Skip to main content
sharethis

รายงานพิเศษจากสื่อ 'เบนาร์นิวส์' ว่าด้วยการต่อสู้ที่เงียบงันของ 'ผู้ลี้ภัยชาวกัมพูชา' ในกรุงเทพฯ ชี้แม้ไทยจะมีรัฐบาลใหม่ แต่ความเปลี่ยนแปลงประเด็นผู้ลี้ภัยกลับมีน้อยมาก


พรัก โซเฟีย นักกิจกรรมชาวกัมพูชา ผู้ซึ่งลี้ภัยมายังประเทศไทยตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 ให้สัมภาษณ์ที่ห้องพักของเธอในกรุงเทพฯ เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา | ที่มาภาพ: เรดิโอฟรีเอเชีย

เบนาร์นิวส์ รายงานเมื่อช่วงเดือนเมษายน 2567 ว่าเวลาส่วนใหญ่ในค่ายผู้ลี้ภัยมักหมดไปกับความรู้สึกวิตกกังวล

ในห้องเช่าที่มีหน้าต่างเพียงหนึ่งบาน มองออกไปเห็นท้องถนนที่ร้อนกรุ่นจากแสงแดด พรัก โซเฟีย วัย 43 ปี กำลังกังวลว่า เธอจะมีเงินพอจ่ายค่าเช่าเดือนหน้าหรือไม่ อีกหนึ่งห้องเช่าชั้นบน ซเรมอม วัย 72 ปี กังวลว่าเธออาจจะไม่ได้กลับไปแผ่นดินเกิดอีกครั้ง ขณะที่โถงชั้นล่าง ซก เสือม วัย 44 ปี กำลังกังวลว่าเขาจะรวบรวมเงินบริจาคได้มากพอที่จะช่วยเหลือจุนเจือเพื่อนบ้านผู้หิวโหยของเขาได้หรือไม่

แม้จะเรียกกันเล่น ๆ ว่าค่ายผู้ลี้ภัย แต่จริง ๆ แล้วสถานที่แห่งนี้ไม่ใช่ค่ายผู้ลี้ภัยตามชื่อ เป็นเพียงตึกอะพาร์ตเมนต์ทั่วไปที่ตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีผู้แสวงหาที่ลี้ภัยชาวกัมพูชาเดินทางมาพักพิงต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี โดยรับรู้กันแบบปากต่อปาก สภาพห้องเช่าในอะพาร์ตเมนต์แห่งนี้เก่าทรุดโทรม และค่าเช่ามีราคาแพง แต่เมื่อคุณต้องลี้ภัยจากรัฐบาลบ้านเกิดและไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ นี่คือสิ่งที่คุณจะได้รับ

“ฉันไม่ออกไปไหน แค่อยู่แต่ในห้องจะได้ไม่มีปัญหา” ซเรมอมกล่าว โดยขอให้ผู้สื่อข่าวปกปิดชื่อจริงเนื่องด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย ซเรมอมเดินทางมาถึงไทยเมื่อปีที่แล้ว หลังจากที่ตำรวจกัมพูชาคุกคามเธอเพื่อสืบหาว่าลูกชายของเธอซึ่งเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองซ่อนตัวอยู่ที่ไหน โดยลูกชายของเธอลี้ภัยมายังกรุงเทพฯ เมื่อหลายปีก่อน “ฉันร้องไห้ตลอดทั้งคืน เพราะคิดถึงบ้านมาก”

ทุกวันนี้ เธออาศัยอยู่กับลูกชายในห้องเช่าขนาดไม่เกิน 200 ตารางฟุต พร้อมกับลูกสะใภ้ หลานชาย และหลานสะใภ้ ถึงแม้ว่าคนในครอบครัวจะพยายามเก็บกวาดห้องให้เรียบร้อย ทั้งม้วนที่นอนเก็บข้างผนัง จัดกระเป๋าเดินทางวางเรียงเป็นชั้น ๆ แต่ก็ยังอยู่กันอย่างลำบากเพราะมีหลายคนอาศัยในห้องเล็ก ๆ แห่งนี้ ประตูทางเข้าห้องอยู่ติดกับห้องน้ำตรงมุมห้อง ฝั่งตรงข้ามมีพื้นที่เล็ก ๆ ไว้ใช้ทำครัว ไม่มีอ่างล้างจาน เคาน์เตอร์ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ มีเพียงหม้อหุงข้าว เตาแก๊สปิกนิก และกล่องพลาสติกสำหรับใส่อาหารวางเรียงอยู่ข้างผนัง เมื่อถึงเวลาหุงหาอาหาร คนในบ้านจึงจะหยิบเครื่องครัวเหล่านั้นมาใช้

ห้องเช่าของซเรมอมแทบจะไม่ต่างอะไรกับห้องเช่าของโซเฟีย ที่เธออยู่กับลูก 4 คน แค่เปลี่ยนจากผ้าห่มสีฟ้าเป็นสีชมพู และมีหม้อหุงข้าวเพิ่มมาอีก 1 หม้อ และสภาพห้องของทั้งสองก็ไม่ต่างอะไรนักกับห้องของ เสือม ซึ่งเขาอาศัยอยู่กับลูกชายและภรรยา

“ทุกวันนี้ก็อยู่กันอย่างยากลำบาก” ซเรมอมกล่าว “เรามีอาหารไม่เพียงพอ แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรเพราะกลับบ้านไม่ได้”

ชาวกัมพูชาจำนวนไม่กี่คนที่อาศัยอยู่ในอะพาร์ตเมนต์แห่งนี้ เป็นภาพแทนของผู้ลี้ภัยในเขตเมืองจำนวนไม่มากที่อาศัยอยู่ในไทย จากจำนวนผู้ลี้ภัยกว่า 5,000 คน ที่ลงทะเบียนกับองค์การสหประชาชาติ เรื่องราวการใช้ชีวิตแบบเงียบ ๆ และเต็มไปด้วยความหวาดกลัวของผู้ลี้ภัยชาวกัมพูชาเหล่านี้ ถือเป็นประสบการณ์ร่วมที่หลาย ๆ คนที่ต้องลี้ภัยจากถิ่นฐานบ้านเกิดต้องเผชิญ

ประเทศไทยไม่เคยให้สัตยาบันในอนุสัญญาปี ค.ศ.1951 ว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย หมายความว่ารัฐบาลไทยไม่รับรองสถานะให้แก่ผู้แสวงหาที่ลี้ภัย แม้ว่าผู้ลี้ภัยอย่าง โซเฟีย, เสือม และ ซเรมอม จะสามารถลงทะเบียนเป็นผู้ลี้ภัยกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ได้ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้พวกเขาเดินทางต่อไปยังประเทศที่สาม แต่นั่นไม่ได้ทำให้พวกเขาได้รับการปกป้องตามกฎหมายจากรัฐบาลไทย

ผู้ลี้ภัยชาวกัมพูชาเหล่านี้อาจถูกจับกุมได้โดยง่ายในข้อหาอาศัยอยู่เกินระยะเวลาที่วีซ่ากำหนด และอาจถูกส่งตัวกลับประเทศ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิระบุว่าความหวาดกลัวนั้นเกิดขึ้นมากโดยเฉพาะกับผู้ลี้ภัยทางการเมือง หลายคนเผชิญกับการคุกคามจากรัฐบาลประเทศต้นทางซึ่งมีสายสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาลประเทศปลายทางซึ่งมีท่าทีไม่ต้อนรับผู้ลี้ภัยอย่างพวกเขามากนัก

หลังการเลือกตั้งของไทยเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว ไทยมีรัฐบาลที่มาจากฝั่งพลเรือนเป็นครั้งแรกในรอบเกือบทศวรรษ ผู้ร่วมรณรงค์หวังว่ารัฐบาลชุดใหม่ของไทยที่มาจากการเลือกตั้งจะให้การคุ้มครองแก่ผู้แสวงหาที่ลี้ภัย รวมถึงกลุ่มผู้เปราะบาง ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในสังคมได้ดีกว่ารัฐบาลชุดเดิม ขณะที่ในประเทศกัมพูชา ซึ่งเพิ่งเปลี่ยนผู้นำประเทศเมื่อปีที่แล้วและเป็นการเปลี่ยนตัวผู้นำในรอบ 4 ทศวรรษ ผู้คนบางกลุ่มตั้งคำถามว่าจะมีการปฏิรูปเกิดขึ้นในกัมพูชาบ้างหรือไม่

ในทางกลับกัน ตามข้อมูลจากกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิ รัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของ ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชาคนปัจจุบันที่ขึ้นดำรงตำแหน่งแทนที่ ฮุน เซน ผู้เป็นพ่อ ไม่ได้มีท่าทีลดการปราบปรามลง ข้ามกลับมายังฝั่งไทย พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นแกนนำรัฐบาล ก็มีท่าทีให้ความสนใจเกี่ยวกับการปฏิรูปนโยบายผู้ลี้ภัยไม่มากนัก

ผลที่ตามมาคือผู้ลี้ภัยทางการเมืองอย่าง โซเฟีย และ เสือม ยังคงตกอยู่ในสภาพเสี่ยงอย่างที่เคยเป็นมา หลักฐานประจักษ์เกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อผู้ลี้ภัยชาวกัมพูชา 3 คน ถูกจับกุมพร้อมครอบครัว โดยทั้งสามเป็นผู้วางแผนประท้วงต่อต้าน ฮุน มาเนต ในกรุงเทพฯ แม้ทนายความจะสามารถช่วยเหลือไม่ให้พวกเขาถูกส่งตัวกลับประเทศได้สำเร็จ แต่การจับกุมในครั้งนี้เน้นย้ำให้เห็นถึงธรรมชาติของชีวิตผู้ลี้ภัยที่ตกอยู่ในอันตราย ขณะที่พวกเขากำลังอาศัยอยู่ในประเทศไทย

นายกรัฐมนตรีกัมพูชาและนายกรัฐมนตรีไทย นายเศรษฐา ทวีสิน มีท่าทีเห็นพ้องต้องกันในประเด็น “กำจัดเสียงแห่งความขัดแย้งบนแผ่นดินไทย” เอมิลี ปาลามี ประดิจิต (Emilie Palamy Pradichit) ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการมูลนิธิมานุษยะ (Manushya Foundation) องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนที่มีสำนักงานอยู่ในกรุงเทพฯ ระบุ “แทนที่จะปกป้องสิทธิมนุษยชน เจ้าหน้าที่รัฐไทยกลับเข้าร่วมการปราบปรามข้ามชาติอย่างแข็งขัน ให้ความร่วมมือกับผู้ปกครองอำนาจนิยมในประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ในการขจัดเสียงแห่งความขัดแย้งให้เงียบหายไป”

เสียงสะท้อนจากผู้ลี้ภัย

ถ้าเขาไม่ป่วยหรือยุ่ง เสือม จะใช้เวลาในตอนเช้าเป็นผู้ช่วยพระเวลาพระออกรับบิณฑบาต ทั้งยังหาอาหารไปให้แก่ครอบครัวและเพื่อนบ้าน

เสือม ตื่นนอนตั้งแต่ฟ้ายังไม่สาง ท้องฟ้ายังคงมืดมิดในเวลาที่เขาออกจากบ้านเพื่อไปขึ้นรถเมล์ที่แออัดเบียดเสียดและเต็มไปด้วยคนรายได้น้อยที่คอยขับเคลื่อนสร้างเมืองหลวงแห่งนี้ให้ร่ำรวยขึ้น เวลาประมาณ 6:00 น. เสือมลงจากรถเมล์และเดินต่อไปยังวัดเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เขาคว้ารถเข็นคันใหญ่ที่อยู่ตรงลานวัด เข็นข้ามสะพานลงมาและลอดใต้สะพานโดยไม่สนใจเสียงสุนัขที่เห่าเรียก

เวลาประมาณ 6:30 น. เสือม เข็นรถเข็นคันดังกล่าวมาตั้งที่ตลาด พร้อมยืนอยู่ข้างพระที่ออกรับบิณฑบาต ซึ่งของที่รับบาตรมานั้นล้วนเป็นอาหาร ในขณะที่ท้องฟ้าเริ่มสว่างขึ้นเรื่อย ๆ เสือมเดินตามพระไปบนถนนที่เริ่มร้อนระอุตามความแรงของแสงอาทิตย์ที่สาดส่อง เขาคอยรับข้าวของจากบาตรพระมาใส่ถัง ลำเลียงข้าวของเหล่านั้นลงถุงใบใหญ่ที่อยู่บนรถเข็นจนหนักอึ้ง งานนี้เป็นงานที่หนักสำหรับทุกคน และหนักสำหรับชายคนนี้ในวัย 40 กว่าที่นุ่งกางเกงสแล็คเหมือนกับพนักงานออฟฟิศด้วยเช่นกัน

“ชีวิตผมลำบากเพราะไม่มีรายได้ ไม่มีอาหารเพียงพอ ผมจึงต้องออกมาเดินช่วยพระรับบิณฑบาตจากชาวบ้าน” เสือม กล่าว เสือมเดินทางมาไทยเมื่อสิงหาคมปีที่แล้ว เขาเป็นเกษตรกรและนักเคลื่อนไหวฝ่ายต่อต้านรัฐบาล เขาเดินทางหลบหนีออกจากกัมพูชาหลังถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดฐานหมิ่นประมาทรัฐบาล จากการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก เพื่อวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลท้องถิ่นต่อกรณีการจัดการปัญหาน้ำท่วม แต่การหลบหนีโทษจำคุกจากประเทศบ้านเกิดมาใช้ชีวิตใหม่นั้น ก็ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายกว่าเหมือนกัน

เสือม เล่าให้ผู้สื่อข่าวฟัง ขณะช่วยพระรับบิณฑบาต และขนของที่คนนำมาใส่บาตรลงรถเข็นซึ่งเต็มไปด้วยถุงข้าว น้ำดื่มบรรจุแก้วพลาสติก ถุงส้มตำ ขนมขบเคี้ยว ขนมเค้ก น้ำดื่มบรรจุขวด แกงเขียวหวาน ขนุน และคุกกี้ เมื่อภารกิจในช่วงเช้าสิ้นสุดลง หากวันใดโชคดี อาหารที่ได้จากการรับบิณฑบาตในตอนเช้าอาจมีเพียงพอสำหรับพระสงฆ์ที่วัด และอาจมีเหลือเผื่อแผ่ (แม้เพียงเล็กน้อย) ให้เขานำกลับไปช่วยเหลือผู้คนในค่ายผู้ลี้ภัย

แต่ถึงกระนั้น เสือม บอกกว่าการออกมาในที่สาธารณะ เดินไปตามท้องถนนในช่วงเวลากลางวันนั้นมาพร้อมความเสี่ยง

“ตอนที่ผมเดินไปรับบิณฑบาตกับพระ ผมกลัวว่าตำรวจไทยจะมาจับผมอยู่ตลอดเวลา”

บัตรผู้ลี้ภัยของ UNHCR ที่เสือมถืออยู่นั้น ช่วยให้เขาเข้าถึงบริการทางการแพทย์และการศึกษา ทั้งยังอาจช่วยให้เขาสามารถตั้งรกรากในประเทศอื่นได้ในท้ายที่สุด แต่บัตรดังกล่าวไม่สามารถให้การปกป้องคุ้มครองเขาได้ในหลายกรณี บัตรผู้ลี้ภัยไม่ใช่ใบอนุญาตทำงาน และมีน้อยคนนักที่อยากจะเสี่ยงฝ่าฝืนกฎหมาย ซึ่งนั่นทำให้ เสือม และเพื่อนบ้านของเขาต้องขอรับบริจาคเพื่อหาเลี้ยงปากท้อง

“คนกลัวที่จะออกไปข้างนอกเพราะพวกเขาอาจกลายเป็นตัวทำเงินให้กับตำรวจ” ณัฐาศิริ เบิร์กแมน ผู้อำนวยการสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ซึ่งทำหน้าที่เป็นทนายความให้แก่ผู้แสวงหาที่ลี้ภัยจำนวนมาก อธิบาย “พวกเขาได้รับค่าจ้างที่ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ ถูกบังคับขู่เข็ญให้ใช้ชีวิตอยู่กับการรับบริจาค ถือเป็นเรื่องเสื่อมเสียศักดิ์ศรีอย่างมาก”

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้ติดต่อไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเพื่อสอบถามเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว แต่ไม่ได้รับการตอบรับ


ซก เสือม เดินตามพระขณะออกบิณฑบาตในกรุงเทพฯ | ที่มาภาพ: เรดิโอฟรีเอเชีย

ฆ่าเวลา

ขณะที่ เสือม เสร็จสิ้นภารกิจของเขาในเช้าวันหนึ่งของเดือนธันวาคม โซเฟีย เพื่อนบ้านของเขา นั่งลงกับพื้นในห้องเช่าเล็ก ๆ เธอค้นหาของบางอย่างในกล่องใบหนึ่งและหยิบแฟ้มเล่มหนึ่งออกมา ในแฟ้มนั้นประกอบไปด้วยเอกสารศาล และรูปภาพของกองกำลังความมั่นคง ขณะกำลังปะทะกับกลุ่มผู้ประท้วงใกล้กับบ้านของเธอ บุปผา ลูกสาวคนโตสุดของ โซเฟีย มองไปที่รูปภาพเหล่านั้นแล้วพึมพำออกมาว่า “โหดร้ายเหลือเกิน”

โซเฟีย เป็นนักเคลื่อนไหวอย่างเปิดเผย เธอประท้วงต่อต้านโครงการพัฒนาที่ดินบริเวณริมทะเลสาบในหมู่บ้านของเธอมาเป็นเวลาหลายปี โดยโครงการดังกล่าวจะตัดแบ่งที่ดินและถ่ายโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับฮุน เซน อดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา

เมื่อปี 2565 และ 2566 ผู้ร่วมประท้วงกับโซเฟีย อย่างน้อยจำนวน 10 คน ถูกตั้งข้อหาฐานก่ออาชญากรรม เช่น ก่อความรุนแรงและสร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินโดยเจตนา เป็นต้น เมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว โซเฟีย และพวกอีก 2 คน ถูกตั้งข้อหาทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ แต่ทั้งหมดปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว โซเฟีย เชื่อว่าเธอจะถูกจับกุมในไม่ช้า จึงได้ตัดสินใจเดินทางหลบหนีออกนอกประเทศเมื่อเดือนสิงหาคม 2566

“บางคนอาศัยอยู่ที่บึงตาโมก มานาน 10-20 ปี พวกเขายังไม่ให้กรรมสิทธิ์ที่ดินกับเราเลย พวกเขาต้องการขโมยที่ดินของเรา พวกเขาต้องการกำจัดเราทิ้ง” โซเฟีย กล่าว โดยมีลูกสาวทำหน้าที่เป็นล่าม

“ถ้าแม่ไม่สู้เพื่อความยุติธรรม เราก็กลายเป็นคนไร้บ้าน” บุปผา กล่าว โดยเธอขอให้ปกปิดชื่อจริงเพราะเหตุผลด้านความปลอดภัย

โซเฟีย ลูบหลังลูกสาวขณะเล่าถึงความยากลำบากในการเคลื่อนไหว บุปผาและน้องสาวอีก 3 คน เดินทางมาถึงไทยเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว เหตุผลหนึ่งคือเพราะคิดถึงแม่ ส่วนอีกเหตุผลหนึ่งคือบุปผาสังเกตว่ามีเจ้าหน้าที่ตามดูความเคลื่อนไหวของเธอที่โรงเรียน พ่อและย่าของพวกเธอยังคงอาศัยอยู่ที่บ้านริมทะเลสาบ โดยหวังว่าพวกเขาจะสามารถปกป้องบ้านเอาไว้ได้ ในทางกลับกัน การประท้วงยังคงเกิดขึ้นเรื่อย ๆ และการจับกุมยังคงดำเนินต่อไปเช่นกัน แม้ว่าบ้านของพวกเขาจะยังไม่ถูกรื้อถอน แต่เรื่องนี้คือความกังวลที่แทบจะไม่หายไปไหน

“ฉันอยากรู้ว่าพวกเขาจะเอาที่ดินนี้ไปให้คนพวกนั้นได้อย่างไร แม้ว่าเราจะอยู่ตรงนั้นกันมานาน” บุปผาตั้งคำถาม

เมื่อต้องอยู่ไกลบ้าน ห่างจากครอบครัว เพื่อน และโรงเรียน ลูก ๆ ของโซเฟียต้องเผชิญกับข้อจำกัดในการใช้ชีวิต พวกเขาแทบจะไม่ได้ออกไปนอกตึก และแทบจะไม่เคยออกไปผจญภัยในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ในฐานะลูกสาวคนโตที่พูดภาษาอังกฤษได้ดีและสื่อสารภาษาไทยได้เล็กน้อย บุปผาได้ออกไปทำธุระข้างนอกกับแม่ของเธอเป็นครั้งคราว ซึ่งไม่บ่อยนัก หากไม่ได้ออกไปไหน ทั้งครอบครัวของเธอส่วนใหญ่จะอยู่ในอะพาร์ตเมนต์ ดูวิดีโอในยูทูบ คอยดูแลเพื่อนบ้านที่อายุน้อยกว่า ถ่ายวิดีโอไลฟ์ในเฟซบุ๊กสด พูดถึงความยุติธรรม และเฝ้ารอคอย

“ฉันไม่รู้ว่าอีกนานแค่ไหนถึงจะได้ไปลงหลักปักฐานในที่ใหม่” โซเฟีย กล่าว “เมื่อนึกย้อนไปว่าอยู่ที่นี่มา 3 ปี หรือ 6 ปี แล้วก็รู้สึกกดดันมาก เพราะเราทำงานไม่ได้ เราเลยไม่มีเงินมาใช้จ่ายค่าห้องหรือค่าอาหาร”

ขณะที่บุปผามีอายุมากพอที่จะสมัครเรียนในระดับมหาวิทยาลัย แต่น้อง ๆ ของเธอยังต้องรอจนกว่าจะถึงเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงที่เทอมการศึกษาใหม่จะเริ่มต้น

“มันคงดีขึ้นถ้าได้ไปโรงเรียน เพราะอยู่แต่ที่นี่นั้นเครียดมาก” เธอกล่าว ขณะที่น้องสาวหนึ่งคนกำลังนั่งหันหน้าเข้ากำแพงและทาเล็บ ส่วนน้องคนที่เหลือกำลังดูวิดีโออย่างสนุกสนานกับน้องชายอีกคน

“บางครั้งน้องก็ร้องไห้ พวกเขาคิดถึงเพื่อนที่บ้าน พวกเขาอยากกลับบ้าน”

สายสัมพันธ์แห่งมิตร

ประเทศไทยมีผู้แสวงหาที่ลี้ภัยที่ลงทะเบียนแล้วกว่า 100,000 แสนคน ผู้แสวงหาที่ลี้ภัยส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยงจากเมียนมาที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยเก่า ๆ อายุกว่า 10 ปี บริเวณชายแดน ซึ่งมีสภาพคล้ายกับหมู่บ้านปิดขนาดเล็ก ณ ที่แห่งนั้น พวกเขาเผชิญกับความท้าทายที่คล้ายกัน ผู้พักอาศัยในค่ายหลายคนแทบไม่มีโอกาสย้ายถิ่นฐานไปตั้งรกรากในที่แห่งใหม่ และในขณะเดียวกัน พวกเขาก็มีโอกาสเพียงน้อยนิดที่จะได้กลับบ้าน โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่การสู้รบในเมียนมากำลังตึงเครียด

นอกเหนือจากผู้แสวงหาที่ลี้ภัย ยังมีแรงงานข้ามชาติหลายล้านคนที่มีเอกสารและไม่มีเอกสารอย่างถูกต้อง พวกเขาเหล่านี้จำนวนไม่น้อยอาจถูกจัดอยู่ในกลุ่มผู้ลี้ภัยสงคราม (เช่นเดียวกับกรณีที่เกิดขึ้นในเมียนมา) หรือผู้ถูกกลั่นแกล้งทางการเมือง

ถึงแม้ว่ารัฐบาลไทยจะทำลายความหวังเรื่องการให้สัตยาบันในอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย แต่รัฐบาลไทยเพิ่งเริ่มต้นกระบวนการการคัดกรองระดับชาติ (National Screening Mechanism - NSM) เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา NSM เป็นกระบวนการลงทะเบียนที่จัดทำโดยรัฐ ซึ่งมุ่งเน้นการอนุญาตให้ผู้แสวงหาที่ลี้ภัยได้รับการรับรองทางกฎหมาย อย่างไรก็ตาม กลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิระบุว่ากระบวนการดังกล่าวล้มเหลว เพราะไม่สามารถให้การคุ้มครองที่เพียงพอแก่ผู้แสวงหาที่ลี้ภัย อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้ผู้แสวงหาที่ลี้ภัยต้องเผชิญความเสี่ยงกับการถูกส่งตัวกลับไปประเทศต้นทาง นอกจากนี้ กระบวนการดังกล่าวยังถูกวิพากษ์วิจารณ์เนื่องจากไม่นับรวมผู้อพยพที่ไม่มีเอกสารอย่างถูกต้อง ซึ่งเป็นชาวกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม

ผู้ลี้ภัยการเมืองอย่างโซเฟีย และเสือม อาจไม่ได้รับสถานะทางกฎหมายหากเข้าสู่กระบวนการ NSM เอมิลี ปาลามี ประดิจิต ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการมูลนิธิมานุษยะ อธิบายเพิ่มเติม

“ความพยายามร่วมมือระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้านเพื่อปราบปรามความขัดแย้งตลอดแนวชายแดน อาจทำให้ผู้ลี้ภัยการเมืองได้รับการปฏิเสธจากกระบวนการ NSM ด้วยเงื่อนไขด้าน ‘ความมั่นคง’” เอมิลี ระบุ

ความกังวลเช่นนี้ปรากฏชัดในทุกที่ แม้กระทั่งกับ เฮง แกม เลย์ พระชาวกัมพูชาที่อาศัยอยู่ไทยในฐานะผู้ลี้ภัยมาเป็นเวลา 2 ปี ส่วนใหญ่ในแต่ละวัน เขาจะไลฟ์เฟซบุ๊กพูดถึงการกดขี่ข่มเหงทางการเมืองในประเทศบ้านเกิด เขาเชื่อว่าการกระทำนี้ส่งผลให้เขาตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกลักพาตัวอย่างถูกกฎหมายโดยรัฐ โดยเขาอธิบายเพิ่มเติมว่า “พวกเขาจับกุม จากนั้นก็เอาเราขึ้นรถ ขับไปที่ชายแดน แล้วส่งตัวเรากลับไปให้รัฐบาลกัมพูชา”

เจ้าหน้าที่รัฐของกัมพูชาตั้งคำถามถึงรายงานของผู้ลี้ภัยการเมืองบางส่วนที่กำลังแสวงหาที่ลี้ภัย โดยระบุว่าบุคคลที่มีคดีค้างอยู่ในศาล “ไม่สามารถขอสถานะผู้ลี้ภัยหรือแสวงหาที่ลี้ภัยเพื่อหลบหนีกระบวนการยุติธรรม” ชุม สมรี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชากล่าวกับเรดิโอฟรีเอเชีย

“กัมพูชามีสนธิสัญญา/ข้อตกลงการส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับหลายประเทศ ซึ่งรวมถึงไทย” เขากล่าว

เพื่อตอบโต้คำกล่าวอ้างของ แกม เลย์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของกัมพูชากล่าวเน้นย้ำว่า “รัฐบาลกัมพูชาไม่มีการดำเนินนโยบายจับกุมชาวกัมพูชาผู้บริสุทธิ์ที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศแบบลับ ๆ”

เมื่อพระ เฮง แกม เลย์ เดินเข้าใกล้วัด และออกบิณฑบาตรับอาหารเพื่อ “ผู้ลี้ภัยชาวกัมพูชา” เขารู้สึกเสมอว่ากำลังถูกจับตามอง แต่เขาพยายามไม่ให้ความรู้สึกเหล่านั้นทำให้ตนเองกลัว

“เราสู้เพื่อประชาธิปไตยในกัมพูชา เราสู้เพื่อเสรีภาพ” เขากล่าว “ถ้าเรากลัว เราจะไม่มีวันชนะ”


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net