Skip to main content
sharethis

รายงานสัมภาษณ์ หทัยรัตน์ พหลทัพ บรรณาธิการบริหารเดอะอีสานเรคคอร์ด ถึงสถานการณ์สื่อพลเมือง-ทางเลือกภายใต้สถานการณ์ฟ้องปิดปาด จับตา คุกคาม ข่มขู่ สารพัดวิธีจำกัดเสรีภาพสื่อ สร้างสังคมหวาดกลัว ประชาธิปไตยถดถอย พร้อมย้อนอ่านเรื่องราวของจามร ศรเพชรนรินทร์ อดีตนักข่าวพลเมือง ThaiPBS ที่ถูกบริษัทเหมืองแร่ จ. เลย ฟ้องปิดปาก จากการลงพื้นที่เพื่อเก็บภาพเพื่อทำสารคดี สะท้อน

วิชาชีพสื่อ มีบทบาทในการตรวจสอบหรือติดตามความเป็นไปในสังคม พร้อมส่งเสียงให้ประชาชนรู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น ทั้งมีอิทธิพลทางความคิดผ่านการทำให้สังคมมองเห็นความสำคัญในแต่ละประเด็นและเกิดการถกเถียงพูดคุย นอกจากนั้น สื่อมวลชนยังเป็นฟันเฟืองหนึ่งในการขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงสังคมอีกด้วย ดังนั้น การที่สื่อมวลชนจะสามารถทำหน้าที่ตรวจสอบหรือติดตามความเป็นไปในสังคมพร้อมเผยแพร่สู่สาธารณะนั้นจำเป็นต้องพึ่งพาความเป็นประชาธิปไตยในสังคม

อิทธิพลของสื่อที่กล่าวไว้ข้างต้น ทำให้บางครั้งสื่อก็ถูกมองเป็นภัยคุกคามจากคนบางกลุ่ม เพราะหลายครั้งผู้มีอำนาจหรือนายทุนล้วนไม่ต้องการให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลบางอย่างที่สื่อนำเสนอสู่สาธารณะ โดยเฉพาะข้อมูลที่อาจสั่นคลอนอำนาจและผลประโยชน์ของพวกเขา บางครั้งกลุ่มคนเหล่านั้นก็ต้องการให้ประชาชนรับรู้แค่ในเรื่องที่พวกเขาอยากให้รู้เท่านั้น ทำให้หลายครั้งผู้ประกอบวิชาชีพสื่อถูกคุกคามทั้งทางกายภาพหรือการใช้กระบวนการทางกฎหมายในการสร้างภาวะกดดันให้ผู้ถูกกระทำหยุดนำเสนอประเด็นเหล่านั้น

รายงานสัมภาษณ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของซีรีส์ชุดสื่อพลเมือง-ทางเลือกภายใต้การคุกคามที่ก่อนหน้านี้พาไปดูสถานการณ์ทั้งสื่อพลเมือง-ทางเลือกในพื้นที่การเคลื่อนไหวทางการเมืองในกรุงเทพฯ ภาคเหนือและชายแดนใต้หรือปาตานีมาแล้ว ชิ้นนี้จะชวนอ่านเรื่องราวของสื่อพลเมือง-ทางเลือกในพื้นที่ภาคอีสานที่เป็นพื้นที่ความขัดแย้งเข้มข้นทั้งการเมืองและโครงการพัฒนาของบริษัทเอกชนที่กระทบต่อชุมชน ผ่านบทสัมภาษณ์ หทัยรัตน์ พหลทัพ บรรณาธิการบริหารเดอะอีสานเรคคอร์ด รวมทั้งเรื่องราวของจามร ศรเพชรนรินทร์ อดีตนักข่าวพลเมือง ThaiPBS และผู้สื่อข่าวอิสระ ที่ถูกบริษัทเหมืองแร่ อ. วังสะพุง จ. เลย ฟ้องปิดปาก จากการลงพื้นที่เพื่อเก็บภาพเพื่อทำสารคดี

จากเหมืองวังสะพุงสู่การใช้กฎหมายขัดขวางการทำงานสื่อ

หนังสือ SLAPP ‘หนึ่งความฝัน’ กับการถูกฟ้องปิดปาก โดยชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ได้เผยแพร่กรณีศึกษาที่ผู้สื่อข่าวถูกคุกคามโดยใช้กระบวนการทางกฎหมายมาขัดขวางการทำงานของสื่อ หรือเรียกว่า SLAPP  ย่อมาจาก Strategic Lawsuit against Public Participation

จามร ศรเพชรนรินทร์ อดีตนักข่าวพลเมือง ThaiPBS

จามร ศรเพชรนรินทร์ อดีตนักข่าวพลเมือง ThaiPBS และผู้สื่อข่าวอิสระ ผู้สนใจทำสารคดีอิสระด้านสิ่งแวดล้อมในฐานะนักข่าวพลเมืองกับไทยพีบีเอส เคยถูกบริษัทเหมืองแร่ อ. วังสะพุง จ. เลย ฟ้องปิดปาก จากการลงพื้นที่เพื่อเก็บภาพเพื่อทำสารคดี หลังได้รับแจ้งจากชาวบ้านในพื้นที่ว่าจะเดินทางไปทำกิจกรรมที่ปากเหมือง

เมื่อถึงบริเวณทางเข้าก่อนปากหลุมก็พบการกั้นด้วยประตูเหล็กพร้อมป้ายไวนิลติดว่าเป็นพื้นที่ของเหมือง ห้ามคนภายนอกเข้า แต่ชาวบ้านและทนายต่างยืนยันว่าพื้นที่ตรงนั้นเป็นพื้นที่ของ ส.ป.ก. เหมืองหมดอายุสัมปทานไปแล้ว ไม่มีสิทธิมาอ้างสิทธิในพื้นที่ จามรจึงขึ้นเข้าไปบนเหมืองพร้อมกับชาวบ้าน เมื่อลงมาก็เห็นเจ้าหน้าที่เหมืองอยู่ด้านล่างเหมือนมีปากเสียงทะเลาะกับชาวบ้าน จามรจึงบันทึกภาพเหตุการณ์เหล่านั้นไว้ตามสัญชาตญาณความเป็นสื่อ แต่เจ้าหน้าที่กลับหันมาชี้หน้าถามว่า ‘มึงเป็นใครมาจากไหน’ ก็บอกเขาไปว่าเก็บภาพทำสารคดีให้ไทยพีบีเอส เขาบอกว่า ‘ได้ ๆ ไทยพีบีเอส เดี๋ยวเจอกัน เดี๋ยวฟ้อง’

สองสัปดาห์ต่อมาชาวบ้านถูกฟ้องจากเหมืองฐานบุกรุกและสู้คดีเกือบสองปี จากนั้นศาลยกฟ้องเนื่องจากบอกว่า เหมืองไม่มีสิทธิอ้างสิทธิในพื้นที่ จามรคิดว่าเรื่องนี้จบแล้วจนกระทั่งวันหนึ่งเขาต้องไปทำสารคดีที่พม่า ระหว่างรออยู่ที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง จามรได้ถูกเจ้าหน้าที่เข้ามาพร้อมหมายจับในคดีที่จบไปแล้วนั้น ทำให้จามรถูกขังอยู่สองคืนทั้งที่ตามหลักเขาสามารถประกันตัวได้ เมื่อสอบถามกับเจ้าหน้าที่ว่าทำไมถึงไม่มีหมายมาที่เขาเลย เจ้าหน้าที่ก็ให้คำตอบว่าคดีร่วมกันบุกรุกมากกว่า 5 คน โทษหนักถึง 5 ปี จึงไม่จำเป็นต้องออกหมายเรียก และสามารถออกหมายจับได้เลย แต่การไม่มีหมายส่งมาที่บ้านของจามรทำให้เขาไม่ได้เข้าสู่กระบวนการตั้งแต่ต้น 

จับตา-คุกคาม-ข่มขู่ เจ้าหน้าที่รัฐกับการพยายามเซ็นเซอร์สื่อ

ภาพ หทัยรัตน์ พหลทัพ โดย The Isaan Record  

หทัยรัตน์ พหลทัพ บรรณาธิการบริหารเดอะอีสานเรคคอร์ด สื่อท้องถิ่นที่เสนอข่าวเชิงลึก ตามติดประเด็น โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนในภาคอีสาน ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2554 เล่าว่า ตนเองไม่เคยถูกฟ้องร้องแต่เคยถูกข่มขู่คุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐ เนื่องจากการรายงานข่าวนักศึกษาและกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอกเอาผ้าถุงไปคลุมอนุสาวรีย์สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในวันสตรีสากล 8 มี.ค. 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่สถานการณ์ทางการเมืองค่อนข้างคุกรุ่น ช่วงเวลานั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่รู้จักเดอะอีสานเรคคอร์ดและคิดว่าเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง เพราะเป็นช่วงที่มีกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองเกิดขึ้นเยอะในช่วงตั้งแต่ปี 2563 ทำให้มีตำรวจมาด้อม ๆ มอง ๆ อยู่บริเวณออฟฟิศ ตนรู้สึกไม่ปลอดภัยเลยสั่งให้น้องในออฟฟิศปิดประตูรั้วและโพสต์เรื่องราวเหล่านี้ลง Facebook ส่วนตัว ทำให้เป็นข่าวอยู่ช่วงหนึ่ง

“เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้เรารู้เลยว่า การอยู่ในประเทศนี้หรือการทำข่าวไม่ได้มีเสรีภาพเลย มันให้ความรู้สึกเหมือนเราอยู่ในโลกที่เป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คือ มีตำรวจสันติบาลเอาเอกสารมาให้เซ็น เหมือนเขามาปรับทัศนคติเรา เขาบอกว่า คุณจะออกมาเคลื่อนไหวหรือทำข่าวนักศึกษาช่วงนี้ไม่ได้... ซึ่งเราไม่ได้เคลื่อนไหวอยู่แล้ว เราทำแค่รายงานการเคลื่อนไหว” หทัยรัตน์กล่าว

ก่อนหน้านั้น เคยมีประเด็นการยกเลิกสัญญาจ้าง เดวิด สเตร็คฟัสส์ นักวิชาการอิสระ ผู้ดูแลและที่ปรึกษาสำนักข่าวเดอะอีสานเรคคอร์ด หลังเข้าร่วมกิจกรรมการอบรมเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์และต่อยอดอัตลักษณ์ท้องถิ่นอีสาน จัดขึ้นที่โรงแรมแห่งหนึ่งใน จ.ขอนแก่น ระหว่างวันที่ 12-14 ก.พ. 2564 โดยในงานมีการเชิญนักวิชาการ ภาคประชาสังคม และนักกิจกรรม แต่ก็มีผู้พบเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามเข้ามาในงานด้วย จากนั้นมีการเพิกถอนวีซ่าการทำงานโดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น คือ เป็นผู้อำนวยการโครงการแลกเปลี่ยนเพื่อการศึกษานานาชาติ (CIEE)

สุดท้ายทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้เพิกถอนวีซ่าเดวิดด้วยเหตุผลทางการเมืองแต่เพิกถอนเพราะเห็นว่าโครงการ CIEE ไม่มีกิจกรรมแล้ว เนื่องจากตอนนั้นเป็นช่วงการระบาดของโควิด-19 ทำให้ไม่มีนักศึกษาแลกเปลี่ยนเข้ามา จึงมีการโอนย้ายวีซ่าทำงานของเดวิดมาเป็นที่ปรึกษาบริษัท Buffalo Bird Productions เนื่องจากเดิมเดวิดก็เป็นที่ปรึกษาของเดอะอีสานเรคคอร์ดอยู่แล้ว

หลังจากเดวิดได้วีซ่าทำงานใหม่แล้วสถานการณ์ก็เริ่มผ่อนคลายลงบ้าง แต่เนื่องจากหทัยรัตน์ได้แต่งงานกับเดวิดทำให้บางครั้งเจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถแยกการคุกคามออกจากสื่อได้เพราะเดวิดเป็นนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่อง มาตรา 112 จึงมีครั้งหนึ่งที่เดวิดอยากกลับอเมริกา แต่ประเมินสถานการณ์ทางการเมืองในรัฐบาลทหารไม่ออกว่า ถ้าเดวิดเดินทางออกนอกประเทศจะได้กลับเมืองไทยหรือไม่ หทัยรัตน์จึงนัดคุยกับสันติบาลชั้นผู้ใหญ่คนหนึ่งเพื่อประเมินสถานการณ์การเมืองและถามถึงเรื่องวีซ่า ปรากฏว่า การเจรจาครั้งนั้นกลายเป็นการเปิดทางให้เจ้าหน้าที่รัฐข่มขู่คุกคามซึ่งหน้า 

“เขาข่มขู่เราว่า ถ้าคุณไม่หยุดรายงานข่าวเกี่ยวกับ 112 เขาจะประกาศเป็นศัตรูกับเราตั้งแต่พรุ่งนี้เป็นต้นไป จะทำลายเราทุกวิถีทางไม่ให้เรามีที่ยืนในแผ่นดินนี้ และคุณเดวิดก็ต้องออกนอกประเทศ วินาทีนั้นเราก็มีอีโก้ เราก็รู้สึกว่าเราทำข่าวเพื่อเสรีภาพของนักข่าว ทำข่าวเพื่อเสรีภาพของนักวารสารศาสตร์ เราเลยตอบไปว่าขอคิดดูก่อนได้มั้ยคะ เขาจึงโกรธมาก” หทัยรัตน์

หทัยรัตน์ไม่ได้บันทึกวิดีโอหรือเสียงที่ถูกคุกคามไว้ เพราะการเจรจาครั้งนั้นเป็นการเจรจาเพื่อสอบถามเกี่ยวกับวีซ่าและการกลับอเมริกาของเดวิด จึงไม่คิดว่าจะเกิดการข่มขู่ซึ่งหน้าขนาดนี้ หทัยรัตน์รู้สึกพะอืดพะอมกับสถานการณ์ดังกล่าว แต่หลังจากแยกย้ายกับเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ปฏิบัติตามที่ถูกข่มขู่และยังคงรายงานสถานการณ์ทางการเมืองและการเคลื่อนไหวของประชาชนต่อไป  

เนื่องด้วยในภาคอีสานก็มีกลุ่มนักศึกษาที่เคลื่อนไหวในประเด็นปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์และการแก้มาตรา 112 จำนวนมาก เช่น ไผ่-จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา กลุ่มดาวดิน กลุ่มทะลุฟ้า เป็นต้น ประจวบกับหลังการเจรจากับเจ้าหน้าที่สันติบาลครั้งนั้น ก็ได้มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มทะลุ มข. คือ การชุมนุมในวันรับปริญญาของมหาวิทยาลัยขอนแก่นบริเวณใกล้หอประชุมและมีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์โดยการเผาชุดครุย ซึ่งเดอะอีสานเรคคอร์ดก็รายงานข่าวนั้น

ภาพบัณฑิต มข. เผาชุดครุย  

จากนั้น หทัยรัตน์ได้ถูกข่มขู่จากเจ้าหน้าที่อีกครั้งว่าจะมีการเพิกถอนวีซ่าของเดวิดภายในสิ้นปี2564 เพราะมองว่าการรายงานข่าวการเผาชุดครุยนั้นเป็นการไม่เชื่อฟังและท้าทายอำนาจ ทำให้หทัยรัตน์รู้สึกไม่ปลอดภัยจึงติดกล้องวงจรปิด ทั้งที่บ้านและออฟฟิศ พร้อมบอกพนักงานที่ออฟฟิศว่า อย่าไปไหนมาไหนคนเดียวเพราะเราไม่สามารถประเมินสถานการณ์ได้เนื่องจากเป็นช่วงที่การเคลื่อนไหวมันค่อนข้างสวิง คือ เป็นช่วงที่นักศึกษาและนักกิจกรรมที่ออกมาเคลื่อนไหวก่อนหน้านี้เริ่มโดนจับเยอะมาก พร้อมตกลงกันว่าช่วงนี้จะงดการรายงานข่าวเกี่ยวกับการเมืองไปก่อน

กระบวนการรัฐ (ไม่) ช่วยปกป้องสิทธิประชาชน

 หลังจากที่จามรถูกจับที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองของพม่าและอยู่ในห้องขัง 2 คืน จากนั้นเขาได้ประกันตัวและคดีของเขาก็ไปสู่ชั้นอัยการ ซึ่งช่วงนั้นเขาอาศัยอยู่ที่กรุงเทพฯ แต่ต้องเดินทางไปรายงานตัวต่ออัยการที่จังหวัดเลยทุกเดือนและไม่สามารถรู้ได้เลยว่าการพิจารณาในแต่ละเดือนมีการเลื่อนหรือสั่งฟ้องหรือไม่ แม้โทรศัพท์สอบถามได้แต่ก็รู้ล่วงหน้าเพียงวันเดียวเท่านั้น และทำให้จามรไม่สามารถจัดการตารางชีวิตตนเองได้

สุดท้ายทนายได้ทำหนังสือขอความเป็นธรรมและอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องเนื่องจากเป็นคดีที่จบไปแล้ว แต่จามรยังต้องพบกับอุปสรรคจากการมีหมายจับค้างคาอีกครั้งเมื่อเขาจำเป็นต้องเดินทางไปประเทศลาว ทั้งชื่อของจามรยังคงอยู่ในทะเบียนประวัติอาชญากรรม ทำให้เขาไม่สามารถสมัครเป็นพนักงานขนส่งสินค้าได้ ทั้งที่หากคดีสิ้นสุดตามกฎหมายและจำเลยไม่ผิดจะต้องถอนชื่อของเขาออกจากทะเบียนประวัติอาชญากรรม เมื่อกระบวนการยุติธรรมไม่ทำงานตามระบบที่ควรจะเป็น จามรจึงจำเป็นต้องดำเนินการขอเอกสารไม่สั่งฟ้องจากทางอัยการมายื่นต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยตนเอง

“กฎหมายอาจจะเป็นแบบหนึ่ง แต่ความจริงหลักการทำงานกลับเป็นอีกแบบหนึ่ง กฎคือต้องถอนหมายแล้ว แต่ในความเป็นจริง หมายยังค้างอยู่ ผมถามไปที่สถานีตำรวจภูธรต้นทางว่าเป็นเพราะอะไร สิ่งที่ผมได้ยินคือคนที่่คีย์ข้อมูลออกไปอบรม 3 เดือน นี่เป็นความจริงที่ว่า ทั้งสถานีตำรวจมีคนคีย์ข้อมูลได้คนเดียวเหรอ แล้วคุณออกไปทำงาน 3 เดือนคุณไม่มอบหมายงานต่อให้ใครเลยเหรอ นี่คือ ผลกระทบที่เกิดขึ้น นี่คือเคสหนึ่งที่เป็นความบกพร่องของเจ้าหน้าที่” จามรกล่าว

เมื่อถูกคุกคามและข่มขู่ต่อเนื่องตลอดปี 2564 หทัยรัตน์จึงตัดสินใจรวบรวมข้อมูลและรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นต่อองค์การสหประชาชาติ (UN) และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ซึ่งกรรมการสิทธิก็ส่งคนเข้ามาพูดคุยกับเราในภายหลังและพึ่งออกผลสรุปเมื่อปี 2565 ว่าไม่มีหลักฐานในการเอาผิดผู้ข่มขู่คุกคามเนื่องจากเราไม่มีหลักฐานชั้นต้น เช่น เทปเสียง แต่สิ่งที่ยังคงคาใจหทัยรัตน์ คือ การวินิจฉัยครั้งนี้เป็นการวินิจฉัยโดยปราศจากการเชิญคู่กรณีมาให้ปากคำ ตนจึงคิดว่าหากกรรมการสิทธิได้สอบสวนข้อมูลจากอีกฝ่ายผลการตัดสินจะยังคงเป็นเช่นนี้อยู่หรือไม่

“เป็นสถานการณ์ต่อเนื่องถึง 2 ปี ที่ตกอยู่ภายใต้ความกลัว หากดูเดอะอีสานเรคคอร์ดก็จะมีเนื้อหาการนำเสนอคล้ายประชาไท คือ มาตรา 112 การเคลื่อนไหวของนักศึกษา การคุกคามใดๆ แต่ต้องยอมรับว่าพื้นที่ในกรุงเทพฯ และอีสานนั้นต่างมีสปอตไลท์ไม่เท่ากัน ทำให้มีความเหลื่อมล้ำทางข้อมูลประมาณหนึ่ง”

รายงานผลการตรวจสอบกรณีเดวิดและหทัยรัตน์ร้องเจ้าหน้าที่ตำรวจคุกคาม นักวิชาการและสื่อมวลชนโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ : 

 

เป็นกระบอกเสียงให้ประชาชนแล้ว ต้องไม่ลืมดูแลสุขภาพกาย-ใจ 

ตลอดระยะเวลาที่เดอะอีสานเรคคอร์ดถูกคุกคามอย่างหนักทำให้หทัยรัตน์ได้เรียนรู้และเตรียมความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์คุกคามที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ผ่านการทำความรู้จักกับทนายหรือนักกฎหมายเพื่อให้มั่นใจว่าจะมีผู้ให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมายที่พร้อมให้ความช่วยเหลือ และการเรียนรู้เกี่ยวกับ safety & security ทางดิจิทัล เพราะปัจจุบันการเผยแพร่เนื้อหาใดบนแพลตฟอร์มออนไลน์ล้วนเป็น digital footprint ทั้งสิ้น

หทัยรัตน์มองว่า ทุกครั้งที่เราเผยแพร่เนื้อหาใดก็ตามบนโซเชียลมีเดียเปรียบเหมือนการเปิดประตูให้หน่วยงานความมั่นคงสามารถหยิบจับเนื้อหาเหล่านี้มาเชื่อมโยงกัน ซึ่งการเชื่อมโยงเหล่านั้นล้วนเป็นการจับแพะชนแกะ คือ ส่วนใหญ่ไม่ใช่เรื่องจริง เป็นการสร้างให้เราเป็นปีศาจพร้อมด้อยค่าเราผ่าน social media อยู่เสมอ 

นอกจากนั้น ยังมีมาตรการรับมือกับการถูกทัวร์ลงจากการทำข่าวที่ทำให้เกิดการถกเถียงในสังคม เราก็จะมานั่งคุยกันว่าเกิดอะไรขึ้นและจะรับมือกับสิ่งนั้นอย่างไร โดยหทัยรัตน์ได้พยายามกระตุ้นให้ทุกคนทำ social detox เพราะช่วงที่มีทัวร์หรือปฏิบัติการ IO นั้น เป็นช่วงที่ต้องรับข้อมูลข่าวสารเยอะมากไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่

“การถูกคุกคามนั้นส่งผลต่อสภาพจิตมาก ๆ ตอนที่ถูกคุกคามซึ่งหน้ามันส่งผลต่อเรามาก ๆ คือ สมองมันช็อค เป็นใครไม่เจอคงไม่รู้ เราถูกเขย่าขวัญผ่านการประกาศเป็นศัตรู เลยเรียนรู้ประสบการณ์ มาสอนน้อง ๆ ว่าเราต้องการเป็นกระบอกเสียงหรือปากเสียงให้ประชาชนก็จริง แต่สุดท้ายเราก็ต้องหันมาดูแลสุขภาพของตัวเองกันด้วย คือ ช่วยกันเยียวยาหรือเลียแผลกันไป อันนี้คือสิ่งที่ได้เรียนรู้ตลอดช่วงเวลาที่ถูกคุกคามใน 2-3 ปี ที่ผ่านมา” หทัยรัตน์

SLAPP และ การข่มขู่ ส่งผลเชิงลบทั้งการทำงาน การใช้ชีวิต และสุขภาพจิต

จากกรณีของจามรทำให้เห็นถึงปัญหาของการฟ้องปิดปากมากกว่าผลกระทบโดยตรงที่ส่งผลต่อการทำงานด้านสื่อมวลชนแล้ว กระบวนการยุติธรรมที่ควรเป็นขั้นตอนในการรักษาสิทธิและอำนวยความสะดวกให้ประชาชนนั้นก็ไม่ได้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดและกลายเป็นการผลักภาระให้ประชาชนในท้ายที่สุด

ด้านหทัยรัตน์คิดว่าการถูกฟ้องปิดปากยังดีกว่าการถูกอุ้มหาย คือ การฟ้องปิดปากเหมือนการสู้ซึ่งหน้าแต่การถูกอุ้มหายนั้นทำให้เราไม่มีโอกาสได้สู้เลย เพราะอย่างน้อยการฟ้องร้องตาม พ.ร.บ. หมิ่นประมาท ยังมีโอกาสให้ได้ตั้งตัว จัดเตรียมข้อมูลหรือทนาย แม้จะเป็นการใช้กฎหมายอย่างไม่บริสุทธิ์ใจ สุดท้ายจะสู้แล้วแพ้ การฟ้องปิดปากเป็นการสร้างให้กลัวโดยกฎหมายแต่การข่มขู่คุกคามลับหลังนั้นมีความน่ากลัวกว่าการใช้นิติสงคราม

“อย่างที่บอกแหละว่าอย่าอุ้ม อย่าฆ่า จากที่เห็นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเราได้เห็นกรณีวันเฉลิมหรือการพบศพที่แม่น้ำโขง ทำให้เรารู้สึกว่ามันมีโอกาสเกิดขึ้นกับเราได้ ยิ่งเราอยู่ในพื้นที่ไกลปืนเที่ยงหรือต่างจังหวัดแบบนี้ยิ่งมีโอกาสสูง เลยรู้สึกว่าถ้างั้นก็ฟ้องเราเถอะ เรายอมขึ้นศาล แม้มันจะทำให้น่ารำคาญหรือเครียด แต่การถูกฟ้องทำให้เครียดน้อยกว่าการกลัวว่าตัวเองจะถูกทำให้หายไป” หทัยรัตน์ กล่าว 

เลือกตั้งครั้งใหม่แต่ประชาธิปไตยถดถอย สังคมไทยกำลังถูกปกครองด้วยความกลัว

หทัยรัตน์กล่าวว่า ตั้งแต่สิ้นสุดการเลือกตั้ง 2566 และมีการจัดตั้งรัฐบาล แต่เห็นได้ชัดว่าการจัดตั้งรัฐบาลนี้ไม่ได้มาโดยเสียงข้างมากของประชาชน มันทำให้เราตั้งคำถามว่า เสียงที่เป็นอำนาจที่มองไม่เห็นนั้นเข้าคุกคามจนทำให้การจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้เป็นไปตามที่ควรจะเป็น พร้อมมองว่าประเทศไทยกำลังถูกปกครองด้วยความกลัวอีกแล้ว บรรยากาศเสรีภาพ การพูดคุย ถกเถียง หรือบรรยากาศความเป็นประชาธิปไตย ไม่ได้กลับมาพร้อมผลการเลือกตั้ง โดยเฉพาะสถานการณ์ที่เหมือนการไล่ล่าคนที่วิพากษ์วิจารณ์ทั้งกรณีที่เข้าข่ายและไม่เข้าข่ายมาตรา 112 และตอนนี้สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ถูกวิจารณ์อีกต่อไป

“ดังนั้น สิ่งที่อยากเรียกร้อง คือ อยากให้รัฐบาลคืนเสรีภาพให้ประชาชนและคืนเสรีภาพให้สื่อมวลชนแบบที่ควรจะเป็น รวมถึงบรรยากาศการเมืองของเราไม่ควรตกอยู่ในความกลัวอีกต่อไป มันเหมือนเรากลับไปอยู่ในสภาพเดิมเพราะช่วงปี 2563-2564 เรารู้สึกว่าบ้านเมืองของเรามาไกลมาก เราสามารถถกเถียงในเรื่องต้องห้าม แต่ปัจจุบันเรื่องต้องห้ามเคยขึ้นมาบนดิน ตอนนี้กลับไปอยู่ใต้ดินอีกแล้ว” หทัยรัตน์กล่าว

นอกจากนั้น หทัยรัตน์ยังมีข้อเสนอแนะต่อองค์กรสื่อและสื่อมวลชน คือ เชื่อว่า สื่อแต่ละองค์กรมีแนวทางการนำเสนอประเด็นของตัวเองอยู่แล้ว แต่ต้องยอมรับว่าการนำเสนอข่าวนั้นยังมีข้อจำกัดเรื่องเสรีภาพอยู่ด้วย ดังนั้น หากองค์กรสื่ออยากให้ตัวเองมีเสรีภาพมากกว่านี้จึงจำเป็นต้องช่วยกันพูดและสื่อสาร ไม่ใช่ปล่อยให้ใครถูกจับหรือปล่อยให้ใครถูกอุ้ม ปล่อยให้ใครเสี่ยงอยู่เพียงลำพังแล้วตัวเองตักตวงเสรีภาพหลังการสู้รบ 

หากย้อนไปช่วงที่มีการเคลื่อนไหวของนักศึกษาปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงการเมืองกระแสสูงและทำให้สื่อมวลชนมีเสรีภาพมากที่สุดในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมาและเป็นบรรยากาศการถกเถียงอย่างมีวุฒิภาวะ ทำให้เชื่อว่าเมื่อไหร่ที่ประเทศมีเสรีภาพให้สื่อมวลชน ประชาชนก็จะมีความกล้าหาญในการพูดคุยประเด็นต่าง ๆ

“การที่ประเทศมีเสรีภาพและการถกเถียงนั้นจะทำให้มันก้าวหน้ามากขึ้น เราเลยเชื่อว่าเสรีภาพสื่อคือเสรีภาพประชาชน... การถกเถียงอย่างมีเสรีภาพมันจะมีประโยชน์ต่อประชาธิปไตยมากกว่า”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net