Skip to main content
sharethis

เครือข่ายภาคประชาชนจังหวัดแม่ฮ่องสอน จับมือกับ ส.ส.แม่ฮ่องสอน 3 พรรค ประชาธิปัตย์-พลังประชารัฐ-ก้าวไกล ผลักดันเข้าสภา เสนอให้ ‘แม่ฮ่องสอน’ เป็นเขตพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษจังหวัด -ในขณะที่ประชาชนในแม่ฮ่องสอน ยังคงหวาดหวั่นและคัดค้าน เมื่อรัฐบาลเศรษฐา พยายามดันเมกะโปรเจคในแม่ฮ่องสอนกันอีกครั้ง โดยเฉพาะอุโมงค์ผันน้ำยวม ฯลฯ ซึ่งดูเป็นประเด็นปัญหาย้อนแย้งกันกับสิ่งที่ชาวบ้านพยายามเสนอให้เป็นเขตพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษ

เมื่อพูดถึง แม่ฮ่องสอน ถือว่ามีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ได้แก่ กะเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ), ม้ง, ลีซู, ลาหู่ดำ, ลาหู่แดง, ลัวะ, จีนยูนนาน, กะเหรี่ยงโปว์, ปะโอ, กะแย และไทใหญ่ อีกทั้งถือเป็นจังหวัดที่มีประชาชนยากจนที่สุดเป็นอันดับ 1 ของประเทศ ซึ่งต้นเหตุสำคัญนั้นมาจากชุมชนหมู่บ้านส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ป่า จากการสำรวจปัญหาประชาชนทั้งจังหวัด พบว่า ปัญหาอันดับหนึ่งของแม่ฮ่องสอน คือ กรรมสิทธิ์ที่ดิน ทำให้พื้นที่ไม่ได้รับการพัฒนา โดยเฉพาะพื้นที่สูง เนื่องจากติดปัญหาเขตป่า ทำให้พื้นที่ถือครองที่มีเอกสารสิทธิใน จ.แม่ฮ่องสอน มีเพียง 1.5 % เท่านั้น จึงทำให้ปัญหาป่าไม้ที่ดินทำกินของแม่ฮ่องสอน ยังคงเป็นปัญหาที่ไม่มีวันจบสิ้น โดยเฉพาะกรณีเขตพื้นที่ป่ากับที่อยู่อาศัยที่ทำกินทับซ้อนกัน

เมื่อวันที่ 2 ก.ย.2566 ที่ผ่านมา ในเวทีประกาศเจตนารมณ์ตำบลรักษ์ป่า เพื่อการพัฒนาพื้นที่รูปธรรมคนอยู่กับป่าอย่างยั่งยืนตำบลแม่สวด อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ได้มีการจัดวงเสวนาเพื่อหาทางออกร่วมกัน โดยมี สส.แม่ฮ่องสอน จาก 3 พรรค มาร่วมแลกเปลี่ยนประเด็นนี้กับประชาชนในพื้นที่และคนทำงานพื้นที่ทั้งภาครัฐและโดยทั้ง 3 คน มีความเห็นตรงกันในเรื่องสิทธิทำกินของพี่น้องชาติพันธุ์และตั้งใจจะร่วมผลักดันการแก้ไขกฎหมาย

สมบัติ ยะสินธุ์ สส.แม่ฮ่องสอน พรรคประชาธิปัตย์ บอกว่า ได้เข้าไปรับใช้พี่น้องประชาชน เข้าไปเป็น สส.ทำงานในสภาตั้งแต่ปี 2550 ก็เข้าไปเสนอเรื่องเกี่ยวกับการใช้พื้นที่ป่า ซึ่งมีปัญหามาตลอด ตอนนั้นเป็นฝ่ายค้าน  ก็พยายามที่จะร่างกฎหมายเกี่ยวกับการใช้พื้นที่ที่อยู่ในเขตป่า พอปี 2552-2553 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัติย์  ตอนนั้นเราร่างกฎหมายเกี่ยวกับการใช้พื้นที่ กฎหมายเกี่ยวกับที่ดิน แล้วก็การใช้ประโยชน์ของพื้นที่ของรัฐที่ว่างเปล่ามาได้ใช้ประโยชน์ จัดสรรให้กับพี่น้องประชาชน ในปี 2553สภาได้ผ่านกฎหมายของป่าไม้เรียบร้อยแล้ว

“แต่ในปี 2554 มีการยุบสภา แล้วก็มีการร่างกฎหมาย เลือกตั้งใหม่ ได้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ แต่ก็ไม่สามารถที่จะหยิบกฎหมายตัวนี้มาใช้ได้ หลังจากนั้นก็ไม่มีพรรคไหนที่เข้ามาสานต่อ กฎหมายก็เลยหลุด ตกไปโดยอัตโนมัติ ซึ่งหลายคนบอกว่า กฎหมายที่ดิน กฎหมายป่าไม้ เป็นกฎหมายที่อาถรรพ์มาก เข้าสภาเมื่อไหร่ สภายุบตลอด ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีรายละเอียดเยอะมาก ในการที่จะร่างกฎหมายให้มันเป็นรูปธรรม เพราะฉะนั้น สส.แม่ฮ่องสอน ทั้ง 3 พรรค ต้องร่วมมือกัน ผ่านทางกรรมาธิการฯ เพื่อช่วยกันร่างกฎหมายขึ้นมาใหม่ เพราะถ้าใช้กฎหมายเดิมมันใช้ไม่ได้แล้ว”

เล่าฟั้ง บัณฑิตเลิศสกุล  สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล บอกว่า พื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน นั้นมีหลายประเด็นปัญหาด้วยกัน โดยเฉพาะปัญหาเรื่องป่าไม้ ที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน เนื่องจากพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีทั้งหมด 7.9 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ป่า 6.65 ล้านไร่ นั่นคือคนแม่ฮ่องสอน 90% นั้นมีที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัยโดยไม่มีเอกสารสิทธิรองรับ อีกทั้ง คนแม่ฮ่องสอนส่วนใหญ่ล้วนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ล้วนมีวิถีชีวิตวัฒนธรรมในการพึ่งพาอาศัยและดูแลป่า โดยมีชาติพันธุ์ปกาเกอะญอมีมากกว่า 60% ซึ่งทุกคนล้วนเจอปัญหาด้วยกันทั้งหมด

“ปัญหานี้ ทำให้ส่งผลกระทบเรื่องของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน ไฟฟ้า ประปา จะเห็นว่า 3-4 ปีที่ผ่านมา แทบไม่มีโครงการใหม่เข้าไปในหมู่บ้านของกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาสิทธิในการพัฒนาในพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ และทำให้เราเห็นโครงสร้างปัญหา คือแทบไม่ต้องพูดเลยว่า ปัญหาที่เราเจออยู่ทุกวันนี้ มันมาจากเรื่องกฎหมายและนโยบายเกี่ยวกับป่าไม้ ซึ่งห้ามทุกเรื่อง ทั้งในด้านที่อยู่อาศัย ที่ทํากิน หรือเรื่องของการพัฒนา จะเห็นได้ว่าห้ามทุกเรื่อง และไม่ได้ห้ามแค่ชาวบ้านชาวเมือง แต่ยังห้ามหน่วยงานราชการด้วย ที่ผ่านมา ก็มีมติ ครม.ออกมา กําหนดเอาไว้ว่า การดําเนินการของหน่วยงานราชการใดๆ ในเขตป่า ห้ามดําเนินการ หรือถ้าทําไปแล้วห้ามไม่ให้จ่ายเงิน ปรากฏว่าโครงการที่แอบทําไปโดยที่ไม่ต้องอนุญาต มันไปเบิกเงินไม่ได้ แล้วใครจะกล้าไปสร้าง มันก็เลยเป็นปัญหา ซึ่งโครงการ คทช.ที่รัฐบาลดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหานำร่องนั้น จึงไม่สามารถดำเนินการพัฒนาด้านสาธารณูปโภค ถนน ไฟฟ้า ซึ่งมีกว่า 6,000 โครงการ ไม่ได้รับอนุญาต ทำต่อไม่ได้”

นอกจากนั้น เลาฟั้ง ส.ส.ก้าวไกล ยังบอกถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ก็เพราะรัฐยังมีอคติทางชาติพันธุ์อยู่เหมือนเดิม ยังคงมองพี่น้องชาติพันธุ์นั้นคือตัวการตัดไม้ทำลายป่า จนนำไปสู่การออกกฎหมายมาเพื่อกำจัดสิทธิคนกลุ่มนี้ทั้งสิ้น

“ดังนั้น ข้อเสนอของตน  การกระจายอำนาจจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด แต่ที่ผ่านมา พ.ร.บ.การกระจายอำนาจยังถูกดองเอาไว้ เราต้องรณรงค์ให้มีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ มีการลงรายชื่ออย่างน้อย 1 แสนรายชื่อ ผลักดันเข้าสู่สภา ให้มีกฎหมายเขตพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษจังหวัดแม่ฮ่องสอน เราต้องมีกฎหมายตัวนี้รับรอง โดยมีคณะทำงานทุกภาคส่วน ทั้ง อบต. เทศบาล อบจ. นักวิชาการ องค์กรภาคประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมกัน”

ด้าน เกียรติศักดิ์ วนากมล ผู้ชำนาญการประจำตัว นายปกรณ์ จีนาคำ ส.ส.แม่ฮ่องสอน พรรคพลังประชารัฐ บอกว่า แม่ฮ่องสอน ถือเป็นจังหวัดที่มีประชาชนยากจนที่สุดเป็นอันดับ 1 ของประเทศ ต้นเหตุสำคัญมาจากอยู่ในพื้นที่ป่า จากการสำรวจปัญหาประชาชนทั้งจังหวัด พบว่า ปัญหาอันดับหนึ่งของแม่ฮ่องสอน คือ กรรมสิทธิ์ที่ดิน ทำให้พื้นที่ไม่ได้รับการพัฒนา โดยเฉพาะพื้นที่สูง เนื่องจากติดปัญหาเขตป่า ทำให้พื้นที่ถือครองที่มีเอกสารสิทธิใน จ.แม่ฮ่องสอน มีเพียง 1.5 % เท่านั้น

“อีกทั้ง การกำหนด การกำหนดเขตป่าสงวนและเขตป่าอนุรักษ์ มีการขีดเส้นบนแผนที่ แต่โดยส่วนใหญ่ไม่มีการกันเขตชุมชน หมู่บ้าน ที่ทำกิน ออกจากเขตป่า ทำให้หมู่บ้าน 300 กว่าแห่ง จึงถูกประกาศเขตป่าต่างๆ ทับ ทั้งที่หมู่บ้านนั้นได้รับการประกาศตั้งโดยส่วนราชการ และประชาชนได้อาศัยอยู่มานานก่อนการประกาศเขตป่าเสียอีก ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งถูกจับกุมและดำเนินคดี บุกรุกป่า ในช่วงปี 2556-2562 มีจำนวนมากถึง 1077 คดี ส่วนใหญ่เป็นคดีบุกรุกแผ้วถางป่า มีผู้ถูกดำเนินคดี มากกว่า 50 คน ในขณะที่โครงการ คทช.ที่รัฐบาลดำเนินการ พื้นที่ 69,000 ไร่ ซึ่งมีไม่ถึง 10 % ของพื้นที่การเกษตรทั้งหมดของแม่ฮ่องสอน เนื่องจากดำเนินการได้เฉพาะพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ  แต่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่สามารถดำเนินการตามโครงการ คทช.ได้”

ตัวแทน ส.ส.ปกรณ์ จีนาคำ ส.ส.แม่ฮ่องสอน พรรคพลังประชารัฐ ได้มีข้อเสนอไว้ว่า ขอให้มีการทบทวนการประกาศเขตป่าทุกประเภท รวมทั้งให้มีการศึกษา การจัดสรรพื้นที่ป่าอย่างเป็นธรรมและเหมาะสม ให้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบชัดเจน เป้าหมายคือการเพิกถอนสภาพป่าทุกประเภท ที่ดำเนินการไม่เป็นธรรม ไม่เหมาะสมต่อการพัฒนาพื้นที่และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน สำรวจพื้นที่หมู่บ้านชุมชน ที่อยู่ก่อนการประกาศเขตป่า และกันพื้นที่ที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน ไม่ว่าจะอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติหรือเขตป่าอนุรักษ์ ให้ชัดเจน และออกเอกสารรับรองสิทธิ ที่ห้ามซื้อขาย แต่ตกเป็นมรดกตกทอดให้ญาติได้

“รัฐบาลและจังหวัดแม่ฮ่องสอน ต้องยอมรับสภาพข้อเท็จจริงว่า ในพื้นที่ป่า มีประชาชนที่จำเป็นต้องใช้พื้นที่เกษตรกรรมเพื่อการดำรงชีพ จากข้อมูล ประชาชนมีพื้นที่การเกษตร(ที่ราบ) 113,305 ไร่ (1.47%)  ส่วนที่ใช้ทำไร่หมุนเวียน 827,148 ไร่ หรือ 10.45%  โดยภาพรวม ประชาชนต้องการใช้พื้นที่เพียงไม่เกิน 1 ล้านไร่ หรือ 12%  ส่วนป่าที่เหลือไม่น้อยกว่า 80% ประชาชนต้องร่วมมือกันบำรุงรักษา หรืออีกแนวทางหนึ่ง คือให้มีการบริหารจัดการพื้นที่ป่าและทรัพยากรธรรมชาติในรูปแบบพิเศษ ที่มีส่วนร่วมจากตัวแทนทุกภาคส่วน และเป็นธรรมกับประชาชนทุกคน แต่ก็อย่างที่รู้กันนั่นแหละว่า ยังดำเนินการได้ยาก เนื่องจากติดขัด กฎกระทรวง ระเบียบ และกฎหมายหลายฉบับ”

พงษ์พิพัฒน์ มีเบญจมาศ นายกสมาคมฟื้นฟูลุ่มน้ำสาละวิน และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่สามแลบ อ.สบเมย บอกว่า จริงๆ แม่ฮ่องสอน นั้นมีหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ มีต้นทุนวัฒนธรรม แต่ที่ผ่านมานั้นมันมีข้อจำกัด ที่จะทำให้เป็นรูปธรรม ดังนั้น การที่เราจำเป็นต้องเสนอให้เป็นพื้นที่เขตพิเศษ จึงมีความจำเป็นอย่างมาก และจะต้องเน้นกระบวนการการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายถึงจะเกิดขึ้นจริงและเป็นรูปธรรมชัดเจน


สะท้าน ชีววิชัยพงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน

เช่นเดียวกับ สะท้าน ชีววิชัยพงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน บอกว่า ที่ผ่านมา ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า กันเยอะมาก ยกตัวอย่าง ครอบครัวหนึ่ง ซึ่งมีพื้นที่ทำกินอยู่แปลงเดียว แต่ก็ถูกยึดไปหมด จนทำให้เขาต้องออกไปรับจ้างข้างนอก อีกทั้งปัญหาการประกาศเขตป่าทับหมู่บ้านซึ่งตั้งอยู่มาก่อนนานแล้ว ทำให้หลายหลายหมู่บ้านไม่ได้รับการพัฒนา หลายหมู่บ้าน ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ถนนหนทางก็ยากลำบาก

“ดังนั้น การยกระดับพื้นที่แม่ฮ่องสอน ให้เป็นพื้นที่เขตพิเศษฯ จึงมีความจำเป็น และตนก็เห็นด้วย และพร้อมที่จะขับเคลื่อนไปกับพี่น้องชาวบ้าน ซึ่งเราได้เรียกร้องต่อสู้กันด้วยกันมาโดยตลอด”

สุริยันต์ ทองหนูเอียด ผู้ประสานงานขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ)

ในขณะที่ สุริยันต์ ทองหนูเอียด ผู้ประสานงานขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ก็ได้เสนอให้มีการล่ารายชื่อชาวบ้านในพื้นที่แม่ฮ่องสอนขึ้นมาใหม่อีกครั้ง เพื่อเสนอร่างกฎหมาย พื้นที่วัฒนธรรมพิเศษทั้งจังหวัด ให้เป็น พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ และ พ.ร.บ.ส่งเสริมคุ้มครองวิถีชีวิตและวัฒนธรรมพิเศษจังหวัดแม่ฮ่องสอน รวมไปถึงเสนอให้ยกเลิก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ให้กับชาวบ้านที่ถูกดำเนินคดี จากนโยบายทวงคืนผืนป่า ซึ่งมีจำนวนมากถึง 48,000 คดี

“ด้วยบริบท วิถีวัฒนธรรมที่แตกต่างนี้ จึงไม่อาจใช้ระเบียบเหมือนพื้นที่อื่นมาใช้วัดหรือจัดการพื้นที่นี้ จึงมีความสำคัญที่ต้องยกระดับจังหวัดแม่ฮ่องสอนให้เป็นพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษทั้งจังหวัด ซึ่งจริงๆ เรื่องนี้ เราต่อสู้กันมานานมาก ปีนี้ก็ครบรอบ 10 ปีแล้ว แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้า ดังนั้นทางพีมูฟ จึงเสนอให้ประชาชน ชาวบ้านในแม่ฮ่องสอนลงชื่อกันเยอะๆ เพื่อเสนอร่างกฎหมายให้แม่ฮ่องสอนเป็นเขตพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษอีกครั้ง”

ทั้งนี้ ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น ส.ส.แม่ฮ่องสอน ทั้ง 3 พรรค รวมไปถึงเครือข่ายองค์กรท้องถิ่น และชาวบ้านในจังหวัดแม่ฮ่องสอน จึงได้ร่วมกันนำเสนอให้เป็นรูปธรรม ตามมติคณะรัฐมนตรี 3 ส.ค.2553 เพื่อพื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงในด้านต่างๆ ทั้งการศึกษา อัตลักษณ์ วิถีชีวิตและภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ที่จะรักษาความสมบูรณ์ของธัญพืชธัญญาหาร ผ่านระบบการทำไร่หมุนเวียน เพื่อรณรงค์ ให้มติ ครม. ดังกล่าว เป็นที่ยอมรับของสาธารณชน และผลักดัน ให้มีการนำไปปฏิบัติจริง เพื่อปกป้องและคุ้มครองวิถีชีวิตของทุกกลุ่มชาติพันธุ์และยกระดับสู่การประกาศให้เป็นพระราชบัญญัติ เพื่อผลักดันให้จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษ ที่จะนำไปสู่การฟื้นฟูวิถีชีวิตตามวิถีแห่งชาติพันธุ์ดั้งเดิม จนกลายเป็นพื้นที่ต้นแบบให้กับพื้นที่จังหวัดอื่นๆ กันต่อไป

ในขณะเดียวกัน ประชาชนนหลายชุมชนหลายหมู่บ้านในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ยังคงหวั่นวิตกและพากันออกมาคัดค้าน เมื่อจู่ๆ รัฐบาลชุดใหม่ โดยการนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ออกมาพูดกับสื่อ โดยบอกว่าจะดันเมกะโปรเจคใหญ่ในแม่ฮ่องสอนกันอีกครั้ง โดยเฉพาะอุโมงค์ผันน้ำยวมไปลงแม่น้ำปิง ฯลฯ โดยที่ไม่ได้ศึกษาข้อมูลรอบด้าน ว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อฐานทรัพยากรสิ่งแวดล้อมและวิถีชุมชนในหลายพื้นที่เป็นวงกว้าง ซึ่งถือว่าเป็นประเด็นปัญหาย้อนแย้งกันกับสิ่งที่ชาวบ้านพยายามปกป้องดูแลรักษาเอาไว้ และกำลังเสนอให้เป็นเขตวัฒนธรรมพิเศษเป็นอย่างมาก                                    

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net