรงปก และไม่สามารถตอบสนองวิกฤตได้อย่างแท้จริง 

รวมข่าวอภิปรายของพรรคฝ่ายค้าน

เสนอ 5 ก้าวปฏิรูปกระบวนการจัดทำงบประมาณ

สส.พรรคก้าวไกล ระบุว่า การจัดงบประมาณเป็นปัญหาสำคัญของรัฐบาล เนื่องจากจะไม่สามารถใช้นโยบายกึ่งการคลัง และ 2. เครื่องมืออีกชิ้นหนึ่ง ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ จะดีได้ ก็ต้องมีกระบวนการจัดทำงบประมาณที่ดี แต่วันนี้เข้าขั้นวิกฤตอีกเช่นเดิม ส่วนทำไมถึงวิกฤต เนื่องจากการดูงบประมาณรายจ่ายเกี่ยวกับโครงการต่างๆ ที่สามารถรื้อได้ หรือจัดสรรเองได้นั้น ต้องใช้เวลานาน เพราะตัวเลขงบประมาณไทยมีปัญหา

ณัฐพงษ์ ระบุว่า จากการเฝ้าสังเกตตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา จากการทำหน้าที่ในคณะกรรมาธิการสามัญศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ อยากชวนนายกฯ ช่วยกันสร้างบุญใหม่ ทิ้งไว้เป็นมรดกตกทอดสู่ลูกหลาน ผ่านการปฏิรูปกระบวนการจัดทำงบประมาณใหม่ ประกอบด้วย 5 ก้าว ดังนี้ 2 ก้าวแรกทำได้เลย ทำได้ทันที ก้าวต่อไป ก้าวที่ 3 ทำให้ได้ภายใน 1 ปี ก้าวที่ 4 ภายในครึ่งเทอม และก้าวสุดท้าย ก้าวที่ 5 ผมคิดว่าทำได้ภายใน 4 ปี ถ้านายกฯ มีความทะเยอทะยาน

ก้าวแรก: เปิดเผยโปร่งใส ทำได้ทันที

ณัฐพงษ์ ระบุว่า เริ่มจากการทำให้งบประมาณมีความโปร่งใส และให้ประชาชนมีส่วนร่วม กระบวนการจัดทำงบประมาณวันนี้ขาดความโปร่งใสอย่างมาก อ้างอิงจากหนังสือตอบกลับ นร. 0716/1261 ลงวันที่ 22 พ.ย. 2566 เรื่อง ขอความอนุเคราะห์ข้อมูลเอกสารที่ส่งตรงถึงเขา คณะกมธ.ศึกษาการจัดทำและติดตามบริหารงบประมาณ ใจความตอนหนึ่งระบุว่า คำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายเป็นข้อมูลความต้องการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณที่ยังไม่ผ่านการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรี จึงเห็นควรว่าหาก กมธ.อยากจะได้ข้อมูล ควรจะต้องไปขอจากหน่วยรับงบประมาณเองโดยตรง ซึ่งเสี่ยงขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 129 วรรค 5 เพราะว่ามีข้อมูลแต่ไม่ยอมให้ ส่งผลให้เราต้องร่อนจดหมายไปที่ทุกหน่วยรับงบประมาณ จนนำมาสู่การอภิปรายงบประมาณในวาระ 1 ได้ จึงอยากให้นายกรัฐมนตรีสั่งการให้สำนักงบฯ ส่งข้อมูลให้ กมธ. โดยทันที หากไม่ จะดำเนินคดี ป.วิอาญา มาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป

ก้าวที่ 2 แบ่งอนุตามยุทธศาสตร์

ณัฐพงษ์ กล่าวต่อว่า ก้าวที่ 2 ต้องปฏิรูปกระบวนการอนุมัติงบประมาณในสภาฯ หรือการปรับปรุงกระบวนการ กมธ.วิสามัญใหม่ การอภิปรายงบฯ ใน 3 วันจะเปล่าประโยชน์เลย ถ้าเราไม่เริ่มปฏิรูปการอนุมัติงบประมาณผ่านสภาฯ เสียก่อน 

ยกตัวอย่าง การแบ่งอนุกรรมการวิสามัญ ในอดีตเราแบ่งตามของที่ซื้อ เช่น อนุฯ ตึก, อนุฯ คอมฯ, หรือ อนุฯ การจัดอบรมสัมมนา เพื่อพิจารณาว่าเราจะซื้อหรือไม่ หรือสัมมนาไหนควรจัดหรือไม่ควรจัด แต่เขาคิดว่าควรพอกันทีการแบ่งอนุฯ หรือการอนุมัติงบประมาณแบบนี้ เพราะมีผู้รับเหมาเฝ้าอนุฯ ใครสร้างอาคาร ใครสร้างเขื่อน ใครสร้างถนน ใครเป็นออแกนไนเซอร์ ไปอยู่อนุฯ จับฉ่าย จัดอบรมสัมมนา อันนี้ไม่เอา เพราะ สส. ไม่ได้มีหน้าที่มาพิจารณาว่าคอมฯ เครื่องไหนถูกแพง อาคารไหนถูกแพง สส.มีหน้าที่พิจารณาว่า โครงการใดเหมาะหรือไม่เหมาะในการจัดสรรงบประมาณภายใต้บริบทโลก และความต้องการของประชาชนในประเทศ 

ณัฐพงษ์ อยากเรียกร้องนายกฯ ว่าในปีงบประมาณนี้ท่านจะปฏิรูปกระบวนการอนุมัติงบประมาณใหม่ โดยเสนอในชั้น กมธ.วิสามัญ ซึ่งท่านถือเสียงข้างมาก ให้แบ่งอนุฯ ตามการจัดสรรงบประมาณ เพื่อให้กระบวนการอนุมัติงบประมาณของสภาฯ มีประสิทธิภาพมากและสอดคล้องต่อปัญหาประเทศ

ก้าวที่ 3 ใช้งบประมาณขับเคลื่อนนโยบาย

สส.พรรคก้าวไกล ระบุว่า ก้าวที่ 3 ก้าวที่ทำได้ใน 1 ปี คือมาตรการเชิงนโยบาย เพราะงบประมาณปี 2568 เป็นงบประมาณของรัฐบาลเต็มๆ ท่านต้องรู้จักวิธีการใช้งบประมาณมาขับเคลื่อนนโยบาย นอกจากการตั้งงบฯ ว่าจะนำมาใช้นโยบายใดแล้ว แต่การเลือกที่จะไม่ตั้งให้โครงการใดก็สำคัญ 

ยกตัวอย่าง งบโครงการสร้างฝายกันดินซีเมนต์ ปี 2567 4,500 แห่ง ผ่านกรมส่งเสริมกระทรวงมหาดไทย เม็ดเงิน 2,500 ล้านบาท เฉลี่ยต่อแห่ง 5 แสนบาท ไม่ต้องผ่าน ‘e-bidding’ ที่สำคัญกระบวนการจัดทำงบฯ แบบนี้ทำได้ภายใน 1 เดือน แต่ท่านอ้างว่าเวลาน้อย บอกว่ามีเวลาไม่ถึง 3 เดือน รื้องบฯ ได้ไม่เยอะ แต่ฝายกันดินจบได้ภายใน 1 เดือน และ ครม. อนุมัติแล้ว โดยที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และสถาบันสารสนเทศน้ำ 2 หน่วยงานหลัก บริหารจัดการน้ำระดับประเทศ ไม่เคยมีส่วนร่วมในพิจารณางบประมาณดังกล่าวเลย การจัดงบฯ แบบนี้ใครๆ ก็ดูออกว่ามีการล็อกสเปก 

ณัฐพงษ์ กล่าวต่อว่า เรื่องแบบนี้จะไม่เกิดขึ้นเลย ถ้านายกฯ รู้จักการใช้นโยบาย โดยยกตัวอย่างเช่น ถ้าไม่มีตราสแตมป์จาก สทนช. (สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ) ควรวางหลักเกณฑ์ให้สำนักงบประมาณปัดตกโครงการทุกกรณี อย่าปล่อยให้ต่างคนต่างทำ ใครจะตั้งงบฯ เข้ามาก็ได้ ก็จะมีคนไม่หวังดีใช้ช่องทางนี้หากินเรื่อยๆ 

ณัฐพงษ์ กล่าวถึงนโยบาย Cloud-first policy ซึ่งวิธีการมีปัญหาถ้าดูที่งบประมาณ เพราะ 'Cloud' (คลาวด์) คือการเช่าใช้แทนการซื้อ เหมือนเช่ารถยนต์ แต่ต่างกันที่เป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับระบบ IT เช่า ซอฟต์แวร์ เครื่อง โปรแกรม ฯลฯ แต่เมื่อมาดูที่งบประมาณ ยังมีงบฯ ที่ต่างคนต่างทำคำขอตั้ง 'Data Center' หรือเซิร์ฟเวอร์เข้ามามากมาย เต็มไปด้วยปัญหาเบี้ยหัวแตก ซึ่งเราเสนอให้มีการทำมาตรการเชิงนโยบาย โดยหารือกับ ผอ.สำนักงบฯ ว่าในปี 2568 ใครที่มาขอเช่าซื้อเซิร์ฟเวอร์ปัดตกทุกกรณี เว้นแต่มีความจำเป็นจริงๆ เช่นการจัดเก็บข้อมูลความมั่นคงระดับประเทศ และอยากเสนอให้ตั้งตัวชี้วัดในการชี้แจงงบประมาณ โดยการเปรียบเทียบเลขให้เห็นถึงการที่รัฐบาลสามารถประหยัดต้นทุนรวมของการเป็นเจ้าของ (Total cost of ownership) เช่น ค่าเครื่อง ค่าไฟ ค่าแอร์ฯ ค่าบำรุงรักษา ค่าซอฟต์แวร์ ฯลฯ ได้เท่าไร

ก้าวที่ 4 ตั้งงบประมาณฐานศูนย์ ตั้งงบฯ ทุกปี เท่าทันสถานการณ์

ณัฐพงษ์ กล่าวว่า ก้าวที่ 4 ทำให้ภายครึ่งเทอม หรือ 2 ปี โดยพรรคก้าวไกล เสนองบประมาณฐานศูนย์ หรือ ‘zero-based budgeting’ คือวิธีการจัดงบฯ แบบเทกระเป๋าใหม่ และทำทุกปี เพื่อให้การจัดสรรงบประมาณใหม่ ตอบสนองความท้าทายใหม่ๆ ได้ 

พรรคก้าวไกล ระบุว่างบประมาณฐานศูนย์ คืองบประมาณรายจ่ายแต่ละปีที่นำมาเสนอในสภาฯ สามารถแยกและระบุให้ชัดว่า โครงการใดมาจากรัฐมนตรีเพื่อผลักดันนโยบาย เรียกว่า ‘งบภารกิจ’ ส่วนโครงการใดที่ผูกพันมาจากรัฐบาลชุดก่อน และเข้าไปรื้อไม่ได้ เรียกว่าเป็น ‘งบฯ งานประจำ’ ที่หน่วยงานราชการชงขึ้นมา โดยอยากให้แยกให้เห็นชัดคนละก้อน เพื่อให้เห็นชัดๆ ว่า ‘งบภารกิจ’ ของรัฐบาลสอดคล้องกับยุทธศาสตร์หรือวิกฤตของชาติหรือไม่ ส่วนงบงานประจำ ที่ข้าราชการชงขึ้นมา ก็มาถกเถียงในสภาฯ พิจารณาในภาพรวมว่าจะรีดเค้นประสิทธิภาพของงบฯ ให้มากที่สุดในแต่ละปีได้อย่างไร 

ก้าวที่ 5 : ทำใน 4 ปี ตั้งงบเอาภารกิจนำ

ก้าวที่ 5 เชื่อว่าทำได้ใน 4 ปี ถ้ามีความทะเยอทะยานเพียงพอ คือ การจัดสรรงบประมาณ เพื่อนำเอาภารกิจนำ (Mission-Oriented) ยกตัวอย่าง ภารกิจ ‘ด้านการสร้างการเติบโตสีเขียว’ ต้องดูว่าเริ่มทำความเข้าใจว่าเกี่ยวข้องกับใครบ้างทั้งภาครัฐบาล และเอกชน ยกตัวอย่างเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมก่อสร้าง การวิจัยพันธุ์พืช การพัฒนา AI หรืออื่นๆ ใน 1 ภารกิจมีผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายมีอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้มากมายมหาศาล เมื่อท่านรู้จักผู้เกี่ยวข้อง (stakeholder) ท่านจะเรียกทุกคนมาออนบอร์ดได้ ภาพจุดท้าย คือการจัดโครงการตามภารกิจ ซึ่งเข้าใจว่าไม่ใช่ทุกโครงการตามภารกิจจะต้องขับเคลื่อนด้วยระบบราชการอย่างเดียว บางโครงการสามารถขับเคลื่อนในภาคเอกชนก็ได้ 

จากนั้น เราต้องแยกให้ชัดเจนว่าอะไรคือ ‘ภารกิจพื้นฐาน’ ที่หน่วยงานทำอยู่แล้ว และเกี่ยวข้องกับภารกิจ และสิ่งที่ต้องทำให้ชัดกว่า โครงการที่รัฐบาลจัดมาเองว่าโครงการนี้จะตอบสนองต่อภารกิจเติบโตสีเขียว หรือแก้ไขวิกฤตโลกร้อนไปในตัวได้อย่างไร และนายกฯ สามารถออกแบบมาตรการเชิงนโยบายที่สร้างสรรค์เพื่อวางหลักเกณฑ์ว่า หน่วยงานรัฐต้องเช่าและใช้แต่รถ EV เท่านั้น นี่คือมาตราการ ‘zero-based budgeting’ คือการนำเอาภารกิจมาจัดสรรงบประมาณ ที่จะทำให้การจัดสรรงบประมาณตอบโจทย์ของประเทศ

"ข้อเสนอ ทั้ง 5 ก้าวของผม ที่วันนี้ท่านนายกฯ รับรู้รับทราบแล้ว ผมเชื่อว่าเป็นข้อเสนอที่ง่ายและชัดมากพอ ที่ท่านพร้อมจะนำไปปฏิบัติได้เลย ท่านจะได้ทราบว่าการปฏิรูปงบประมาณจะมีส่วนสำคัญในการผลักดันประเทศได้อย่างไร" ณัฐพงษ์ กล่าว และนี่เป็นเพียงข้อสังเกตส่วนเดียวเท่านั้น จริงๆ แล้วมีอีกมากในเล่มรายงานของอนุฯ งบปี’67 หวังว่ารัฐบาลจะนำไปปรับใช้ต่อไปในปีหน้า

นอกจากนี้ สส.พรรคก้าวไกล ฝากนายกฯ ทิ้งท้ายให้ช่วยสั่งการสำนักงบประมาณ หน่วยงานแดนสนธยา อำนาจล้นฟ้า ซึ่งปัจจุบันยังไม่เปิดเผยข้อมูลงบประมาณ 5 ล้านล้านบาท แก่สำนักงบประมาณของรัฐสภาเลย ให้เปิดเผยข้อมูลการจัดทำงบประมาณ และข้อมูลการจัดงบฯ 5 ล้านล้านบาท ให้สำนักงบประมาณของรัฐสภา หรือ PBO ให้มีอำนาจเข้าถึงงบประมาณแผ่นดิน

ณัฐพงษ์ เชื่อว่ารัฐบาลสามารถทำได้ เนื่องจากก่อนหน้านี้ กระทรวงการคลังที่นายกรัฐมนตรี ควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง ได้เซ็นข้อตกลงร่วม MOU กับ PBO ในการเปิดเผยข้อมูลงบประมาณแบบเรียลไทม์ (real time) มาแล้ว ถ้าขอให้สำนักงบฯ เปิดเผยข้อมูลลักษณะเดียวกันด้วย มองว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

"ผมอยากให้ท่าน (ผู้สื่อข่าว - นายกรัฐมนตรี) ทำให้ดีที่สุด ทุกข้อติติง เรามาพร้อมข้อเสนอที่นำไปใช้ได้เลย ผมเชื่อว่าทุกข้อเสนอเป็นประโยชน์ต่อทุกคนไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล ผมอยากให้เรามองไปข้างหน้า" สส.พรรคก้าวไกล ทิ้งท้าย 
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net