Skip to main content
sharethis

'อังคณา นีละไพจิตร' อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์สื่อเบนาร์นิวส์ ชี้ว่าศาลก้าวหน้าขึ้นหลังสั่ง สตช. ชดเชยผู้ถูกสลายชุมนุมหน้าสภาปี 63 แต่รัฐไทยยังไม่คำนึงถึงการปกป้องเสรีภาพการแสดงออกมากเพียงพอ


อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (แฟ้มภาพ)

เบนาร์นิวส์ รายงานเมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2566 ว่านางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชี้ว่า ศาลไทยมีความก้าวหน้า หลังพิพากษาให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินรวม 3.07 แสนบาท ให้แก่ประชาชน และนักปกป้องสิทธิ จากกรณีที่ตำรวจใช้กำลังสลายการชุมนุมบริเวณหน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 นางอังคณายังติงอีกว่า ไทยยังไม่คำนึงถึงการปกป้องเสรีภาพการแสดงออกมากเพียงพอ

“คำพิพากษาของศาลมีความก้าวหน้า มีการอ้างถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามกฎหมายระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี อย่างไรก็ดียังมีข้อห่วงกังวลในประเด็นที่ศาลมีความเห็นว่า ในการชุมนุมหากผู้จัดการชุมนุมไม่แจ้งเจ้าพนักงาน ถือว่าเป็นการชุมนุมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ในขณะที่หลักสิทธิมนุษยชนยึดถือว่าการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธจำเป็นต้องได้รับการคุ้มครอง” นางอังคณะ ที่ปัจจุบัน มีตำแหน่งเป็นผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติ และคณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจ (UN Human Rights Expert- WGEID) กล่าว

นางอังคณา ยังแสดงความคิดเห็นอีกว่า ประเด็นที่ควรถูกพิจารณาคือ เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังปราบปรามผู้ชุมนุมอย่างเหมารวม เพราะอ้างว่ามีผู้ชุมนุมใช้กำลังทำลายเครื่องกีดขวางของเจ้าหน้าที่ ทั้งที่ความจริงมีประชาชนที่ชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธได้รับผลกระทบจำนวนมาก

“แทนที่จะเหมารวมว่า ผู้ชุมนุมทุกคนชุมนุมโดยไม่สงบ และใช้การปราบปรามด้วยความรุนแรงโดยการฉีดน้ำแรงดันสูงผสมสารเคมีทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้างต่อบุคคล กลุ่มเปราะบาง รวมถึงผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุม สิ่งเหล่านี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สมควรนำไปปรับปรุงในเรื่องการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกของบุคคลโดยการชุมนุมอย่างสงบ” นางอังคณา เปิดเผยหลังฟังคำพิพากษา

คดีนี้เป็นผลพวงมาจากเดือนกรกฎาคม 2563 เมื่อมีประชาชนกลุ่มใหญ่ในนาม “ราษฎร” แสดงความไม่พอใจการบริหารประเทศของรัฐบาล และจัดการชุมนุมโดยมีข้อเรียกร้องให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีขณะนั้นลาออกจากตำแหน่ง แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

หลังจากนั้นมีการชุมนุมเกิดขึ้นหลายครั้ง และมีการนัดชุมนุมที่บริเวณแยกเกียกกายใกล้อาคารรัฐสภาในวันที่ 17 พ.ย. 2563 ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามตั้งเครื่องกีดขวาง เพื่อไม่ให้ผู้ชุมนุมสามารถเดินเท้าไปยังอาคารรัฐสภาได้ และต่อมาใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูงผสมสารเคมีฉีดใส่ผู้ชุมนุม และสื่อมวลชนที่ติดตามการชุมนุม

จากการชุมนุมดังกล่าว ศูนย์แพทย์ฉุกเฉินเอราวัณ รายงานว่า มีผู้ได้รับบาดเจ็บรวม 41 ราย

ต่อมาวันที่ 12 พ.ย. 2564 นางอังคณา และผู้เสียหายรวม 9 รายได้ร่วมเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก เรียกร้องค่าเสียหายต่อร่างกาย สิทธิเสรีภาพ และค่ารักษาพยาบาล ต่อ สตช. และ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)

กระทั่งศาลแพ่งมีคำพิพากษาในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาให้ สตช. ชดใช้ให้โจทก์ 5 ราย เป็นเงิน 307,743 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง แต่ไม่สั่งให้จ่ายแก่โจทก์ 4 ราย ที่ศาลเห็นว่าเป็นผู้จัดการชุมนุม รวมถึงไม่ปรากฎหลักฐานว่าอยู่ในที่ชุมนุม หรือได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุม

นางอังคณา เดินทางไปฟังคำพิพากษา พร้อมด้วย ทนายความจากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (Enlaw) และเจ้าหน้าที่จาก Protection International (PI) โดยมีเฟซบุ๊กเพจ The Story of แม่หญิงไฟ้ท์ บันทึกการฟังคำพิพากษา

“ผู้ชุมนุมบางส่วนพยายามฝ่าแนวกั้นรุกล้ำเข้าไปในพื้นที่รัศมี 50 เมตร ซึ่งเป็นเขตหวงห้าม ประกอบกับไม่ปรากฎว่ามีผู้แจ้งการชุมนุม การชุมนุมดังกล่าวจึงเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ยังคงชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ การที่เจ้าหน้าที่ฉีดน้ำผสมสารเคมีและแก๊สน้ำตา ที่ไม่สามารถควบคุมทิศทางได้ การกระทำของเจ้าหน้าที่จึงไม่ได้ปฏิบัติตามแผนการดูแลการชุมนุมสาธารณะฯ ไม่ได้สัดส่วนต่อความรุนแรง” บางส่วนของคำพิพากษา ระบุ 

“เป็นกระทำข้ามขั้นตอนที่กำหนด เจ้าหน้าที่ไม่ได้ใช้ความอดทนอดกลั้นต่อผู้ชุมนุม ทำให้ผู้ชุมนุมและประชาชนที่ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมแต่อยู่บริเวณดังกล่าวรับความเสียหายด้วยการกระทำของเจ้าหน้าที่เป็นการใช้กำลังเกินความจำเป็น อันเป็นการละเมิดต่อเสรีภาพในการชุมนุมและสิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย” ตอนหนึ่งของคำพิพากษา

ในมุมมองของนักวิชาการ ดร. เอียชา การ์ตี นักวิจัยนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เห็นว่า คำพิพากษาของศาลในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการรักษาสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในการชุมนุมในประเทศไทย 

“หวังว่านี่จะเป็นบรรทัดฐานใหม่ในการรับมือกับม็อบในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นม็อบฝั่งไหน สำคัญคือเจ้าหน้าที่รัฐต้องระมัดระวัง คิดให้มากก่อนใช้กำลัง และต้องปฏิบัติตามหลักสากลในการสลายการชุมนุม”

กระแสการชุมนุมในปี 2563 ทำให้เกิดการชุมนุมขึ้นหลายร้อยครั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดต่อเนื่องยาวนานร่วม 3 ปี การสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 100 ราย

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า จนถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2566 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,935 คน ในจำนวน 1,262 คดี เป็นคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ หรือ ม.112 อย่างน้อย 285 คดี มีผู้ต้องหา 262 คน มีผู้ที่ถูกคุมขังระหว่างการต่อสู้คดี ม.112 อย่างน้อย 7 คน เพราะไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net