Skip to main content
sharethis

รายงานพิเศษจากสื่อ 'เบนาร์นิวส์' ชี้รายงาน 'ฟรีดอมเฮาส์' ระบุตัวเลขผู้ถูกดำเนินคดีและผู้ต้องขังคดีการเมืองในไทยกำลังเพิ่มขึ้น ซึ่งสถานการณ์ที่เป็นอยู่นอกจากจะทำลายกระบวนการประชาธิปไตยแล้ว ยังทำลายชีวิตของนักกิจกรรมอีกด้วย

ช่วงเดือน ม.ค. 2567 เบนาร์นิวส์ รายงานว่าฟรีดอมเฮาส์ องค์กรอิสระในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ติดตามการทำงานด้านเสรีภาพและประชาธิปไตยทั่วโลก ระบุว่าตัวเลขผู้ถูกดำเนินคดีและผู้ต้องขังคดีการเมืองในไทยกำลังเพิ่มขึ้น ซึ่งสถานการณ์ที่เป็นอยู่นอกจากจะทำลายกระบวนการประชาธิปไตยแล้ว ยังทำลายชีวิตของนักกิจกรรมอีกด้วย 

รายงานฉบับล่าสุดเปิดเผยเรื่องการเพิ่มขึ้นของนักโทษการเมืองในหลายภูมิภาคว่า การคุมขังคดีการเมืองเป็นเครื่องมือสำคัญในการกำจัดผู้ที่เห็นต่าง และมักมาพร้อมกับการเสื่อมถอยของประชาธิปไตยในประเทศนั้น ๆ 

“ในประเทศไทย การลงโทษจำคุก การคุมขัง และการฟ้องร้องต่อผู้ต่อต้านรัฐบาลเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในช่วงเวลาที่เกิดความตึงเครียดทางการเมืองใน 6 ประเทศที่ประสบกับภาวะถดถอยของประชาธิปไตยในระยะล่าสุด นักกิจกรรมและนักศึกษาในไทยจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมปี 2563-2564 หรือแม้กระทั่งคนที่เคยถูกคุมขังแล้วได้รับการประกันตัว ก็ยังคงถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเฝ้าติดตามชีวิตอย่างไม่หยุดยั้ง” ส่วนหนึ่งของรายงานฉบับล่าสุด “Visible and Invisible Bars: Political imprisonment, civil death, and the consequences of democratic erosion" ระบุ

รายงานดังกล่าว สำรวจการคุมขังนักโทษทางการเมือง ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ผู้นำเผด็จการใช้ลงโทษ และปิดปากผู้ที่เห็นต่างจากรัฐบาล โดยศึกษา 6 ประเทศ ที่มีกรณีน่าสังเกตของการคุมขังทางการเมืองในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และเป็นประเทศที่มีการเลือกตั้งได้แก่ นิการากัว แทนซาเนีย ตูนิเซีย ตุรกี เวเนซุเอลา รวมถึงประเทศไทย ในส่วนของประเทศไทยนั้น รายงานได้ศึกษาสถานการณ์ตั้งแต่ช่วงหลังรัฐประหารปี 2557 และช่วงการชุมนุมประท้วงเพื่อประชาธิปไตยในช่วงปี 2563-2564

ฟรีดอมเฮาส์ ระบุว่า “คนที่ถูกดำเนินคดีนั้นอาจถูกคุมขังเป็นเวลานานโดยไม่ถูกตัดสินประหารชีวิต ซึ่งทำให้พวกเขาไม่สามารถเข้าร่วมกิจกรรมการเมือง นอกเหนือจากความเสียหายทางร่างกาย การถูกคุมขังยังมีความเจ็บปวดทางจิตใจ และภาระการเงินที่หนักหน่วง ซึ่งกระทบถึงครอบครัวของพวกเขาด้วย”

"ในขณะที่นักโทษคดีการเมืองที่ถูกสั่งจำคุก ต้องเผชิญกรงขังอยู่ภายใน แต่ภายนอกคนที่ได้รับการประกันตัว ถูกควบคุมการเดินทาง ถูกใส่อุปกรณ์ติดตามในร่างกาย ถูกขึ้นบัญชีดำ และถูกยึดทรัพย์ ส่งผลให้ผู้คนเหล่านั้นตกอยู่ในสภาพเหมือนตายทั้งเป็น" รายงาน ระบุ

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า ตั้งแต่การชุมนุมปี 2563 ถึงสิ้นปี 2566 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างน้อย 1,938 คน จาก 1,264 คดี ในนั้นเป็นคดีอาญามาตรา 112 อย่างน้อย 262 คน จาก 287 คดี  

ปัจจุบัน มีผู้ที่ถูกคุมขังจากคดีการเมืองอย่างน้อย 37 คน ในนั้นเป็นคดีมาตรา 112 ถึง 15 คน และในทั้งหมดมีถึง 25 คนที่ถูกคุมขัง แม้คดียังไม่เป็นที่สิ้นสุด 

ฟรีดอมเฮาส์ ยกกรณีของ นายอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมทางการเมือง เป็นหนึ่งในกรณีสำคัญของการดำเนินคดีที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวประชาธิปไตย และการใช้เสรีภาพการแสดงออก

“นายอานนท์ ถูกตัดสินจำคุก 4 ปี ในเดือนกันยายน 2566 ฐานละเมิดกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ หลังจากการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ระหว่างการประท้วงครั้งใหญ่ในปี 2563 ทำให้ตลอด 3 ปีที่ผ่านมาเขาถูกตั้งข้อหาอย่างน้อย 26 คดี โดย 14 คดีในจำนวนนี้เป็นคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ ซึ่งแม้ว่าเขาจะถูกจำคุก แต่ยังปรากฏตัวต่อศาลในชุดนักโทษ และสวมกุญแจมือ เพื่อทำหน้าที่ทนายความในอีกอย่างน้อย 20 คดี” รายงานระบุ 

รศ.ดร. ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ หัวหน้าสำนักวิชานิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า ฝ่ายความมั่นคงควรยกเลิก หรือทบทวนกระบวนการติดตามนักกิจกรรมที่เคยถูกดำเนินคดีทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ถูกยกฟ้อง 

“การทำกิจกรรมทางการเมืองเป็นเรื่องการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ เขาไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย ไม่ใช่ผู้กระทำความผิดที่มีคำพิพากษาเด็ดขาดแล้ว รัฐบาลควรต้องลบชื่อเขาออกจากลิสต์ และไม่นำเข้าสู่มาตรการสอดส่อง หรือคุกคาม รัฐบาลอาจต้องมอบนโยบายว่า การแสดงออกลักษณะไหน ประเภทไหน ไม่ควรรับแจ้งความ หรือพิจารณาไม่ทำสำนวนส่งฟ้องต่ออัยการ” รศ.ดร. ทศพล ระบุ

นอกจากดำเนินคดีแล้ว ยังตามคุกคาม

ศ. เควิน ฮิววิสัน นักรัฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญการเมืองในประเทศไทย กล่าวในรายงานว่า ปัจจุบัน กลายเป็นเรื่องปกติที่บ่อยครั้ง นักกิจกรรมในประเทศไทยจะพบตำรวจยืนอยู่หน้าบ้าน

“ตำรวจจะปรากฏตัวเป็นครั้งคราวเพื่อตรวจสอบพวกเขา เพื่อพูดคุยกับเพื่อนบ้าน เพื่อให้เกิดแรงกดดันทางสังคม และเพื่อให้ยุติกิจกรรมต่าง ๆ ทางการเมือง” ศ. เควิน กล่าวในรายงาน

เช่นเดียวกับที่ นายอัครชัย ชัยมณีการเกษ หัวหน้าฝ่ายต่างประเทศและนโยบาย ศูนย์ทนายฯ ให้สัมภาษณ์ในรายงานว่า การติดตามเกิดขึ้นเป็นปกติ ไม่เว้นแม้กระทั่งนักกิจกรรมเยาวชน

“นักกิจกรรมหลายคนให้ข้อมูลเหมือนกันคือ มีผู้ชายใส่เสื้อคอกลมสีขาว ไว้ผมเกรียนมาตาม ซึ่งเดาไม่ยากว่า คนเหล่านั้นคือตำรวจนอกเครื่องแบบ ขณะเดียวกัน คนที่ได้ประกันตัวแล้ว ก็มักต้องใส่กำไล EM (Electronic Monitoring)” นายอัครชัย กล่าว

นายอัครชัย กล่าวด้วยว่า แม้ได้รับการปล่อยตัว แต่เงื่อนไขการประกัน เช่น การกำหนดเวลาเข้าออกที่พัก การห้ามเดินทางออกนอกประเทศ การห้ามทำกิจกรรมทางการเมือง ทำให้นักกิจกรรมจำนวนมากรู้สึกเหน็ดเหนื่อย และเป็นภาระอันหนักหน่วง ซึ่งส่งผลให้ในเวลาต่อมา นักกิจกรรมจำนวนหนึ่งมีส่วนร่วมกับการเมืองน้อยลง 

ศูนย์ทนายฯ รวบรวมข้อมูลพบว่า เฉพาะปี 2566 มีนักกิจกรรมหรือประชาชนทั่วไปถูกคุกคามจากกรณีการเมือง อย่างน้อย 167 คนจาก 203 กรณี แบ่งเป็นการติดตามไปยังที่พักหรือที่ทำงาน 75 กรณี ห้ามปรามหรือรบกวนการทำกิจกรรม 38 กรณี ติดตามสอดแนม 36 กรณี โทรศัพท์ติดตามความเคลื่อนไหว 21 กรณี และที่เหลือเป็นกรณีอื่น

เบนาร์นิวส์ ได้ติดต่อฟรีดอมเฮาส์เพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นในรายงานฉบับนี้ แต่ฟรีดอมเฮาส์ ระบุว่า ผู้เชี่ยวชาญยังไม่สะดวกที่จะให้ข้อมูลเพิ่มเติมในขณะนี้  

สังคมเรียกร้อง 'นิรโทษกรรมคดีการเมือง'

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน ได้เข้ายื่นหนังสือให้สหประชาชาติ (UN) สนับสนุนให้รัฐบาลไทยเร่งออก พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ให้แก่ประชาชนและนักกิจกรรมกว่า 1 พันคนที่ถูกดำเนินคดีจากแรงจูงใจทางการเมือง

“หากไม่มีการแก้ไขปัญหาสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบของประชาชนจากทุกฝักฝ่ายทางการเมืองในทุกมิติอย่างจริงจัง จะส่งผลเป็นอุปสรรคที่ขัดขวางการสร้างความปรองดองทางการเมือง” น.ส. ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง นักกิจกรรมทางการเมือง กล่าว

สำหรับประเด็นนี้ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยว่า รัฐบาลพร้อมที่จะนิรโทษกรรมให้กับนักกิจกรรมทางการเมือง แต่ต้องได้ฉันทามติจากสังคมก่อนจึงจะดำเนินการต่อ

“ขณะนี้เกือบจะเป็นฉันทามติของหลาย ๆ ส่วนงานแล้วว่า อยากให้มีการนิรโทษกรรม และการแก้ปัญหาที่ยังติดค้างกันอยู่ก็มีเรื่อง ม. 112 ซึ่งพรรคการเมืองหลายพรรคก็ยังไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของพรรคก้าวไกล (ที่ให้นิรโทษกรรมคดีหมิ่นฯ มาตรา 112 ด้วย) และในสังคมยังไม่มีข้อยุติ ถ้าทุกอย่างเป็นข้อสรุปที่มีข้อยุติชัดเจนว่า ทุกคนเห็นด้วยก็สนับสนุนอยู่แล้ว เราไม่อยากเห็นการสร้างความขัดแย้งขึ้นใหม่ แทนความขัดแย้งเดิม ซึ่งมันไม่เป็นประโยชน์” นายภูมิธรรม กล่าว

ขณะที่ นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการบริหาร โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า มาตรา 112 ไม่ควรเป็นอุปสรรคของการนิรโทษกรรม

“การนิรโทษกรรมไม่ยากอะไรในทางกฎหมาย ก็แค่ออก พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ในอดีตประเทศเรานิรโทษกันมา 22 ครั้งแล้ว เคยนิรโทษกรรมคนที่ก่อกบฎ นิรโทษอะไรที่ร้ายแรงกว่า ม. 112 มาเยอะแล้ว แต่พอยุคนี้กลับมีกลุ่มคนที่ทำให้มันเป็นเรื่องยาก ทำให้ ม. 112 เป็นเงื่อนไขที่จะไม่นิรโทษกรรม” นายยิ่งชีพ กล่าว

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2566 นายชัยธวัช ตุลาธน สส. บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้เป็นตัวแทน สส. เสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่บุคคล ซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากการเหตุการณ์ขัดแย้งทางการเมือง พ.ศ. .... ต่อนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร

“เพื่อให้สังคมกลับมาเริ่มต้นกันใหม่ เราจำเป็นต้องยุตินิติสงครามต่อประชาชน ให้ประชาชนที่เคยแสดงออกทางการเมืองโดยมีมูลเหตุความขัดแย้งทางการเมือง เพื่อเป็นก้าวแรกในการสร้างความยุติธรรมและปรองดองอย่างยั่งยืนในสังคมต่อไป กฎหมายฉบับนี้จะเป็นหมุดหมายในการคืนชีวิตใหม่ให้แก่ประชาชน แต่ไม่ควรสนับสนุนวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดของการใช้อำนาจรัฐต่อประชาชน” นายชัยธวัช กล่าว

ในประเด็นเดียวกัน รศ.ดร. ทศพล ชี้ว่าการนิรโทษกรรมอาจไม่ใช่คำตอบสุดท้าย แต่นับเป็นจุดเริ่มต้น

“ถ้าไม่นิรโทษกรรม การสลายความขัดแย้งจะเดินต่อไม่ได้ เพราะจะไม่เกิดขั้นตอนการเปลี่ยนความขัดแย้งให้กลายเป็นการรับผิดชอบและเยียวยา ขั้นตอนที่สำคัญที่สุดคือ การทำให้เกิดความชัดเจนว่าใครทำอะไร เพราะการนิรโทษกรรมจะทำให้คนกล้าพูด กล้าเสนอข้อเรียกร้อง กล้าเปิดเผยความต้องการที่แท้จริงที่ซ่อนอยู่ภายใน” รศ.ดร. ทศพล กล่าว

“ถ้าไม่มีการนิรโทษกรรมจะมีคนที่หลุดจากกระบวนการพูดคุยเพื่อสลายความขัดแย้ง โดยเฉพาะคนที่ถูกดำเนินคดีและต้องหนี หรือคนที่ลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศ คนเหล่านี้เลือกที่จะหนี เพราะเชื่อว่าถ้ายังอยู่จะโดนกระทำ หรือถูกดำเนินคดี การนิรโทษกรรมคือ การดึงเขากลับมาสู่การสลายความขัดแย้ง เพราะเป็นการทำให้เขาแน่ใจว่า กลับมาแล้วเขาจะไม่โดนคดี หรือถูกกระทำ” รศ.ดร. ทศพล กล่าวเพิ่มเติม 

สำหรับ ร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ที่เสนอโดยก้าวไกล จะครอบคลุมถึงการกระทำของการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในปี 2549 กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ปี 2552-2553 กลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ปี 2556-2557 กลุ่มต่อต้านการรัฐประหาร ปี 2557-2562 และกลุ่มคณะราษฎร ปี 2563-2564

 

รายงานชิ้นนี้เขียนโดยคุณวุฒิ บุญฤกษ์ และมีอวยพร สถิตย์ปัญญาพันธุ์ ในกรุงวอชิงตัน, นนทรัฐ ไผ่เจริญ และจรณ์ ปรีชาวงศ์ ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์เบนาร์นิวส์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net