Skip to main content
sharethis

รายงานนี้เป็นส่วนหนึ่งในซีรีย์ ชุดสื่อพลเมือง-ทางเลือกภายใต้การคุกคาม (Alternative and Thai citizen media under threat) เป็นหนึ่งในซีรีส์ของโครงการวารศาสตร์ที่สร้างสะพานหรือ Journalism that Builds Bridges โดยผู้เขียนเป็นผู้เข้าร่วมอบรมในโครงการจากประชาไท

รายงานสัมภาษณ์ แอดมินนินจา จาก LIVE REAL และ เชน  จาก เพจ ‘ขุนแผน แสนสะท้าน’ 2 สื่อพลเมืองในสถานการณ์เคลื่อนไหวกลุ่มราษฎร แรงกดดันที่เผชิญการลดทอนการใช้สิทธิในการสื่อสาร ความเป็นสื่อของสื่ออิสระและการถูกคุกคามจากภาครัฐ การถูกดำเนินคดี การถูกคุกคามจากมวลชน รวมทั้งการเตรียมตัวเพื่อป้องกันเสรีภาพในของพวกเขาเอง

  • เมื่อเพดานของเสรีภาพลดต่ำลงและการหาความจริงจากสื่อกระแสหลักทำได้ยาก เชน ชีวอบัญชา เจ้าของเพจ ‘ขุนแผน แสนสะท้าน’ และ แอดมินนินจา เจ้าของเพจ LIVE REAL ทั้ง 2 จึงลุกมาทำหน้าที่สื่อพลเมือง เพื่อนำเสนอข้อมูลจากมุมมองประชาชนทั่วไป
  • สื่อพลเมืองถูกเลือกปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อสกัดกั้นการนำเสนอข้อมูล เพราะถูกมองว่าเป็นภัยต่อผู้มีอำนาจมากกว่าสื่อกระแสหลักที่รัฐสามารถควบคุมเนื้อหาได้
  • แม้ว่าจะผ่านพ้นการเลือกตั้งไปแล้ว แต่สถานการณ์ทางการเมืองในการจัดตั้งรัฐบาลก็ทำให้สื่อพลเมืองก็ยังถูกคุกคามจากกลุ่มมวลชนที่เห็นต่างอยู่ แต่เปลี่ยนกลุ่มจาก ‘เหลือง’ มาเป็น ‘แดง’ แทน
  • ในตอนนี้ไม่มีใครคุ้มครองสื่อพลเมืองได้มากเท่ากับสื่อพลเมืองด้วยกันเอง ที่คอยพูดคุย เป็นหูเป็นตาให้กัน และระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่

จากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่รัฐบาลประยุทธ์จนถึงปัจจุบัน ที่ก่อให้เกิดการจำกัดสิทธิ เสรีภาพ ของประชาชนในวงกว้าง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าส่งผลกระทบไปถึงเสรีภาพของสื่อด้วย  โดยการจัดอันดับของหน่วยงานที่สนับสนุนเสรีภาพในการทำงานของสื่อ Reporters Without Borders ได้จัดอันดับให้ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 106 จาก 180 ประเทศ อยู่ในระดับ ‘สถานการณ์ที่มีปัญหา’  (Problematic situation) ในเรื่องของเสรีภาพสื่อ และหากกล่าวเฉพาะเจาะจงถึงสื่อที่อยู่ชายขอบของสถานนการณ์ คือ สื่อพลเมือง - สื่ออิสระ ซึ่งรวมถึงคนนำเสนอข้อมูลผ่านเพจเฟซบุ๊กหรือยูทูปด้วย ที่มักจะถูกกระทำรุนแรงมากกว่าปกติ จากการจัดเก็บข้อมูลของโครงการเฝ้าระวังเสรีภาพสื่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (PFMSea) 

ที่มา : RSF

ในโอกาสนี้จึงพูดคุยกับ 2 สื่อพลเมืองที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการถ่ายทอดสดและรายงานความเคลื่อนไหวการชุมนุมกลุ่มราษฎรและบรรดากลุ่มนักกิจกรรมช่วงปี 2563 ถึงปัจจุบัน ซึ่งเคลื่อนไหวจำนวนมากทั้งบริเวณแยกดินแดงและการเคลื่อนไหวประเด็นปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ แต่สื่อเหล่านี้กลับถูกคุกคามอย่างรุนแรงในการทำหน้าที่ ทั้งการข่มขู่ ทำร้ายร่างกาย รวมถึงการดำเนินคดีด้วย ม. 112 เพื่อเปิดบทสนทนาให้สังคมได้รับรู้ถึงการถูกคุกคามของสื่อชายขอบในรูปแบบต่าง ๆ และนำไปสู่การหาทางปกป้องเสรีภาพของพวกเขาต่อไป ได้แก่ 

  • แอดมินนินจา เจ้าของเพจ LIVE REAL ที่มีบทบาทสำคัญในการนำเสนอข้อมูลจากมุมมองของประชาชนทั่วไป โดยเริ่มต้นจากการปกป้องบ้านของตนที่ดินแดงซึ่งเป็นจุดปะทะระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ 
  • เชน ชีวอบัญชา เจ้าของเพจ ‘ขุนแผน แสนสะท้าน’ ประชาชนคนหนึ่งที่ออกมาเรียกร้องการเลือกตั้งในยุคสมัยของ คสช. และอยากเผยแพร่ให้สังคมได้รับรู้ ณ ตอนนั้น จนถึงการจัดกิจกรรมเรียกร้องสิทธิ์การประกันตัว 

หาความจริงจากสื่อหลักไม่ได้ สื่อพลเมืองจึงเกิดขึ้น

แอดมินนินจากล่าวว่าเพจ LIVE REAL เริ่มมาจากความคิดที่ว่าอยากจะบันทึกเหตุการณ์เก็บไว้เป็นเรื่องราว เป็นจดหมายเหตุให้ผู้คนได้รู้ได้ทราบว่าที่ดินแดงเกิดอะไรขึ้น เพราะว่าตอนนั้นเนี่ยสื่อหลักไม่มีสื่อไหนเลยที่จะถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านี้ 

และเมื่อ 

“ผู้คนไม่สามารถหาความจริงได้ 100% จากสื่อหลัก เนื่องจากสื่อหลักถูกครอบงำโดยเจ้าหน้าที่รัฐที่อุปโลกน์องค์กรมาควบคุมสื่ออีกครั้งหนึ่ง ดังนั้นก็เหมือนเป็นการปิดปากสื่อจึงทำให้สื่อพลเมืองอย่างเราเกิดขึ้นมาได้”

แอดมินนินจากล่าวด้วยว่า ภาครัฐเองก็มาลดทอนมาด้อยค่าสื่อพลเมืองเหล่านี้เพื่อที่จะไม่ต้องการให้ผู้คนนั้นได้เลือกที่จะเสพข้อมูลข่าวสาร ไม่ต้องการให้เห็นความจริง ไม่ต้องการให้เห็นสิ่งที่ต้องการจะปกปิดจากสื่อพลเมือง

แอดมินนินจา

ส่วน เชน ชีวอบัญชา เจ้าของเพจ ‘ขุนแผน แสนสะท้าน’ เริ่มต้นจากในช่วงยุค คสช. ที่กลุ่มคนอยากเลือกตั้งมีการทำกิจกรรมเรียกร้องให้ คสช. จัดการเลือกตั้งให้เร็วที่สุด ซึ่งตนก็ได้เข้าไปร่วมกิจกรรมด้วยจึงอยากให้สังคมในวงกว้างรับรู้เรื่องราวเหล่านี้ว่าประเทศกำลังเกิดอะไรขึ้นอยู่ แล้วก็ทำต่อเนื่องมาจากจุดนั้นจนถึงปัจจุบัน ใน 2 บทบาทคือนักเคลื่อนไหวและสื่ออิสระ

ฐานะความเป็นสื่อของสื่ออิสระและการถูกคุกคามจากภาครัฐ

เจ้าของเพจ LIVE REAL พูดถึงการทำหน้าที่ว่าเป็นเรื่องปกติที่ตนทำหน้าที่มันก็เหมือนว่าเรายืนอยู่ฝั่งตรงข้ามเจ้าหน้าที่รัฐ ดังนั้นก็ถูกการลดทอนความน่าเชื่อถือจากเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ว่าตนจะทำเรื่องราวใดๆก็ตาม เป็นเรื่องราวการเมืองเป็นเรื่องราวข่าวต่างๆ ก็จะถูกด้อยค่าจากเจ้าหน้าที่รัฐ แล้วก็ถูกริดรอนสิทธิ์ การทำหน้าที่ ซึ่งต่างจากสื่อหลักที่เขาอาจจะมีบัตร มีความน่าเชื่อถือกว่า แต่ว่าการเป็นสื่ออิสระ เป็นสื่อภาคประชาชน ตนไม่จำเป็นจะต้องทำทำตามคำสั่งใคร สามารถเทำในสิ่งที่เราคิดว่าควรจะทำก็ทำ 

โดยช่วงแรกไม่มีใครทราบว่าตนเป็นใคร แล้วเวลาลงพื้นที่ก็จะไม่ได้อยู่ไม่ได้ใช้เวลานานในแต่ละที่ก็จะย้ายที่บ่อยมากแล้วก็ไม่พูดคุยกับใคร เพื่อที่จะเตรียมตัวเองรักษาให้ตัวเองอยู่รอดในทุกวันและกลับมาทำหน้าที่ในทุกวัน จะมีนิดหน่อยคือมีการใช้กระสุนยาถูกกระสุนยางยิงบ้างถูกปืนที่ยิงโดยด้วยลูกแก้วบ้างที่หน้างาน 

แต่ว่าวันที่ 6 ต.ค. 64 ตนถูกจับด้วยข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในขณะที่ทำหน้าที่สื่ออยู่ ซึ่งเจ้าหน้าที่สั่งห้ามและกันสื่อมวลชนทุกคนออกจากพื้นที่ วันนั้นเป็นวันที่เจ้าหน้าที่มีการสลายการชุมนุมที่ดินแดง ซึ่งตนมองว่ามันพาให้สงสัยว่าทำไมจะต้องกันสื่อออกไป ดังนั้นจึงลักลอบเข้าไปในพื้นที่ และเจ้าหน้าที่ก็คงมองว่าตนมันควบคุมไม่ได้ แล้วก็อาจจะทำให้เรื่องราวต่างๆที่เขาพยายามจะปิดนั้นมันถูกเปิดขึ้นมา

แอดมินนนินจาในขณะที่กำลังไลฟ์สดในเหตุการณ์วันที่ 6 ต.ค. 64 ก่อนจะถูกจับกุมตัว

แอดมินนินจากล่าวถึงเหตุการณ์ในขณะถูกจับกุมด้วยว่า ในระหว่างที่ถูกจับและนำตัวไปไว้ที่บริเวณทางยกระดับระหว่างโรงพยาบาลทหารผ่านศึกกับกรมดุริยางค์ทหารบก แล้วก็ปิดถนนหมด ตนและผู้ชุมนุมบางส่วนที่ถูกจับมาพร้อมกัน ถูกลากลงมาทำร้ายร่างกายทีละคน โดยการจิกหัวลงมากระทืบ รุมเตะ ทั้งๆที่บริบทในตอนนั้นตนจะเป็นสื่อก็ตาม โดยแม้จะไม่มีข้อมูลหลักฐานเอกสารการเป็นสื่อแต่ด้วยบริบทภาพถ่ายที่อยู่ในกล้องของมันชี้ชัดว่าตนคือสื่อมวลชน แต่ตนก็ถูกทำร้ายร่างกาย ดังนั้นนี่คือการที่เจ้าหน้าที่รัฐนั้นมอง สื่อพลเมือง สื่ออิสระ ยังไม่ชอบธรรม

“แล้วก็หลังจากนั้นเมื่อถูกจับ เอกสารข้อมูลส่วนตัวของเราก็เข้าไปในระบบราชการ แล้วก็มีการมาคุกคามในที่อยู่ที่แจ้งไว้ในบัตรประชาชน โดยการส่งเข้ามาในพื้นที่ มีเจ้าหน้าที่ นอกเครื่องแบบบ้าง ในเครื่องแบบบ้าง แล้วก็มีการพยายามที่จะให้ผู้คนในชุมชนกดดันตัวเองออกจากพื้นที่โดยการบอกว่าตนเป็นบุคคลอันตราย พยายามให้ทุกคนเห็นว่าอันตราย นี่คือนี่คือความความเลวร้ายของระบอบนี้” แอดมินนินจา กล่าว

ในขณะที่เชนมองว่า สื่ออิสระหรือสื่อพลเมืองจะถูกเพ่งเล็งจากเจ้าหน้าที่รัฐหรือฝ่ายความมั่นคงมากกว่าสื่อปกติ เพราะว่ารัฐสามารถควบคุมเนื้อหาของสื่อหลักเหล่านั้นได้ว่าจะนำเสนอเรื่องราวอะไรได้หรือไม่ได้ และในบางเหตุการณ์ที่สื่อรักไม่ได้ลงพื้นที่เจาะลึกมากมายขนาดนั้น พวกตนก็เป็นกลุ่มเดียวที่ไปอยู่ที่หน้างานสามารถเจาะรายละเอียดของเหตุการณ์ได้มากกว่า แต่ก็ทำให้ถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่ได้ง่ายเพราะเจ้าหน้าที่มักจะอ้างว่าพวกคุณไม่ใช่สื่อ ไม่ได้มีบัตรสื่อเพื่อยืนยันตัวตน

เชน ชีวอบัญชา (ที่มา : เพจขุนแผน แสนสะท้าน)

แต่ถ้าเป็นสื่อหลักหรือเป็นสำนักข่าวที่มีตัวตนชัดเจน เจ้าหน้าที่จะไม่กล้าทำอะไรมากเท่ากับพวกของตน ที่เป็นสื่อพลเมือง ซึ่งตนมองว่าอาจจะเป็นเพราะสังคมไม่ค่อยสนใจด้วยเวลาเกิดอะไรกับสื่อรายเล็กรายน้อยเท่ากับเวลาเกิดกับสื่อใหญ่ อย่างเช่นเหตุการณ์ที่ สภ. นนทบุรี วันที่ 8 ต.ค.64 ที่มีการซ้อมแผนรับมือผู้ชุมนุมก็ไม่มีสื่อหลักลายไหนไป มีแต่พวกตนประมาณ 5-6 รายที่ไปบันทึกเหตุการณ์ไว้ แต่ตนซึ่งอยู่เป็นคนสุดท้ายก็ถูกเจ้าหน้าที่บอกให้เลิกไลฟ์ แต่ตนไม่ยอม จึงโดนเจ้าหน้าที่อุ้มไปดำเนินคดีในข้อหาขัดขวางเจ้าพนักงาน หรือหลายๆครั้งในการไลฟ์ก็จะถูกเจ้าหน้าที่ปัดมือถือให้ตกลงมาจากที่จับ หรือถูกเบียดบังในการไลฟ์ไม่ให้เห็นภาพได้ชัด

นอกจากนั้นเชน ยังเคยถูกดำเนินคดีด้วย ม.112 อีกด้วย จากการร่วมชุมนุม 'ยืนบอกเจ้า ว่าเราโดนรังแก' หน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ #ม็อบ28กรกฎา65 ซึ่งเชนมองว่าคดี 112 นั้นที่ถูกเอามาดำเนินคดีมีความผิดปกติเพราะหมายจับแจ้งไว้ตั้งแต่ 24 มกราคม แต่มาจับกุมหลังจากนั้นอีกเป็นเดือน ซึ่งเชนตั้งข้อสังเกตว่าเพราะตนเองไม่ได้หยุดในการทำหน้าที่ ทำให้ตำรวจเอาเรื่องนี้มาใช้เพื่อสกัดขัดขวางในการทำกิจกรรมต่างๆ และต้องการให้ตนหยุดเคลื่อนไหว

เชน ชีวอบัญชา ขณะที่ถูกควบคุมตัวด้วยข้อหา ม. 112 วันที่ 9 มี.ค. 66 (ที่มา : เพจขุนแผน แสนสะท้าน)

ทั้งนี้คดีที่ เชน และเงินตรา (ผู้ถูกดเนินคดีอีกคน)ถูกดำเนินคดี ม.112 นั้น ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า สำนักงานศาลยุติธรรม โดยสุรศักดิ์ กิจชาลารัตน์ เป็นผู้รับมอบอำนาจกล่าวหาในคดีนี้ โดย ระบุว่าเหตุเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2565 เวลาประมาณ 17.00-18.20 น. ผู้ต้องหาทั้ง 2 คนได้จัดกิจกรรม “ยืนบอกเจ้าว่าเราโดนรังแก” บริเวณหน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ โดยมีการปราศรัยโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต, ร่วมกันชูป้ายและติดป้ายข้อความอันเป็นการดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษา ซึ่งเกี่ยวข้องหรือมุ่งหมายถึงการปฏิบัติหน้าที่ของศาลในการพิจารณาคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย ได้แก่ “ใบปอ” และ “บุ้ง” ในขณะนั้น นอกจากนี้ จากการตรวจสอบภาพเคลื่อนไหวเหตุการณ์ พบว่าผู้ต้องหาทั้งสองกับพวก ได้เปิดเพลงและร่วมกันร้องเพลง “โชคดีที่มีคนไทย” ที่มีเนื้อหาเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น พระมหากษัตริย์ โดยข้อกล่าวหาได้ยกเนื้อร้องของเพลงดังกล่าวมาประกอบ โดยที่เชน และเงินตา ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

การถูกคุกคามจากมวลชน ‘เหลือง’ - ‘แดง’

แอดมินนินจาเปิดเผยว่าเคยมีมวลชนอีกฝั่ง(ที่ต่อต้านการเคลื่อนไหวของกลุ่มราษฎร)เข้ามาพยายามจะค้นตัว ซึ่งเขาไม่ได้มีอำนาจในการเข้ามาค้นตัวเราเลย แต่ว่าตนยืนยันที่จะยังทำหน้าที่ของตัวเองอยู่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม เพราะว่ามันเป็นหน้าที่ของสื่อ แล้วเราเลือกแล้วที่จะทำหน้าที่นี้ดังนั้นตนคิดแค่ว่าต้องทำหน้าที่ของให้ดีที่สุดในวินาทีนั้นแล้วอะไรที่มันจะตามมาก็เป็นเรื่องของเป็นเรื่องของมันเพราะว่าตรงนั้นมีผู้ที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยอยู่ตรงนั้นเฉยๆเขาไม่ได้ทำอะไร แล้วก็มีกลุ่มนึงที่เห็นต่างเข้าไปคุกคามสิ่งนั้น มันจำเป็นจะต้องให้ผู้คนได้เห็นว่ามันเกิดอะไรขึ้น ถ้าหากว่าตนทำหน้าที่นี้แล้วยังกลัวอีกมันก็ไม่เหลือที่พึ่งอะไรให้ราษฎรทั้งหลาย

ส่วนเจ้าของเพจ ‘ขุนแผน แสนสะท้าน’ พูดคล้ายๆกันว่า เคยมี ศปปส. (ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน) เข้ามาพูดจายั่วยุ ข่มขู่ว่าจะทำร้ายร่างกายหลายต่อหลายครั้งในระหว่างที่ตนอยู่ในกิจกรรมยืนหยุดขังหน้าศาลอาญา หรือที่สนามหลวงก็เคยถูกเข้ามาข่มขู่จนต้องหนีออกมาจากตรงนั้น แต่อย่างในปัจจุบันกลับกลายเป็นผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยบางกลุ่มที่มาคุกคามตนไม่ใช่กลุ่มเสื้อเหลือง อย่างเช่น ในวันที่ไปไลฟ์สดที่ทำการพรรค เนื่องจากตนไม่เห็นด้วยและวิจารณ์กับการข้ามขั้วไปจัดตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยอย่างตรงไปตรงมา 

โดยในช่วงระหว่างตั้งรัฐบาลตนกับอีกหลายคนไม่สามารถเข้าไปที่ทำการพรรคได้เลย เนื่องจากถูกจ้องจากกลุ่มผู้สนับสนุนบางส่วนที่อยู่ประจำที่พรรค นอกจากนั้นก็ยังมีบางส่วนที่เข้ามาคอมเม้นคุกคามในเพจด้วย แต่ที่หนักที่สุดก็คือตนได้รับข่าวลือมาว่ามีการจ้างหรือจัดตั้งกลุ่มคนให้เข้ามาทำร้ายร่างกาย ซึ่งตนก็ไม่รู้ว่าจริงหรือไม่จริงและก็คิดว่าพรรคไม่น่าจะเกี่ยวแต่เป็นผู้สนับสนุนทำกันเองมากกว่า ทำให้ในช่วงนั้นเวลาจะไลฟ์หรือทำกิจกรรมก็ต้องเพิ่มความระมัดระวังตัวเป็นอย่างมาก อย่างเช่นเวลาไปทำกิจกรรมที่ประจำตรงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิก็จะไปอยู่ตรงที่มีกล้องวงจรปิด แล้วก็จะหาที่นั่งที่จะไม่มีคนสามารถเข้ามาจากข้างหลังได้ และก็จะพูดกับตำรวจว่าอย่าให้กล้องตรงนี้เสีย

ในส่วนการคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐเชนมองว่ามีน้อยลงในช่วงก่อนเลือกตั้งถึงปัจจุบัน โดยตนคิดว่าอาจจะเป็นเพราะยังไม่มีการเคลื่อนไหวของประชาชนมากมายเท่าช่วงรัฐบาลของประยุทธ์ ทำให้รัฐเองก็ยังไม่มีการเคลื่อนไหวอะไรมากมาย มีอย่างมากก็แค่ขับรถมาดูสังเกตการณ์หรือถ่ายรูปเอาไปรายงานผู้บังคับบัญชาเท่่านั้น

การเตรียมตัวเพื่อป้องกันการคุกคาม

เชนพูดถึงเรื่องนี้ว่าไม่ได้มีการพูดคุยกันอย่างเป็นจริงเป็นจังว่าจะเตรียมตัวรับมือเหตุการณ์การถูกคุกคามในรูปแบบต่างๆยังไง เพียงแค่ว่าในช่วงของการทำหน้าที่ระหว่างที่มีการเคลื่อนไหวของประชาชนปี 63-64  ในแต่ละวันก็จะมีการระมัดระวังตัวก่อนออกไปทำหน้าที่อยู่เสมอ เพราะมีกลุ่มมวลชนเสื้อเหลืองที่ไม่เห็นด้วยกับจุดยืนของตนจ้องที่จะทำร้ายร่างกายอยู่ โดยเวลาจะจอดรถหรือจะทำกิจกรรมอะไรก็จะอยู่ในสถานที่ที่โล่งแจ้งไม่ลับบตาคน เวลาเกิดเหตุจะได้มีพยานรู้เห็นหรืออาจจะช่วยให้คนที่คิดจะลงมือไม่ได้ลงมือ และถ้ามีใครถูกคุกคามก็จะมีการแจ้งข้อมูลให้คนอื่นๆได้รับรู้รับทราบในระหว่างสื่ออิสระด้วยกันเอง

ขณะที่แอดมินนินจาบอกว่าตอนนั้นตอนทำแรกๆก็ไม่ได้มีปลอกแขนอะไรเลยไม่ได้รู้ด้วยว่าจะต้องมีอะไรบ้าง เพราะว่าจุดเริ่มต้นมันคือบ้านของเรา เป็นเจ้าของบ้านและก็ออกมาถ่ายใครก็ตามที่มาทำทำร้ายพี่น้อง แต่พอเริ่มทำไปสักระยะหนึ่ง ก็เริ่มคิดว่าจะต้องปรับตัวพัฒนาตัวเองให้เป็นที่ยอมรับแล้วก็อยู่ในหลักเกณฑ์การทำหน้าที่สื่อ 

แล้วก็ค่อยหาความรู้หาว่าจะต้องทำตัวอย่างไรในการทำหน้าที่สื่อ แล้วก็มีองค์กร DemAll (สมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตย) ตนเป็นคนแรกที่ได้ปลอกแขนของ DemAll เขาก็มาช่วยเหลือในการมอบปลอบแขน แต่ก็ถูกเลือกปฏิบัติในการทำงาน ถูกด้อยค่าหรือว่าถูกไม่ให้ความน่าเชื่อถือจากเจ้าหน้าที่รัฐอยู่ดีเพราะว่าปลอกแขนของ DemAll ก็ไม่เป็นที่ยอมรับของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยจะต้องผ่านทางการจะต้องผ่านองค์กรสื่อ 6 องค์กรสื่อถึงจะเป็นที่ยอมรับ ซึ่งแอดมินนินจามองว่าเพราะว่าภาครัฐนั้นน่ะเข้ามาควบคุมองค์กรสื่อนั้นในการมาดูแลควบคุมสื่ออีกที 

ในส่วนของสื่อที่ปฏิบัติหน้าที่หน้างานก็มีการพูดคุยกันมากขึ้น มีการทำความรู้จักสื่อภาคพลเมืองกันมากขึ้น แล้วก็มีการช่วยเหลือกันหากว่าสื่อภาคพลเมืองถูกคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐหรือกลุ่มที่เห็นต่าง แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะครอบคลุมได้หมด 100% สิ่งที่ทำได้ก็คือช่วยเป็นหูเป็นตากันและกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net