Skip to main content
sharethis
  • เวทีเสวนาถอดบทเรียนการทำงาน “สื่อภาคประชาชน” 4 ภูมิภาค “วาร์ตานี” ระบุทุกรัฐบาลมองสื่อ 3 จ.ใต้คือภัยความมั่นคง ลั่นพร้อมท้าชนนำเสนอความจริงในพื้นที่ เตือนรบ.ถ้ามีอคติสันติภาพในพื้นที่ไม่เกิด เชื่อสื่อเป็นสะพานเชื่อมสร้างความเปลี่ยนแปลงสังคมได้
  • “ตัวแทนประชาไท” มองภัยคุกคามหนักสุดของสื่อคือการ “เซ็นเซอร์ตัวเอง” ส่วน “Lanner” โอดเจ้าหน้าที่รัฐมองสื่อชายขอบไม่ใช่สื่อมืออาชีพ
  • ขณะที่ “เดอะอีสานเรคคอร์ด” ระบุไม่ว่าสื่อใหญ่-เล็กมีสิทธิ์โดนคุกคามหมด เหตุธรรมชาติสื่อไม่ได้เป็นเสียงเดียวกับรัฐ ชี้การคุกคามใหญ่คือรัฐมีความพยายามออก “กฎหมายคุมสื่อ” ไม่เลิก ด้าน “ลาวเดอร์” ขอร่วมเปล่งเสียงจากที่ราบสูง “ธีระพล” แนะสร้างสมดุลแหล่งข่าวสกัดถูกโจมตีเลือกข้าง 

เมื่อวันที่ 3 พ.ย.ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร Citizen+ และมูลนิธิเพื่อการศึกษาและสื่อภาคประชาชนร่วมกันจัดประชุมสรุปโครงการ Journalism that Builds Bridges (JBB)  :วารสารศาสตร์ที่สร้างสะพาน  เสียงของคนชายขอบเพื่อเชื่อมสัมพันธ์สื่อนอกกระแส โดยมีการเสวนาในหัวข้อ “บทเรียนของวารสารศาสตร์ที่สร้างสะพาน: สิ่งที่เรียนรู้และก้าวต่อไป”  

รุสลาน มูซอร์ บรรณาธิการบริหารสำนักสื่อวาร์ตานี กล่าวว่า ปัญหาที่วาร์ตานีเจอบ่อยคือการคุกคามจากรัฐ เพราะเขารับไม่ได้กับการนำเสนอเรื่องราวที่มันเป็นความจริงอีกมุมหนึ่ง ที่ผู้มีอำนาจไม่อยากนำเสนอเรื่องนี้ให้สาธารณะทั้งประเทศได้รับรู้ว่าความจริงมันเป็นอย่างไร เขาอยากให้เรานำเสนอแค่เรื่องที่เขาอยากนำเสนอ สิ่งนี้มันไปย้อนแย้งกับผู้มีอำนาจ จึงไม่แปลกที่ผู้มีอำนาจจะคุกคามเรา พอเรานำเสนอเรื่องราวความจริงสิ่งที่เราโดนคือการคุกคามหลายรูปแบบทั้งการคุกคามโดยกฎหมาย มีการเรียกนักข่าวของเราไปสอบเป็นพยาน หรือสอบปากคำ มีการขู่ว่าจะฟ้อง มีการคุกคามทางบ้านนักข่าว และติดตามนักข่าวที่ลงไปทำข่าว รวมทั้งปิดพื้นที่ไม่ให้นักข่าววาร์ตานีเข้าไปทำข่าว มันปิดกั้นทั้งหมด จนทำให้เราชาชินกับการกระทำของรัฐ 

รุสลาน มูซอร์ บรรณาธิการบริหารสำนักสื่อวาร์ตานี 

“เราโดนมา ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหนก็ตาม รัฐบาลที่มาจากคสช. หรือว่ามาจากการเลือกตั้งแต่ก็เหมือนไม่ได้เลือกตั้ง รัฐบาลชุดใหม่ที่เขาบอกว่าเป็นประชาธิปไตย แต่ผมก็ไม่รู้ว่าเป็นหรือไม่เป็น การคุกคามมันก็ยังมี เพราะถึงรัฐบาลชุดใหม่จะเข้ามาแต่การบริหารก็ยังเหมือนเดิม ความคิดแนวคิดของผู้บริหารก็ยังมองว่าพื้นที่ปัตตานีคือภาวะความมั่นคง มองในมุมความมั่นคง ทุกคนคือภัยเลยนะ แม้กระทั่งสื่อในพื้นที่ก็เป็นภัยกับเขา” รุสลาน กล่าว

รุสลาน กล่าวว่า อย่างไรก็ตามยอมรับว่าเมื่อก่อนเรากลัว แต่พอเราโดนคุกคามปล่อยๆ เราเปลี่ยนความกลัวให้เป็นความกล้า ถ้าวันนี้เรายังโดนคนข้างหลังเราโดนเยอะกว่า ประชาชนข้างหลังเราโดนมากกว่าเราด้วยซ้ำ ถ้าเราไม่พูดเขาจะกล้าพูดหรือไม่ เราจึงตั้งธงว่าถ้าเราไม่โดนอะไรเลยคือมันไม่ได้ฝึกฝนตัวเราให้เกิดความกล้า จึงตั้งมั่นว่าเราจะไม่ถอยและจะชนอย่างเดียว โดยเราต้องพร้อมทุกอย่างคือต้องมีนักกฎหมาย มีสติและมีระบบที่จะรองรับถ้าเกิดปัญหา ตนทำความเข้าใจกับทีมงานตลอดว่าเราเป็นนักสื่อสารเราเป็นนักข่าวงานของเราคือการสื่อสารไม่ได้ผิดกับหลักการอะไรเลย ส่วนการที่รัฐจะเพ้อฝันว่าเราอยู่ในขบวนการหรือไม่ นั่นคือความคิดของเขา ถ้าเขากล้าจริงก็สู้เลย เราก็พร้อมหาทนายพร้อมที่จะสู้ด้วย เราตั้งหลักการไว้ตรงนี้ ซึ่งเราพยายามนำเสนอความจริงจากพื้นที่เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบตากใบ 2 หรือการฆ่าเกิดขึ้นอีก 

“ผมพยายามฝากกับรัฐตลอดว่าถ้าคุณมีอคติในการแก้ปัญหาปัตตานีที่คุณบอกว่าสันติสุขมันก็จะไม่เกิด แต่ถ้าเมื่อไรคุณลบอคติในการแก้ปัญหาแล้วรับฟังให้มาก ปัญหาของปัตตานีคือคุณไม่เคยรับฟัง คุณพยายามปิดหู พยายามบอกว่าคนปัตตานีต้องเป็นอย่างนี้ ๆ โดยที่ไม่ได้ถามเขาว่าต้องการอะไร พอคุณไม่ฟังปัญหามันก็เกิดนี่คือปัญหาทัศนคติของรัฐ แม้คุณจะมาจากรัฐบาลประชาธิปไตยหรือไม่ใช่ประชาธิปไตยก็ตาม แต่เมื่อไรคุณมาจากส่วนกลางคุณจะมองแบบจุดศูนย์กลางว่าคนภาคใต้หรือคนปัตตานีเป็นแบบนี้ๆ  เราก็ต้องพร้อมที่จะรับกับความคิดที่มันมาแบบนี้ และพยายามสื่อสารกับภาครัฐว่าเราพร้อมที่จะลุยถ้าคุณพร้อมที่จะทำเรา เรานำเสนอแบบตรงไปตรงมา และมีหลักการในการนำเสนอ แต่ถ้าเมื่อไรที่คุณมาละเมิดเสรีภาพของเรา คุณก็ละเมิดเสรีภาพในกระบวนการที่มันจะเกิดขึ้นเหมือนกัน เพราะจุดแรกของกระบวนการสันติภาพคือเสียงที่มีเสรีและรับฟังด้วยเหตุและผล” รุสลาน กล่าว 

รุสลาน กล่าวต่อไปว่า บางทีคนจากปัตตานีไม่ได้เคยรับรู้ข่าวสารจากข้างนอก เขาเลยมองว่าคนทีเข้ามาในพื้นที่คือคนที่จะเข้ามากระทำเขา และคนข้างนอกเองก็ไม่เคยรับรู้ข่าวสารจากปัตตานี ทำให้คนข้างนอกมองว่ามาจากยะลาพาระเบิดมาหรือไม่ ถือบูดูก็เป็นระเบิดหรือเป็นโจรใต้ แต่ถ้าเมื่อไรเราสื่อสารเขาจะรู้ว่าเราชะตากรรมเดียวกัน ถามว่าในปัตตานีผีน้อยหรือไม่ ในมาเลเซียมีเป็นจำนวนมาก 3 แสนกว่าคนที่หนีไปอยู่มาเลเซีย หนีรัฐและหนีไปอยู่มาเลเซียอีก มันก็เหมือนผีน้อยที่คนอีสานไปอยู่ที่เกาหลีหรือยุโรป ประเด็นแบบนี้มันดูเหมือนไม่มีอะไร แต่มันทำให้เห็นในเชิงโครงสร้างว่าทำไมคนต้องหนี นี่คือความเป็นจริงที่บางทีผู้ปกครองอาจจะไม่ได้มองทุกอย่าง แล้วรู้สึกว่าตัวเองปกครองได้มากจีดีพีขึ้นสูงจนไม่ได้มองคนแบบเรา เขานิยามเราเป็นมนุษย์หรือไม่ เขามองคนชายขอบเป็นพลเมืองหรือไม่ ดังนั้นถ้ามีสะพานแบบนี้เกิดขึ้นมันเชื่อมและมีพลังในการเปลี่ยนแปลงสังคมได้ 

เทวฤทธิ์ มณีฉาย บรรณาธิการบริหาร สำนักข่าวประชาไท กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของประชาไทเราเป็นสื่อออนไลน์ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2547 ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ในขณะนั้น คนจะคุ้นชินกับสื่อดั้งเดิมหรือว่าสื่อที่เป็นสิ่งพิมพ์แล้วมาทำออนไลน์ แต่ว่าประชาไทก่อตั้งจากสื่อออนไลน์และนำเสนอข่าวที่แตกต่าง ข่าวแรกที่เป็นประเด็นที่แตกต่างคือกรณีตากใบ ซึ่งเรานำเสนอข้อมูลและสารที่แตกต่างด้วยสื่อที่มันใหม่ ทำให้ถูกมองว่าไม่น่าเชื่อถือ ดังนั้นจะเห็นว่าประชาไทจะติดกรอบการเขียนที่ดูเป็นทางการ เพื่อเป็นการปกป้องตัวเองและลดต้นทุนของผู้อ่านในการตรวจสอบว่าเราเป็นของจริงหรือเป็นสื่อจริงหรือไม่ ซึ่งยุคแรกๆ เราถูกโจมตีว่าเป็นสื่อเทียม โดยเฉพาะในช่วงความขัดแย้งเหลือง แดง 

เทวฤทธิ์  กล่าวต่อว่า ต่อมารัฐเริ่มมีเครื่องไม้เครื่องมือในการจัดการกับการใช้เสรีภาพในสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ปี 2550 มาตรา 14 ซึ่งกฎหมายนี้ถูกนำมาใช้กับประชาไทและยังมีคดีอื่นๆ อีก สำหรับตนก็ถูกเรียกไปรายงานตัวในช่วงรัฐประหารปี 2557 นอกจากนั้นยังมีในเรื่องฟ้องคดีหมิ่นประมาทที่ถูกกันตัวไว้เป็นพยาน ซึ่งเขาไปฟ้องคนที่อยู่ในข่าวเรา เรื่องนี้ทำให้ระบบนิเวศน์การสื่อสารไม่ครบองค์ประกอบ คนที่จะมาให้ข่าวเราก็จะอาจจะรู้สึกว่าไม่กล้าให้ข่าว 

เทวฤทธิ์ มณีฉาย บรรณาธิการบริหาร สำนักข่าวประชาไท (กลาง)

“อย่างไรก็ตามเราก็อาจจะถูกคุกคามโดยตัวเราเองซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก นั่นคือการเซ็นเซอร์ตัวเอง รู้สึกว่าปลอดภัยไว้ก่อน ทำไมเราต้องไปขยับเพดานขนาดนั้น โดยเฉพาะเรื่องที่เราเรียกว่าช้างในห้องมืด เรื่องที่เราก็รู้ว่าเป็นเรื่องสำคัญ เช่น การแก้รัฐธรรมนูญ 2560 ที่สื่อเองก็ไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ในการแก้หมวด 2  จึงเป็นการเซ็นเซอร์ตัวเองในประเด็นสำคัญ และข้อมูลตรงนี้ไม่ถูกสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา คนที่เสียประโยชน์จริงๆ ก็คือสาธารณชนที่เขาไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างตรงไปตรงมา ดังนั้นภัยคุกคามที่สำคัญที่สุดคือความกลัวในใจของตัวเราเอง ที่เราเซ็นเซอร์ตัวเองในหลายๆ เรื่อง” เทวฤทธิ์ กล่าว

เทวฤทธิ์ กล่าวต่ออีกว่า ถามว่าเรากลัวหรือไม่ ก็ตอบว่ากลัว แต่สิ่งสำคัญที่สุดของความกลัวนั้น คือเราต้องสร้างระบบนิเวศน์ให้เรายืนหยัดอยู่กับความกลัวได้ เพราะความกลัวนั้นมันสามารถที่จะทำให้เรารอดจากสิ่งแวดล้อมตั้งแต่เป็นมนุษย์ถ้ำและอยู่รอดมาได้ เช่น ล่าสุดตนถูกนายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรฯ ฟ้องหมิ่นประมาท ซึ่งเป็นสิทธิ์ของเขาที่จะฟ้องได้ แต่สิ่งที่ตนสบายใจมากก็คือมีองค์กรคอยสนับสนุน และหลักการวิชาชีพก็เป็นสิ่งสำคัญที่เราจะนำไปสู่ในชั้นศาลหรือโต้แย้งในเรื่องความสมดุลของข่าว นอกจากนั้นคือการหาพวกหรือหาเครือข่ายสื่อทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็ก เป็นเกราะคุ้มกันที่จะทำให้เราทำงานได้อย่างปลอดภัย ทำให้สามารถแบ่งปันและสื่อสารข้อมูลไปยังประชาชนได้อย่างครบถ้วนรอบด้านด้วย

เทวฤทธิ์ ยังกล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตามโครงการนี้ทำให้เห็นภาพรวมและประเด็นร่วมกันที่เป็นโจทย์ใหญ่ผ่านข้อเท็จจริงทางข่าวในเชิงพื้นที่ และเราร้อยเรียงกันมา และทำให้เห็นถึงปัญหาที่เรามองว่าหลายๆ อย่างมันเป็นความปกติ โดยที่เราอาจไม่รู้ว่าเรากำลังถูกเอาเปรียบอยู่ อย่างเช่น  ในเรื่องค่าแรงของแรงงาน เป็นต้น ทั้งนี้ภารกิจสำคัญที่สุดของเราก็คือการสร้างพลเมือง สร้างการมีส่วนร่วม ต้องเป็นอิฐก้อนแรกและบุกเบิกในหลายๆ อย่างที่สื่อหลักไม่นำเสนอ เพราะมันเป็นการส่งเสริมและสร้างพลังให้ประชาชนมีอำนาจในการต่อรองกับผู้กำหนดนโยบายต่างๆ ตลอดจนมีส่วนร่วมในการกำหนดชะตาชีวิตของตัวเองและกำหนดทิศทางของสังคมไปด้วยกัน 

วัชรพล นาคเกษม บรรณาธิการบริหาร สำนักข่าว Lanner

สำหรับ วัชรพล นาคเกษม บรรณาธิการบริหาร สำนักข่าว Lanner กล่าวว่า เราเพิ่งก่อตั้งสำนักข่าว Lanner เมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลาที่สังคมกำลังสนใจการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2566 นี้ เรื่องของการคุกคามสิทธิเสรีภาพจึงค่อนข้างน้อย แต่ไม่ใช่ว่าไม่มี เพราะยังมีบางสถานการณ์ที่เราไม่สามารถเข้าไปทำข่าวได้ ทั้งๆ ที่เหตุการณ์เกิดขึ้นกลางเมือเชียงใหม่ เช่น กรณีการประชุมเอเปคป่าไม้ ที่ จ.เชียงใหม่เป็นตัวแทนจัด มีกรณีพิพาทที่ดินของพี่น้องชนเผ่า แต่เจ้าหน้าที่ห้ามไม่ให้สื่อเข้าไปทำข่าว ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ไม่ได้มองสื่อภาคประชาชนหรือสื่อท้องถิ่นว่าเป็นสื่อมวลชน จากกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีการจัดงาน แห่ไม้ก้ำประชาธิปไตย ปักหมุดหมายกระจายอำนาจ ที่ จ.เชียงใหม่ เราก็เข้าไปรายงานข่าวตามปกติ แต่หลังจากนั้นคือวันที่ 29 มิ.ย. ก็มีข่าวว่าเราถูกมณฑลทหารบกที่ 33 (มทบ.33) แจ้งข้อกล่าวหาว่าเป็นส่วนหนึ่งในทีมที่จัดกิจกรรมดังกล่าว ทำให้ชัดเจนว่าเราอยู่ในสถานะของสื่อชายขอบและยิ่งทำให้เจ้าหน้าที่รัฐอาจไม่ได้มองเราเป็นสื่อมืออาชีพ  เป็นสิ่งที่ตอกย้ำและยังน่ากังวล แม้สุดท้ายในรายชื่อที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาจะไม่มีเรา แต่ก็นิ่งนอนใจไม่ได้ว่าเราจะถูกดำเนินคดีในวันไหนและต้องเตรียมความพร้อมในการรับมือเสมอ

วัชรพล กล่าวต่อว่า จากการทำงานร่วมกับทุกคนในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เห็นว่าทุกๆ ประเด็นมันเชื่อมโยงกันหมด ไม่ใช่แยกขาดจากกัน หรือภาคเหนือกับปัตตานีไม่เหมือนกัน เพราะมันมีความเชื่อมโยง ทั้งในเรื่องปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้องในทุกพื้นที่ รวมทั้งภาคอีสานภาคกลางด้วย สิ่งหนึ่งที่เรายังเชื่อมั่นอยู่เสมอก็คือพอเราเป็นคนทำงานสื่อ มันอนุญาตให้เราได้เจอประเด็นมากมาย ตั้งแต่ประเด็นเล็กระดับตำบลไปจนถึงประเด็นระดับนโยบายที่เชื่อมหาถึงกันทั้งหมด ตนคิดว่าเป็นพลังที่สำคัญในการเปลี่ยนแปลงสังคมต่อไป นอกจากนั้นสิ่งที่เห็นคือทุกพื้นที่มีชะตากรรมร่วมกันเพราะเราไม่สามารถจัดการหรืออกแบบชีวิตที่เราอยากมีได้เลย ดังนั้นคิดว่าการมีอยู่ของพวกเรามันจะช่วยเพิ่มเสรีภาพในการแสดงออก หรือการผลักดันเชิงนโยบายเพื่อนำไปสู่การสร้างชีวิตที่ดีกว่าได้ 

โกวิท โพธิสาร บรรณาธิการ The Isaan Record (ซ้าย)

โกวิท โพธิสาร บรรณาธิการ The Isaan Record กล่าวว่า เพิ่งมาทำงานกับเดอะอีสานเรคคอร์ดเมื่อวันที่ 1 ม.ค.2566 เป็นปีแรกที่ทำงานที่นี่  ในช่วงที่ตนเป็นบรรณาธิการยังไม่ได้เจอการคุกคาม แต่ถ้าต้องเท้าความว่ามีการคุกคามหรือไม่มันมีในตัวประวัติศาสตร์ขององค์กร โดยเฉพาะช่วงมะรุมมะตุ้มในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่มีสันติบาลเข้ามาเกาะติดการทำงานในเวทีสัมมนางานหนึ่งที่เดอะอีสานเรคคอร์ดเข้าไปทำหน้าที่สื่อมวลชน สิ่งที่เกิดขึ้นไม่กี่วันหลังจากนั้นก็นำไปสู่การยุติการต่อสัญญาการทำงานของ อ.เดวิด สเตร็คฟัสส์ ที่ปรึกษาเดอะอีสานเรคคอร์ต ในโครงการแลกเปลี่ยนเพื่อการศึกษานานาชาติ (CIEE) ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อไม่มีงานก็จะนำไปสู่การเพิกถอนวีซ่าได้ง่ายๆ และเกิดกระบวนการต่อสู้กันอยู่ในช่วงเวลาหนึ่ง  

รวมทั้งมีการข่มขู่จากเจ้าหน้าที่รัฐว่าหากไม่หยุดรายงานข่าวมาตรา 112 ก็ถือว่าคุณเป็นศัตรูกับเรา ซึ่งตนไม่แน่ใจว่าเป็นศัตรูในความหมายไหน  อีกทั้งในช่วงที่มีความขัดแย้งทางการเมืองรุนแรงเมื่อประมาณปี 2563-2564 ที่มีนิสิตนักศึกษาจำนวนมากออกมาชุมนุมทั้งในกทม.และต่างจังหวัด โดยเฉพาะขอนแก่นที่มีตัวเบ้งอยู่ที่นี่ ทำให้เราต้องติดกล้องวงจรปิดเพราะมีการส่งคนมาด้อมๆ มองๆ อยู่ตลอด 

“แต่ก็คิดว่าเรื่องนี้ก็น่าจะเป็นธรรมชาติขององค์กรสื่อสารมวลชนไม่ว่าจะเป็นสำนักข่าวเล็ก หรือสำนักข่าวใหญ่ ไม่ว่าคนจะอยู่ในส่วนกลางหรืออยู่ชายขอบก็แล้วแต่ คุณก็จะเจอว่าคุณโดนคุกคามในรูปแบบที่แตกต่างกันไปเสมอ ที่สุดก็ต้องการวิธีในการไกล่เกลี่ยเพื่อทำให้คดีมันไม่เดินไปมากกว่านั้น  ถ้าจะพูดให้เคลียร์กว่านั้นนี่คือธรรมชาติของงานสื่อสารมวลชน ที่ไม่เคยเป็นปากเสียงเดียวกันกับรัฐโดยธรรมชาติของมันอยู่แล้ว เมื่อคุณอยู่ฝั่งตรงข้ามของรัฐ ๆ ไม่ชอบคุณอยู่แล้ว รัฐอาจจะทุ่มโพเดียมใส่คุณ หรืออาจจะโยนเปลือกกล้วยใส่คุณเมื่อไรก็ได้ เป็นต้น” โกวิท กล่าว  

อย่างไรก็ตามประเทศนี้คุกคามนักข่าวไม่กี่เรื่อง คือคุกคามโดยบริษัทไปคุกคามสำนักข่าวนั้นๆ จากการนำเสนอเรื่องใดก็แล้วแต่ที่กระทบกับบริษัทนั้น ซึ่งส่วนมากสำนักข่าวต่างๆ เลือกที่จะไกล่เกลี่ยก่อนเพื่อไม่ต้องขึ้นศาล ส่วนการคุกคามอีกกรณีหนึ่งที่เราให้ค่ากับมันน้อยไปหน่อยคือการคุกคามผ่านความพยายามในการออกร่าง พ.ร.บ.จริยธรรมสื่อสารมวลชน ซึ่งงบลงเมื่อหมดยุครัฐบาลที่ผ่านมา เรื่องนี้เป็นการคุกคามโดยกฎหมาย เป็นการคุกคามสิทธิเสรีภาพแทบจะทุกมิติ ผ่านการนิยามว่าคุณเป็นสื่อแท้หรือสื่อเทียม มีการจดแจ้งผ่านสมาคมสื่อหรือไม่ อย่างไรก็ตามคิดว่าน่าจะมีความพยายามนำเรื่องนี้กลับมาพิจารณาใหม่อีกรอบ 

โกวิท กล่าวอีกว่า คิดว่าเรื่องใหญ่ที่สุดคือการคุกคามโดยอำนาจรัฐที่พยายามออกกฎหมายต่างๆ นานามาครอบคลุม และสิ่งที่น่ากังวลมากก็คือว่าสถาบันการศึกษาที่สอนเรื่องการสื่อสารมวลชนและนิเทศศาสตร์ใบ้รับประทานโดยไม่พูดอะไรในเรื่องนี้เลย เป็นเรื่องที่เหลือชื่อมาก ที่สำคัญมีคนระดับเบอร์ใหญ่มากในวงการสื่อสารมวลชนกล่าวอย่างภาคภูมิใจว่ากฎหมายนี้ไปคุยอยู่ในค่ายทหารแห่งหนึ่งในจังหวัดแห่งหนึ่ง และเห็นชอบร่วมกันอยากทำกฎหมายนี้ขึ้นมา และไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญที่ร่างรัฐธรรมนูญบ่อยๆ ในประเทศนี้ ซึ่งกฎหมายนี้มีคนที่เป็นสื่อมวลชนและนักวิชาการด้านการสื่อสารมวลชนจริงๆ สักกี่คนที่รู้เรื่อง ตนตั้งคำถามว่ากระบวนการแบบนี้มันกำลังเกิดอะไรขึ้นในวงการสื่อ และคิดว่าการคุกคามประเภทนี้เป็นเรืองที่ต้องขีดเส้นใต้และคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่

“เวลานี้มองว่างานที่พวกเราทำไม่มีใครผูกขาดความแมสหรือความนิยมอีกต่อไป ไม่มีใครเป็นศูนย์กลางของกันและกันอีกต่อไป เช่น เวิร์คพอยต์ตั้งอยู่ที่ศูนย์กลางอยู่ในกทม. ก็จริง ไทยรัฐ ไทยพีบีเอส เดลินิวส์อยู่ ถ.วิภาวดี ช่อง 3 อยู่อยู่ ถ.พระราม 4 อยู่ใจกลาง กทม.ก็จริง แต่ถามว่าเขาผูกขาดความแมสได้หรือไม่ ก็ไม่ได้ เพราะวันนี้คนดูทีวีน้อยลงมีไว้เหมือนเป็นเฟอร์นิเจอร์และแทบไม่มีใครเปิดเลย ทุกคนก็มุ่งมาที่ออนไลน์หมด ทุกคนอยู่ภายใต้เงื่อนไขเดียวกันคือใครสร้างคอนเทนต์ได้เจ๋งกว่า แม้จะเป็นคอนเทนต์เล็ก ๆ เช่น เด็กขายนมเปรี้ยวกลางสี่แยก ที่ถูกนำไปถกเถียงในรัฐสภา  หรือเรื่องอุทัยธานีไม่มีห้างของลานเนอร์ ซึ่งมันอธิบายเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องการผูกขาดที่เกิดขึ้นในจังหวัดเล็กๆ ที่ไม่มีห้างสรรพสินค้าได้” โกวิท กล่าว

ธีระพล อันมัย อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ ม.อุบลราชธานี ในฐานะที่ปรึกษาสำนักข่าวลาวเดอร์

ส่วน ธีระพล อันมัย อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ ม.อุบลราชธานี ในฐานะที่ปรึกษาสำนักข่าวลาวเดอร์ กล่าวว่า สำหรับสำนักข่าวลาวเดอร์เราเพิ่งก่อตั้งได้ 1 ปี เราไม่ได้เจอปัญหาในนามของเพจหรือสำนักข่าว แต่เท่าที่เราคุยกับเดอะอีสานเรคคอร์ดมาโดยตลอดก็คือพื้นดินที่ราบสูงนี้มันกว้างใหญ่ไพศาล แต่คนที่จะเปล่งเสียงจากที่ราบสูงมันดันมีแค่เดอะอีสานเรคคอร์ดเท่านั้น จึงคิดว่าต้องช่วยกันเปล่งเสียงจากชายแดนจากชายขอบที่ถูกมองข้ามว่าต้องมีเสียงที่หลากหลายจากที่นี่ไปบ้าง  มีเสียงที่เราอยากได้ยินแต่ไม่เคยได้ยินก็เลยต้องทำงานด้วยกัน เราอยากฟังเสียงของ LGBTQ+ ที่อยู่อีสานใต้ที่พูดภาษาขะแมร์มีหรือไม่ ซึ่งเสียงเรื่องความคิดต่างทางการเมืองก็มีและเป็นพื้นที่หลักอยู่แล้ว จึงคิดว่าเราจะช่วยกันกับเดอะอีสานเรคคอร์ดเพื่อเปล่งเสียงจากพื้นที่อันกว้างใหญ่ไพศาลซึ่งมีประชากร 30 % ของประเทศนี้ร่วมกัน

ธีระพล กล่าวต่อว่า แม้ลาวเดอร์จะยังไม่ได้ถูกคุกคาม แต่ในส่วนตัวตนเจอมาเยอะทั้งตำรวจ ทหารตามไปที่บ้าน แต่ถ้าพูดในฐานะงานข่าวก็ยังคิดว่าต้องทำข้อเท็จจริงให้ปรากฏ ถ้าใครที่มันอยากคุกคาม ก็ต้องถามหรือสัมภาษณ์ว่าจะคุกคามเราทำไม คิดว่าสิ่งที่จะทำให้งานเรามันเดินไปได้คือการสร้างสมดุลแหล่งข่าวทั้งฟากที่อยู่ตรงข้ามกับเราและฝั่งเดียวกับเรา ไม่เช่นนั้นก็จะถูกตีความว่าเราเลือกข้าง ตรงนี้มันจะปกป้องเราได้

“คิดว่าไม่ใช่แค่เรื่องของอำนาจรัฐที่มันมีปืนเท่านั้น แต่อำนาจความเกลียดชังหรืออำนาจทางวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลายมันควรมีทั้ง 2 ฟากที่ได้ปะทะกันบนสนามข่าวของเรา เพื่อให้เกิดความสมดุลขึ้น และจะทำให้เราปลอดภัยจากทุกข้อกล่าวหาได้มากขึ้น” ธีระพลกล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net